สมอพิเภก
สมอพิเภก ชื่อสามัญ Beleric Myrobalan, Ink Not, Bahera, Beleric
สมอพิเภก ชื่อวิทยาศาสตร์ Terminalia bellirica (Gaertn.) Roxb. จัดอยู่ในวงศ์สมอ (COMBRETACEAE)
สมุนไพรสมอพิเภก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ลัน (เชียงราย), สะคู้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ซิบะดู่ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), แหน แหนต้น แหนขาว (ภาคเหนือ), สมอแหน (ภาคกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของสมอพิเภก
- ต้นสมอพิเภก เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เป็นไม้ผลัดใบ มีความสูงราว 15-35 เมตร ลักษณะเป็นทรงเรือนยอดกลมแผ่กว้างและค่อนข้างทึบ มีลำต้นเปราตรง โคนต้นมักขึ้นเป็นพูพอน เปลือกต้นมีสีเทาอมน้ำตาลหรือเป็นสีดำ ๆ ด่าง ๆ เป็นแห่ง ๆ เปลือกต้นค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ไปตามความยาวของต้น เปลือกด้านในมีสีเหลือง ส่วนกิ่งอ่อนและยอดอ่อนจะมีขนอยู่ประปราย ขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศโดยวิธีการปักชำและการตอนกิ่ง สามารถขึ้นได้ทั่วไปตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-400 เมตร ส่วนทางภาคใต้มักจะพบขึ้นตามป่าดงดิบ
- ใบสมอพิเภก ใบเป็นใบเดี่ยวติดเวียนกันเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปทรงรีแกมรูปไข่หัวกลับ มีความกว้างประมาณ 9-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 13-19 เซนติเมตร โคนใบสอบมาสู่ก้านใบ และส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบจะผายกว้าง ขอบใบเรียบ ที่ปลายสุดของใบจะหยักคอดเป็นติ่งแหลมสั้น ๆ เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบมีเส้นแขนงใบโค้งอ่อนประมาณ 6-10 คู่ เส้นใบเป็นแบบร่างแหเห็นได้ชัดเจนทางด้านท้องใบ ท้องใบมีสีจางหรือสีเทามีขนนุ่ม ๆ คลุมอยู่ ส่วนหลังใบมีสีเขียวเข้มและมีสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วไป แต่ใบทั้งสองด้านขนจะหลุดร่วงออกไปเองเมื่อใบแก่จัด และก้านใบมีความประมาณ 4-6 เซนติเมตร ที่บริเวณกึ่งกลางก้านจะมีต่อมหรือตุ่มหูดอยู่ 1 คู่
- ดอกสมอพิเภก ออกดอกเป็นช่อเดี่ยว ๆ แบบหางกระรอกตามง่ามใบหรือรอยแผลใบตามกิ่ง ปลายช่อดอกจะห้อยย้อยลง ช่อมีความยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ดอกสมอพิเภกมีขนาดเล็กสีขาวอมเหลือง ดอกตัวผู้ส่วนใหญ่จะอยู่ตามปลายช่อ ส่วนดอกสมบูรณ์เพศจะอยู่ตามโคนช่อ ส่วนกลีบฐานดอกจะมีกลีบ 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยเล็ก ๆ และทั้งหมดมีขนอยู่ทั่วไป โดยเกสรตัวผู้จะมีอยู่ด้วยกัน 10 ก้าน เรียงซ้อนกันอยู่เป็นสองแถว ส่วนรังไข่ค่อนข้างแป้น ภายในมีช่องเดียวและมีไข่อ่อนอีก 2 หน่วย หลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียว
- ผลสมอพิเภก หรือ ลูกสมอพิเภก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือกลมรี มีความกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร มีสัน 5 สัน ผิวภายนอกปกคลุมไปด้วยขนสีน้ำตาลอยู่หนาแน่น ผลมักออกรวมกันเป็นพวงโต ๆ เมล็ดเดี่ยวแข็ง ผลอ่อนมีรสเปรี้ยว ส่วนผลแก่มีรสเปรี้ยวฝาดหวาน (ฝาดแบบสุขุม) และเมล็ดในมีรสฝาด
สมุนไพรสมอพิเภก ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรเพื่อรักษาอาการต่าง ๆ ได้แก่ ผลอ่อน ผลแก่ ดอก ใบ เปลือก แก่น ราก และเมล็ดใน
สรรพคุณของสมอพิเภก
- ผลแห้งสมอพิเภกมีสรรพคุณใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย (ผลแห้ง)
- ผลแก่มีรสฝาดช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยแก้ธาตุกำเริบ (ผลแก่, ผลแห้ง)
- ผลสุกใช้เป็นยาเจริญอาหาร ช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำดี ช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น (ผลสุก)
- รากสมอพิเภกใช้ต้มดื่มช่วยแก้พิษโลหิต ซึ่งทำให้มีอาการร้อนได้ (ราก)
- ผลอ่อนมีรสเปรี้ยวช่วยแก้ไข้ (ผลอ่อน, ผลแก่)
- ผลแห้งช่วยรักษาอาการไอและไข้เจือลม (ผลแห้ง)
- ลูกสมอพิเภกช่วยแก้ไข้เพื่อเสมหะ (ผลอ่อน)
- ช่วยแก้เสมหะจุกคอ ช่วยทำให้ชุ่มคอ (ผลแก่)
- ช่วยแก้อาการเจ็บคอ เสียงแห้ง (ผลแห้ง)
- ผลอ่อนช่วยแก้ลม (ผลอ่อน)
- ดอกช่วยแก้โรคในตา รักษาโรคตา แก้ตาเปียกแฉะ (ผลแก่, ดอก)
- ช่วยแก้อาการบิด บิดมูกเลือด (เมล็ดใน)
- ผลอ่อนใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย โดยใช้ผลโตแต่ยังไม่แก่ประมาณ 2-3 ผล นำมาต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว พร้อมใส่เกลือเล็กน้อย แล้วใช้รับประทานเพียงครั้งเดียว (ผลอ่อน)
- ผลแก่ใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง ท้องเดิน (ที่ไม่ใช่บิดหรืออหิวาตกโรค) โดยใช้ผลแก่ประมาณ 2-3 ผล นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้วและใส่เกลือเล็กน้อย เคี่ยวจนเหลือ 1 ถ้วยแก้วและนำมาใช้ดื่มแก่อาการ (ผลแก่)
- ผลแก่ช่วยรักษาโรคท้องมาน (ผลแก่)
- ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับปัสสาวะพิการ (เปลือกต้น)
- เปลือกสมอพิเภกมีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ โดยใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้ริดสีดวงทวารหนัก ส่วนแก่นช่วยแก้ริดสีดวงพรวก (ผลแก่, แก่น)
- ช่วยรักษาโรคเรื้อน (ผล)
- ผลช่วยแก้ผิวหนังเป็นตุ่มหนอง (ผล)
- ใบช่วยรักษาบาดแผล แผลติดเชื้อ โดยใช้ใบสดนำมาตำแล้วนำมาพอกรักษาแผล (ใบ)
- ในประเทศแถบอินโดจีนใช้ผลแห้งเป็นยาฝาดสมาน (ผลสุกเต็มที่, ผลแห้ง)
- ในตำรายาไทย สมุนไพรสมอพิเภกจัดอยู่ตำรับยา “พิกัดตรีผลา” ซึ่งประกอบไปด้วย ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย และลูกมะขามป้อม ซึ่งตำรับยาชนิดนี้มีสรรพคุณช่วยแก้ปิตตะ วาตะ เสมหะ กองธาตุ กองฤดู กองอายุ และกองสมุฎฐาน
- ลูกสมอพิเภกจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดตรีสมอ” ซึ่งประกอบไปด้วย ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย และลูกสมอเทศ ซึ่งตำรับยาชนิดนี้มีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยผายธาตุ รู้ถ่ายรู้ปิดเอง และช่วยแก้เสมหะ
- ในบัญชียาจากสมุนไพรตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา สมอพิเภกจัดให้อยู่ในตำรับยา “ยาหอมนวโกฐ” ซึ่งเป็นยาในกลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกแน่นในหน้าอกในผู้สูงอายุ และแก้ลมปลายไข้ (อาการหลังจากฟื้นไข้แล้วมีอาการคลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และท้องอืด)
- สารสกัดจากสมุนไพรสมอพิเภก สมอไทย มะขามป้อม สามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตและช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งได้ (ผศ.ดร.สีหณัฐ ธนาภรณ์)
ข้อควรรู้ ! : ผลหากใช้รับประทานมาก ๆ จะเป็นยาเสพติดและทำให้หลับได้
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสมอพิเภก
- สมุนไพรสมอพิเภก มีฤทธิ์ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา ต้านยีสต์ ต้านไข้มาลาเรีย แก้หืด แก้ไอ แก้หวัด ช่วยลดความดันโลหิต ยับยั้งระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ป้องกันหลอดเลือดอุดตัน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันเบาหวาน ช่วยเร่งการสร้างน้ำดี ช่วยรักษาดีซ่าน ป้องกันฟันผุ ช่วยลดอาการอักเสบ รักษาสิว ช่วยคลายกล้ามเนื้อมดลูกของสตรี ยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนที่ผนังมดลูก ช่วยยับยั้งการก่อกลายพันธุ์ ยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 reverse transcriptase, HIV-1 Protease ช่วยฆ่าไส้เดือน และเป็นพิษต่อปลา (ข้อมูลจาก : สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข)
ประโยชน์ของสมอพิเภก
- เมล็ดสมอพิเภกสามารถนำมาทุบกินเนื้อข้างในได้ (ลั้วะ)
- นอกจากผลจะใช้รับประทานเป็นยาระบายแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ย้อมสีผ้าโดยจะให้สีขี้ม้า ส่วนเปลือกต้นจะให้สีเหลือง และยังใช้ฟอกหนัง ทำหมึกได้อีกด้วย
- เนื้อไม้ของต้นสมอพิเภกสามารถนำมาใช้ทำพื้น หีบใส่ของ ทำฝา ใช้ในการก่อสร้างต่าง ๆ ทำคันไถ เครื่องมือทางการเกษตรต่าง ๆ เรือขุด เป็นต้น
แหล่งอ้างอิง : ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ผศ.ดร.สีหณัฐ ธนาภรณ์ สาขาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1, ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), พจนานุกรมสมุนไพรไทย (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม)
ภาพประกอบ : www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual), www.flickr.com (by go green globe, dinesh_valke), เว็บไซต์ daramuseum.blogspot.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)