ว่านมหากาฬ
ว่านมหากาฬ ชื่อวิทยาศาสตร์ Gynura pseudochina (L.) DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gynura bodinieri Levl.)[2],[5] จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)
สมุนไพรว่านมหากาฬ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า คำโคก (ขอนแก่น, เลย), หนาดแห้ง (นครราชสีมา), ผักกาดกบ (เพชรบูรณ์), ว่านมหากาฬ (กรุงเทพฯ), ผักกาดกบ (เพชรบุรี), ผักกาดนกเขา (สุราษฎร์ธานี), ดาวเรือง (ภาคกลาง), แจะออเมีย (เมี่ยน), ชั่วจ่อ (ม้ง), เครือผักปั๋ง (ลั้วะ), หนิวเสอซันฉิ (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[4],[5],[6],[10],[12]
ลักษณะของว่านมหากาฬ
- ต้นว่านมหากาฬ จัดเป็นไม้ล้มลุก เลื้อยทอดไปตามพื้นดิน ลำต้นตั้งตรง สูงได้ประมาณ 10-30 เซนติเมตร ลำต้นอวบน้ำ มีหัวอยู่ใต้ดิน รากเนื้อนิ่มอ่อน เปลือกรากเป็นสีเหลือง ฉ่ำน้ำ เนื้อในเป็นสีขาว ยอดอ่อนมีขนสีขาว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและวิธีการแยกหน่อ ขึ้นได้ในดินทั่วไป แต่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและมีอาการอุดมสมบูรณ์ ชอบความชื้นปานกลางและแสงแดดแบบเต็มวัน พบขึ้นได้ตามป่าเบญจพรรณทั่วไป มีอัตราการเจริญเติบโตปานกลาง ควรรดน้ำเช้าและเย็น และหมั่นดูแลความชุ่มชื้น (แต่อย่าให้แฉะ เพราะจำทำให้ใบเน่าได้) ส่วนปุ๋ยให้ใส่เพียงเดือนละครั้ง พรรณไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด คือ สีเขียวล้วน สีแดงเข้ม และสีแดงเรื่อ ๆ[1],[2],[5],[7],[8],[9],[12]
- ใบว่านมหากาฬ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลัก ลักษณะของงใบเป็นรูปใบหอกกลับ ปลายใบมน โคนใบแหลม ส่วนขอบใบหยักห่าง ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-30 เซนติเมตร ใบแผ่ออกอยู่บนพื้นดิน แผ่นใบหนาและแข็ง ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มปนสีน้ำตาลอมม่วง เส้นใบเป็นสีเขียวอ่อนตัดกับสีพื้นใบ มีขนสั้นปกคลุมอยู่ทั่วไป และผิวใบด้านล่างเป็นสีเขียว ส่วนใบอ่อนเป็นสีม่วงแก่ ส่วนก้านใบสั้นเมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนจากสีม่วงเป็นสีขาว[1],[7]
- ดอกว่านมหากาฬ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด ก้านช่อดอกยาวประมาณ 30 เซนติเมตร แทงขึ้นมาจากพื้นดิน ดอกย่อยเป็นสีส้มเหลืองมีหนามเล็ก ดอกเป็นรูปทรงกระบอก ลักษณะเป็นฝอยคล้ายดอกดาวเรือง แต่มีมีขนาดเล็ก[1],[5]
- ผลว่านมหากาฬ ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก เมล็ดล่อน ปลายมีขน[1],[7]
สรรพคุณของว่านมหากาฬ
- ทั้งต้นและรากมีรสขม เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อตับ ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้เซื่องซึมระส่ำระสาย ทำให้เลือดเย็น และช่วยฟอกเลือด (ทั้งต้นและราก)[5]
- หัวมีรสเย็น ใช้กินเป็นยาดับพิษร้อน พิษกาฬ พิษอักเสบ พิษเซื่องซึม แก้ไข้ ระส่ำระสาย หรือกระสับกระส่าย (หัว)[1],[2],[3]
- ตำรายาไทยจะใช้รากเป็นยาแก้ไข้ โดยนำมาต้มกับน้ำดื่มเรื่อย ๆ ต่างน้ำชา อาการไข้จะทุเลาและหายไปในที่สุด (ราก,หัว)[4],[12]
- ใบนำมาคั้นเอาน้ำกินแก้คอเจ็บคอและอมกลั้วคอ (ใบ)[12]
- ช่วยแก้เลือดกำเดา ด้วยการใช้ยาแห้งจากทั้งต้น รากบัวหลวง และหญ้าคา อย่างละ 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรวมกันรับประทาน (ทั้งต้น)[5]
- ใช้เป็นยาแก้อาเจียนเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด (ทั้งต้นและราก)[5]
- หัวใช้เป็นยาแก้โรคบิด (หัว)[12]
- หัวมีสรรพคุณเป็นยารักษาแผลอักเสบและรักษามดลูกของสตรี ถ้านำมาบดให้เป็นผงชงกับชาให้สตรีหลังคลอดดื่ม จะช่วยขับประจำเดือนได้ด้วย (หัว)[12]
- ช่วยขับระดูของสตรี (ใบ)[6]
- ใช้เป็นยาห้ามเลือดจากบาดแผลได้ดี (ใบ,หัว,ทั้งต้น)[5],[12]
- ใบสดใช้ตำพอกรักษางูสวัด เริม ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 5-6 ใบ นำมาล้างน้ำให้สะอาด ตำในภาชนะที่สะอาด ใส่พิมเสนเล็กน้อย หรือใช้ใบโขลกผสมกับเหล้า ใช้น้ำทาหรือพอกบริเวณที่เป็น (ใบ)[6] ส่วนหัวมีสรรพคุณช่วยแก้เริม (หัว)[6]
- ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้โรคไฟลามทุ่ง (ทั้งต้น)[12]
- หัวใช้ตำพอกหรือฝนกับน้ำปูนใส ทารักษาแผลพุพองและฝี โดยให้ทาวันละ 3-4 ครั้ง (หัว)[8]
- ใบสดนำมาโขลกผสมกับเหล้าใช้เป็นยาพอกฝี หรือหัวลำมะลอก (ใบ)[1],[2],[3] ส่วนอีกวิธีให้ใช้ต้นสดนำมาตำให้พอแหลก ใช้พอกรักษาฝี ฝีมีหนอง ช่วยถอนพิษฝีหนอง (ต้น)[5]
- ใบสดมีฤทธิ์ทำให้เย็น ใช้ตำพอกเป็นยาถอนพิษ และแก้อาการปวดแสบปวดร้อน (จากสัตว์ที่มีพิษกัด เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ตัวต่อ ผึ้ง เป็นต้น) (ใบ)[1],[2],[3],[8]
- รากและใบสดใช้ตำพอกแก้ปวดบวม รวมถึงช่วยถอนพิษปวดแสบปวดร้อน (ราก,ใบ)[4]
- ช่วยแก้อาการฟกช้ำ ให้ใช้ต้นสดนำมาตำให้พอแหลก แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น (ต้น)[5]
- ทั้งต้นใช้เป็นยาพอกเนื้องอกที่เต้านมและยังเป็นยาบรรเทาอาการปวดและแก้อาการบวม (ทั้งต้น)[12]
- ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำให้พอแหลกผสมกับเหล้า ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็น (ต้น)[5]
- ทั้งต้นและรากมีสรรพคุณเป็นยาคลายเส้น (ทั้งต้นและราก)[5]
- ชาวเมี่ยนจะใช้ใบนำมาต้มใส่ไก่ใช้รับประทานเป็นยาบำรุงร่างกาย หรือให้สตรีที่อยู่ไฟรับประทานเพื่อช่วยบำรุงน้ำนมและบำรุงโลหิต (ใบ)[10]
หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม [5] ให้ใช้เป็นยาแห้งครั้งละ 3-10 กรัม ถ้าเป็นยาสดให้ใช้ภายนอก โดยกะปริมาณตามสมควร[5]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของว่านมหากาฬ
- จากการทดลองกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเริมและงูสวัด พบว่า สารสกัดจากใบว่านมหากาฬสามารถทำให้อัตราการกลับมาเป็นใหม่ของโรคลดลง[4]
ข้อควรระวังในการใช้ว่านมหากาฬ
- สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน[5]
- ว่านมหากาฬเป็นยาที่มีพิษเล็กน้อย ห้ามรับประทานมากเกินกว่าปริมาณที่กำหนด และไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป[5]
ประโยชน์ของว่านมหากาฬ
- ชาวลั้วะจะใช้ใบเพื่อนำไปประกอบอาหาร เช่น ต้มใส่หมูหรือไก่ ส่วนชาวเมี่ยนจะใช้ใบสดนำมารับประทานร่วมกับลาบ[10]
- ใช้ปลูกลงแปลงประดับในสวน เพราะใบมีลวดลายสวยงาม หรือปลูกคลุมดิน ปลูกริมน้ำตก หรือลำธารก็ได้[7]
- ในด้านความเป็นมงคล มีความเชื่อว่าว่านมหากาฬเป็นว่านที่มีอำนาจ หากนำมาปลูกเลี้ยงไว้ในบริเวณบ้าน จะสามารถช่วยป้องกันอันตรายทั้งได้ และยังทำให้ผู้ปลูกเลี้ยงมีอำนาจบารมีเป็นที่น่าเกรงขามของคนทั่วไป[9]
- ว่านมหากาฬเป็นพืชที่สามารถสะสมโลหะหนักสังกะสีและแคดเมียมได้สูง จึงมีความเป็นไปได้ในการนำมาใช้เพื่อฟื้นฟูสภาพดินในเหมืองแร่ ฟื้นฟูสภาพดินที่ปนเปื้อนโลหะหนัก (ดร.วรนันต์ นาคบรรพต)[11]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ว่านมหากาฬ”. หน้า 275.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ว่านมหากาฬ”. หน้า 726-727.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “ว่านมหากาฬ”. หน้า 138.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ว่านมหากาฬ”. หน้า 116.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “มหากาฬ”. หน้า 416.
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ว่านมหากาฬ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [04 มิ.ย. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ว่านมหากาฬ” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [04 มิ.ย. 2014].
- โลกแห่งสมุนไพร. (รังสรรค์ ชุณหวรากรณ์). “ว่านมหากาฬ” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bs.ac.th/2548/e_bs/g7/rangsan/. [04 มิ.ย. 2014].
- ว่าน…พืชมหัศจรรย์, โรงเรียนอุดมศึกษา. “มหากาฬ” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.udomsuksa.ac.th. [04 มิ.ย. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ว่านมหากาฬ”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด (สุนทรี สิงหบุตรา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [04 มิ.ย. 2014].
- วารสารเคหการเกษตร. “นักวิจัย มมส.เจ๋งค้นพบว่าน มหากาฬพืชมหัศจรรย์ช่วยฟื้นสภาพดิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.kehakaset.com. [04 มิ.ย. 2014].
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ผักกาดกบ”. หน้า 462-463.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by scott.zona, Chatchai Powthongchin, Manasi K)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)