ไพลดํา สรรพคุณและประโยชน์ของว่านไพลดำ 19 ข้อ !

ว่านไพลดำ

ว่านไพลดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber ottensii Valeton จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)[1]

สมุนไพรว่านไพลดำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปูเลยดำ (ภาคเหนือ), ไพลดำ ไพลม่วง ไพลสีม่วง (กรุงเทพฯ), ไพลสีม่วง ดากเงาะ (ปัตตานี), จะเงาะ (มลายู-ปัตตานี), ว่านกระทือดำ เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของว่านไพลดำ

  • ต้นว่านไพลดำ มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ขึ้นเป็นกอ ความสูงของต้นประมาณ 1.5-3 เมตร และอาจสูงได้ถึง 5 เมตร เหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อภายในเหง้าเป็นสีม่วง สีม่วงจาง ๆ หรือสีม่วงอมน้ำตาล มีกลิ่นฉุนร้อนคล้ายไพล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ ต้องใช้ดินที่มีสีดำในการปลูก (ถ้าเป็นสีอื่นปลูกจะทำให้ต้นตาย เพราะว่านชนิดนี้เจริญงอกงามได้ในดินสีดำเท่านั้น) พบขึ้นได้ตามป่าเขตร้อนชื้น[1],[2]

ต้นว่านไพรดำ

หัวว่านไพลดำ

  • ใบว่านไพลดำ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบเรียว โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 26-30 เซนติเมตร แผ่นใบหนา เส้นกลางใบเป็นร่องสีเขียวอ่อน ด้านล่างและเส้นกลางใบมีขน ก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้น มีสีม่วงคล้ำ กาบใบซ้อนกันแน่น ไม่มีขนหรือมีบ้างประปราย ลิ้นใบยาวที่ปลายกาบใบ ลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายมน[2]

ใบว่านไพลดำ

  • ดอกว่านไพลดำ ออกดอกเป็นช่อ จากโคนต้นแทงขึ้นมาจากเหง้าใต้ดิน ช่อดอกยาวประมาณ 9 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 14 เซนติเมตร โดยช่อดอกมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกถึงเกือบกลม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน เป็นสีเหลืองอ่อน มีประสีม่วงแดงอ่อน ๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบบาง โคนดอกเชื่อมติดกัน ดอกมีใบประดับสีเขียวปนแดงวางเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อย่างเป็นระเบียบดูคล้ายกับเกล็ดปลา ใบประดับเมื่อยังอ่อนจะเป็นสีแดงอมเขียว แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือสีแดงเข้ม กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีใส เกสรเพศผู้ ส่วนที่เป็นกลีบมีหยัก 3 หยัก โดยหยักกลางหรือกลีบปากใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปกลมแกมรูปขอบขนาน ปลายแยก 2 หยักตื้น พื้นสีเหลืองแกมสีน้ำตาลอ่อน ประสีน้ำตาลแดงแกมสีชมพูอ่อน ส่วนหยักข้างมี 2 หยักสั้น ลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายมน สีเหลืองอ่อน เกสรเพศผู้ปลายจะเป็นจะงอยยาวโค้ง สีเหลืองส้ม ส่วนเกสรเพศเมีย ก้านเกสรเป็นสีขาว ยอดเกสรมีลักษณะเป็นรูปกรวย สีขาว รอบ ๆ ปากมีขน และรังไข่เป็นสีขาว โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม[2]

ไพลดํา

ไพลดำดอกว่านไพลดำ
  • ผลว่านไพลดำ ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกระบอก สีแดง และจะติดผลในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน[2]

สรรพคุณของว่านไพลดำ

  1. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะและยาบำรุงกำลัง (ทั้งต้น)[1] หรือจะใช้เหง้าสดตากแห้ง นำมาบดให้เป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอน ใช้รับประทานเช้าและเย็น วันละ 2-3 เม็ดก็มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลังและเป็นยาอายุวัฒนะเช่นกัน (เหง้า)[2] ส่วนอีกตำรับให้ใช้เหง้าว่านไพลดำตากแห้ง นำมาบดให้เป็นผงผสมกับว่านกระชายดำ ว่านกระชายแดง และว่านเพชรน้อย (ที่นำมาบดแล้วเหมือนกัน และใช้อย่างละเท่ากัน) ผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอน ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 เวลา (เหง้า)[3]
  2. เหง้าสดนำมาบดให้เป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอน ใช้รับประทานเช้าและเย็น วันละ 2-3 เม็ด เป็นยาช่วยเจริญอาหาร แก้ธาตุพิการ (เหง้า)[2]
  3. รากมีรสขื่นเอียน สรรพคุณเป็นยาแก้เลือดกำเดาออกทางปาก ทางจมูก (ราก)[2]
  4. ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด (ราก)[2]
  1. ใช้เป็นยาแก้บิด ขับลม ด้วยการใช้เหง้าสดนำมาตำคั้นเอาน้ำผสมกับเกลือสะตุ 1 ช้อนโต๊ะ แล้วนำมาใช้กิน (เหง้า)[2]
  2. ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหารเป็นพิษ (ทั้งต้น)[1]
  3. เหง้าสดนำมาต้มใส่เกลือเล็กน้อย ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น เป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ (เหง้า)[2]
  4. เหง้าสดนำมาตำคั้นเอาน้ำผสมกับเกลือสะตุ 1 ช้อนโต๊ะ ใช้กินเป็นยารักษาลำไส้เป็นแผล สมานลำไส้ แก้แผลในกระเพาะ รวมไปถึงอาการปวดท้องบ่อย ๆ น้ำย่อยไม่ปกติและโรคลำไส้ต่าง ๆ (เหง้า)[1],[2],[3]
  5. เหง้าสดนำมาตำคั้นเอาน้ำผสมกับเกลือสะตุ 1 ช้อนโต๊ะ ใช้กินเป็นยาระบายอ่อน ๆ (เหง้า)[2]
  6. ช่วยขับประจำเดือนของสตรี ด้วยการใช้เหง้านำมาตำคั้นเอาน้ำผสมกับเกลือสะตุ 1 ช้อนโต๊ะ แล้วนำมาใช้กินเป็นยา (เหง้า)[2]
  7. ใบมีรสขื่นเอียน มีสรรพคุณเป็นยาแก้ครั่นเนื้อครั่นตัว (ใบ)[2]
  8. เหง้านำมาฝนใช้เป็นยาทาสมานแผล (เหง้า)[2]
  9. ดอกมีรสขื่น สรรพคุณเป็นยาแก้ช้ำใน ช่วยกระจายเลือดที่เป็นก้อนลิ่ม (ดอก)[2]
  10. ช่วยรักษาอาการบวม อาการช้ำทั้งตัว (ทั้งต้น)[1]
  11. ตำรายาไทยจะใช้เหง้านำมาฝนทาแก้อาการเคล็ดขัดยอก ฟกบวม แก้เหน็บชา แก้เมื่อยขบ (เหง้า)[2] ใช้เป็นยาแก้ช้ำบวม ให้นำเหง้ามาล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าขาว แล้วกรองเอาแต่น้ำมากินก่อนอาหารครั้งละ 3 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 เวลา (เหง้า)[3]
  12. น้ำมันจากเหง้าใช้เป็นยาทาถูนวดแก้เหน็บชา แก้เส้นสายตามร่างกายตึง และแก้เมื่อยขบ (น้ำมันจากเหง้า)[2]
  13. ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย (ใบ)[2]

ประโยชน์ของว่านไพลดำ

  • ในด้านของความเชื่อ ว่านไพลดำเป็นว่านทางคงกระพันชาตรี[2] การนำมาใช้ในทางคงกระพันชาตรี จะต้องเสกด้วยคาถา “พุทธังเป็นยา ธัมมังรักษา สังฆังหาย ตะหัง นะหิโสตัง” 3 จบ และ “นะโมพุทธายะ” 7 จบ[3] บางข้อมูลระบุว่า ว่านไพลดำจะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ ว่านไพลดำชนิดเนื้อในหัวเป็นสีม่วงอมน้ำตาล (เด่นในเรื่องอยู่ยงคงกระพัน), และ ว่านไพลดำชนิดเนื้อในหัวเป็นสีดำ (เด่นในเรื่องการชักนำเงินทอง และปัจจุบันหายากมาก)
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ว่านไพลดำเป็นพรรณไม้ที่หาได้ยากชนิดหนึ่ง เนื่องจากปลูกเลี้ยงและการดูแลรักษาทำได้ยาก[1] ต้องใช้ดินดำในการปลูก (ดินสะอาดกลางแจ้งที่นำไปเผาไฟแล้วทุบให้ละเอียด) กลบหัวว่านอย่าให้มิด แต่ให้เหลือหัวโผล่ไว้ และก่อนรดน้ำต้องเสกด้วยคาคา “นะโมพุทธายะ” 3 จบ แล้วรดน้ำให้พอเปียกทั่ว[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ว่านไพลดำ”.  หน้า 725-726.
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ว่านไพลดำ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [21 ส.ค. 2014].
  3. ว่านและสมุนไพรไทย, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร.  “ว่านไพลดำ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : natres.skc.rmuti.ac.th/WAN/.  [21 ส.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด