ว่านนางคํา
ว่านนางคํา ชื่อสามัญ Wild Turmeric
ว่านนางคํา ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma aromatica Salisb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Curcuma wenyujin Y.H.Chen & C.Ling, Curcuma zedoaria Roxb.) จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)
หัวของว่านนางคำนั้นจะมีลักษณะคล้ายกับขมิ้นชัน แต่ก็มีวิธีสังเกตง่าย ๆ นั่นก็คือ กลิ่นของว่านนางคำจะมีกลิ่นหอมเย็น ๆ เมื่อหักแล้วใช้ลิ้นแตะจะมีรสฝาด ส่วนกลิ่นของขมิ้นชันนั้นจะมีกลิ่นหอมแบบร้อน ๆ และมีรสเผ็ดปร่า ซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจน
สมุนไพรว่านนางคำ มีน้ำมันหอมระเหยอยู่หลายชนิด และมีสารกลุ่ม Curcuminoids ที่มีคุณสมบัติเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ หรือใช้เป็นยาสมุนไพร และยังเป็น “พญาว่าน” อีกด้วย เพราะสามารถช่วยแก้พิษของว่านได้ทั้งปวง
ลักษณะของว่านนางคำ
- ต้นว่านนางคำ เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าและหัวสีเหลืองอยู่ใต้ดิน มีลำต้นแทงขึ้นมาจากหัว หัวมีกลิ่นหอม แตกแขนงเป็นแง่งคล้ายขมิ้นชัน เนื้อในเมื่อหักดูจะมีสีเหลืองเข้มหรือสีทองดูสวยงาม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหัวไปปลูก
- ใบว่านนางคำ มีใบเป็นใบเขียว ออกเป็นกระจุกใกล้กับรากประมาณ 5-7 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปหอกกว้าง ปลายใบเรียวแหลม ใต้ท้องใบมีขน ใบมีความกว้างประมาณ 10-14 เซนติเมตรและยาวประมาณ 40-70 เซนติเมตร
- ดอกว่านนางคำ ออกดอกเป็นช่อเชิงลด มักมีดอกก่อนใบงอกจากเหง้า มีช่อดอกยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร มีใบประดับที่ปลายช่อมีสีชมพู ใบประดับที่รองรับมีดอกสีขาวแกมสีเขียว ปลายโค้งยาวได้ถึง 6 เซนติเมตร ส่วนใบประดับย่อยมีสีขาว ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกมีสีขาวแกมชมพู แฉกกลางเป็นรูปไข่กว้าง แฉกข้างเป็นรูปขอบขนาน กลีบปากเป็นรูปโล่แยกเป็น 3 แฉก มีสีเหลืองเข้ม
- ว่านนางคำ ชนิดต้น ก้าน และครีบเป็นสีแดง เนื้อในหัวมีสีเหลือง ใบสีเขียวเรียว (มีสรรพคุณช่วยกระทุ้งพิษในร่างกาย แก้ฟกช้ำบวม แก้พิษว่านอื่น ๆ)
- ว่านนางคำ ชนิดต้นสีเขียว เนื้อในหัวมีสีขาว (มีสรรพคุณช่วยแก้ฤทธิ์ว่านทั้งปวง)
- ว่านนางคำ ชนิดต้นเขียว กลางใบมีสีแดง เนื้อในหัวมีสีเหลืองเข้ม ใบมีขนาดใหญ่ และเป็นชนิดที่นิยมปลูกโดยทั่วไป (หัวมีสรรพคุณรักษาโรคผิวหนังต่าง ๆ แก้อาการปวด ช่วยขับลม แก้อาการฟกช้ำ ข้อเคล็ด ส่วนรากเป็นยาสมานแผล ยาขับเสมหะ แก้ท้องร่วง รักษาโรคหนองใน)
สรรพคุณของว่านนางคํา
- ว่านนางคำ มีสรรพคุณช่วยกระทุ้งพิษต่าง ๆ ในร่างกาย ช่วยแก้พิษจากว่านร้ายต่าง ๆ แก้ฤทธิ์ของว่านทั้งปวง เพราะว่านนางคำจัดเป็น “พญาว่าน“
- สมุนไพรว่านนางคำ น้ำมันหอมระเหยจากว่านนางคำมีสารที่มีคุณสมบัติเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ
- หัวและรากว่านนางคํา มีสรรพคุณช่วยควบคุมธาตุในร่างกาย (หัว, ราก)
- ส่วนของรากใช้เป็นยาขับเสมหะ (ราก)
- หัวใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ ลดกรดในกระเพาะ (หัว)
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง ถ่ายท้อง ด้วยการใช้หัวสดนำมาฝนผสมกับน้ำปูนใสกิน อาการจะค่อย ๆ ทุเลาลง หรือจะกินหัวสดผสมกับเหล้าขาวก็ได้เช่นกัน (หัว)
- ส่วนของรากช่วยแก้ลงท้องหรืออาการท้องเสีย ท้องเดิน ท้องร่วง (ราก)
- ช่วยแก้กามโรค (หัว)
- รากช่วยรักษาโรคหนองในเรื้อรัง (ราก)
- รากใช้เป็นยาสมานแผล (ราก)
- หัวใช้ตำนำมาพอกช่วยแก้อาการฟกช้ำบวมตามร่างกาย (หัว)
- หัวใช้ฝนแล้วนำมาทาแก้อาการเม็ดผื่นคัน (Prurigo) และโรคผิวหนังต่าง ๆ หรือใช้หัวตำผสมกับเหล้า 40 ดีกรีแล้วนำมาฟอกก็ได้เช่นกัน (หัว)
- ในตำราจีนใช้ว่านนางคำเป็นยาฆ่าเชื้อ ฆ่าเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย (หัว)
- ช่วยรักษาอาการข้อเคล็ด เคล็ดขัดยอก อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (หัว)
ประโยชน์ของว่านนางคำ
- นิยมใช้ปลูกไว้ประจำบ้าน เป็นไม้ประดับ เนื่องจากมีดอกที่สวยงาม
- การปลูกว่านนางคำไว้ประจำบ้าน เชื่อว่าจะทำให้มีเสน่ห์ มีเมตตามหานิยมแก่ผู้ที่อาศัยในบ้าน ช่วยปกป้องคุ้มครองผู้อยู่อาศัยให้อยู่เย็นเป็นสุข ช่วยให้รอดพ้นจากภัยอันตรายต่าง ๆ รวมไปถึงเรื่องคุณไสย
- ผงว่านนางคำสามารถนำมาใช้มาส์กพอกหน้าได้เพื่อช่วยบำรุงผิวพรรณให้ผุดผ่องสวยงาม ช่วยป้องกันสิว ฝ้า จุดด้างดำ ช่วยทำให้ผิวหน้าดูอ่อนกว่าวัย โดยสามารถหาซื้อได้ในรูปแบบสำเร็จจะสะดวกหน่อย ส่วนวิธีการใช้ก็ง่าย ๆ ใช้ผสมกับน้ำผึ้งและน้ำสะอาด แล้วนำทาให้ทั่วใบหน้าทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีแล้วล้างออก
- หัวของว่านนางคำเมื่อนำมาหักหรือผ่าจะมีกลิ่นหอมเย็น ๆ เมื่อสูดดมแล้วจะทำให้รู้สึกสดชื่น
- สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าได้อย่างหลากหลาย เช่น ว่านนางคำผงหรือผงว่านนางคำมาส์กหน้า หรือทำเป็นโลชั่นบำรุงผิวว่านนางคำ ทำเป็นสบู่สมุนไพรว่านนางคำ ทำเป็นยากันยุง เป็นต้น
- สามารถนำไปใช้เป็นส่วนประกอบเข้าในตำรับยาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น ยาสตรีว่านนางคำ ที่ช่วยแก้อาการประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ เป็นต้น
- ว่านนางคำที่ปลูกกันอยู่ทั่วไป หัวว่านนางคำนอกจากจะใช้ผสมเป็นยาทาแก้อาการเคล็ดบวม ยังสามารถนำมาใช้ย้อมสีผ้าให้เป็นสีเหลืองที่ติดทนนาน (สมัยก่อนใช้ย้อมทำจีวรพระ) หรือคั้นเอาน้ำมาใช้เขียนภาพได้อีกด้วย
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ศุนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, เว็บไซต์ไทยเกษตรศาสตร์, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by drgeorgemj, SATPAL GANDHI, rajneesh_gore, Vietnam Plants & The USA. plants)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)