สนทราย
สนทราย ชื่อวิทยาศาสตร์ Baeckea frutescens L. จัดอยู่ในวงศ์ชมพู่ (MYRTACEAE)[2]
สมุนไพรสนทราย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สนหางสิงห์ (เลย), สนดง สนหิน เสียวน้อย (อุบลราชธานี), สนหอม (จันทบุรี), สนขี้ไก่ (กาญจนบุรี), ปอโฮ่งรุห์ สนเล็ก สนสร้อย (นครศรีธรรมราช), สนนา (สุราษฎร์ธานี), ก้านถินแดง สน (พังงา), สนเทศ (ปัตตานี), กังซง ซือหลิ่ว (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[4]
ลักษณะของสนทราย
- ต้นสนทราย จัดเป็นไม้พุ่มจำพวกสน แตกกิ่งก้านสาขาเป็นจำนวนมาก มีความสูงของต้นประมาณ 5 เมตร ล้ำต้นเป็นสีเทาอมน้ำตาล เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาล มีความแข็งแรงทนทาน แต่มักมีขนาดไม่เหมาะสมแก่การใช้งาน กิ่งแตกเป็นเนื้อมีขนสีน้ำตาลแดง ลักษณะของกิ่งมักลู่ลง กิ่งมีสีน้ำตาลอ่อน เรียวยาว เปลือกแตกเป็นขุย มีเขตการกระจายพันธุ์ในเอเชียและโอเชียเนีย ประเทศอินเดีย พม่า เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ จีน เกาะบอร์เนียว สุมาตรา และนิวกินี ในประเทศไทยพบได้ทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางภาคใต้ ตามป่าไม้ผลัดใบ ป่าหญ้า ป่าชายหาด ป่าเสม็ดที่เป็นทุ่งหญ้า ตามยอดเขาที่เป็นหินทรายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามที่โล่งบนยอดเขาทางภาคใต้ หรือในดินปนทรายตามแนวชายฝั่งทั่วไป ที่ระดับความสูงจนถึงประมาณ 1,800 เมตร[1],[2],[4]
- ใบสนทราย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามเป็นคู่ ๆ ใบมีลักษณะเป็นเส้นพุ่มห้อย อยู่รวมกันเป็นกระจุก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.4-0.6 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร หลังใบเป็นร่อง ส่วนท้องใบงอเล็กน้อย โคนเป็นครีบ มีกลิ่นหอม ก้านใบสั้นหรือไม่มีก้านใบ ลักษณะของใบคล้ายกับใบสนเข็ม[1],[2]
- ดอกสนทราย ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกสั้น ๆ ที่ง่ามใบ มีดอกย่อยประมาณ 2-3 ดอก มีสมมาตรแนวรัศมี ก้านดอกสั้น ดอกมีขนาดเล็กสีขาว กลีบดอกมี 5 กลีบ แต่ละกลีบยาวไม่เกิน 2 มิลลิเมตร ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงแยกออกเป็น 2 แฉก หุ้มติดโคนกลีบดอก ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 8-10 อัน มีรยางค์ ปลายเป็นต่อม ก้านเกสรเพศเมียยาวได้ประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ปลายเกสรกลม รังไข่มี 3 อัน จานฐานดอกเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ปลายกลีบมน[1],[2]
- ผลสนทราย ผลมีขนาดเล็ก ลักษณะของผลเป็นรูปถ้วยขนาดประมาณ 1.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงและเกสรเพศเมียติดทน สีน้ำตาล เมื่อแห้งแล้วจะแตกกลางพู ภายในผลพบเมล็ดรูปเป็นเหลี่ยม เมล็ดมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไตขนาดประมาณ 0.5 มิลลิเมตร[1],[2]
สรรพคุณของสนทราย
- ใบสนทรายมีรสหวานฝาดเย็น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ (ใบ)[2],[3]
- ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการหน้ามืด วิงเวียน (ลำต้น)[2]
- ใช้เป็นยาแก้พิษร้อนภายใน แก้ไข้หวัดตัวร้อน ตัวร้อนเป็นไข้ ลดไข้ แก้อาการไอ (ใบ, ราก, ทั้งต้น)[1],[3],[4]
- ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ บรรเทาอาการลมแดด (ใบ)[3]
- ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยขับลม (ใบ)[2]
- ใช้เป็นยาแก้อาการปวดกระเพาะ ด้วยการใช้รากสนทรายสด 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)[1]
- ทั้งต้นและรากและมีรสขม เผ็ด ฝาดเล็กน้อย เป็นยาเย็น ไม่มีพิษ ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยแก้ปัสสาวะกะปริบกะปรอย แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ช่วยขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ (ลำต้น, ราก, ทั้งต้น)[1],[2]
- ใบใช้ตำพอกแก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ผดผื่นคัน แก้ออกหัด (ใบ)[1]
- ตำรับยาแก้แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ให้ใช้ใบสนทรายแห้ง นำมาบดให้เป็นผงผสมกับน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันจากใบชา ใช้ทาบริเวณที่เป็นแผล (ใบ)[1]
- ใช้เป็นยาแก้ปวด แก้บวมช้ำ ฟกช้ำดำเขียว ด้วยการใช้ใบสนทรายสด 30 กรัม นำมาตำพอให้แหลก แล้วนำมาชงกับน้ำร้อน กรองเอาแต่น้ำผสมกับน้ำตาลเล็กน้อยใช้รับประทาน (ใบ)[1]
- ใช้เป็นยาขับลมชื้นแก้ปวดข้อ ด้วยการใช้รากสด 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)[1]
- ตำรับยาพื้นบ้านอีสานจะใช้ใบนำมาชงเป็นชาดื่มแก้ไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย (ใบ)[2]
- ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มแก้ปวดหลัง ปวดเอว (ลำต้น)[2]
- ในมาเลเซียและสุมาตราจะใช้สมุนไพรชนิดนี้ในการอยู่ไฟในการคลอดบุตรของสตรี (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
ขนาดและวิธีใช้ : รากและใบสดให้ใช้ครั้งละ 30-60 กรัม ส่วนยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ตำพอกแผล ภายนอกใช้ตามความเหมาะสม[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสนทราย
- ในใบสนทรายพบน้ำมันระเหยหลายชนิด เช่น น้ำมันยูคาลิปตัส, น้ำมันสน, Cineole และในน้ำมันระเหยยังพบสารอีกหลายชนิด เช่น Ya-Pinene, Limonene, p-cymene, Linalool, Fenchol, a-B-pinene, L-Borneol a-Terpineol, Baeckeol เป็นต้น[1]
ประโยชน์ของสนทราย
- น้ำมันหอมระเหยจากใบที่ได้จากการกลั่นจะมีสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นคล้ายกับลาเวนเดอร์ อาจนำมาใช้ทำน้ำหอมและสบู่ได้[2],[4]
- ในเวียดนามจะใช้ต้นสนทรายนำมาทำเป็นไม้กวาด[2]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป (บอนไซสนทราย)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “สนสร้อย”. หน้า 522.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “สนทราย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [22 ต.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “สนทราย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [22 ต.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “สนทราย”. อ้างอิงใน : Flora of Thailand Volume 7 Part 4, Page782. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [22 ต.ค. 2014]
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Hai Le, odds&endssg, Martin Ng, Russell Cumming, andreas lambrianides, Ahmad Fuad Morad, Triều bự), www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)