สนทะเล
สนทะเล ชื่อสามัญ Australian pine, Beefwood, Common iron wood, False iron Wood, False pine, Queensland swamp oak, Sea oak, She oak, Tree Beefwood[2],[3]
สนทะเล ชื่อวิทยาศาสตร์ Casuarina equisetifolia L. จัดอยู่ในวงศ์สนทะเล (CASUARINACEAE)[1],[2],[3]
สมุนไพรสนทะเล มีชื่อเรียกอื่นว่า กู (นราธิวาส, ภาคใต้), ส่วนภาคกลางเรียกสนทะเล เป็นต้น[1]
สนทะเลเป็นไม้ยืนต้นที่ขึ้นเป็นหมู่ ๆ เป็นไม้ที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลที่เป็นดินทรายหรือทราย มักพบขึ้นตามชายฝั่งตอนเหนือและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย ตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกตั้งแต่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน ศรีลังกา ไทย ไปจนถึงโพลีนีเซีย ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 10-35 องศาเซลเซียส ส่วนในบ้านเราสนทะเลมักพบขึ้นเองตามธรรมชาติในแถบพื้นดินหาดทรายชายทะเลทั่วไปที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา ตรัง สงจลา กระบี่ ภูเก็ต และตามเกาะต่าง ๆ[3]
ลักษณะของสนทะเล
- ต้นสนทะเล จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลักษณะของทรงพุ่มเป็นรูปกรวยแคบ ปลายแหลม มีความสูงของลำต้นประมาณ 10-20 เมตร แต่บางต้นอาจมีความสูงได้ถึง 50 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 80 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง กิ่งชะลูดขึ้นไปทางปลายยอด มีกิ่งทำมุมป้านหรือตั้งฉากกับลำต้นและไม่เป็นระเบียบ ส่วนกิ่งย่อยเป็นสีเขียวเรียวเล็กมากคล้ายรูปเข็มต่อกันเป็นปล้อง ๆ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทา เปลือกแตกเป็นร่องตื้น ๆ เป็นสะเก็ดเล็ก ๆ เปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลแดง กระพี้เป็นสีน้ำตาลอ่อน แยกจากแก่นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนแก่นเป็นสีน้ำตาลแดง นิยมขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เนื่องจากสะดวกและขยายพันธุ์ได้เป็นจำนวนมาก แต่สนทะเลก็สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำหรือตอนกิ่งได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมนัก สนทะเลเป็นไม้กลางแจ้ง ที่เจริญเติบโตได้ในดินร่วนซุย มีความชื้นหรือเป็นดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี โดยสามารถเจริญเติบโตได้ดีตั้งแต่ในพื้นดินที่มีระดับต่ำเท่ากับระดับน้ำทะเลไปจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงถึง 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล โดยมักพบขึ้นอยู่ตามชายฝั่งทะเลเป็นส่วนมาก[1],[2],[3]
- ใบสนทะเล ใบเป็นใบประกอบ แบบลดรูปลง มีขนาดเล็กแหลม ลักษณะคล้ายฟันเลื่อยหรือซี่ฟันหรือเกล็ดเล็กละเอียด มีสีขาวแกมเขียว ติดอยู่รอบข้อของกิ่งย่อย ข้อหนึ่งมีใบย่อยประมาณ 6-9 ใบ แต่ส่วนใหญ่มักมี 7 ใบ เรียงกันเป็นช่อกลม ลักษณะคล้ายหนามแหลม รูปสามเหลี่ยมและส่วนของกิ่งย่อยสีเขียวเป็นเส้นแหลม ๆ คือ ส่วนที่ช่วยทำหน้าที่ในการปรุงอาหารเลี้ยงลำต้น[1],[2],[3]
- ดอกสนทะเล ออกดอกเป็นช่อ ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ดอกมีขนาดเล็ก ช่อดอกเพศผู้เป็นช่อเชิงลดห้อยลง ดอกเพศผู้จะไม่มีก้านดอก จัดเรียงตัวเป็นรูปช่อยาวเรียว ๆ ออกตรงส่วนยอดของลำต้นหรือที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นรูปกระบองเรียว ๆ สีแดงยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ใบประดับมีขนสีขาวหนาแน่น ใบประดับย่อยมีสองอัน ตรงปลายเป็นติ่งหนาม ส่วนช่อดอกเพศเมียจะอยู่ล่างช่อดอกเพศผู้ ลักษณะของดอกทั้งสองก็ต่างกัน ดอกเพศเมียเป็นสีน้ำตาลแดง ช่อดอกเพศเมียมีลักษณะเป็นลูกตุ้มเล็ก ๆ หรือมีลักษณะคล้ายโคน (cone) ทรงรูปไข่หรือรูปกระสวย มีขนาดกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.7 เซนติเมตร ดอกจะออกตามกิ่งและง่ามกิ่ง และดอกทั้งสองเพศจะอยู่บนกิ่งใหญ่กิ่งเดียวกัน[1],[2],[3]
- ผลสนทะเล ผลมีลักษณะเป็นลูกกลม ๆ ขนาดเล็ก เรียงชิดกันเป็นรูปกรวยหรือรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 0.4 นิ้ว และยาวประมาณ 0.5 นิ้ว เปลือกผลแข็ง แต่ละผลจะประกอบไปด้วยผลย่อยเรียงตัวแทรกอยู่ในผลใหญ่ ผลอ่อนจะเป็นสีเขียวนวล เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และแตกออกตามรอยประสาน มองเห็นเมล็ดภายในมากมาย โดยเมล็ดจะมีลักษณะเป็นปีกบาง ๆ และมีจำนวนมาก[1],[2],[3]
- เมล็ดสนทะเล เมล็ดจะมีลักษณะเป็นรูปกลมรี มีปีกหรือครีบบาง ๆ ที่ปลายเมล็ดยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตรติดอยู่ มีน้ำหนักเบาและมีขนาดเล็กมาก จึงสามารถพัดพาให้ลอยไปไกล ๆ ได้[1],[2],[3]
สรรพคุณของสนทะเล
- แก่นของต้นสนทะเลมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด วิธีการก็คือให้นำแก่นสนทะเลประมาณ 3-5 ชิ้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น (แก่น)[2]
- แก่นสนทะเลมีสรรพคุณแก้อาการอ่อนเพลีย (แก่น)[2]
- เมล็ดสนทะเล นำมาบดหรือป่นให้ละเอียด ใช้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ (เมล็ด)[1]
- แก่นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (แก่น)[2]
- ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน (แก่น)[2]
- ใบนำมาต้มกินเป็นยาแก้อาการจุกเสียด (ใบ)[1]
- ใบนำมาต้มกินเป็นยาแก้ปวดท้อง (ใบ)[1]
- เปลือกนำมาต้มกับน้ำ ใช้เป็นยาฝาดสมานเพื่อรักษาโรคท้องเดินเรื้อรัง แก้บิด แก้โรคท้องร่วง (เปลือก)[1],[2],[3]
- ใบนำมาชงเป็นยาขับปัสสาวะ (ใบ)[1] ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า ให้ใช้กิ่งแขนงนำมาชงกับน้ำรับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ (กิ่ง)[2],[3]
- เปลือกถ้าใช้มากจะมีฤทธิ์ไปบีบมดลูก ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ (เปลือก)[1],[2]
- เปลือกและชันมีสรรพคุณเป็นยาสมานแผล (เปลือก, ชัน)[1]
- น้ำมันมีสรรพคุณช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก แก้อักเสบ (น้ำมัน)[2]
- เปลือกใช้ต้มกับน้ำอาบแก้โรคเหน็บชา (เปลือก)[1]
หมายเหตุ : วิธีการใช้แก่นตาม [2] ให้ใช้แก่นประมาณ 3-5 ชิ้น นำมาต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสนทะเล
- สารสำคัญที่พบ ได้แก่ afzelin, amyrin, betulin, catechin, cholesterol, gallic acid, gallicin, gentisic acid, germanicol, glutinol, hydroquinone, hyperoside, kaempferol, leucine, lupenone, lupeol, nictoflorin, quercitrin, quinic acid, rutin, stigmasterol, tannin, taraxerol acetate, tryptophan, trifolin เป็นต้น[2]
- แก่นสนทะเลมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านไวรัส ต้านเชื้อรา[2]
- เมื่อปี ค.ศ.1984 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทดลองใช้สารสกัดจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นสนทะเลกับหนูถีบจักรทดลอง พบว่า ให้ผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูถีบจักรได้[2]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่า สารสกัดจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นสนทะเลด้วย 50% เอทานอล เมื่อนำมาฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร ทำให้สัตว์ทดลองตายร้อยละ 50 มีค่าเท่ากับ 1 กรัมต่อกิโลกรัม[2]
ประโยชน์ของสนทะเล
- เนื้อไม้สนทะเลเป็นสีแดงแกมสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม เสี้ยนไม้ตรง เนื้อไม้หยาบปานกลาง เลื่อยผ่าตกแต่งได้ไม่ยาก มีความแข็ง ผึ่งยาก ใช้ในร่มได้ทนทานพอสมควร สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างต่างๆ ได้ เช่น การทำเสาเข็ม เสาบ้าน เสาไฟฟ้า เสาโป๊ะ ทำเป็นโครงนั่งร้าน รวมไปถึงใช้ทำด้ามเครื่องมือต่าง ๆ ด้ามแจว แอก ล้อเกวียน เป็นต้น[3]
- เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำเป็นกระดาษได้โดยใช้ Neutral sulfite semi-chemical[3]
- ไม้สนทะเลเป็นไม้ที่ติดไฟได้ดีและให้ความร้อนที่สูงมาก จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ไม้ฟืนที่ดีที่สุดในโลก” เพราะสามารถติดไฟได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะไม้แห้งหรือไม้สด และยังสามารถนำไม้มาเผาทำเป็นถ่านได้เป็นอย่างดี โดยให้ค่าความร้อนสูงถึง 7,410 แคลอรีต่อกรัม อีกทั้งขี้เถ้าของสนทะเลยังช่วยเก็บความร้อนไว้ได้นานอีกด้วย และใบของสนทะเลยังถูกนำมาใช้ในการเดินเครื่องจักรของรถจักรไอน้ำของทางการรถไฟ (ในรัฐ karnataka) ของประเทศอินเดีย ถือว่าต้นสนทะเลเป็นไม้ที่สำคัญสำหรับใช้ในการปลูกเป็นสวนป่าเพื่อใช้ทำเชื้อเพลิง)[3]
- เปลือกของไม้สนทะเลจะมีน้ำฝาดและสีซึ่งมีแทนนิน (Tannin) อยู่ประมาณ 6-18% ซึ่งน้ำฝาดจากเปลือกสนทะเลสามารถนำมาใช้ในการฟอกหนัง โดยการซึมซาบเข้าไปในหนังที่ฟอกอย่างรวดเร็ว ทำให้หนังเกิดการพองตัวและมีลักษณะอ่อนนุ่ม ส่วนสีของหนังที่ฟอกได้จะเป็นสีน้ำตาลปนสีแดงอ่อน ๆ[3]
- เปลือกไม้สามารถนำมาใช้ทำสีย้อมผ้าได้
- เปลือกของต้นสนทะเลจะมีลักษณะขรุขระ จึงทำให้น้ำฝนไหลผ่านได้ช้า จึงสามารถช่วยดูดซับแร่ธาตุของน้ำฝนได้ดี จึงมีเห็ดมาอาศัยร่วมกับรากสนช่วยย่อยสลายซากพืชเพื่อต้นสนใช้เป็นปุ๋ย
- ใช้ปลูกตามชายหาดทะเลเพื่อช่วยป้องกันการกัดเซาะของน้ำทะเล ต้นสนทะเลสามารถปลูกเป็นแนวกันลมหรือปลูกเป็นแนวรั้วบ้านได้ดี นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับเนื่องจากตัดและตกแต่งเป็นรูปทรงต่าง ๆ ได้อย่างสวยงาม หรือนำมาใช้ปลูกในพื้นที่ที่ดินเสื่อมโทรม เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องการใช้ที่ดินเสื่อมโทรมให้เป็นประโยชน์ก็ได้[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สนทะเล”. หน้า 742-743.
- หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “สนทะเล”. หน้า 153-154.
- สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “สนทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/. [16 ส.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, tree-species, scott.zona, loupok, boybandpretty, Scot Nelson, State & Private Forestry USFS Pacific Southwest Region, Ron)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)