28 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสนหางสิงห์ ! (ต้นสนแผง)

28 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสนหางสิงห์ ! (ต้นสนแผง)

สนหางสิงห์

สนหางสิงห์ ชื่อสามัญ Chinese Arborvitae, Oriental Arborvitae[1]

สนหางสิงห์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Platycladus orientalis (L.) Franco (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Biota orientalis (L.) Endl., Thuja orientalis L.) จัดอยู่ในวงศ์ CUPRESSACEAE[1]

สมุนไพรสนหางสิงห์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จันทยี จันทน์ยี่ (เชียงใหม่), สนเทศ สนแผง (กรุงเทพฯ), เฉ็กแปะ (จีนแต้จิ๋ว), เช่อป๋อ เช่อไป่เย่ ไป่จื่อเหยิน (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของสนหางสิงห์

  • ต้นสนหางสิงห์ หรือ ต้นสนแผง จัดเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงของต้นประมาณ 20 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นและกิ่งก้านบิดเป็นเกลียว เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอมสีแดง เปลือกต้นเป็นเกล็ดมีสีน้ำตาลอมแดง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และการตอนกิ่ง จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและมีความชื้อพอประมาณ[1],[2]

ต้นสนหางสิงห์

ต้นสนแผง

  • ใบสนหางสิงห์ ใบเป็นใบร่วมหรือใบประกอบแบบขนนกหลาชั้น เรียงเป็นแผง ใบย่อยออกเรียงสลับและเป็นเกล็ดขนาดเล็ก เรียงติดกันแน่นกับกิ่ง ซึ่งอยู่ในลักษณะเป็นแผง มีสีเขียวสด[1],[2]

ใบสนหางสิงห์

  • ดอกสนหางสิงห์ ออกดอกเดี่ยวตามง่ามใบ ดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่ สีน้ำตาลอ่อน ดอกเพศผู้แล้วดอกเมียจะอยู่กันคนละดอก แต่อยู่บนต้นเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะมีก้านสั้นมาก ส่วนดอกเพศเมียไม่มีก้าน[1],[2]

ดอกสนหางสิงห์

  • ผลสนหางสิงห์ ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมตั้งตรง ผลอ่อนฉ่ำน้ำ สีเขียวอมสีน้ำเงิน มีผงสีขาวปกคลุมอยู่ เมื่อแก่จะเป็นผลแห้ง มีสีน้ำตาลอมแดง และจะแตกออกเป็น 8 แฉก ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่สีน้ำตาลเข้มและมีสัน ในภาษาจีนจะเรียกเมล็ดสนแผงว่า “ไป่จื่อเหยิน”[2]

ผลสนหางสิงห์

เมล็ดสนหางสิงห์

สรรพคุณของสนหางสิงห์

  1. ใบมีรสขมฝาด เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อหัวใจ ลำไส้ใหญ่ และตับ ใช้เป็นยาทำให้เลือดเย็น แก้ร้อนในปอด (ใบ)[2]
  2. เมล็ดมีรสหวานเผ็ด เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อหัวใจ ลำไส้ใหญ่ ตับ และไต ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ทำให้หัวใจชุ่มชื่น ช่วยทำให้จิตใจสบาย (เมล็ด)[2]
  3. ใบมีสรรพคุณเป็นยาลดความดันโลหิต ด้วยการใช้ใบสด 15 กรัม นำมาชงกับน้ำดื่มแทนชา โดยดื่มจนกระทั่งความดันลดลง (ใบ)[1]
  4. ผลใช้เป็นยากล่อมประสาทสำหรับผู้ที่หัวใจเต้นเร็วแล้วนอนไม่หลับ (ผล)[1]
  5. ใช้แก้ประสาทอ่อน นอนไม่หลับ หรือมีอาการตกใจง่าย ด้วยการใช้เมล็ดสนหางสิงห์ 12 กรัม, แหม่เกาติ๊ง 12 กรัม, เมล็ดพุทราจีนที่ผ่านการคั่วมาแล้ว 10 กรัม, หกเหล็ง 10 กรัม, และเอี่ยงจี่ 10 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน (เมล็ด)[2]
  6. ใบใช้เป็นยาแก้คางทูม โดยใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียด ผสมกับไข่ขาว แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น และให้เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง (ใบ)[1]
  7. ช่วยแก้อาการไอ และขับเสมหะ ด้วยการใช้ใบสด 30 กรัม และน้ำ 500 มิลลิลิตร นำมาชงเข้าด้วยกัน ใช้กินครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 3-6 ครั้ง (ใบ)[1]
  8. ตำรายาแก้หลอดลมอักเสบ และแก้อาการไอ ให้ใช้ใบนำมาบดให้เป็นผง ทำเป็นยาเม็ด เมล็ดละประมาณ 0.5 กรัม ใช้รับประทานครั้งละ 4 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ต่อติดกันเป็นเวลา 10 วัน (ใบ)[2]
  9. ใช้เป็นยาแก้บิดไม่มีตัว (ใบ)[1]
  10. หากมีเลือดกำเดาไหล ให้ใช้ใบแห้งและดอกทับทิมแห้ง อย่างละเท่ากัน นำมาบดให้เป็นผงแล้วเป่าเข้าในจมูก (ใบ)[1],[2]
  1. ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด (ใบ)[2]
  2. ช่วยขับลมชื้น (ใบ)[2]
  3. ช่วยแก้เด็กท้องร่วง ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ)[1]
  4. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อน ๆ ใช้แก้อาการท้องผูก หรือจะใช้เมล็ดสนหางสิงห์ร่วมกับเมล็ดกัญชา อย่างละ 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานก็ได้ (เมล็ด)[2]
  5. ผลใช้เป็นยาบรรเทาอาการลำไส้ตีบ (ผล)[1]
  6. ช่วยแก้บิดมูกเลือด แก้เลือดออกในกระเพาะและลำไส้ (ใบ)[2]
  7. ช่วยขับปัสสาวะ ด้วยการใช้ใบสด 30 กรัม และน้ำ 500 มิลลิลิตร นำมาชงเข้าด้วยกัน ใช้กินครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 3-6 ครั้ง (ใบ)[1]
  8. ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือด (ใบ)[2]
  9. เปลือกต้นใช้ฝนเป็นยากวาดทวารเบา (เปลือกต้น)[1]
  10. ใช้แก้ริดสีดวงทวารที่เลือดไหลไม่หยุด ด้วยการใช้ขี้เถ้าของใบนำมาชงกับน้ำกิน (ใบ)[1]
  11. ช่วยขับระดูของสตรี (ใบ)[1]
  12. ช่วยทำให้ดูระขาวแห้ง (เปลือกต้น)[1]
  13. แก้ตกเลือด สตรีตกเลือด ให้ใช้ใบ 120 กรัม นำมาต้มกับน้ำ ใช้แบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง (ใบ)[1],[2]
  14. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน (เปลือกต้น)[1]
  15. ใบใช้ยาห้ามเลือด ด้วยการใช้บดเป็นผงแล้วโรยใส่แผลเพื่อห้ามเลือด (ใบ)[1,[2]
  16. ช่วยรักษาแผลพุพอง แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก (บ้างว่ารักษาไฟลามทุ่งได้ด้วย) ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดแล้วใส่น้ำผสมลงไป คนจนเหนียวเป็นยาง แล้วใช้พอกบริเวณที่เป็น (ใบ)[1]
  17. ช่วยแก้อาการข้อ (ใบ)[1]

หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม [2] ใบและเมล็ด ให้ใช้ครั้งละ 6-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทา หรือจะใช้ร่มกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยาก็ได้[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสนหางสิงห์

  • ในใบมีน้ำมันระเหยประมาณ 0.6-1% (Caryophyllene, Fenchone, Pinene, Thujene, Thujone) และมี Flavones 1-72% (Amentoflavone, Aromadendrin, Hinokiflavone, Quercetrin, Myricetin) และยังมีสารแทนนิน, เรซิน และวิตามินซี[1]
  • ในใบและกิ่งพบสาร Fenchone, Quercitrin, Pinpicrin, Tannin, Thujone, Vitamin C ส่วนในเมล็ดพบน้ำมันและน้ำมันระเหย ซึ่งในน้ำมันระเหยพบสาร Beta-thujaplicin, Cedrol, Curcumenether, Hinokiavone, Thujopsene เป็นต้น[2]
  • สารที่สกัดได้จากใบและเมล็ดสนหางสิงห์ มีฤทธิ์ในการกล่อมประสาทมทำให้สัตว์ทดลองหลับได้สนิท และหลับได้นานขึ้น[2]
  • สารจำพวก Flavonoid ในใบสนหางสิงห์ มีฤทธิ์ยับยั้งอาการไอ และเป็นยาขับเสมหะในสัตว์ทดลองของหนูได้[2]
  • สารที่สกัดได้จากใบ หรือน้ำที่ต้มได้จากใบสนหางสิงห์ มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Staphelo coccus, Strepto coccus, Columbacilus และเชื้อบิดในลำไส้ใหญ่ หรือเชื้อไทฟอยด์ และยังสามารถต่อต้านเชื้อไวรัสของไข้หวัดใหญ่ได้อีกด้วย[2]
  • จากการทดสอบความสามารถในการยืดอายุของหนอน Caenorhaditis elegans โดบใช้สารสกัด n-butanol ที่ได้จากเมล็ดสนหางสิงห์ พบว่าสนหางสิงห์สามารถช่วยยืดอายุการมีชีวิตของหนอนได้ ทั้งในสภาวะปกติและในสภาพเครียด โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสาร และยังพบว่าสนหางสิงห์มีฤทธิ์ลดอนุมูลอิสระ และช่วยควบการเพิ่มโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการทนต่อสภาวะเครียดมากขึ้น และยังมีฤทธิ์ลดรงควัตถุที่เกิดจากความเสื่อมของไขมัน Lipofuscin ในหนอน Caenorhaditis elegans ได้ด้วย จึงสรุปได้ว่าสารสกัด n-butanol ที่ได้จากเมล็ดสนหางสิงห์ มีฤทธิ์ช่วยยืดอายุ โดยไปทำลายอนุมูลอิสระ ลดปริมาณของ Lipofuscin และเพิ่มความสามารถในการทนต่อสภาวะความเครียด จึงเป็นผลการทดสอบที่มีประโยชน์ต่อการแพทย์ในการศึกษาเกี่ยวกับยาบำรุงร่างกายต่อไป[3]

ข้อห้ามการใช้สมุนไพรสนหางสิงห์

  • สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน[1],[2]

ประโยชน์ของสนหางสิงห์

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามอาคารหรือสถานที่ต่าง ๆ เพื่อความสวยงาม
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “สนหางสิงห์”.  หน้า 744-745.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “สนหางสิงห์”.  หน้า 524.
  3. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ความสามารถในการยืดอายุของหนอนนีมาโทดา Caenorhaditis elegans ของสารสกัด n-butanol จากเมล็ดของสนหางสิงห์”.  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th.  [01 มิ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by .Bambo., François Guibert, Plantas Brazal, Jim Harding, Phuong Tran, 加菲老爺)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด