ว่านดอกทอง สรรพคุณของว่านดอกทอง 5 ข้อ ! (ว่านรากราคะ)

ว่านดอกทอง สรรพคุณของว่านดอกทอง 5 ข้อ ! (ว่านรากราคะ)

ว่านดอกทอง

ว่านดอกทอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma spp. จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)[1]

สมุนไพรว่านดอกทอง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านมหาเสน่ห์ (รากราคะ, ว่านรากราคะ), ว่านมหาเสน่ห์ดอกทอง, ว่านดอกทอง, ว่านดอกทองแท้, ว่านดอกทองตัวผู้, ว่านดอกทองตัวเมีย (ว่านดินสอฤาษี), ว่านดอกทองกระเจา เป็นต้น

ลักษณะของว่านดอกทอง

ว่านดอกทอง นั้นแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ว่านดอกทองตัวผู้และว่านดอกทองตัวเมีย (ว่านดินสอฤาษี) ซึ่งจะมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์แตกต่างกันเล็กน้อย เช่น สีของใบ และสีเนื้อของหัวว่าน โดยว่านดอกทองตัวเมียนั้นจะมีฤทธิ์แรงกว่าตัวผู้ว่านดอกทองตัวผู้

ลักษณะว่านดอกทอง ว่านมีลักษณะเป็นหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน ลักษณะของเหง้าเป็นรูปทรงกลม และแตกแขนงเป็นไหลขนาดเล็ก มีขนาดยาวประมาณ 5-10 นิ้วส่วนรากเป็นเส้นใหญ่ ไม่แตกเป็นรากฝอย มีความสูงของต้นประมาณ 1 ฟุต เนื้อในหัวของว่านดอกทองตัวผู้จะมีสีเหลือง ส่วนเนื้อในหัวของว่านดอกทองตัวเมียจะมีสีขาว ส่วนของลำต้นและใบจะมีลักษณะคล้ายกับขมิ้น มีใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบมีสีเขียว ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมน หากเป็นว่านดอกทองตัวผู้เส้นกลางใบและกาบใบจะมีสีแดงเรื่อ

ว่านดอกทองตัวเมีย มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ว่านดินสอฤาษี” จัดเป็นไม้ล้มลุก มีหัวอยู่ใต้ดิน ส่วนใบมีลักษณะเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบมนสอบ มีลำต้นและใบเป็นสีเขียว ไม่มีสีแดงเจือปนเหมือน “ว่านดอกทองตัวผู้” (ว่านดอกทอง) โดยหัวของดอกทองตัวเมียจะมีลักษณะคล้ายกับดินสอ จึงเป็นที่มาของชื่อ “ว่านดินสอฤาษี” เมื่อนำมาหักหรือผ่าดูจะมีกลิ่นคาว เช่นเดียวกับว่านดอกทอง (ว่านดอกทองตัวผู้) แต่กลิ่นของว่านดอกทองตัวเมียจะมีกลิ่นที่แรงกว่า นอกจากนี้ยังมี “ดอกทองกระเจา” ซึ่งดอกจะมีลักษณะเป็นรูปกรวย มีกลิ่นคาวเหมือนกัน แต่จะไม่รุนแรงเท่าว่านดอกทองตัวเมีย

ว่านรากราคะ

รากราคะ

ต้นว่านดอกทอง จะมีดอกที่แทงขึ้นมาจากเหง้าหลักที่อยู่ใต้ดินก่อนการงอกของใบ โดยว่านดอกทองตัวเมีย ดอกจะเป็นสีขาว กลีบปากดอกสีขาวมีแถบกลางเป็นสีเหลือง (แต้มด้วยสีเหลือง) แต่ถ้าเป็นว่านดอกทองตัวผู้ ดอกจะเป็นสีเหลือง โดยจะออกดอกในช่วงฤดูร้อนต่อเนื่องไปจนถึงฤดูฝนของทุกปี และกลิ่นของดอกว่านทั้งสองนั้นจะมีกลิ่นหอมเย็นและคาวคล้ายกับกลิ่นของ “อสุจิ” และเชื่อว่าหากใครได้สูดกลิ่นของดอกว่านนี้ จะกระตุ้นความต้องการทางเพศขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผล ซึ่งในสมัยโบราณนั้นเชื่อถือกันมาก สำหรับผู้ที่ปลูกว่านชนิดนี้ มักจะเก็บดอกก่อนที่จะบาน (จะไม่นิยมให้มีดอกติดต้นจนบาน) เพราะเชื่อว่าหากผู้ใดได้กลิ่นได้สัมผัสดอกว่านแล้วจะเกิดกามราคะ ทำให้เกิดพลังทางเพศที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสตรีเพศ จึงเป็นที่มาของชื่อว่านว่า “ว่านดอกทอง

ว่านดินสอฤาษี

ว่านดอกทองนั้นจะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ ส่วนวิธีการปลูกว่านดอกทอง ควรปลูกวันจันทร์ข้างขึ้น แล้วรดน้ำที่เสกด้วยคาถา นะโมพุทธายะ 3 จบ การปลูกจะใช้กระถางใบเล็กทรงเตี้ยในการปลูก ใส่ดินดำหรือดินทรายผสมกับใบไม้ผุ และรดน้ำให้มาก แต่อย่าให้ดินแฉะ หากใส่ปุ๋ยคอกลงไปด้วยเล็กน้อยจะช่วยทำให้ว่านงอกงามเร็วยิ่งขึ้น เมื่อใบตั้งตรงแข็งแรงแล้วจึงค่อยย้ายมาปลูกในกระถางใหญ่เพื่อจะทำให้หัวว่านมีขนาดใหญ่ขึ้น และควรจัดวางไว้ในที่ที่มีแสงแดดรำไรพอสมควร

ว่านดอกทองตัวผู้ว่านดอกทองตัวเมีย

ว่านดอกทอง จัดเป็นว่านโบราณหายากและใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว ในปัจจุบันว่านดอกทองแท้นั้นหายากยิ่ง ผู้รู้มักไม่เปิดเผย เพราะเกรงว่าจะมีผู้นำไปใช้ในทางไม่ดี โดยอาจสามารถพบว่านชนิดนี้ได้ทางภาคตะวันตก ภาคเหนือ อย่างเช่น ในจังหวัดกาญจนบุรี ลำปาง และตาก

สรรพคุณว่านดอกทอง

  1. ลูกอมสีผึ้งว่านดอกทองใช้ในทางเสน่ห์มหานิยม เสน่ห์เจ้าชู้ คนหนุ่มในสมัยโบราณนิยมเสาะแสวงดอกหามาเก็บสะสมไว้ใช้หุงกับน้ำมันจันทน์พร้อมทั้งเนื้อว่าน หรือนำมาใช้บดรวมกับสีผึ้งทาปาก ใช้น้ำมันทาตัว เมื่อถึงคราวจะไปพบหญิงสาว สตรีคนใดที่ต่อคารมด้วยเมื่อได้กลิ่นว่านในน้ำมันหรือสีผึ้ง ก็มักจะใจอ่อนคล้อยตามโดยง่าย และนับว่าเป็นว่านเสน่ห์มหานิยมที่มีฤทธิ์รุนแรงมาก
  2. สำหรับสตรี หากนำหัวว่าน ใบ และต้นว่านดอกทอง มาใส่ไว้ในโอ่งน้ำหรือในบ่อน้ำ แล้วรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดความรู้สึกทางเพศรุนแรงมาก หรือเพียงแค่ปลูกไว้แล้วได้กลิ่นของดอกโชยมา ก็ชวนให้หลงใหลมัวเมาในกามโลกีย์ได้แล้ว จึงมีความเชื่อต้องเด็ดดอกทิ้งเสีย
  3. ใช้เป็นเมตตามหานิยม ด้วยเชื่อว่าหากร้านค้าขายใดมีว่านดอกทองตัวเมียปลูกไว้หน้าร้าน จะช่วยทำให้ค้าขายดี มีลูกค้าเข้าออกร้านไม่ขาดสาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานบันเทิงต่าง ๆ ร้านจำหน่ายเหล้า เบียร์ หากมีไว้จะดีมาก
  4. ด้วยเป็นว่านเมตตามหานิยม จึงมีการนำมาใช้ในทางค้าขาย การเจรจาตกลง ช่วยทำให้ประสบผลสำเร็จได้โดยง่าย โดยใช้หัวว่านนำมาโขลกให้ละเอียดผสมกับสีผึ้งนำมาใช้ทาปากก่อนจะออกไปพบปะเจรจา
  5. มีความเชื่อว่าการปลูกว่านมหาเสน่ห์นี้ หากปลูกไว้ในบ้านจะเป็นสิริมงคลแก่บ้านเรือน เพื่อนบ้านรักใคร่ แต่บางตำราก็ระบุว่าไม่ควรปลูกว่านชนิดนี้ไว้ในบ้าน ด้วยเชื่อว่ามันอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการผิดลูกผิดเมียของคนในครอบครัวได้ เพราะคนไทยสมัยก่อนนั้นจะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่
เอกสารอ้างอิง
  1. ๑๐๘ พรรณไม้ไทย.  “ว่านมหาเสน่ห์“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.panmai.com.  [21 พ.ย. 2013].
  2. ว่านและพรรณไม้สมุนไพรไทย คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร.  “ว่านดอกทอง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: natres.skc.rmuti.ac.th.  [21 พ.ย. 2013].
  3. ไทยรัฐออนไลน์. โดยนายเกษตร.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th.  [21 พ.ย. 2013].
  4. หนังสือพิมพ์ข่าวสด. “ว่านมหาเสน่ห์“.  คอลัมน์: รู้ไปโม้ด (น้าชาติ ประชาชื่น).  อ้างอิงใน: หนังสือว่านสมุนไพร ไม้มงคล (ณรงค์ศักดิ์ ค้านอธรรม).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.khaosod.co.th.  [21 พ.ย. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by [╠╣♥ŃEҰ] -น้ำผึ้ง-,  mac33kl), www.saimherbak.blogspot.com, www.ว่าน-ไทย.blogspot.com, bangkaew.com, www.thepprasitt.com, เว็บไซต์ kasetporpeang.com (by หนูพิม)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด