ว่านกีบแรด
ว่านกีบแรด ชื่อสามัญ Giant fern, Mule’s-foot fern[8]
ว่านกีบแรด ชื่อวิทยาศาสตร์ Angiopteris evecta (G. Forst.) Hoffm. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Polypodium evectum G. Forst.) จัดอยู่ในวงศ์ MARATTIACEAE[1]
สมุนไพรว่านกีบแรด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กีบแรด (แพร่), ปากูปีเละ ปียา (ปัตตานี), กีบม้าลม (ภาคเหนือ), ว่านกีบม้า (ภาคกลาง), ปากูดาฆิง (ภาคใต้), ดูกู (มลายู-ภาคใต้), โด่คเว่โข่ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), เฟิร์นกีบแรด, กูดกีบม้า, ผักกูดยักษ์ เป็นต้น[1],[4],[6],[7]
ลักษณะของว่านกีบแรด
- ต้นว่านกีบแรด จัดเป็นพรรณไม้จำพวกเฟิร์น มีความสูงได้ประมาณ 60-180 เซนติเมตร โคนต้นพอง อยู่ติดกับพื้นผิวดิน มีหัวลักษณะเป็นกีบอยู่ใต้ดิน[1] ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ พรรณไม้ชนิดนี้ปลูกเลี้ยงยาก มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง ตั้งแต่ไต้หวัน ภูมิภาคมาเลเซีย โพลีนีเซีย จนถึงออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ มักพบขึ้นเองตามสภาพของเขา ตามป่าชื้น ป่าดิบเขาที่มีร่มเงาและมีความชื้นสูง ใกล้แหล่งน้ำ ตามที่รกร้างทั่วไป หรือภายในสวนพฤกษศาสตร์ โดยเฉพาะตามห้วยต่าง ๆ[5],[8]
- หัวว่านกีบแรด หัวมีลักษณะคล้ายกับกีบเท้าของแรดหรือกระบือ หัวเป็นสีน้ำตาลแก่ เมื่อนำมาหักดูภายในจะเป็นสีเหลืองคล้ายขมิ้น และมีรสเย็นฝาด[3]
- ใบว่านกีบแรด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ใบรวมทั้งหมดยาวประมาณ 1.8-4.5 เมตร และกว้างได้ถึง 2 เมตร ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมนไม่เท่ากันหรือเป็นรูปหัวใจตื้น ๆ และเบี้ยว ส่วนขอบใบจักมน จักเป็นฟันเลื่อย หรือจักถี่ ๆ ตลอดทั้งขอบใบ ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 1-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนา อวบน้ำ มีเมล็ดสีน้ำตาล หลังใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนด้านล่างเป็นสีเขียวอ่อน เส้นแขนงใบอิสระแยกสาขาเป็นคู่ จำนวนมาก ก้านใบย่อยบวม ยาวประมาณ 3-8 มิลลิเมตร ก้านใบร่วมมีขนาดใหญ่ ลักษณะอวบกลม ตามใบแก่จะมีอับสปอร์สีน้ำตาล เรียงติดกันเป็นแถวอยู่ใกล้กับขอบใบตรงด้านท้องใบ กลุ่มอับสปอร์จะอยู่ห่างจากขอบใบประมาณ 1 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปรี ประกอบด้วย 7-12 อับสปอร์ ผนังเชื่อมติดกัน ไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์[1],[8]
สรรพคุณของว่านกีบแรด
- หัวว่านกีบแรดมีรสจืดเย็นฝาด มีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ และบำรุงกำลัง (หัว)[1],[6],[8] คนเมืองจะใช้หัวว่านกีบแรดนำมาสับแล้วตากให้แห้ง นำมาบดผสมกับน้ำผึ้งเดือนห้า ดีปลี และพริกไทย ปั้นเป็นลูกกลอน กินเป็นยาบำรุงกำลัง (หัว)[4]
- ตำรับยาบำรุงเลือดและบำรุงกำลัง ระบุให้ใช้หัวว่านกีบแรดหั่นตากดองกับเหล้าหรือต้มกับน้ำกิน (หัว)[6]
- หมอยาพื้นบ้านในสามจังหวัดภาคใต้จะใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นยารักษาโรคมะเร็งและโรคหัวใจ ด้วยการใช้หัวว่านกีบแรดและหัวกระทือหั่นตากแห้ง นำมาต้มกับน้ำดื่ม ส่วนแบนุ หมอยาปัตตานี ก็ใช้หัวว่านกีบแรดเป็นยารักษาโรคมะเร็งเช่นเดียวกัน โดยจะใช้หัวนำมาต้มกับแก่นขี้เหล็ก แล้วนำน้ำที่ได้มาดื่มกินเป็นประจำ (หัว)[6]
- หมอยาภาคใต้จะใช้หัวตากแห้งใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นประจำจะช่วยควบคุมน้ำตาลในโรคเบาหวาน (หัว)[6]
- ใช้เป็นยาลดความดัน ด้วยการใช้หัวนำมาหั่นตากแห้ง ต้มกับน้ำกิน (หัว)[6]
- ตำรับยาแก้อาการนอนไม่หลับ ระบุให้ใช้ว่านกีบแรด รากหญ้าคา รากหญ้านาง และเนระพูสี อย่างละพอสมควร นำมาต้มให้เดือด ใช้ดื่มก่อนนอน 1 แก้ว จะช่วยทำให้หลับสบายดี (หัว)[9]
- หัวใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ (หัว)[1],[3]
- หัวใช้ปรุงเป็นยาแก้พิษตานซางในเด็ก (หัว)[1],[3]
- หัวใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้กำเดา (หัว)[1]
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (หัว)[1],[2]
- ช่วยแก้ตาเจ็บ (หัว)[1]
- หัวใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้แผลในปากและในคอ ด้วยการใช้หัวว่านกีบแรด นำมาฝนกับน้ำหรือต้มเคี่ยว ใช้เป็นยาทาหรืออมไว้ให้ตัวยาสัมผัสกับแผล (หัว)[1],[6]
- ช่วยแก้น้ำลายเหนียว แก้อาเจียน (หัว)[1],[2]
- ใบสดทั้งอ่อนและแก่ ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไอ (ใบแก่)[1],[3],[8]
- หัวมีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ท้องร่วง (หัว)[1],[2],[3]
- หัวมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (หัว)[1],[2],[6]
- รากว่านกีบแรดมีรสจืดเย็นฝาด มีสรรพคุณเป็นยาห้ามเลือด (ราก)[1],[2],[3]
- ใช้เป็นยาแก้ฝีหัวคว่ำ (หัว)[1]
- ใช้เป็นส่วนผสมอย่างหนึ่งในตำรับยา โดยใช้ทั้งต้นนำมาต้มหรือแช่กับน้ำไว้ครึ่งวัน ใช้อาบแก้ผื่นคัน (ทั้งต้น)[7]
- ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะใช้โคนก้านใบที่อยู่ใต้ดิน นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการตัวบวม (โคนก้านใบ)[4]
- ใบอ่อนนำมาทุบ แล้วนำไปต้ม ใช้ประคบหัวเข่า เป็นยาแก้อาการปวด (ใบอ่อน)[4]
- หมอยาจังหวัดเลย (ตาเพ็ง สุขนำ) จะใช้ว่านกีบแรดเป็นยาลดบวม แก้อาการปวดเมื่อย (หัว)[6]
- หัวนำมาหั่นตากดองกับเหล้าหรือต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการปวดหลัง ปวดเอว (หัว)[6]
- ว่านกีบแรดจัดอยู่ในตำรับยา “ยาเขียวหอม” ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีส่วนประกอบของว่านกีบแรดร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ โดยมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส (หัว)[10]
วิธีใช้ : การใช้หัวตาม [1] ให้นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยา ส่วนมากจะใช้คู่กับว่านร่อนทอง (Globba malaccensis Ridl.)[1],[3]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของว่านกีบแรด
- จากการศึกษาในห้องทดลองพบว่า สารในว่านกีบแรดมีฤทธิ์ในการยับยั้งมะเร็ง แต่มีฤทธิ์น้อย นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ HIV (HIV-1reverse transcriptase) อีกด้วย (สมจินตนา ทวีพานิชย์)[6]
ประโยชน์ของว่านกีบแรด
- ใบมีรสเฝื่อน ใบอ่อนสามารถนำมารับประทานเป็นผักได้[1],[2] ด้วยการนำมาลวกกินกับน้ำพริก ลาบ ป่น แจ่ว[4],[7]
- นิยมนำมาปลูกใส่กระถางเป็นไม้ประดับทั่วไป[5]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ว่านกีบแรด (Wan Kip Raet)”. หน้า 273.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ว่านกีบแรด”. หน้า 51.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ว่านกีบแรด”. หน้า 706-707.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ว่านกีบแรด, กีบม้าลม, เฟิร์นกีบแรด”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, พิมพ์ครั้งที่ 6. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [25 ต.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ว่านกีบแรด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [25 ต.ค. 2014].
- กลุ่มรักษ์เขาใหญ่. “กูดกีบม้า…ยาม้าปนแรด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rakkhaoyai.com. [25 ต.ค. 2014].
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักกูดยักษ์”. อ้างอิงใน : หนังสือผักพื้นบ้านภาคอีสาน (สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [25 ต.ค. 2014].
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ว่านกลีบแรด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [25 ต.ค. 2014].
- สันยาสี. (หมอเมือง สันยาสี). “ตำรับยารักษาโรคเรื้อรัง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.sanyasi.org. [25 ต.ค. 2014].
- ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (รองศาสตราจารย์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล). “ยาเขียว ยาไทยใช้ได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก...”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [25 ต.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by umijin, tanetahi, Russell Cumming, Pete The Poet, Forest and Kim Starr)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)