ว่านพร้าว
ว่านพร้าว ชื่อสามัญ Bach musale[2], Common Curculigo Rhizome[4]
ว่านพร้าว ชื่อวิทยาศาสตร์ Curculigo orchioides Gaertn. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gethyllis acaulis Blanco) จัดอยู่ในวงศ์ HYPOXIDACEAE[1] มีชื่อเครื่องยาว่า Rhizoma Curculiginis[4]
สมุนไพรว่านพร้าว มีชื่อเรียกอื่นว่า ว่านสากเหล็ก, เชียงเม้า เซียงเม้า (จีนแต้จิ๋ว), เซียนเหมา (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[4]
ลักษณะของว่านพร้าว
- ต้นว่านพร้าว จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุหลายปี มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เหง้ามีขนาดยาว ใหญ่ และกลม มีเนื้อนิ่ม แตกรากเลื้อยมาก แทงลงใต้ดิน รากยาวประมาณ 30 เซนติเมตร เปลือกนอกของเหง้าเป็นสีน้ำตาลเข้ม เนื้อในเหง้าเป็นสีขาว[1]
- ใบว่านพร้าว ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับหรือเรียงรอบวง ต้นหนึ่งจะมีใบประมาณ 3-6 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปหอกแคบปลายแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว มีขนปกคลุมทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เส้นใบยาวตามใบ มีเส้นชัดเจน[1]
- ดอกว่านพร้าว ออกดอกเป็นดอกเดี่ยว ลักษณะของดอกเป็นรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร แตกออกเป็นแฉก 6 แฉก มีกาบใบสีม่วงแดงห่อหุ้มอยู่ ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร รูปใบแหลม ใจกลางดอกเป็นสีเหลืองจัด ส่วนด้านนอกเป็นสีเหลืองอมขาว ปลายกลีบดอกเป็นสีขาว มีขนปกคลุม ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน สั้น ๆ กลีบดอกยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร อยู่ในกาบใบ[1]
- ผลว่านพร้าว ลักษณะของผลเป็นรูปกลมรี ยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดสีดำ ผิวเรียบเป็นมัน[1]
หมายเหตุ : ในประเทศไทยยังมี “ว่านสากเหล็ก” ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curculigo latifolia Bryand (ภาษาจีนเรียกว่า “เหวินสูหลาน“) ซึ่งจะเป็นพืชวงศ์เดียวกันกับว่านพร้าว โดยจะมีลักษณะของต้นที่คล้ายคลึงกัน แต่มีดอกสีเหลืองสด ตำรายาไทยจะใช้เป็นยาชักมดลูก ทำให้มดลูกเข้าอู่ ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง[1]
สรรพคุณของว่านพร้าว
- เหง้ามีรสเผ็ด ชุ่ม เป็นยาร้อนเล็กน้อย มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อตับและไต ใช้เป็นยาแก้กระษัย ขับลมชื้น (เหง้า)[1]
- เหง้ามีสรรพคุณช่วยลดไขมันในเลือด (เหง้า)[2] ตำรับยารักษาไขมันในเลือดสูง ระบุให้ใช้เหง้าว่านพร้าว 15 กรัม, สวีฉางชิง 15 กรัม, อู่จื่อเหมาเถา 15 กรัม, เหอโซ่วอู 15 กรัม, ชงมู่ 10 กรัม ใช้วันละ 1 ชุด หรือทำเป็นยาเม็ด ขนาดเม็ดละ 0.6 กรัม ใช้ครั้งละ 10 เม็ด วันละครั้ง 30 วัน เป็นการรักษา 1 คอร์ส โดยต้องทานต่อเนื่อง 2 คอร์ส (เหง้า)[1]
- เหง้าใช้เป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด (เหง้า)[2],[3]
- ใช้เป็นยาแก้อาการปวดกระเพาะเนื่องจากกระเพาะเย็น หน้าท้องและท้องเย็นและปวด ถ่ายท้อง (เหง้า)[1],[4]
- เหง้าใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง (เหง้า)[2],[3]
- เหง้าใช้เป็นยาแก้ไส้เลื่อน (เหง้า)[1]
- เหง้าใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (เหง้า)[2],[3]
- ช่วยรักษาโรคช้ำรั่ว (กลั้นปัสสาวะไม่อยู่) (เหง้า)[1]
- ช่วยแก้สตรีตกเลือด (เหง้า)[1]
- ตำรับยาแก้สมรรถภาพทางเพศเสื่อม ระบุให้ใช้เหง้าว่านพร้าว 6 กรัม, อิ่มเอี้ยขักหรืออิ๋นหยางฮั่ว 15 กรัม, เม็ดเก๋ากี้ 10 กรัม, เมล็ดฝอยทอง 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (เหง้า)[1]
- ใช้รักษาอาการน้ำกามเคลื่อนไม่รู้ตัว (เหง้า)[1]
- ตำรับยาแก้สตรีวัยทอง ระบุให้ใช้เหง้าว่านพร้าว 6 กรัม, อิ่มเอี้ยขัก 10 กรัม, โกฐเชียง 10 กรัม, ปาเก็ก 10 กรัม, ตีบ๊อ 10 กรัม, อึ่งแปะ 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (เหง้า)[1]
- เหง้าใช้เป็นยาบำรุงไต ช่วยทำให้ไตอบอุ่น เสริมหยางของระบบไต แก้หยางของไตไม่พอ ธาตุไฟน้อย (เช่น อวัยวะเพศไม่แข็งตัว น้ำอสุจิเย็น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะรดที่นอน) เป็นยาแก้ไตพร่อง แก้ระบบไตอ่อนแอ ไตอักเสบเรื้อรัง แก้หยางของม้ามและไตพร่อง (เหง้า)[1],[4]
- เหง้ามีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกระดูกและเส้นเอ็น แก้อาการปวดเส้นเอ็นและกระดูก (เหง้า)[1],[4]
- เหง้าใช้เป็นยาแก้ปวดหลังปวดเอว เข่าและเอวอ่อนแรง มือเท้าเย็นเนื่องจากลมชื้น หรือการปวดและการชาเรื้อรังจากความเย็นและความชื้น มีฤทธิ์ขับความเย็นและความชื้น (เหง้า)[1],[4]
- ตามตำรายาการแพทย์แผนจีนระบุว่า “เซียงเม้าผัดเหล้า” (เข้าใจว่าคือเหง้าผัดกับเหล้า) มีสรรพคุณช่วยลดพิษของสมุนไพร เพิ่มฤทธิ์ในการบำรุงหยางของไต ช่วยขับความเย็นและความชื้นได้ดี เสริมความแข็งแรงของกระดูกและเส้นเอ็น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ปัสสาวะบ่อย และปวดกระดูกและเส้นเอ็น (เหง้า)[4]
ขนาดและวิธีใช้ : การใช้เหง้าตาม [1] ให้ใช้เหง้าแห้งครั้งละ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้เข้ากับตำรายาอื่นตามต้องการ[1] ส่วนการใช้ตาม [2] และ [3] ให้ใช้รากหรือเหง้าสด ประมาณ 90-120 กรัม นำมาต้มกับน้ำ 1-2 แก้ว เคี่ยวนาน 30 นาที ใช้แบ่งดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น[3]
ข้อควรระวัง : ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ เย็นจัด หรือมีธาตุไฟแทรก หรือมีอาการร้อนใน ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ และสมุนไพรชนิดนี้ถ้ารับประทานมากเกินควรจะเป็นพิษ หากมีอาการผิดปกติ ให้นำโกฐน้ำเต้าแห้ง 1 แผ่น มาอมไว้ในปากจะช่วยแก้พิษได้[1],[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของว่านพร้าว
- ในเหง้าว่านพร้าวพบสาร Corchioside, Curculigine, Curcukigenin A, B, C, Curculigoside, Curculigos saponin, Glucoside, Orcinol glucoside, Lycorine, Succiuamide, Stignasterol, Tetracontan, Triacontan, Yuccagenin, Latax, Tannin 14% และยังพบไขมัน, แป้ง, น้ำตาล และ Alkaloid อีกเล็กน้อย เป็นต้น[1],[2]
- ว่านพร้าวมีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อมดลูกให้หดเกร็ง ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิตสูง ต้านมะเร็ง ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ขยายหลอดเลือด ต้านเชื้อไวรัส ต้านเชื้อแบคทีเรีย[2],[3]
- สาร Curculigol และ Curculigenin A เป็น steroid ซึ่งสกัดแยกได้จากเหง้าว่านพร้าว มีฤทธิ์ต้านตับอักเสบที่เกิดจาก galactosamine และ thioacetamide โดยฤทธิ์จะขึ้นอยู่กับขนาดที่ให้ โดย Curculigenin A ในขนาด 100 และ 1000 mcg/ml จะให้ผลในการต้าน galactosamine แต่ทั้ง 2 ชนิด ในขนาด 10, 100, 1000 mcg/ml สามารถต้านฤทธิ์ตับอักเสบ[5]
- จากการทดสอบความเป็นพิษพบว่า สารสกัดจากทั้งต้นด้วย 50% เอทานอล เมื่อนำมาฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร ขนาดสูงสุดก่อนเกิดอาการพิษ คือ 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[2]
- เมื่อปี ค.ศ.1968 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากรากว่านพร้าวในสัตว์ทดลอง ผลการทดลองพบว่า สารสกัดดังกล่าวสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้[3]
- เมื่อปี ค.ศ.2006 ที่ประเทศญี่ปุ่นได้ทำการศึกษาทดลองใช้สารสกัดว่านพร้าวในหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นให้เป็นเบาหวาน โดยใช้สาร Streptpzotocin ขนาด 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ สูงขึ้น ทำการให้สาร Cu/zn-superoxide dismutase (SOD) และ Cytochrome C ทางไต ไม่พบว่ามีผลต่อไตแต่อย่างใด และให้สารสกัดจากว่านพร้าว 1.5% เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และ 8 สัปดาห์หลังการให้สารดังกล่าว พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ระดับคอเลสเตอรอลลดลง[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ว่านพร้าว”. หน้า 512.
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ว่านพร้าว” หน้า 169.
- หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ว่านพร้าว”. หน้า 139-140.
- สถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. “เซียงเม้า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : tcm.dtam.moph.go.th. [23 ต.ค. 2014]
- หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ต้านตับอักเสบของว่านพร้าว”. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th. [23 ต.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Jayesh Pail, Dinesh Valke, 翁明毅, mnraaghu, Ramanan Narayanan, Alan Yip)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)