ว่านหางช้าง
ว่านหางช้าง ชื่อสามัญ Blackberry lily, Leopard lily (Leopard flower)
ว่านหางช้าง ชื่อวิทยาศาสตร์ Iris domestica (L.) Goldblatt & Mabb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Belamcanda chinensis (L.) DC.)[1],[2] จัดอยู่ในวงศ์ว่านแม่ยับ (IRIDACEAE)
สมุนไพรว่านหางช้าง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านมีดยับ ว่านแม่ยับ (ภาคเหนือ), ตื่นเจะ (ม้ง), ว่านพัดแม่ชีม, เชื่อกัง (จีน) เป็นต้น[1],[2],[4],[5],[7]
หมายเหตุ : “สมุนไพรว่านหางช้าง” ที่เรากำลังกล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพืชคนละชนิดกันกับ “ว่านเพชรหึง” ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Grammatophyllum speciosum Blume เพียงแต่ว่านเพชรหึงนี้มีชื่อเรียกในท้องถิ่นทางภาคใต้ว่า “ว่านหางช้าง” และมีลักษณะของดอกที่คล้ายกัน จึงอาจทำให้เกิดความสับสนและการเข้าใจผิดได้
ลักษณะของว่านหางช้าง
- ต้นว่านหางช้าง จัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร มีลำต้นอยู่ใต้ดินและมีรากมาก มีเหง้าเลื้อยไปตามแนวขนานกับพื้นดิน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ[1],[2],[5]
- ใบว่านหางช้าง ใบเป็นใบเดี่ยว แทงขึ้นมาจากเหง้า ใบมักจะออกหนาแน่นตรงโคนของลำต้น เรียงสลับซ้ายขวาในระนาบเดียวกัน ใบที่อยู่ส่วนบนของลำต้นจะมีขนาดเล็กกว่าและเรียงกันห่าง ๆ ใบมีลักษณะเป็นรูปดาบ ความกว้างของใบประมาณ 2-4.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 20-60 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเป็นกาบ ขอบใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนา[1],[2]
- ดอกว่านหางช้าง ออกดอกเป็นช่อตามปลายยอด แกนช่อแตกแขนง ดอกออกที่ปลายแขนง 6-12 ดอก ก้านดอกมีความยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร อาจตรงหรือโค้งเล็กน้อย เมื่อดอกร่วงก้านดอกยังคงอยู่ ส่วนโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็นกลีบลักษณะรูปขอบขนาน 6 กลีบ ยาวประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร เรียงกันเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ โดยกลีบชั้นในจะมีขนาดเล็กกว่ากลีบชั้นนอกเล็กน้อย เมื่อดอกบานกลีบดอกจะกางออก โคนกลีบมีลักษณะสอบแคบจนเป็นก้าน ด้านนอกมีสีเหลือง ส่วนด้านในและขอบกลีบมีสีส้ม มีจุดประสีแดงเข้ม ๆ กลีบชั้นนอกจะมีต่อมเป็นร่องยาว 1 ต่อม มีสีแดงเข้ม ดอกมีเกสรตัวผู้ 3 อัน ก้านเกสรไม่ติดกัน อับเรณูเป็นรูปยาวแคบ รังไข่เป็นพู 3 พู รูปยาวปลายใหญ่กว่าโคน เกลี้ยง ส่วนเกสรตัวเมียจะยาวโค้ง แต่จะสั้นกว่ากลีบดอก ที่ปลายเกสรตัวเมียมี 3 อัน ติดกัน[2]
- ผลว่านหางช้าง ผลมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ เป็นพูลึก 3 พู เปลือกผลบาง ผลเมื่อแก่จะแตกอ้าออกเป็น 3 เสี่ยง มีเมล็ดอยู่พูละ 3-8 เมล็ด[1],[2]
- เมล็ดว่านหางช้าง เมล็ดมีลักษณะกลม มีสีดำและผิวเป็นมัน มีขนานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร[2]
สรรพคุณของว่านหางช้าง
- เนื้อในของลำต้นใช้เป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยทำให้เจริญอาหาร (เนื้อในของลำต้น[1],[5], เหง้า[6])
- เหง้าใช้เป็นยาแก้ไข้ (เหง้า)[6]
- ช่วยรักษาอาการไอหรืออาการหอบหืด ด้วยการใช้เหง้าแห้งประมาณ 6 กรัม, ขิงแห้ง 3 กรัม, ลูกพรุนจีน 4 ผล, มั่วอึ้งแห้ง 3 กรัม, โส่ยชินแห้ง 2 กรัม, โงวบี่จี้แห้ง 2 กรัม, จี่อ้วงแห้ง 10 กรัม, จี้ปั้วแห่แห้ง 10 กรัม, และค่วงตังฮวยแห้ง 6 กรัม, นำทั้งหมดมาต้มรวมกัน แล้วเอาแต่น้ำที่ได้มากิน (เหง้า)[3],[6]
- รากหรือเหง้าสดช่วยแก้อาการเจ็บคอ โดยให้ใช้รากหรือเหง้าสดประมาณ 5-10 กรัม (ถ้าเป็นแห้งให้ใช้ 3-6 กรัม) นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้เหง้าสดประมาณ 15 กรัม ผสมกับน้ำส้มสายชู นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำชุบสำลีอมแล้วกลืนแต่น้ำช้า ๆ (เหง้า)[1],[3]
- เหง้ามีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ (เหง้า)[6]
- ช่วยบำบัดโรคต่อมทอนซิลอักเสบ (เนื้อในลำต้น)[1]
- ช่วยรักษาโรคคางทูม ด้วยการใช้เหง้าสดประมาณ 10-15 กรัม นำไปต้มน้ำกินหลังอาหารวันละ 2 เวลา (เหง้า)[3]
- ทั้งต้นนำมาต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการท้องผูก อาหารไม่ย่อยได้ (ทั้งต้น)[3]
- ช่วยรักษาอาการท้องมาน ด้วยการใช้เหง้าสดนำมาคั้นเอาแต่น้ำกินบ่อย ๆ (เหง้า)[3]
- ใบใช้เป็นยาระบายอุจจาระ ด้วยการใช้ใบว่านหางช้าง 3 ใบ นำมาปรุงเป็นยาต้มรับประทาน (ใบ)[1],[3],[5],[6] เนื้อในของลำต้นใช้เป็นยาถ่าย (เนื้อในของลำต้น[1], เหง้า[6])
- ช่วยแก้ระดูพิการ ประจำเดือนไม่ปกติของสตรีได้เป็นอย่างดี ด้วยการใช้ใบ 3 ใบ นำมาปรุงเป็นยาต้มรับประทาน (ใบ, เนื้อในของลำต้น[1],[3],[5], เหง้า[6])
- ช่วยรักษาผดผื่นคันมีน้ำเหลืองที่ขาเนื่องจากการทำยา โดยใช้เหง้าแห้งใส่น้ำต้มจนเดือดผสมเกลือแกงเล็กน้อย แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็นวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (เหง้า)[3]
- ช่วยรักษาฝีประคำร้อย ด้วยการใช้เหง้าแห้ง แห่โกวเช่าแห้ง เหลี่ยงเคี้ยว อย่างละเท่า ๆ กัน นำมาบดเป็นผง ใช้ผสมทำเป็นยาเม็ดไว้รับประทานหลังอาหารครั้งละ 3 กรัม (เหง้า)[3]
- ช่วยรักษาฝีที่เต้านมบวมมีหนองในระยะเริ่มแรก ด้วยการใช้เหง้าแห้ง 1 เหง้าและรากดอกไม้จีนประมาณ 10 กรัม นำมาบดรวมกันให้เป็นผง แล้วใช้ผสมกับน้ำผึ้งกิน (เหง้า)[3]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของว่านหางช้าง
- มีฤทธิ์ในการรักษาอาการอักเสบ Tectoridin และ Tectorigenin และยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งฤทธิ์ของเอนไซม์ Hyaluronidase จึงช่วยรักษาอาการบวมอักเสบของหนูใหญ่อันเนื่องมาจากเอนไซม์ Hyaluronidase[7]
- มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยน้ำต้มที่ได้จากการสกัดหรือน้ำแช่สกัดจากเหง้า มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อกลาก (Tinea) และยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดหนอง รวมทั้งเชื้อที่ทำให้เกิดคออักเสบ[7]
- สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำจากเหง้ามีฤทธิ์ในการช่วยกระตุ้นการหลั่งของน้ำลายในกระต่าย นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการสร้างเอสโตรเจนอีกด้วย แต่ไม่สามารถช่วยป้องกันอาการอักเสบของหนูเล็กที่เกิดจากการฉายรังสีเอ็กซ์ในความเข้มสูงได้ และไม่มีฤทธิ์ในการเสริมฤทธิ์ยานอนหลับ (จำพวกฟีโนบาร์บิโทน)[7]
- สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากเหล้า เมื่อฉีดเข้ากระต่ายบ้านจะมีผลทำให้ความดันโลหิตลดลงได้[7]
ประโยชน์ของว่านหางช้าง
- เนื่องจากต้นว่านหางช้างมีความโดดเด่นสวยงาม มีลำต้นที่สูงยาวสีเหลืองเปรียบเสมือนทอง จึงนิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ และมีความเชื่อว่าจะช่วยเสริมโชคลาภ ความสง่างาม เสริมสง่าราศีให้แก่เจ้าบ้าน และยังใช้เพื่อช่วยปรับฮวงจุ้ยตามหลักความเชื่อของชาวจีนอีกด้วย[3],[4]
- มีความเชื่อว่าว่านหางช้างเป็นว่านมหาคุณ เมื่อนำมาปลูกไว้หน้าบ้านจะช่วยป้องกันสิ่งอัปมงคลเข้าบ้าน ช่วยป้องกันภัยจากอันตรายต่าง ๆ ส่วนทางภาคอีสานเชื่อว่าเป็นว่านสิริมงคล หากแม่บ้านกำลังจะคลอดบุตร ให้ใช้ว่านหางช้างมาพัดโบกที่ท้องก็จะช่วยทำให้คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น[1],[3]
- ประโยชน์ว่านหางช้าง ยังถูกนำมาใช้ในด้านคุณไสยได้อีกด้วย โดยใช้ดอกแก้ไสยคุณที่เกิดจากการกระทำจากผม ส่วนใบใช้แก้ไสยคุณอันเกิดจากการกระทำจากเนื้อ ส่วนต้นใช้แก้ไสยคุณอันเกิดจากการกระทำจากกระดูก[1]
เอกสารอ้างอิง
- สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ว่านหางช้าง (ว่านแม่ยับ)“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [5 ธ.ค. 2013].
- หนังสือสมุนไพรตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต). ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น. “ว่านหางช้าง จากเทคโนโลยีชาวบ้าน“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: vijai.trf.or.th. [5 ธ.ค. 2013].
- ๑๐๘ พรรณไม้ไทย. “ว่านหางช้าง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.panmai.com. [5 ธ.ค. 2013].
- อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ว่านหางช้าง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th. [5 ธ.ค. 2013].
- GotoKnow. “จากว่านเพชรหึง…เป็นว่านหางช้าง (กล้วยไม้…ที่ใหญ่ที่สุดในโลก) ตอน 2“. (เกษตรยะลา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.gotoknow.org. [5 ธ.ค. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by corey.raimond, Arte Cifuentes, Flatbush Gardener, Maria Ignez Calhau, jesshibb, Ren wr3n etc, VietPharma, plj.johnny/潘立傑, Eduardo Matsuda, Paulo Noronha – Macaé/RJ.)