ว่านผักบุ้ง สรรพคุณและประโยชน์ของว่านผักบุ้ง 8 ข้อ !

ว่านผักบุ้ง สรรพคุณและประโยชน์ของว่านผักบุ้ง 8 ข้อ !

ว่านผักบุ้ง

ว่านผักบุ้ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Ipomoea nil (L.) Roth จัดอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง (CONVOLVULACEAE)[1]

สมุนไพรว่านผักบุ้ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านตำเคย ว่านตาเคย (ปราจีนบุรี), ส่วนกรุงเทพฯ เรียก “ว่านผักบุ้ง[1]

ลักษณะของว่านผักบุ้ง

  • ต้นว่านผักบุ้ง จัดเป็นพรรณไม้เถาล้มลุก ลำต้นมักเลื้อยพันหรือทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน และมีขนแข็ง เถายาวได้ประมาณ 2-5 เมตร ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ แพร่กระจายเป็นวัชพืชหรือปลูกเป็นไม้ประดับทั่วโลก ในประเทศไทยพบกระจายทั่วทุกภาค จนถึงระดับความสูงประมาณ 700 เมตร มักขึ้นตามสองข้างทาง หรือตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป หรือตามทุ่งหญ้า[1],[2]

ต้นว่านผักบุ้ง

ว่านตำเคย

  • ใบว่านผักบุ้ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือมี 3 แฉกตื้น ๆ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นจัก 3 แฉก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-14 เซนติเมตร ผิวใบทั้งสองด้านมีขนราบหยาบ ก้านใบยาวประมาณ 3-16 เซนติเมตร[1],[2]

ใบว่านผักบุ้ง

  • ดอกว่านผักบุ้ง ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ก้านช่อยาวประมาณ 1-7 เซนติเมตร ใบประดับมีลักษณะแถบหรือเป็นรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 0.2-0.7 เซนติเมตร และมีขน กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงมีลักษณะติดทน ลักษณะเป็นรูปใบหอก ปลายแหลมยาว มีขนาดเท่ากัน ยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร และมีขนยาวด้านนอก ส่วนกลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปลำโพง ยาวได้ประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร หลอดกลีบดอกเป็นสีขาว ส่วนกลีบดอกเป็นสีม่วงอ่อนหรือเข้ม สีฟ้าอ่อน หรือสีฟ้าสด ด้านนอกจะเป็นสีอ่อนกว่า แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู สีแดง หรือสีม่วงอมแดง ส่วนดอกสีขาวล้วนนั้นหาได้ยาก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน มีความยาวไม่เท่ากัน อยู่ภายในหลอดกลีบดอก ก้านเกสรเพศผู้จะโค้งและมีขนหยิก อับเรณูไม่บิดงอ ผิวรังไข่เกลี้ยง ส่วนก้านเกสรเพศเมียเป็นรูปเส้นด้าย อยู่ภายในหลอดกลีบดอก ยอดเกสรมี 3 พู[1],[2]

รูปว่านผักบุ้ง

ดอกว่านผักบุ้ง

  • ผลว่านผักบุ้ง ผลเป็นผลแห้งแบบแคปซูล มีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปกลม มีติ่งแหลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดสีดำ ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่สามเหลี่ยม ซึ่งมีความยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร และมีขนนุ่มละเอียดสีเทา[1],[2]

ผลว่านผักบุ้ง

หมายเหตุ : ว่านผักบุ้งจะบานในช่วงเวลากลางวันสั้น ๆ โดยในช่วงที่มีอากาศเย็นจะบานได้นานกว่า[2]

สรรพคุณของว่านผักบุ้ง

  1. ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรคบิด (ทั้งต้น)[1]
  2. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายอย่างแรง ทำให้แท้งได้ (ทั้งต้น)[1]
  3. ใช้เป็นยาขับพยาธิ (ทั้งต้น)[1]
  4. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)[1]
  5. ทั้งต้นมีสรรพคุณช่วยทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ (ทั้งต้น)[1]
  6. เมล็ดใช้เป็นยาบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากน้ำดี และมีอาการเงื่องหงอย (เมล็ด)[1]
  7. ใบนำมาต้มกับน้ำใช้ทาผื่นคัน และตามบาดแผล (ใบ)[1]

ประโยชน์ของว่านผักบุ้ง

  • พรรณไม้ชนิดนี้มักนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านทั่วไป[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ว่านผักบุ้ง”.  หน้า 723-724.
  2. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ว่านผักบุ้ง”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [23 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Nobuhiro Suhara, Reinaldo Aguilar, Nagraj Salian)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด