เพชรหึง สรรพคุณและประโยชน์ของว่านเพชรหึง 8 ข้อ ! (กล้วยไม้เพชรหึง)

เพชรหึง สรรพคุณและประโยชน์ของว่านเพชรหึง 8 ข้อ ! (กล้วยไม้เพชรหึง)

เพชรหึง

เพชรหึง หรือ ว่านเพชรหึง หรือ กล้วยไม้เพชรหึง ชื่อสามัญ Tiger orchid, Leopard flower

ว่านเพชรหึง ชื่อวิทยาศาสตร์ Grammatophyllum speciosum Blume จัดอยู่ในวงศ์กล้วยไม้ (ORCHIDACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย EPIDENDROIDEAE[1],[2],[3],[4]

กล้วยไม้เพชรหึง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กล้วยกา กะดำพะนาย ตับตาน ว่านหางช้าง ว่านงูเหลือม เอื้องพร้าว เป็นต้น สามารถพบได้ตามป่าดิบชื้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และทางภาคใต้[1],[2],[3],[4]

หมายเหตุ : ว่านเพชรหึงที่กล่าวในบทความนี้เป็นพืชคนละชนิดกันกับ “ว่านหางช้าง” (Belamcanda chinensis (L.) DC.)

ต้นเพชรหึง เป็นกล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชียและในหมู่เกาะตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ในประเทศไทยสามารถพบได้ตามธรรมชาติในป่าของจังหวัดพิษณุโลก ฉะเชิงเทรา เลย ชลบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง และนราธิวาส สาเหตุที่คนไทยส่วนใหญ่เรียกเพชรหึงว่าเป็น “ว่าน” นั่นเป็นเพราะว่านเพชรหึงมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร ส่วนที่มาของชื่อ “เพชรหึง” ในตำรากบิลว่านได้อธิบายว่า เมื่อดอกเพชรหึงแก่ ก้านดอกจะส่ายไปมาคล้ายกับงูโยกหัว และเมื่อมีพายุใหญ่พัดมา (พายุลมเพชรหึง) จะมีเสียงคล้ายการจุดประทัด แล้วดอกเพชรหึงจะหายไปพร้อมกับพายุ จากความเชื่อนี้จึงอธิบายได้ว่าทำไมคนไทยจึงตั้งชื่อกล้วยไม้ชนิดนี้ว่า “เพชรหึง” นั่นเป็นเพราะว่ามันมีความเกี่ยวข้องกับลมเพชรหึงนั่นเอง ดังที่ได้มีการอธิบายไว้ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ (พ.ศ.2416 ) ที่กล่าวไว้ว่า “เพ็ชหึง คือ ชื่อว่านอย่างหนึ่ง เหมือนลมเพ็ชหึงนั้น”[4]

ลักษณะของว่านเพชรหึง

  • ต้นว่านเพชรหึง จัดเป็นกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นกล้วยไม้ประเภทแตกกอ มีระบบรากอากาศ มักเกาะอาศัยอยู่บนพรรณไม้อื่น อาจมีลำต้นสูงได้ถึง 3 เมตร ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 เซนติเมตร เมื่อเจริญเต็มที่จะเปลี่ยนจากสีเขียวแกมเหลืองเป็นสีเหลือง ว่านเพชรหึงเป็นกล้วยไม้ที่ชอบแสงแดดค่อนข้างมาก (แต่ไม่จัดมากนัก) ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ[1],[2],[3]

ต้นว่านเพชรหึง

ต้นเพชรหึง

เพชรหึง

  • ใบว่านเพชรหึง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันบนลำต้น ลักษณะเป็นรูปเส้นยาวและแคบ เป็นรูปแถบ ใบมีความกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร แผ่นใบเหนียวคล้ายแผ่นหนัง เรียงตัวในระนาบเดียวกัน ใบอ่อนจะโค้งลงด้านล่าง เมื่อแก่จัดจะร่วงหลุดไปจากลำต้น ทิ้งรอยแผลไว้เป็นระยะ ๆ ซึ่งมองดูคล้ายข้อบนลำต้น[1],[2],[3]

ใบว่านเพชรหึง

  • ดอกว่านเพชรหึง ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่บริเวณยอดครั้งละ 2-3 ช่อ โดยดอกจะทยอยบานติดต่อกันประมาณ 3 เดือน โดยช่อดอกจะมีทั้งแบบเป็นช่อห้อยและช่อตั้ง ช่อดอกมักโค้งลงและอาจยาวได้ถึง 2 เมตร ส่วนก้านดอกจะยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกย่อยเป็นจำนวนมาก (75-125 ดอก) ดอกย่อยมีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกย่อยจะมีขนาดใหญ่และหนา เมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 6-8 เซนติเมตร โดยกลีบเลี้ยงและกลีบดอกพื้นมีสีเหลืองหม่นหรือเหลืองอมเขียวและมีจุดประสีน้ำตาลแกมม่วงกระจายอยู่ทั่วกลีบคล้ายกับลายเสือ กลีบปากจะเล็กกว่ากลีบอื่น ๆ และแผ่นกลีบจะแยกเป็นสามแฉก ส่วนกลางกลีบมีสันนูน 3 สัน หูกลีบเป็นปากตั้งโค้งขึ้น ดอกมีเกสรตัวผู้ 3 ก้าน มีเกสรตัวเมีย 1 ก้าน และมีรังไข่ 3 ห้อง และจะออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคมของทุกปี แต่จะต้องมีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปถึงจะออกดอกให้ชมได้อย่างสวยงาม[1],[2],[3],[4]

กล้วยไม้เพชรหึง

ดอกเพชรหึง

รูปว่านเพชรหึง

ดอกว่านเพชรหึง

  • ผลว่านเพชรหึง ผลมีพู 3 พู รูปร่างยาว ผลเมื่อแก่แห้งจะแตกออกเป็นกลีบ 3 กลีบ ภายในผลมีเมล็ดสีดำขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก และจะปลิวไปตามลม[1],[3]

ผลว่านเพชรหึง

สรรพคุณว่านเพชรหึง

  1. ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยการใช้ลำต้นกับก้านใบนำมาหั่นบาง ๆ ล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำมาใส่โหลดองกับเหล้าไว้ดื่ม (ลำต้น,ก้านใบ)[3]
  2. ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ใช้สูตรเดียวกับยาอายุวัฒนะ) (ลำต้น, ก้านใบ)[3]
  3. ช่วยแก้อาการไอและอาการเจ็บคอ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
  4. ช่วยขับลมในลำไส้ (ใช้สูตรเดียวกับยาอายุวัฒนะ) (ลำต้น, ก้านใบ)[3]
  5. ลำต้นเพชรหึงใช้ตำผสมเหล้าเอาน้ำมากินหรือนำมาฝนกับเหล้าดื่ม ส่วนกากที่เหลือเอามาใช้พอกปากแผล มีฤทธิ์เป็นยาเย็นช่วยถอนพิษ แก้อาการอักเสบเนื่องจากถูกงูกัด ช่วยแก้พิษงูกัด พิษตะขาบ และพิษแมงป่องต่อย (ลำต้น)[3],[4] แต่อีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า “ถ้าเป็นงูมีพิษไม่ควรใช้”[1]
  6. ช่วยรักษาอาการผื่นคันมีน้ำเหลือง (ลำต้น)[3]
  7. ลำต้นใช้ฝนกับน้ำซาวข้าวใช้ทาพอกรักษาฝี (ลำต้น)[3] ช่วยรักษาฝีประคำร้อย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]

ประโยชน์ของว่านเพชรหึง

  • กล้วยไม้เพชรหึง เป็นกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีความสวยงามมาก ทั้งยังเป็นพันธุ์ไม้ที่หาดูได้ยาก ในหนึ่งปีจะออกดอกเพียง 3 เดือน จึงได้มีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์สำหรับนำไปปลูกเพื่อตัดดอกขายในเชิงการค้า และใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ว่านเพชรหึง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [6 ธ.ค. 2013].
  2. .ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์.  “ว่านเพชรหึง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [6 ธ.ค. 2013].
  3. ๑๐๘ พรรณไม้ไทย.  “ว่านเพชรหึง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.panmai.com.  [6 ธ.ค. 2013].
  4. ผู้จัดการออนไลน์.  “เชิญชมว่านเพชรหึง กล้วยไม้ใหญ่ที่สุดในโลกออกดอกสะพรั่งแค่ปีละ 3 เดือน“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th.  [6 ธ.ค. 2013].
  5. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 364 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า.  “เพชรหึง กล้วยไม้ยักษ์ที่คนไทยเรียกว่าว่าน“.  (เดชา ศิริภัทร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [6 ธ.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by wlcutler, Cerlin Ng, Ahmad Fuad Morad, abiom.orchid3, ashitaka-f, Rubens.Campos, HorsePunchKid, Jardin Boricua)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด