7 วิธีเสริมภูมิคุ้มกันต้านไวรัสโควิด-19 ในผู้สูงอายุ-ผู้มีโรคประจำตัว !

7 วิธีเสริมภูมิคุ้มกันต้านไวรัสโควิด-19 ในผู้สูงอายุ-ผู้มีโรคประจำตัว !

โรคปอดเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย และยังเป็น 1 ใน 5 อันดับของโรคสำคัญที่ทำให้เกิดการสูญเสียทางทรัพยากรสุขภาพไปมากมาย โดยโรคปอดนั้นจะมีแบ่งเป็นโรคปอดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคหืด ถุงลมโป่งพอง และโรคปอดติดเชื้อ ซึ่งที่สำคัญก็คือ ปอดอักเสบ และวัณโรค ส่วนที่กำลังเป็นที่จับตาและเป็นกังวลกันอยู่มากในขณะนี้ คือ “โรคปอดอักเสบจากเชื้อ COVID-19” ครับ เพราะเป็นสาเหตุทำให้ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงนั้นมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก

กลุ่มผู้ป่วย COVID-19 ที่มีโอกาสเสียชีวิตสูง

ถ้าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) กลุ่มคนที่จะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าปกติ ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว และอาจรวมถึงเพศชายด้วย โดยพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ จะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนปกติอย่างน้อย 5 เท่า ! (อัตราการเสียชีวิตในผู้สูงอายุในจีนสูงกว่าคนวัยกลางคนถึง 10 เท่า)

ปอดอักเสบเป็นเหตุให้ผู้ป่วย COVID-19 เสียชีวิต

การเสียชีวิตของผู้ป่วย COVID-19 ส่วนใหญ่จะมาจากการที่ผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบ เพราะในปอดมีถุงลมที่จะถูกแทนที่ด้วยสารที่เกิดจากการอักเสบขึ้นมา ซึ่งถ้าเป็นในคนปกติเวลาหายใจลมจะผ่านเข้าไปในระบบเส้นเลือดแล้วมีการแลกเปลี่ยนอากาศทางระบบถุงลมกับเส้นเลือดได้ แต่เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้น เซลล์ที่อักเสบจะกลายเป็นตัวกั้นทำให้ลมและออกซิเจนไม่สามารถผ่านเข้าได้จนเป็นเหตุทำให้เสียชีวิต

นอกจากการติดเชื้อ COVID-19 จะสร้างความเสียหายให้กับปอดเป็นส่วนใหญ่แล้ว ยังมีอวัยวะอื่น ๆ ที่ถูกทำลายไปได้ด้วยและเป็นเหตุทำให้เสียชีวิต โดยเฉพาะที่หัวใจ เพราะจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JAMA Cardiology ระบุว่าผู้ป่วยโรค COVID-19 ในเมืองอู่ฮั่นของจีนในเมืองอู่ฮั่นของจีนที่หัวใจได้รับความเสียหายมีมากถึง 1 ใน 5 ของผู้ป่วยทั้งหมดที่เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหลายคน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีประวัติอาการของโรคหัวใจมาก่อน ซึ่งแพทย์สันนิษฐานว่า หัวใจล้มเหลวเพราะทำงานหนักจากการสูบฉีดเลือดให้ร่างกายที่ขาดออกซิเจน หรืออาจเกิดจากเชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์หัวใจโดยตรง หรือภูมิคุ้มกันร่างกายเกิดปฏิกิริยาต้านไวรัสอย่างรุนแรงจนไปทำลายเซลล์หัวใจเสียเอง

แต่มีสารอาหารอยู่ชนิดหนึ่งที่อาจช่วยเสริมภูมิต้านทานในผู้สูงอายุและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรังนี้ได้ครับ นั่นก็คือ “น้ำมันปลา” เพราะในน้ำมันปลามีกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า-3 อย่าง DHA และ EPA ที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบต่าง ๆ ช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจ ลดระดับไขมันในเลือดชนิดไตรกลีเซอร์ไรด์ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคทางระบบหลอดเลือดและหัวใจ ลดความดันโลหิต บำรุงเซลล์สมอง ประสาท และจอประสาทตา และอาจช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้าและโรคที่เกี่ยวกับความจำหรืออัลไซเมอร์ได้ด้วย

สำหรับฤทธิ์ต้านการอักเสบของน้ำมันปลาจากการติดเชื้อ COVID-19 นั้น มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cancer and Metastasis Reviews (https://link.springer.com/article/10.1007/s10555-020-09889-4) ที่พบว่า สาร Resolvins ในน้ำมันปลามีคุณสมบัติทำหน้าที่เป็นตัวยับยั้งการอักเสบที่ปกติจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติของร่างกายได้ (น้ำมันปลาซึ่งมีกรดไขมัน EPA, DHA เมื่อเข้าสู่ร่างกายมันจะถูกเปลี่ยนเป็น Resolvins ก่อนจึงจะสามารถออกฤทธิ์ต้านการอักเสบให้ร่างกายได้ นั่นหมายความว่า Resolvins คือสารออกฤทธิ์จริง ๆ ของน้ำมันปลานั่นเอง)

“ข้อมูลผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการปอดอักเสบในไทย พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน ความดันโลหิต โรคหัวใจ หอบหืด หรือผู้ที่ได้รับยาที่กดภูมิคุ้มกันในร่างกาย รวมทั้งผู้ที่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า”

น้ำมันปลากับฤทธิ์ต้านการอักเสบ

การอักเสบของร่างกายเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันทำงาน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายอย่างเชื้อแบคทีเรีย, เชื้อไวรัส (ซึ่งรวมถึง COVID-19 ด้วย), สารเคมี, การบาดเจ็บของร่างกาย และโรคประจำตัวเรื้อรังที่เป็นอยู่อย่างโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคซึมเศร้า ฯลฯ

มีงานวิจัยที่ชี้ว่า กรดไขมันกลุ่มโอเมก้า-3 ที่มีอยู่ในน้ำมันปลานั้นมีคุณสมบัติต้านการอักเสบและอาจช่วยรักษาภาวะหรือการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรังได้ ทั้งยังช่วยลดการผลิตและการแสดงออกของยีนที่หลั่งสารไซโตไคน์ซึ่งเป็นโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ

ดังนั้น การได้รับโอเมก้า-3 ในปริมาณที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามคำแนะนำในหัวข้อด้านล่าง (คำแนะนำในการเสริมภูมิของผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง) ก็จะช่วยลดความเสียหายของอวัยวะปอดและการเสียชีวิตเมื่อติดเชื้อ COVID-19 ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงนี้ได้

เสริมภูมิคุ้มกันต้านไวรัสในผู้สูงอายุ
IMAGE SOURCE : 123RF

ประโยชน์ของน้ำมันปลาด้านอื่น ๆ

เนื่องจากน้ำมันปลามีโอเมก้า-3 ที่มีความสำคัญต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย จึงเชื่อกันว่าการบริโภคน้ำมันปลาอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลากหลายด้าน โดยนอกจากจะมีฤทธิ์ต้านการอักเสบดังที่กล่าวไปแล้ว น้ำมันปลายังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงอีกด้วย เช่น

  • บำรุงสุขภาพหัวใจ การบริโภคน้ำมันปลาอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีในร่างกาย ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ และช่วยลดความดันโลหิต
  • รักษาภาวะหรืออาการทางจิตใจ มีงานวิจัยที่ชี้ว่าการบริโภคน้ำมันปลาอาจช่วยป้องกันภาวะผิดปกติทางจิตใจบางอย่าง และอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคไบโพลาร์และโรคจิตเภทได้ด้วย
  • ลดน้ำหนัก งานวิจัยบางชิ้นระบุว่าการบริโภคน้ำมันปลาควบคู่ไปกับการออกกำลังกายและควบคุมอาหารสามารถช่วยให้ลดน้ำหนักได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ภาวะอ้วนเป็นภาวะที่อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคมะเร็ง ซึ่งการบริโภคน้ำมันปลาอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจในผู้ป่วยภาวะอ้วนได้ด้วย
  • ประโยชน์อื่น ๆ นอกจากประโยชน์หลัก ๆ ที่กล่าวมาแล้ว น้ำมันปลายังมีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านอื่น ๆ อีกด้วย เช่น ช่วยลดการสะสมไขมันในตับ บรรเทาอาการของโรคซึมเศร้าและโรคสมาธิสั้นในเด็ก ช่วยบำรุงผิวหนัง บำรุงสายตา บำรุงกระดูก อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างสุขภาพครรภ์ในหญิงตั้งครรภ์ได้อีกด้วย

อ่านรีวิวและสรุปคำแนะนำในการเลือกซื้อน้ำมันปลาเพิ่มเติมได้ที่บทความ 10 อันดับน้ำมันปลายอดนิยม & รีวิวจากการใช้จริง ! (2020)

คำแนะนำในการเสริมภูมิของผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง

นอกจากการรับประทานน้ำมันปลาเสริมเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันแล้ว ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวยังต้องปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้เพื่อให้ภูมิร่างกายแข็งแรงด้วย

  1. ควบคุมโรคประจำตัวให้ดี มีข้อมูลระบุว่าโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เช่น โรคเบาหวานเรื้อรัง รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคอ้วน มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อ COVID-19 มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ
  2. รับวัคซีนตามช่วงอายุ โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะปออดอักเสบจากการติดเชื้อ COVID-19 จะสามารถมีการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียตัวอื่นแทรกซ้อนด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้อาการปอดอักเสบของผู้ป่วยแย่ลงกว่าเดิม
  3. ออกกำลังกายเบา ๆ ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที อาจจะด้วยการเดิน ปั่นจักรยานอยู่กับที่ แอร์โรคบิคแบบที่ไม่มีการกระแทกข้อต่อ เล่นโยคะ รำไทเก๊ก ฯลฯ และควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยคืนละ 7-9 ชั่วโมง
  4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และปรุงสุกใหม่เสมอ รับประทานผักผลไม้หลากสีที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ลดการบริโภคไขมัน น้ำตาล อาหารแปรรูปและเนื้อสัตว์ติดมัน หรือคุณอาจปรึกษาแพทย์เพื่อรับวิตามินหรืออาหารเสริมเพิ่มเติม ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ดีขึ้น
  5. ลดความเครียด ด้วยการหากิจกรรมที่ผ่อนคลายและสนุกสนานทำ เพราะความเครียดเรื้อรังจะส่งผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง
  6. เลิกสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่จะทำลายเนื้อเยื่อปอด ทำให้ปอดอ่อนแอลงและเสี่ยงต่อการติดเชื้ออมากขึ้น หากมีการติดเชื้อ COVID-19 ก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงการเกิดปอดอักเสบรุนแรงและระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลันได้
  7. รับประทานอาหารเสริม นอกจากอาหารเสริมอย่างน้ำมันปลาแล้ว ยังมีอาหารเสริมอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์เสริมภูมิต้านทานได้ด้วย แม้หลาย ๆ ตัวจะยังไม่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรค COVID-19 มากนัก แต่ก็พบเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการติดเชื้อไวรัสก่อโรค ต้านการอักเสบ และอาจช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสได้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ 16 วิตามินและสมุนไพรตัวช่วยเสริมภูมิต้าน COVID-19 !

“ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน มีโอกาสเสียชีวิตจากการติดเชื้อ COVID-19 มากกว่าคนปกติอย่างน้อย 5 เท่า ! ดังนั้นการเสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงตามคำแนะนำและเสริมด้วยสารอาหารอย่าง Omega-3 ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงนี้ก็อาจช่วยลดการอักเสบจนเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ COVID-19 ได้”

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด