สบู่ดํา
สบู่ดำ ชื่อสามัญ Black soap, Physic nut, Purging nut, Barbados nut, Kuikui pake, Pignon d’inde
สบู่ดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Jatropha curcas L. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1],[8]
สมุนไพรสบู่ดำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ละหุ่งรั้ว สบู่หัวเทศ สลอดป่า สลอดดำ สลอดใหญ่ สีหลอด (ภาคกลาง), มะเยา หมักเยา มะหัว มะหุ่งฮั้ว มะโห่ง หกเทก (ภาคเหนือ), มะเยา หมากเย่า สีหลอด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), หงส์เทศ มาเคาะ (ภาคใต้), แจ้ทซู (หม่า), ทะวอง (เขมร), มั่วฮองซิว (แต้จิ๋ว), หมาฟ่งสู้ (จีนกลาง), บูราคีรี (ญี่ปุ่น) เป็นต้น[1],[2],[3]
สบู่ดํา เป็นพืชน้ำมันที่กำลังได้รับความสนใจจากทั้งในและต่างประเทศ เพราะทุกส่วนของต้นจะมียางสีขาวลื่น ๆ เป็นฟองคล้ายสบู่[1] และที่สำคัญสบู่ดำยังจัดเป็นพืชน้ำมันชนิดหนึ่ง เพราะน้ำมันที่ได้จากเมล็ดสามารถนำมาใช้เป็นน้ำมันสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลที่เกษตรกรใช้อยู่ได้ โดยไม่ต้องใช้น้ำมันชนิดอื่นผสมแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังใช้เป็นพืชสมุนไพรได้ด้วย[2]
ลักษณะของสบู่ดำ
- ต้นสบู่ดำ จัดเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 2-7 เมตร เป็นต้นไม้ที่อายุยืนมากกว่า 20 ปี ลำต้นเกลี้ยงเกลา ใช้มือหักได้ง่าย เนื่องจากเนื้อไม้ไม่มีแก่น ลำต้นและยอดคล้ายละหุ่งแต่จะไม่มีขน[2] โดยต้นสบู่ดำเป็นพืชที่ทนทานและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้ดี จึงเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อน หรือในพื้นที่ที่มีความสูงจนถึง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล หรือในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ ส่วนการปลูกโดยทั่วไปแล้วจะใช้กิ่งปักชำ มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเขตร้อน เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งชาวโปรตุเกสได้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา[3]
- ใบสบู่ดำ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ลักษณะของใบคล้ายกับใบละหุ่ง แต่ใบจะหยักตื้นกว่า ใบมีลักษณะค่อนข้างกลมหรือไข่ป้อม ๆ กว้างประมาณ 7-11 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-16 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ มีรอยหยัก 3-5 หยัก ฐานใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนเส้นใบออกจากจุดเดียวกันที่โคนใบ 5-7 เส้น ตามเส้นใบจะมีขนอ่อนปกคลุมอยู่ และมีก้านใบยาวประมาณ 6-18 เซนติเมตร[2],[3]
- ดอกสบู่ดำ ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ปลายยอดและตามง่ามใบ ดอกมีขนาดเล็กสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียจะอยู่บนต้นเดียวกัน โดยในช่อจะมีดอกตัวผู้มากกว่าดอกตัวเมีย ช่อดอกยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ดอกตัวเมียมีกลีบรองกลีบดอก 5 กลีบ ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร กลีบดอก 5 กลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ภายในหลอดมีขน ส่วนเกสรตัวผู้มี 10 อัน เรียงเป็นวง 2 วง (วงละ 5 อัน) ส่วนอับเรณูตั้งตรง ดอกตัวเมียกลีบรองดอกจะไม่ติดกัน มีรังไข่และท่อรังไข่เกลี้ยง บางครั้งมีเกสตัวผู้ฝ่อ 5 ก้าน ภายในรังไข่มีช่อง 2-4 ช่อง มีไข่อ่อนอยู่ช่องละ 1 หน่วย[2],[3]
- ผลสบู่ดำ ผลมีลักษณะกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นพู โดยส่วนมากแล้วจะมีอยู่ด้วยกัน 3 พู มีสีเขียวอ่อน เมื่อสุกหรือแก่จัดแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง โดยอายุของผลสบู่ดำคือตั้งแต่ออกดอกจนถึงผลแก่คือประมาณ 60-90 วัน[2],[3]
- เมล็ดสบู่ดำ เมล็ดมีสีดำ มีลักษณะกลมรี ผิวเกลี้ยง มีขนาดเล็กกว่าเมล็ดละหุ่งสายพันธุ์ลายขาวดำเล็กน้อย สีตรงปลายของเมล็ดมีจุดสีขาวเล็ก ๆ ติดอยู่ เมล็ดมีความยาวประมาณ 1.7-1.9 เซนติเมตรและมีความหนาประมาณ 0.8-0.9 เซนติเมตร โดยเมล็ด 100 เมล็ด จะหนักประมาณ 69.8 กรัม[2]
สบู่ เป็นภาษาโปรตุเกส ซึ่งหมายถึง ต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ใช้น้ำมันจากเมล็ดมาเป็นส่วนผสมในการทำสบู่ เพื่อใช้ชำระล้างร่างกาย ซักล้างเสื้อผ้า หรือของใช้อื่น ๆ[1]
สรรพคุณของสบู่ดำ
- ยางจากก้านใบนำมาป้ายปากช่วยรักษาโรคปากนกกระจอก (ยางจากก้านใบ)[2]
- น้ำต้มใบใช้กินเป็นยาฟอกเลือด ฟอกโลหิต (ใบ)[3]
- ยางใช้เป็นสารต้านมะเร็งได้ (ยาง)[9],[11]
- น้ำคั้นจากใบใช้ทาบริเวณท้องเด็ก ช่วยแก้ธาตุพิการได้ (ใบ)[3]
- ช่วยแก้อาการปวดฟัน (ยางจากก้านใบ)[2]
- กิ่งก้านสบู่ดำนำมาทุบแล้วใช้แปรงฟัน ช่วยแก้อาการเหงือกบวมอักเสบได้ (กิ่งก้าน)[3]
- ใบใช้อมบ้วนปาก ช่วยทำให้เหงือกแข็งแรง (ใบ)[3]
- ช่วยแก้อาการปากและลิ้นเปื่อยพุพอง (ใบ, เนื้อไม้, ยาง)[5]
- ใบช่วยลดอาการไข้ (ใบ)[3]
- ใบใช้ทำเป็นยาชงกินแก้อาการไอ (ใบ)[3],[8]
- แก้อาการลิ้นเป็นฝ้าขาว ละออง โดยใช้ยางจากก้านใบนำมาผสมกับน้ำนมมารดาแล้วนำมาป้ายลิ้น (ยางจากก้านใบ)[2],[5]
- ลำต้นนำมาตัดเป็นท่อนแล้วต้มกับน้ำให้เด็กกินแก้ซาง ตานขโมย (ลำต้น)[2] ช่วยแก้พิษซาง ถอนพิษที่ทำให้ตัวร้อน (ใบ, เนื้อไม้)[5]
- รากช่วยทำให้อาเจียน (ราก)[3]
- รากต้มกับน้ำดินเป็นยาแก้ท้องเสีย (ราก, ผล)[3] ส่วนใบช่วยแก้ท้องร่วง และแก้ท้องเสียได้เช่นกัน (ใบ)[3]
- ผลใช้รับประทานเป็นยาแก้บิด และช่วยแก้ท้องเสียได้ด้วยเช่นเดียวกับรากและใบ (ผล)[3]
- เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้อาการปวดท้อง (เปลือก)[5]
- รากใช้เป็นยาระบาย (ราก)[3] ส่วนเมล็ดใช้เป็นยาถ่าย ด้วยการรับประทานเมล็ดที่กะเทาะเปลือกแล้วนำมาย่างไฟเล็กน้อย ประมาณ 3-5 เมล็ด สกัดจนได้น้ำมันกึ่งระเหยใช้รับประทานเป็นยาถ่ายอย่างแรงและทำให้อาเจียนด้วย (เมล็ด, น้ำมันสบู่ดำ)[3],[5],[8] แต่บางข้อมูลก็ระบุว่าส่วนของต้นก็ใช้เป็นยาถ่ายได้เหมือนกัน[5]
- ผลใช้รับประทานเป็นยาถ่ายพยาธิ (ผล)[3]
- ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร (น้ำยางจากต้น)[3] แต่บางข้อมูลก็ระบุว่าเปลือกก็สามารถนำมาใช้เป็นยาถ่ายพยาธิได้เช่นกัน (เปลือก)[5]
- ช่วยรักษาตับอักเสบ (เมล็ด)[3]
- ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (เมล็ด)[3]
- ใช้ห้ามเลือด (ยางจากก้านใบ[2], น้ำยางจากต้น[3],[8])
- ช่วยสมานแผลสด แผลจากมีดบาด รวมไปถึงแผลปากเปื่อย (น้ำยาง)[3]
- ช่วยแก้บาดแผล (ใบ, เปลือกต้น)[3] และใบใช้ทารักษาแผลเรื้อรัง (ใบ)[3]
- น้ำยางนำมาทาใช้รักษาแผลไฟไหม้หรือแผลจากน้ำร้อนลวกได้ (น้ำยาง)[3] และสารสกัดจากต้นยังใช้รักษาโรคไหม้ โรคหิด และแผลที่เป็นสะเก็ดได้อีกด้วย (ต้น)[9],[11]
- ลำต้นนำมาตัดเป็นท่อนแล้วแช่กับน้ำอาบช่วยแก้โรคพุพอง (ลำต้น)[2]
- น้ำยางที่ได้จากก้านและต้นมีฤทธิ์ช่วยต่อต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย จึงนิยมนำมาใช้เพื่อรักษาโรคผิวหนังบางชนิด อย่างเช่น โรคปากนกกระจอก แผลในปาก หรือนำมาใช้หยอดรักษาตาแดง (ยาง)[6]
- ยางนำมาใช้ทาตามง่ามนิ้วมือนิ้วเท้าที่คัน ช่วยแก้อาการคันได้ (ยาง)[3]
- ใบหรือเมล็ดใช้แก้โรคผิวหนัง ผดผื่นคัน แก้คัน และหิดได้ ด้วยการใช้เมล็ดนำมาตำผสมกับน้ำมันพืช แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น หรือจะใช้ใบสดนำมาลนไฟจนอ่อนแล้วขยี้ให้แห้ง นำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น (ใบ, เมล็ด)[3] ส่วนน้ำยางจากต้นช่วยแก้โรคผิวหนังบางชนิด (น้ำยางจากต้น)[3]
- เมล็ดใช้ทำเป็นยาทาเฉพาะที่ ช่วยแก้อาการบวมแดงและแก้อาการคัน (เมล็ด)[3]
- ใบใช้ทารักษาฝีและช่วยลดอาการอักเสบ (ใบ)[3]
- เปลือกต้นหรือใบสบู่ดำช่วยแก้อาการปวดบวม (ใบ, เปลือกต้น)[3] น้ำมันสบู่ดำยังสามารถนำมาใช้ทาแก้อาการปวดในคนที่เป็นโรครูมาติสซั่ม (น้ำมันสบู่ดำ)[8]
- ช่วยแก้กระดูกหัก ด้วยการใช้เปลือกหรือใบสดกับส้มกบและพริกไทยประมาณ 4-5 เมล็ด นำมาตำรวมกันให้ละเอียด แล้วนำไปผัดใส่เหล้า เอาไปพอกบริเวณที่กระดูกหัก (ใบ, เปลือกต้น)[3]
- รากใช้ทำเป็นยาทาถูนวดแก้อาการปวดตามข้อได้ (ราก)[3] และน้ำมันจากเมล็ด 1 ส่วนใช้ผสมกับ Bland oil 3 ส่วน ใช้เป็นยาทานวดแก้อาการปวดตามข้อได้เช่นกัน และยังช่วยแก้อาการคัน แก้อาการปวดเมื่อย และยังสามารถนำไปใช้ทาบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้อีกด้วย (น้ำมันจากเมล็ด)[3],[5]
- เมล็ดสามารถใช้ทำเป็นยารักษาโรคข้ออักเสบและโรคเกาต์ได้ (เมล็ด)[9],[11]
- ใบใช้เป็นยาทาถูนวดแก้อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (ใบ)[3]
- ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำบวม ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่มีอาการ (ใบ, เปลือกต้น)[3]
- ใบใช้ทาภายนอก ช่วยขับน้ำนมของสตรีได้ (ใบ)[3]
- ช่วยฆ่าเชื้อโรคภายหลังการคลอดบุตรของสตรี (ใบ)[8]
- สารสกัดจากส่วนของใบ เปลือกผลแห้ง น้ำยาง เยื่อหุ้มเมล็ด และสารสกัดจากน้ำมันในเมล็ดมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ก่อโรค 4 ชนิด ซึ่งได้แก่ Aeromonas hydrophila, Bacillaus subtilis, Pseudomonas aeruginosa, และ Staphylococcus auricularis[6]
- มีรายงานจากประเทศไนจีเรียว่ามีผู้ป่วยเบาหวานประมาณ 200 คน ได้ลองดื่มน้ำชาจากใบสบู่ดำแทนการดื่มน้ำเป็นระยะเวลา 1 เดือน หลังจากดื่มไปได้เพียง 1 สัปดาห์ พบว่าปริมาณน้ำตาลในเลือดและคอเลสเตอรอลลดลงจนถึงระดับดีมาก[9],[11]
พิษของสบู่ดำ
- เมล็ดมีพิษมาก มีคุณสมบัติเป็นยาเสพติดที่มีฤทธิ์ในการกัดทำลาย มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง การรับประทานเข้าไปอาจทำให้เสียชีวิตได้[3]
- ผลและเมล็ดสบู่ดำจะมีพิษมากที่สุด ส่วนกิ่งและใบจะมีพิษรองลงมา โดยสารพิษที่พบได้แก่สารในกลุ่ม Toxalbumin คือ Curcin และ Jatrophin[4]
- เมล็ดมีสารพิษที่ชื่อว่า Curcin ซึ่งมีฤทธิ์เหมือนสลอด เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้ท้องเดินได้[2]
- หากยางของสบู่ดำถูกผิวหนัง อาจจะเกิดอาการระคายเคือง อักเสบ บวมแดง ปวดแสบปวดร้อนได้ หรือหากเข้าตาก็อาจจะทำให้ตาอักเสบ หรือาจถึงขั้นตาบอดชั่วคราวได้[7]
ตัวอย่างผู้ที่ได้รับพิษจากสบู่ดำ
- เด็กอายุ 3 ขวบถูกนำส่งโรงพยาบาลเพราะได้รับประทานเมล็ดสบู่ดำ หลังจากรับประทานไปได้ 3 ชั่วโมงครึ่ง เด็กมีอาการมึนงง ตัวเขียวเนื่องจากขาดออกซิเจน ไม่สามารถเก็บอาหารและน้ำได้ เพราะอาเจียนหรือถ่ายออกหมด ทำให้มีอาการผิวหนังเย็น มีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง ขอบตาเขียวคล้ำ ตาลึกโหล แต่ความดันโลหิต ชีพจร อุณหภูมิในร่างกาย และอัตราการหายใจยังเป็นปกติ ส่วนในปัสสาวะพบว่ามีอัลบูมินเล็กน้อย และใน 24 ชั่วโมงแรกเด็กมีไข้และปัสสาวะน้อยลง[4]
- เด็กนักเรียนจำนวน 5 คนได้รับประทานเมล็ดสบู่ดำเข้าไปโดยไม่ทราบจำนวน หลังจากรับประทานไปได้ 1 ชั่วโมงครึ่ง พบว่ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย โดยมีเด็ก 1 คน ที่มีอาการซึมและมีความดันโลหิตต่ำ ซึ่งได้ทำการรักษาด้วยการล้างกระเพาะอาหาร ให้ผงถ่านกัมมันต์แล้วรักษาตามอาการ[4]
- เด็กอายุ 9-14 ปี จำนวน 29 ราย ได้รับประทานเมล็ดสบู่ดำ และพบว่ามีอาการคลื่นไส้อาเจียน ส่วนบางรายมีอาการมึนงง[4]
- เด็กอายุ 12 ปี รับประทานเมล็ดสบู่ดำเข้าไป 2- เมล็ด พบว่ามีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน แพทย์ได้ทำการรักษาด้วยการล้างท้องและให้น้ำเกลือ[4]
วิธีการรักษาพิษจากสบู่ดำ
- สำหรับผู้ที่ได้รับพิษจากการรับประทานเมล็ดสบู่ดำเข้าไป การช่วยเหลือเบื้องต้นง่าย ๆ ก็คือ ให้ดื่มนมเข้าไปมาก ๆ หรือพยายามทำให้อาเจียนเพื่อเอาพิษออกจากกระเพาะอาหาร แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาต่อไป[7]
- หากยางของสบู่ดำถูกผิวหนัง อาจเกิดอาการระคายเคือง อักเสบ บวมแดง ปวดแสบปวดร้อนได้ หรือหากเข้าตาก็อาจจะทำให้ตาอักเสบ หรือาจถึงขั้นตาบอดชั่วคราวได้ สำหรับวิธีการรักษาให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่ทันที[7]
- ทำให้อาเจียนเมล็ดสบู่ดำที่รับประทานเข้าไปออกมา หากยังไม่อาเจียน ให้น้ำเชื่อม ipecac พร้อมกับรับประทานยาเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้[4]
- บางรายอาจให้ใช้ผงถ่านเพื่อช่วยดูดซับสารพิษแล้วรับนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อทำการล้างท้องต่อไป[4]
- ให้รับประทานยาถ่ายประเภทเกลือ เช่น ดีเกลือ หรือใช้ผงถ่านเพื่อช่วยลดการดูดซึมสารพิษ และต้องระวังอาการขาดน้ำและอิเล็กโทรไลต์ด้วย โดยการใช้น้ำเกลือเพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำ หากเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ให้ใช้ Dextrose infusion เพื่อช่วยรักษาภาวะสมดุล[4]
- หากมีอาการชักเกร็งให้ใช้ Diazapam กรณีที่มีอาการหายใจติดขัด ให้ออกซิเจน[4]
- ให้อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตสูง อย่างเช่น น้ำตาล และงดอาหารจำพวกไขมันทุกชนิด[4]
- ลดการอุดตันของท่อในไตเนื่องจากเม็ดเลือดแดงที่เกาะกลุ่มกัน ด้วยการรับประทานโซเดียมไบคาร์บอเนต เช่น โซดามินต์ วันละประมาณ 5-15 กรัมหรือประมาณ 1-50 เม็ด เพื่อทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง (ปรับค่า pH ประมาณ 7.5) ควบคุมการทำงานของไต แต่ต้องระวังอาการไตวายและหมดสติด้วย[4]
ประโยชน์ของสบู่ดำ
- ใช้ทำเป็นอาหารและเครื่องดื่มสำหรับมนุษย์ และใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์หรือสัตว์ป่า[8]
- ดอกนำมาใช้เลี้ยงผึ้งเพื่อผลิตน้ำผึ้ง[8],[9]
- ยอดอ่อน สามารถนำมารับประทานกับลาบได้ (เมี่ยน)[3] ใบอ่อนสามารถนำมานึ่งหรือต้มใช้รับประทานได้อย่างปลอดภัย (ใบอ่อน)[8]
- ผลใช้ทำเป็นยาเบื่อ ทำให้ท้องเสียอย่างรุนแรง (เมี่ยน)[3] ต้นใช้ทำเป็นยาเบื่อปลา (ต้น)[5]
- ใช้ทำเป็นยาสำหรับคนและเป็นยาสำหรับรักษาสัตว์ โดยทุกส่วนของต้นสบู่ดำ รวมทั้งเมล็ด ใบ และเปลือกไม้ ทั้งสด ทั้งต้ม และจากการนำมาสกัด สามารถนำมาทำเป็นยาพื้นบ้าน[8]
- เมล็ดใช้หีบเป็นน้ำมัน ใช้เป็นยาบำรุงรากผมได้[2]
- ก้านสบู่ดำมีน้ำมันและให้ฟองแบบธรรมชาติจึงนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการทำเป็นสบู่ได้[6]
- น้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำสามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเครื่องยนต์ที่มีรอบต่ำ จึงมีประโยชน์อย่างมากสำหรับเกษตรกร ซึ่งจากการทดสอบใช้น้ำมันจากสบู่ดำครบ 1,000 ชั่วโมง แล้วได้ทำการถอดชิ้นส่วนของเครื่องออกมาตรวจสอบ เช่น เสื้อสูบ ลูกสิบ แหวน ลิ้น หัวฉีด ฯลฯ ไม่พบว่ามีกาวเหนียวจับ และทุกชิ้นยังคงสภาพดีเหมือนเดิม ซึ่งได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างมากในช่วงสภาวะที่น้ำมันมีราคาสูงมากอย่างในปัจจุบัน[2]
- ผลแก่นำมาผ่าครึ่งแล้วใช้น้ำยางจากผลที่ได้นำไปใช้จุดตะเกียงแทนน้ำมันได้ (ม้ง)[3]
- กากเมล็ดสามารถนำมาใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงให้กับเครื่องสตีมเทอร์ไบน์ (Steam turbine) สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ (กากเมล็ด)[8]
- ใบหรือเมล็ดใช้ทำเป็นยาฆ่าแมลงได้[3]
- เมล็ดสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ ด้วยการใช้กากที่เหลือจากการหีบน้ำมัน เพราะมีธาตุอาหารหลักมากกว่าปุ๋ยหมักและมูลสัตว์หลายชนิด (ยกเว้นมูลไก่ที่มีธาตุโพแทสเซียมและธาตุฟอสฟอรัสมากกว่า)[2] กากเมล็ดซึ่งเป็นส่วนที่เหลือจากการหีบเอาน้ำมันไปใช้ สามารถนำมาอัดเป็นก้อนเพื่อใช้ทำปุ๋ยได้เช่นกัน (กากเมล็ด)[8]
- ต้นสบู่ดำสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นแนวรั้ว เพื่อช่วยป้องกันสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ ม้า แพะ ฯลฯ ไม่ให้เข้ามาทำลายผลผลิตทางการเกษตรได้ เนื่องจากมีสารพิษหรือกรดไฮโดรไซยานิค (Hydrocyanic acid) ที่มีกลิ่นเหม็นเขียว[2]
- ใช้ปลูกเป็นร่มเงาสำหรับคนและสัตว์ ปลูกเพื่อป้องกันการถูกชะล้างพังทลายของหน้าดิน ช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ใช้เก็บกักน้ำ[8]
- นำมาใช้ทำเป็นน้ำมันหล่อลื่น เทียนไข[10]
- เปลือกไม้สามารถนำมาสกัดสารแทนนิน (Tannin) เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมย้อมสีและฟอกหนังได้[8]
- เส้นใยใช้ทำเป็นเสื้อผ้า เชือก หรือใช้ในงานหัตถกรรม[8] ใช้ในอุตสาหกรรมทอฝ้า[9]
- ต้นสบู่ดำสามารถนำมาใช้ทำเป็นกระดาษและทำเป็นไม้อัดได้ ซึ่งเป็นเนื้อกระดาษชั้นดี และมีความเป็นไปได้ที่จะได้เยื่อที่มีขนาดยาว ซึ่งในบ้านเรามีการใช้เยื่อจากต้นยูคาลิปตัสที่เป็นเยื่อสั้นเป็นหลัก จึงได้มีการนำเข้าเนื้อเยื่อยาวจากต้นสนของต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งถ้าหากนำต้นสบู่ดำมาทำให้ได้เนื้อเยื่อยาวได้จริง ก็จะสามารถนำมาใช้ทดแทนเยื่อกระดาษที่นำเข้าได้[9],[10] นำมาทำเป็นแผ่นไม้ประกอบ ทำเป็นกระดาษสา[11]
- ทำเป็นเครื่องมือทำการเกษตรและอุตสาหกรรมครัวเรือน ใช้ในวัตถุประสงค์เพื่องานศิลปะ หรืองานหัตถกรรมด้านศาสนา[8]
- ใช้เป็นแหล่งพลังงาน โดยใช้ทำเป็นฟืนและถ่าน ใช้ทำเป็นวัสดุก่อสร้าง ทำรั้ว[8] กิ่งก้านและต้นสามารถนำมาผลิตเป็นถ่าน น้ำส้มควันได้ (กิ่งก้าน, ต้น)[11]
- เมล็ดประกอบไปด้วยน้ำมันประมาณ 35-40% ส่วนเนื้อใน (Kernels) มีประมาณ 55-60% สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางหรือครีมถนอมผิวได้[8]
- น้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำสามารถนำมาใช้ทำเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ใช้ควบคุมแมลงศัตรูฝ้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนอนเจาะสมอฝ้าย ศัตรูผัก มันฝรั่ง ข้าวโพด ฯลฯ ส่วนสารสกัดเมทานอล (Methanol extracts) จากสบู่ดำที่มีสารพิษบางชนิดซึ่งช่วยควบคุมพยาธิในหอยที่นำมาใช้บริโภคได้ด้วย[8]
- ในด้านสาธารณสุข มีการใช้สบู่ดำเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กำจัดลูกน้ำยุงและแมลงวัน[11]
เอกสารอ้างอิง
- สื่อการสอนครู โรงเรียนเม็งรายมหาราชวิทยาคม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: tc.mengrai.ac.th. [19 ต.ค. 2013].
- โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า. “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสบู่ดำ“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.crma.ac.th. [19 ต.ค. 2013].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง ( องค์กรมหาชน ). อ้างอิงใน: พจนานุกรมสมุนไพรไทย (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม), สมุนไพรไทยตอนที่5 ฝ่ายพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กองบำรุง กรมป่าไม้ (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [19 ต.ค. 2013].
- สำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล. “สบู่ขาวหรือสบู่ดำ“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [19 ต.ค. 2013].
- สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. “สรรพคุณทางยาของสบู่ดำมีอะไรบ้าง ?“. อ้างอิงใน: หนังสือสบู่ดำพืชพลังงานสารพัดประโยชน์ (ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: siweb.dss.go.th. [19 ต.ค. 2013].
- สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “สารสกัดที่มีฤทธิ์ยับยั้งจุลินทรีย์จากส่วนต่าง ๆ ของสบู่ดำ“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rdi.ku.ac.th. [19 ต.ค. 2013].
- กระทรวงสาธารณสุข. “สธ.ชี้อันตรายเมล็ดสบู่ดำมีสารพิษห้ามกินอย่างเด็ดขาด พิษอาจถึงตาย“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.moph.go.th. [19 ต.ค. 2013].
- สำนักงานเกษตรอำเภอสองแคว จังหวัดน่าน. “สบู่ดำกับน้ำมันดีเซล“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: songkhwae.nan.doae.go.th. [19 ต.ค. 2013].
- biogang. อ้างอิงใน: www.stks.or.th. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.biogang.net. [19 ต.ค. 2013].
- POSITIONING. “สบู่ดำจากพืชพื้นบ้าน…สู่พืชพลังงานทดแทนน้ำมัน“. อ้างอิงใน: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (21 เมษายน 2548). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.positioningmag.com. [19 ต.ค. 2013].
- Oknation. “เดินตามรอยเท้าพ่อ…..สบู่ดำ…..ทางเลือกของพลังงานทดแทน“. อ้างอิงใน: วารสารรักษ์พลังงาน ฉบับที่ 47 เดือน เมษายน 2551. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.oknation.net. [19 ต.ค. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Linda DV (away), Ahmad Fuad Morad, tonrulkens, Indianature s4, Jatropha Breeder, Scamperdale, dioeye)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)