ว่านลูกไก่ทอง
ว่านลูกไก่ทอง ชื่อสามัญ Golden Moss, Chain Fern.[1]
ว่านลูกไก่ทอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Cibotium barometz (L.) J.Sm.[1],[2] จัดอยู่ในวงศ์ CIBOTIACEAE
สมุนไพรว่านลูกไก่ทอง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านไก่น้อย (ทั่วไป), แตดลิง (ตราด), ขนไก่น้อย (เลย), หัสแดง (นครราชสีมา), นิลโพสี (สงขลา, ยะลา), กูดเสือ โพลี (ปัตตานี), กูดผีป่า กูดพาน ละอองไฟฟ้า เฟินลูกไก่ทอง เฟิร์นลูกไก่ทอง (ภาคเหนือ), หัสแดง (ภาคใต้), เกาแช กิมซีม้อ กิมม๊อเกาจิก (จีนแต้จิ๋ว), จินเหมาโก่วจี๋ (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของว่านลูกไก่ทอง
- ต้นว่านลูกไก่ทอง จัดเป็นพรรณไม้จำพวกเฟิร์น ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 2.5-3 เมตร เหง้ามีเนื้อแข็งคล้ายไม้ ปกคลุมไปด้วยขนนิ่มยาวสีเหลืองทองวาว เหมือนขนอ่อนของลูกไก่ มีใบจำนวนมากออกมารอบ ๆ เหง้า ลักษณะคล้ายมงกุฎ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ ชอบดินเปรี้ยว ความชื้นสูง ระบายน้ำได้ดี มีแสงแดดรำไร มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศจีน อินเดีย และมาเลเซีย ในประเทศไทยพบได้มากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมักพบขึ้นเองตามหุบเขา เชิงเขา และตามที่ชื้นแฉะ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800-1,500 เมตร[1],[2],[3]
- ใบว่านลูกไก่ทอง ก้านใบเป็นสีเทามีความแข็งแรงมาก ส่วนที่โคนจะมีขนสีทองยาวขึ้นปกคลุมอยู่ ลักษณะของตัวใบใหญ่รีแหลมเป็นรูปขนนก 3 ชั้น ยาวได้ถึง 2 เมตร ตัวใบส่วนล่างรีแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 15-30 เซนติเมตร และยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร ใบส่วนบนค่อย ๆ เล็กลง ปลายสุดเรียวแหลม ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างเป็นสีเทาคล้ายกับมีแป้งเคลือบอยู่ ส่วนอับสปอร์จะเกิดที่ริมใบ มีลักษณะกลมโต แต่ละรอยหยักของตัวใบจะมีอับสปอร์อยู่ประมาณ 2-12 กลุ่ม เยื่อคลุมอับสปอร์เป็นสีน้ำตาล และใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.4-1 เซนติเมตร[1],[2]
สรรพคุณของว่านลูกไก่ทอง
- ตำรับยาบำรุงกำลังและกระดูก ระบุให้ใช้เหง้าแห้งของว่านลูกไก่ทอง, โกฐเชียง, รากหง่วงจี้เน็ก และโป่งรากสนเอาเปลือกออก อย่างละเท่ากัน นำมาบดให้เป็นผง ผสมกับน้ำผึ้ง แล้วทำเป็นยาเม็ด ใช้กินกับเหล้าครั้งละประมาณ 50 เม็ด (เหง้า)[1]
- เหง้ามีสรรพคุณเป็นยาระบายและช่วยย่อย เหมาะสำหรับเป็นยาของผู้สูงอายุ (เหง้า)[1]
- เหง้าใช้เป็นยาขับพยาธิ (เหง้า)[1]
- ตำรับยาแก้ปัสสาวะมาก ระบุให้ใช้เหง้าแห้งของว่านลูกไก่ทอง, ลูกบักกวย, เปลือกต้นโต่วต๋ง และเปลือกรากโงวเกียพ้วย อย่างละ 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (เหง้า)[1]
- แก้ปัสสาวะไม่รู้ตัวหรือช้ำรั่ว ปัสสาวะกะปริบกะปรอยเป็นสีเหลือง สำหรับผู้สูงอายุที่กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ให้ใช้เหง้าแห้ง 15 กรัม, ราพังทึ้งก้วง 15 กรัม, รากเชียวจั้ง 15 กรัม, และใบไต่แม้กวยมึ้ง 15 กรัม นำมาต้มกับเนื้อหมูกิน (เหง้า)[1],[2]
- ส่วนสตรีที่มีอาการตกขาวมากผิดปกติ ให้ใช้เหง้าที่เอาขนออกแล้ว, เต็งย้ง (เขากวางอ่อนนึ่งด้วยน้ำส้ม แล้วเผา), แปะเกี่ยมสด นำมาบดให้เป็นผง ใช้ต้นหนาดใหญ่ต้มกับน้ำส้มสายชูผสมข้าวเหนียว นำไปต้มแล้วบดให้เหนียว ผสมทำเป็นยาเม็ด ใช้กินตอนท้องว่างครั้งละประมาณ 50 เม็ด (เหง้า)[1],[2]
- ใช้รักษาอาการน้ำกามเคลื่อน (เหง้า)[2]
- ช่วยทำให้มีบุตรง่ายขึ้น (เหง้า)[1]
- ใช้เป็นยาบำรุงตับและไต (เหง้า)[1],[2]
- ใช้รักษาบาดแผลสด แผลจากปลิงดูด สุนัขกัด ถูกของมีคมบาดทุกชนิด เหยียบตะปู ช่วยห้ามเลือดจากแผลสด ทำให้เลือดแข็ง หรือใช้หลังการถอนฟัน ด้วยการใช้ขนจากเหง้าที่ตากแห้ง นำมาบดให้เป็นผงใช้โรยลงบนบาดแผล (ผงที่บดจากขนจะมีฤทธิ์ห้ามเลือดได้ดีที่สุด) (ขนจากเหง้า)[1],[2],[3],[4]
- เหง้ามีรสขม ชุ่ม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับและไต ใช้เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับกระดูก รักษาอาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดตามข้อ ปวดเมื่อยตามร่างกาย รักษาแขนขาอ่อนไม่มีแรง ทำให้หลังและขาที่อ่อนเพลียแข็งแรง แก้อาการปวดเมื่อยเนื่องจากลมชื้น แก้อัมพฤกษ์ แก้เหน็บชา (เหง้า)[1],[2]
- ใช้รักษาขาบวม หลังจากฟื้นไข้ ด้วยการนำเหง้ามาต้มเอาน้ำใช้ชะล้าง แล้วให้กินอาหารอ่อน ๆ ครั้งละน้อย ๆ เพื่อไม่ให้กระเพาะอาหารทำงานหนักเกินไป (เหง้า)[1]
- ตำรับยารักษาอาการปวดขา ปวดเอว ระบุให้ใช้เหง้าแห้งประมาณ 60 กรัม และเมล็ดฝอยทอง 30 กรัม นำมาดองกับเหล้าไว้ 3 วัน แล้วนำไปตากให้แห้ง นำมารวมกันบดให้เป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งทำเป็นยาเม็ด (ขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว) ใช้กินตอนท้องว่างก่อนอาหารเช้าและเย็น ครั้งละประมาณ 30 เม็ด ส่วนตำรับยารักษาอาการปวดเอวอีกตำรับ ระบุให้ใช้เหง้าแห้ง, ลูกบักกวย, เปลือกต้นโต่วต๋ง และเปลือกรากโงวเกียพ้วย อย่างละ 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (เหง้า)[1],[2]
- ตำรับยาแก้ปวดน่อง ปวดเอว อัมพฤกษ์ ระบุให้ใช้เหง้า 15 กรัม, ไหฮวงติ้ง 12 กรัม, มะละกอจีน 12 กรัม, หงู่ฉิก 10 กรัม, กิ่งหม่อน 10 กรัม, สกต๋วง 10 กรัม, โต่วต๋ง 10 กรัม, ฉิ่งเกา 10 กรัม และกิ่งอบเชยอีก 6 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำหรือดองกับเหล้ากินเป็นยา (เหง้า)[2]
- ตำรับยารักษาอาการปวดข้อ ปวดตามกล้ามเนื้อ โรครูมาติสซั่ม แขนและขาไม่มีแรง ระบุให้ใช้เหง้าแห้ง, ต้นและรากนังด้งล้าง, รากอบเชยญวน, รากพันงู, รากซกต๋วง, เปลือกต้นโต่วต๋ง, และใบพวงแก้วมณี นำมาแช่กับเหล้าใช้กินเป็นยา (เหง้า)[1]
ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [2] ให้ใช้เหง้าครั้งละ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนขนให้นำมาบดเป็นผง ใช้โรยบนบาดแผลภายนอกตามต้องการ[2]
ข้อควรระวัง : ผู้ที่มีอาการปัสสาวะขัด ปากขม ลิ้นแห้ง ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของว่านลูกไก่ทอง
- ในเหง้าว่านลูกไก่ทอง จะประกอบไปด้วยแป้งประมาณ 30% มีสารจำพวกแทนนิน และยังพบสารที่สกัดจากแมทธิวแอลกอฮอล์ คือ Kaempferol[1],[2]
- จากการทดลองกับสุนัขและกระต่ายทดลอง พบว่า ขนจากเหง้าที่นำมาบดให้เป็นผง มีฤทธิ์ห้ามเลือดในแผลสด บาดแผลของเนื้อเยื่อ แผลเป็น และบาดแผลของตับและม้าม เพราะมีผลทางกายภาพ ทำให้เกิดเม็ดเลือดเร็วขึ้น ส่วนผงที่บดจากขนจะมีฤทธิ์ห้ามเลือดได้ดีที่สุด มีฤทธิ์คล้ายกับปฏิกิริยาที่เกิดกับ Gelatin และฟองน้ำ จึงนิยมใช้ผงล้วน ๆ มาโรยลงบนบาดแผล และเมื่อปล่อยทิ้งไว้ เนื้อเยื่อก็จะค่อย ๆ ดูดซึมผงจนหมดในที่สุด[1],[2]
ประโยชน์ของว่านลูกไก่ทอง
- ในบ้านที่มีสัตว์เลี้ยงที่เกิดโรคติดต่อ เช่น สุนัข หมู วัว ควาย ฯลฯ ให้นำขนของว่านชนิดนี้ไปแช่กับน้ำให้สัตว์ที่ป่วยกิน จะทำให้สัตว์หายป่วย[4]
- ใบแก่สามารถนำมาใช้ฟอกย้อมสีได้[3]
- นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป มีขนสีทองมองเห็นเด่นชัด ดูสวยงามแปลกตา[3],[4]
- ในด้านของความเชื่อนั้นถือว่าว่านลูกไก่ทองเป็นว่านมหามงคล จัดเป็นว่านกายสิทธิ์ชนิดหนึ่งที่ควรมีไว้ติดบ้าน เพราะมีความศักดิ์สิทธิ์ในด้านการช่วยป้องกันภัยต่าง ๆ อีกทั้งยังถือเป็นว่านเสี่ยงทายอีกด้วย ถ้าหากต้นว่านลูกไก่ทองเจริญเติบโตขึ้นและได้ยินเสียงไก่ร้องในตอนกลางคืนดึกสงัด (เสียงร้อง “จิ๊บ ๆ” บางตำราว่าร้อง “กุ๊ก ๆ”) ก็สามารถทำนายทายทักโชคชะตาของผู้ปลูกและครอบครัวได้ว่าจะมีโชคลาภมหาศาล จะนำพาโชคลาภเงินทองมาให้ในไม่ช้า แต่ก็มีข้อควรระวังว่าหากปลูกไว้ในบ้านหรือหน้าบ้าน ห้ามเดินข้าม ห้ามปัสสาวะรด และห้ามล้างมือใส่ เพราะจะทำให้ว่านเสื่อมไม่เป็นมงคลอีกต่อไป[4]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ว่านไก่น้อย”. หน้า 707-709.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ว่านไก่น้อย”. หน้า 508.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “เฟินลูกไก่ทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [24 ต.ค. 2014].
- ว่านและสมุนไพรไทย, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร. “ว่านลูกไก่ทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : natres.skc.rmuti.ac.th/WAN/. [24 ต.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by omega9, Tom Ballinger, ngai wong, 潘立傑 LiChieh Pan, taiwanicus, biantan, jewel1128)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)