35 วิธีเลิกบุหรี่ ! ติดบุหรี่ – อยากเลิกบุหรี่ทำไงดี ??

เลิกสูบบุหรี่

การติดบุหรี่เป็นการเสพติด 3 ทางด้วยกัน คือ การติดสารนิโคตินในบุหรี่ เมื่อใดที่ขาดนิโคตินร่างกายจะเสียสมดุลทำให้เกิดอาการต่าง ๆ มากมาย เช่น กระสับกระส่าย หงุดหงิด นอนไม่หลับ ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ อารมณ์ซึมเศร้า หดหู่ ไม่มีสมาธิ คิดอะไรไม่ออก ฯลฯ, การติดทางสังคมและสภาพแวดล้อม คนรอบข้างหรือเพื่อนเป็นปัจจัยสำคัญในการเริ่มต้นสูบบุหรี่ โดยเฉพาะวัยรุ่นที่อยากได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูง ทำให้สูบบุหรี่ต่อไปจนติดแล้วเลิกไม่ได้ และสุดท้ายคือ การติดทางพฤติกรรมและทางจิตใจ ซึ่งเป็นการเสพติดชนิดหนึ่ง โดยเกิดจากการเรียนรู้แล้วนำมาปฏิบัติจนเคยชิน เช่น เมื่อกินกาแฟจะต้องสูบบุหรี่ไปด้วย หรือมักสูบบุหรี่ในห้องทำงาน เมื่อเข้ามาทำงานก็จะเกิดความอยากสูบบุหรี่ เป็นต้น

เป็นที่ทราบกันดีว่า โทษของการสูบบุหรี่นั้นมีสารพัด เช่น การสูญเสียเงินเป็นจำนวนมากโดยไม่ได้อะไรนอกจากสุขภาพเสีย ๆ มะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดลมและหลอดอาหาร มะเร็งช่องปาก ถุงลมโป่งพอง กระเพาะอาหารเป็นแผล ตับแข็ง โรคปริทันต์ ฟันเหลือง ตาแดง เล็บเขียว ความดันสูง โรคโพรงกระดูกอักเสบ อาการไอเรื้อรังและมีเสมหะมาก ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวผู้สูบบุหรี่แล้ว บุหรี่ยังส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง และทำให้สภาพแวดล้อมนั้น ๆ เสียตามไปด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองก็เป็นสาเหตุสำคัญที่เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่จำนวนไม่น้อยอยากพยายามเลิกสูบโดยเด็ดขาด เพราะฉะนั้น วันนี้เราจึงมีวิธีการเลิกสูบบุหรี่มาฝากกัน ส่วนจะมีวิธีใดบ้างและจะยากสักแค่ไหน ไปดูกัน…

วิธีการเลิกสูบบุหรี่

  1. หากำลังใจ กำลังใจจากคนรอบข้างถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณมีความพยายามที่จะเลิกสูบบุหรี่ได้ คุณควรบอกให้คนใกล้ชิดทราบถึงความตั้งใจดังกล่าว
  2. ต้องมีเป้าหมาย เป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ คุณควรรู้ว่าจะทำไปเพื่อใคร หากคิดว่าอยากสูบบุหรี่ขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็ขอให้คุณย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า ที่เลิกนั้นเพื่ออะไร เช่น เพื่อคนที่คุณรักและคนรอบข้าง เพื่อเก็บเงินในการสร้างอนาคต หรือเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น ฯลฯ แต่บางคนอาจถึงขนาดสาบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพกันเลยทีเดียว แต่เชื่อไหมว่ามันเลิกได้จริง !
  3. เตรียมใจยอมรับ คุณควรค้นหาสาเหตุที่แท้จริงที่เป็นตัวกระตุ้นให้คุณสูบบุหรี่ เพื่อจะได้จัดการได้อย่างถูกวิธี เช่น สูบเพราะเครียด อยากเข้ากับเพื่อน งานเลี้ยง ดื่มเหล้า หรือเป็นแค่ความเคยชินหลังมื้ออาหาร ฯลฯ และต้องทำความเข้าใจและยอมรับอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเลิกบุหรี่ เช่น กระวนกระวาย หงุดหงิด ง่วงเหงาหาวนอน เป็นต้น พร้อมกับให้กำลังใจตัวเองว่าอาการเหล่านี้มันจะผ่านไปได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน
  4. ต้องวางแผน คุณควรวางแผนการปฏิบัติตัว โดยกำหนดวันที่จะเลิกสูบบุหรี่ โดยเลือกเป็นวันสำคัญต่าง ๆ ของครอบครัว เช่น วันเกิดตัวเอง วันเกิดลูกหรือคนในครอบครัว วันครบรอบแต่งงาน วันสำคัญทางศาสนา แต่ทั้งนี้ไม่ควรกำหนดวันที่ห่างไกลมากจนเกินไป หรือเป็นวันที่คุณมีภาระต้องรับผิดชอบ เช่น ช่วงสอบ ช่วงที่ต้องไปกินเลี้ยงหรือมีงานสังคม เพราะอาจมีแรงจูงใจทำให้ไม่สามารถเลิกได้ตามที่ตั้งใจไว้ หรือคุณอาจสร้างพิธีกรรมเล็ก ๆ สำหรับวันส่งท้ายด้วยการนำบุหรี่ที่เหลือมาเผาไฟต่อหน้าพร้อมกับกระดาษที่เขียนถึงโทษของการสูบบุหรี่สำหรับวันแรกของการเลิกบุหรี่
  5. เลิกในทันที – หักดิบ (Cold turkey) การเลิกขาดในทันทีจะได้ผลชะงัดกว่าการลดปริมาณการสูบ วิธีนี้ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นการให้ผู้ติดบุหรี่เลิกสูบในทันทีโดยไม่ต้องมีการใช้ยาหรือความช่วยเหลือใด ๆ โดยทั่วไปวิธีนี้อาการขาดนิโคตินจะหายไปได้เองภายในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ ช่วงนี้อาจจะทนทรมาน และลำบากใจสุด แต่ก็ต้องอดทน ผ่านไปได้โอกาสเลิกได้ก็เป็นไปได้สูง อาการไม่สบายตัวต่าง ๆ ก็จะหายไป แต่ยังไงก็ยังดีกว่าทรมานอย่างช้า ๆ ด้วยวิธีการลดปริมาณลงเรื่อย ๆ จริงไหม ?
    หักดิบเลิกบุหรี่
  6. ทำจิตใจให้เข้มแข็งไม่หวั่นไหว เมื่อถึงวันลงมือปฏิบัติ ควรตื่นนอนด้วยความสดชื่น หายใจให้เต็มปอดสัก 10 ครั้ง อย่างช้า ๆ และปล่อยให้จินตนาการรู้สึกดีกับมวลอากาศบริสุทธิ์ พร้อมบอกกับตัวเองว่าคุณกำลังทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเองและคนรอบข้าง รวมถึงทบทวนเหตุผลที่ทำให้คุณตัดสินใจเลิกบุหรี่ ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ หันมาใกล้ชิดกับคนที่ไม่สูบบุหรี่ และหลังเลิกสูบบุหรี่มาอย่างน้อย 2-3 อาทิตย์ ก็อาจทำให้เกิดอาการอยากบุหรี่ขึ้นมาได้ วิธีที่สำคัญที่สุดในการเลิกบุหรี่อย่างถาวรก็คือการทำจิตใจให้เข้มแข็งและมีความเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราสามารถเลิกบุหรี่ได้
  7. ทิ้งบุหรี่และที่เขี่ยบุหรี่ไปให้พ้นสายตา การจะเลิกทั้งทีก็ต้องจัดการให้เด็ดขาด อย่ารอช้าที่จะทิ้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ให้หมด ทิ้งได้ก็ต้องทิ้ง อย่าไปเสียดายครับ เพราะหากมีสิ่งยั่วยุเหล่านี้ขึ้นมาขวางตาขวางใจ ก็อาจทำให้ใจเราเขวได้ คิดซะว่าทำเพื่อสุขภาพแล้วกันเนอะ
  8. จัดการดูแลตัวเอง ในระยะแรกของการเลิกสูบบุหรี่ใหม่ ๆ คุณอาจเกิดอาการอยากบุหรี่อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นการเสพติดมาจากพฤติกรรมการสูบเดิม ดังนั้นหากมีอาการอยากสูบ ก็ขอแนะนำให้รับประทานผลไม้รสเปรี้ยวหรือดื่มน้ำผลไม้ กินของขบเคี้ยว เคี้ยวหมากฝรั่ง อมลูกอม เคี้ยวไม้จิ้มฟัน อาบน้ำ แปรงฟัน หรือดมยาดมก็ได้ เพื่อช่วยทำให้ไม่รู้สึกอยากสูบบุหรี่ แต่ถ้ามีอาการกระสับกระส่ายและง่วงก็ให้นอนหลับไปเลย หรอไม่ก็ไปหาที่สงบ ๆ ออกไปสูดอากาศตามธรรมชาติ เปิดเพลงนุ่ม ๆ ฟังสบาย ๆ หาคนมานวดหลังและไหล่เพื่อให้เลือดลมหมุนเวียนดีขึ้น ถ้าทนไม่ได้ก็ให้หายางมารัดข้อมือไว้ เมื่อรู้สึกกระสับกระส่ายก็ให้ดีดยางรัดทันที ซึ่งความเจ็บจะดึงความคิดออกจากความอยากบุหรี่ได้ แม้จะเป็นวิธีที่เจ็บแต่ได้ผลนะเออ ส่วนสุรา ชา กาแฟ และน้ำอัดลมควรหลีกเลี่ยง เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความอยากในการสูบบุหรี่มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารมันจัด เผ็ดจัด หรือหวานจัด เพราะอาหารเหล่านี้มีผลเสียโดยตรงต่อสุขภาพจิต ทำให้อารมณ์แปรปรวนได้ง่าย และให้หันมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ถูกหลักโภชนาการแทน แต่สำหรับคนที่ติดการสูบบุหรี่หลังการรับประทานอาหาร เมื่อรับประทานอาหารเสร็จก็ควรจะรีบลุกออกจากโต๊ะอาหารทันที แล้วหันไปหากิจกรรมอื่น ๆ ทำ
  9. ดื่มน้ำให้มาก ๆ คุณควรดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว เพราะการดื่มน้ำสามารถช่วยกำจัดสารนิโคตินออกจากร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ตอนตื่นนอนตอนเช้า หลังอาหารทุกมื้อ ช่วงระหว่างอาหาร และก่อนเข้านอน
  10. ไม่หมกมุ่นและไปหากิจกรรมทำซะ แน่นอนว่าเมื่อคุณไม่ได้สูบบุหรี่ คุณเองก็จะมีเวลาให้กับตัวเองมากขึ้น เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยเวลาเหล่านี้ให้เปล่าประโยชน์ คุณควรเอาเวลานั้นมาหากิจกรรมที่คุณชื่นชอบมาทำ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายในแบบที่ตัวเองถนัดอย่างน้อยวันละ 15-20 นาที (เพื่อกระตุ้นร่างกายให้แข็งแรงและซ่อมแซมส่วนที่เสียหายจากภัยบุหรี่) อ่านหนังสือขำขัน การเล่มเกมเมื่อมีเวลาว่าง พูดคุยกับคนอื่น ๆ หรือแต่งบ้านทำสวนก็ดูจะเข้าท่าไม่น้อย แถมยังช่วยผ่อนคลายความเครียดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เพราะอย่าลืมว่ายังมีคนไม่สูบบุหรี่อีกมากที่หาวิธีคลายเครียดได้โดยไม่ต้องพึ่งบุหรี่
  11. หายใจลึก ๆ ช้า ๆ ติดต่อกัน โดยให้ทำต่อเนื่องกัน 5 นาทีทุกวัน ด้วยการหลับตาและสูดลมหายใจเข้าช้า ๆ ด้วยจมูกจนเต็มปอด แล้วค่อย ๆ ปล่อยออกอย่างช้า ๆ ระหว่างนั้น ทำให้คุณสร้างความรู้สึกดีตามไปด้วย พยายามจินตนาการถึงความรู้สึกที่แตกต่างของการไม่มีควันบุหรี่เข้ามาในชีวิต แต่ถ้ายังไม่รู้สึกก็ควรสร้างอุปาทาน เช่น ลมหายใจหอมสดชื่นขึ้น รู้สึกเหนื่อยน้อยลงเนอะ หรืออะไรก็ตามที่เป็นสิ่งดี ๆ จากการไม่สูบบุหรี่
  12. อาบน้ำหรือแช่น้ำอุ่นวันละ 2-3 ครั้ง โดยให้ทำครั้งละประมาณ 15-20 นาที หลังจากอาบน้ำอุ่นด้วยน้ำอุ่นแล้ว ควรตามด้วยการอาบด้วยน้ำเย็นเพื่อช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย
  13. อยู่ให้ห่างจากสภาพแวดล้อมเดิม ๆ คุณควรพยายามหลีกเลี่ยงไปยังสถานที่หรือช่วงเวลาที่คุณเคยสูบบุหรี่เป็นประจำ รวมไปถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจทำให้คุณอยากสูบบุหรี่ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มกาแฟ ฯลฯ เพราะความเคยชินดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุทำให้คุณหวนกลับไปสูบบุหรี่อีกครั้ง ให้คุณลองหาสถานที่ใหม่ ๆ บรรยากาศใหม่ ๆ หรือไปเดินออกกำลังกายบ้างเล็กน้อยก็ช่วยได้เยอะ !
    วิธีการเลิกบุหรี่
  14. อย่าใจอ่อนกับตัวเองเป็นอันขาด เชื่อว่าคงมีหลายคนที่บอกกับตัวเองว่า “อีกสักมวนคงไม่เป็นไร” หรือ “วันนี้สักหน่อยก่อนแล้วกัน พรุ่งนี้ค่อยเลิก” ฯลฯ รวมไปถึงการท้าทายตัวเอง โดยคิดว่ากลับไปลองสูบบ้างเป็นครั้งคราวคงไม่เป็นไร เหล่านี้ห้ามเด็ดขาด เพราะนั่นหมายถึงความพยายามที่คุณตั้งใจมาทั้งหมดนั้นมันจะสูญเปล่า ไม่มีค่า หรือเกิดประโยชน์ใด ๆ กับคุณเลย คุณต้องใจแข็งและผ่านมันไปให้ได้
  15. อย่าละเลยแม้เพียงเล็กน้อย ขอให้คุณอย่ายอมแพ้หรือปล่อยให้โอกาสบางโอกาสนำคุณกลับไปสูบบุหรี่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนชวน สังคมของคุณ หรือมีสิ่งดึงดูดใจต่าง ๆ ขอให้คุณทำตามเป้าหมายของตัวเองให้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้เป็นพอ
  16. ถ้าต้องสูบจริง ๆ อย่าตอบสนองตัวเองทันที ให้ทำเล่นตัวสักประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วค่อยสูบ เพื่อช่วยลดความกระวนกระวายที่ต้องทำทันทีเมื่อรู้สึกต้องการ และให้คุณลองเปลี่ยนมือที่ใช้คีบบุหรี่ เปลี่ยนชนิดบุหรี่ เปลี่ยนยี่ห้อที่คุณไม่ชอบ และจำกัดสถานที่ในการสูบให้เข้มงวด เช่น ถ้าจะสูบต้องสูบบนระเบียงชั้นสามขวามือและต้องสูบตอน 3 ทุ่มเท่านั้น
  17. อย่าท้อแท้ หากคุณต้องหันกลับไปสูบบุหรี่อีกครั้ง มันก็ไม่ได้หมายความว่า คุณเป็นคนล้มเหลว อย่างน้อยคุณก็ได้เรียนรู้ถึงการที่จะปรับปรุงตัวเองในการเลิกสูบครั้งต่อไป ขอเพียงพยายามต่อไปที่จะเตรียมตัวสู้กับมันอีกครั้งและหยุดบุหรี่ให้ได้ อย่างน้อย ๆ คุณลดปริมาณบุหรี่ที่เคยสูบได้มากกว่าเดิม
  1. การทำกิจกรรมกลุ่มพฤติกรรมบำบัด โดยเข้ารับการปรึกษาหรือรับคำแนะนำจากหน่วยงานที่เกี่ยวหรือแพทย์
  2. อาหารเลิกบุหรี่ อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงของผู้ติดบุหรี่นั้น ได้แก่ เครื่องดื่มจำพวกกาแฟ ชา และน้ำอัดลม (เพราะมีนิโคตินเช่นเดียวกับบุหรี่), เหล้าหรือแอลกอฮอล์ (ทำให้ลิ้นรับรสได้มากขึ้น) รวมไปถึงเนื้อสัตว์ (เนื่องจากส่งเสริมการรับรสของผู้สูบให้ยิ่งสูบมากขึ้น) ส่วนอาหารที่จะช่วยทำให้อดบุหรี่หรือเลิกบุหรี่ได้นั้น มีดังนี้
    • ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น มะนาว ส้ม ฝรั่ง เสาวรส ก็ช่วยได้มาก เพราะการสูบบุหรี่ 1 มวน ร่างกายจะเสียวิตามินซีไปถึง 60 มิลลิกรัม หรือพอ ๆ กับส้ม 1 ลูก การดื่มน้ำผลไม้เหล่านี้จึงช่วยเพิ่มวิตามินซีให้กับร่างได้
    • ผักเขียวจัด โดยหลักแล้วแนะนำว่า ผักยิ่งเขียวยิ่งดี เพราะนอกจากจะมีฤทธิ์สกัดความอยากบุหรี่แล้วยังมีคลอโรฟิลล์และสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยล้างพิษในร่างกายได้อีกด้วย
    • ถั่ว ไข่ อกไก่ อาหารทั้งสามนี้ทางมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์แนะนำให้ทานในผู้ที่ต้องการอดบุหรี่ เพราะอาหารเหล่านี้จะไปช่วยสร้างสารซีโรโทนิน (Serotonin) จะช่วยให้การเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น
    • นมสด จากการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้พบว่า เมื่อสูบบุหรี่แล้วจะทำให้กินอาหารบางอย่างไม่อร่อย โดยเฉพาะ “นมวัว” เลยอยากให้ท่านที่รักการดื่มนมวัวเข้าไว้ เผื่อจะทำให้เกิดความเบื่อบุหรี่ขึ้นมาบ้าง แต่ถ้าแพ้นมวัวคุณอาจจะเปลี่ยนมาเป็นนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตก็ได้ครับ
    • ปลา โอเมก้าสามที่มีอยู่ในปลานั้นสามารถช่วยลดการอักเสบจากพิษบุหรี่ในร่างกายได้ อีกทั้งในปลายังมีแอล-อาจินีน (L-arginine) ที่ช่วยขยายหลอดเลือดตามอวัยวะให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
  3. วิธีเลิกบุหรี่ด้วยมะนาว จากผลวิจัยพบว่า วิตามินซีมีสารที่ช่วยลดความอยากนิโคตินได้ และยังช่วยฟื้นฟูร่างกายที่ทรุดโทรมให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่า จึงมีการนำมาใช้เพื่อเป็นตัวช่วยในการเลิกบุหรี่ วิธีการก็คือให้นำมะนาวมาล้างให้สะอาดแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้มีเปลือกติดมาด้วยขนาดเท่าหัวแม่มือ หรือพอดีคำ เมื่อรู้สึกอยากบุหรี่เมื่อไหร่ก็ให้กินมะนาวหั่นแทน โดยอมแล้วค่อย ๆ ดูดเอาความเปรี้ยว จากนั้นเคี้ยวเปลือกอย่างช้า ๆ ประมาณ 3-5 นาที แล้วดื่มน้ำตาม 1 อึก วิธีนี้นอกจากจะช่วยลดความรู้สึกอยากนิโคตินได้แล้ว เมื่อสูบบุหรี่จะทำให้รสชาติบุหรี่เปลี่ยนเป็นขมจนไม่อยากสูบ (ผลไม้รสเปรี้ยวอื่น ๆ ก็ใช้ได้เช่นกัน แต่มะนาวจะได้ผลดีที่สุด) ซึ่งการเลิกบุหรี่ด้วยการกินมะนาวนี้ส่วนใหญ่จะเลิกบุหรี่ได้ใน 2 สัปดาห์ และจะไม่อยากสูบบุหรี่อีก เพราะร่างกายสามารถเอาชนะนิโคตินได้ แต่ในเรื่องของอาการทางใจบางครั้งอาจยังมีความต้องการอยู่บ้าง
    วิธีเลิกบุหรี่ด้วยมะนาว
  4. อาหารเสริมช่วยได้ ให้คุณหาอาหารเสริมจำพวกวิตามินบีรวมมารับประทาน จะในรูปแบบแคปซูลหรือแบบเม็ดก็ตามแต่ หรือจะทานจมูกข้าวสาลี (Wheat Germ) 1-2 ช้อนโต๊ะ ผสมกับนมสดหลังอาหาร เป็นต้น
  5. ของแบบนี้ไม่ลองไม่รู้ อย่างเช่น ยาดม ซึ่งบางคนถึงขนาดเลิกบุหรี่ได้ด้วยการดมยาดมโป๊ยเซียน !, การอมลูกอม อย่าง ฮอลล์คูล (เม็ดสีฟ้าเย็นสุดขั้ว), แปรงฟันบ่อย ๆ เมื่อรู้สึกอยากบุหรี่, ถ้าแปรงฟันไม่ได้ก็ให้ดื่มน้ำเย็นจัด
  6. ชาเลิกบุหรี่ อีกตัวช่วยของคนที่อยากเลิกสูบบุหรี่อย่างจริงจัง เป็นชาชงดื่มที่มีส่วนผสมของหญ้าดอกขาว โปร่งฟ้า เปปเปอร์มิ้นต์ และสมุนไพรอื่น ๆ มีสรรพคุณช่วยลดอาการอยากสูบบุหรี่ ทำให้สูบบุหรี่ได้น้อยลงเรื่อย ๆ
  7. ชาบัวหิมะเลิกบุหรี่ เป็นใบชาธรรมชาติสายพันธุ์เฉพาะ ซึ่งมีกลิ่นหรือรสชาติคล้ายชา ทำให้ดื่มได้ง่าย ไม่ขม เหมาะกับผู้ติดบุหรี่ที่ต้องการจะเลิก เพราะต้องมีการดื่มตามปริมาณและระยะเวลาที่กำหนด (เห็นว่าตามสูตรคือต้อง 6 วันเท่านั้น ห้ามเกินกว่านี้ เพราะจะทำให้ผู้บำบัดเกิดอาการท้อใจและไม่ดื่มต่อได้) โดยผู้ติดบุหรี่จะต้องไม่ตามใจตนเอง โดยชาที่ดื่มจะช่วยในเรื่องของการขับล้างสารพิษในร่างกาย ช่วยปรับสมดุลของร่างกาย และช่วยสร้างภูมิต่อต้านสารเสพติดทุกชนิด โดยเฉพาะสารนิโคตินในบุหรี่ จากที่สืบราคาดูในเน็ต ราคาจะตกกล่องละประมาณ 2,500-3,500 บาท คาดว่าคงใช้ได้ 6 วันพอดี (ภาพ : การเลิกบุหรี่.com)
    ชาบัวหิมะเลิกบุหรี่
  8. สมุนไพรเลิกบุหรี่ ใช้หญ้าดอกขาวทั้งต้นประมาณ 2-3 ต้น ใส่น้ำพอท่วมยา ต้มเดือด 10 นาที ใช้กินบ่อย ๆ หรือจะใช้ในรูปแบบชาชงในขนาด 3 กรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารก็ได้, ใช้ผลจุกโรหินีผสมกับข้าวเย็นเหนือ, ส่วนผักกาดน้ำก็ยังใช้เป็นสมุนไพรเลิกบุหรี่ได้เช่นกัน
  9. หมากฝรั่งเลิกบุหรี่ (Nicotine chewing gum) อันนี้มีราคาค่อนข้างแพงครับ รสชาติค่อนข้างแย่ บางคนถึงขนาดให้ฟรีก็ไม่เคี้ยว 555+ โดยหมากฝรั่งนี้จะช่วยลดอาการอยากสูบบุหรี่ ค่อย ๆ เคี้ยวเมื่อพบว่ารสซ่าในปากให้หยุดเคี้ยว และรอให้นิโคตินดูดซึมผ่านทางเยื่อบุช่องปาก จนรสซ่าหายไปก็ให้เคี้ยวต่อ ให้ทำเช่นนี้ประมาณ 30 นาทีต่อเม็ด หลักการคือเป็นการให้สารนิโคตินในระดับต่ำ เพื่อระงับอาการขาดนิโคตินและระงับความอยากบุหรี่ ซึ่งจากสถิติพบว่าการใช้วิธีการดังกล่าวร่วมกับทำกิจกรรมกลุ่มและพฤติกรรมบำบัดจะช่วยทำให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น อย่างยี่ห้อที่เป็นที่นิยมจะเป็น นิโคมายด์ (nicomild-2) ราคาแพ็กละประมาณ 300-400 บาท (1 แพ็กมี 6 แผง ใน 1 แผงจะมี 9 เม็ด รวมแล้วมี 54 เม็ด ราคาเฉลี่ยเม็ดละ 6-8 บาท)
    หมากฝรั่งเลิกบุหรี่
  10. แผ่นแปะนิโคติน หรือ แผ่นปิดผิวหนังนิโคติน (Nicotine patch) ใช้สำหรับทดแทนนิโคตินในบุหรี่ เพื่อลดอาการอยากสูบบุหรี่ ใช้โดยการปิดแผ่นยาลงบนผิวหนังบริเวณที่ไม่มีขน เช่น ต้นแขน คอ จนถึงสะโพกที่ปิดแผ่นยาทุกวันโดยติดตลอด 24 ชั่วโมง ราคาประมาณ 300-400 บาท (10 แผ่น)
    แผ่นแปะนิโคติน
  11. นิโคตินชนิดสูดทางปาก (Nicotine inhalation) นิโคตินรูปแบบนี้จะใช้ตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกจะมีลักษณะเป็นกล่องพลาสติกคล้ายกับมวนบุหรี่ใช้สำหรับสูด และอีกส่วนเป็นกระบอกสำหรับบรรจุผงนิโคติน เมื่อรู้สึกอยากบุหรี่ ก็ให้คีบกระบอกพลาสติกที่บรรจุนิโคตินไว้เรียบร้อยแล้วในลักษณะเดียวกับการคีบมวนบุหรี่ เมื่อสูดเข้าไปแล้วนิโคตินจะถูกดูดซึมอยู่แค่บริเวณปากและคอเท่านั้น ไม่ได้ลงลึกไปถึงปอดเหมือนกับการสูบบุหรี่และการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายก็จะน้อยกว่า ซึ่งวิธีนี้จะเหมาะกับคนที่มีการติดบุหรี่ทางด้านจิตใจมากกว่า
    นิโคตินชนิดสูดทางปาก
  12. นิโคตินชนิดสเปรย์พ่นจมูก (Nicotine nasal spray) ผู้ที่พยายามเลิกบุหรี่มาหลายวิธีแล้วแต่ไม่สำเร็จ อาจจะเลิกได้ด้วยวิธีนี้ แต่การใช้ในรูปแบบนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ นิโคตินรูปแบบนี้อาจไม่เหมือนกับรูปแบบอื่น ๆ เนื่องจากนิโคตินจะสามารถดูดซึมและทำให้ระดับนิโคตินในกระแสเลือดใกล้เคียงกับการสูบบุหรี่อย่างรวดเร็ว จึงเป็นเหตุผลที่ว่ามักนิยมใช้ในบุคคลที่มีอาการอยากนิโคตินรุนแรง
    นิโคตินชนิดสเปรย์พ่นจมูก
  13. ลูกอมเลิกบุหรี่ หรือ ลูกอมนิโคติน (Nicotine lozenge) มีลักษณะคล้ายคลึงกับลูกอมทั่วไป ใช้อมครั้งละ 1 เม็ด (ใช้ไม่เกิน 20 เม็ดต่อวัน) นิโคตินจะค่อย ๆ ถูกละลายออกมาอย่างช้า ๆ ลูกอมเม็ดหนึ่งจะอยู่ได้ประมาณ 20-30 นาที (ห้ามกัดหรือเคี้ยวระหว่างอม)
    ลูกอมเลิกบุหรี่
  14. นิโคตินชนิดเม็ดอมใต้ลิ้น (Nicotine sublingual tablets) มีลักษณะเป็นเม็ด 1 เม็ด ประกอบไปด้วยนิโคติน 2 มิลลิกรัม วิธีใช้เพียงแค่วางเม็ดอมไว้บริเวณใต้ลิ้น (ห้ามกลืน ดูด หรือเคี้ยวเม็ดยา) จากนั้นนิโคตินจะค่อย ๆ ถูกปล่อยออกมาอย่างช้า ซึ่งจะช่วยบรรเทาหรือระงับอาการถอนนิโคติน ทำให้เกิดความทรมานน้อยกว่าการเลิกสูบบุหรี่ด้วยวิธีหักดิบ
    นิโคตินชนิดเม็ดอมใต้ลิ้น
  15. บุหรี่ไฟฟ้า (e-cigarette) สำหรับใครหักดิบไม่ไหว การใช้บุหรี่ไฟฟ้าก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งครับ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยบำบัดความต้องการนิโคตินในผู้ติดบุหรี่ได้ ช่วงที่สูบให้ค่อย ๆ ปรับลดนิโคตินลงมาเรื่อย ๆ จนสุดท้ายก็สูบแบบน้ำยาไม่มีนิโคติน แล้วก็จะเลิกสูบบุหรี่จริงได้ โดยไม่มีอาการโหยหา แต่บางคนใช้ไปใช้มากลับไปติดบุหรี่ไฟฟ้าแทนก็มีนะครับ ของแบบนี้จะเลิกหรือไม่ผมว่ามันขึ้นอยู่กับใจล้วน ๆ ครับ
    บุหรี่ไฟฟ้า
  16. ยาเลิกบุหรี่ เป็นการใช้กลุ่มยาที่ช่วยลดอาการถอนยา (Reduction of withdrawal) เช่น Bupropion, Nortriptyline, Clonidine, Fluoxitine, Doxepine, Buspirone, Lobeline เป็นต้น ซึ่งจะสามารถลดอาการอยากบุหรี่ได้ อย่างยาที่นิยม ก็ได้แก่ Quomem – โคเมม (1 กล่องมี 60 เม็ด ราคากล่องละประมาณ 1,650 บาท เฉลี่ยตกเม็ดละ 20-30 กว่าบาท) (ภาพ : pantip.com by อุปบารมี)
    ยาเลิกบุหรี่
  17. การรักษาด้วยวิธีวิธีการอื่น ๆ (แต่ยังพิสูจน์ผลไม่ได้ในการเลิกบุหรี่) เช่น การฝังเข็ม การสะกดจิต การใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้น การใช้เลเซอร์บำบัด เป็นต้น
  18. หาที่ปรึกษา นอกจากคุณจะขอคำปรึกษาและกำลังใจจากคนรอบข้างแล้ว คุณยังขอคำปรึกษากับคนรู้จักที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จมาแล้ว คลินิกเลิกบุหรี่ สถานที่เลิกบุหรี่ หรือศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (Thailand National Quitline) สายด่วน โทร.1600
    ศูนย์เลิกบุหรี่

หากใครที่เลิกสูบบุหรี่ได้แล้ว เชื่อเลยว่าหน้าตาของคุณจะดูสดใสขึ้น น้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้นเพราะลิ้นสามารถรับรสได้ดีกว่าตอนไม่สูบบุหรี่ ส่งผลให้มีบุคลิกดี ไม่มีกลิ่นตัวและคราบเหลืองตามฟัน ฯลฯ เห็นไหมล่ะว่าการเลิกบุหรี่ได้นั้นจะทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนไปอย่างไม่น่าเชื่อเลยจริง ๆ แต่ถ้าใครกำลังอยู่ในช่วงของการเลิกสูบบุหรี่ ขอให้ลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้ดู และผมเองก็ขอเป็นกำลังใจให้คุณอย่ายอมแพ้และสู้ต่อไป ให้คิดซะว่าทำเพื่อคนที่คุณรักและเพื่อตัวเองก็แล้วกันนะ

หมายเหตุ : การให้นิโคตินทดแทน (Nicotine Replacement Therapy – NRT) คุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อขอคำแนะนำ และห้ามใช้นิโคตินทดแทนในหญิงตั้งครรภ์, ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง หรือมีอาการปวดเค้นอกอย่างรุนแรง, ผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย และห้ามสูบบุหรี่หรือใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีนิโคตินเป็นส่วนประกอบ เพราะอาจทำให้เกิดพิษได้

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด