17 วิธีรักษาส้นเท้าแตก ! ส้นเท้าแตกทําไงดี ??

ส้นเท้าแตก

เท้าเป็นอวัยวะสำคัญที่ถูกเรียกใช้งานตลอดแทบทั้งวัน จึงทำให้คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงปัญหาการเกิดส้นเท้าแตกได้ยาก ซึ่งสาเหตุของการเกิดส้นเท้าแตกก็มาจากหลากหลายสาเหตุด้วยกัน ในระยะเริ่มแรกของอาการส้นเท้าแตกจะเริ่มจากการบวมแดงหรือการอักเสบ หากคุณปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ฝ่าเท้าเริ่มหนาขึ้นและแตกเป็นรอยเล็ก ๆ และหากปล่อยไว้นาน ๆ ไม่รีบหาทางแก้ไข หนังกำพร้าก็แตกเป็นร่องลึกบริเวณส้นเท้าได้

ในกรณีที่ส้นเท้าแตกติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปสะสมได้ นานวันเข้าถ้าเป็นมาก ๆ เข้าส้นเท้าที่แตกอาจมีเลือดไหลซึมออกมาและมีอาการเจ็บแสบจนแทบเดินแทบไม่ไหว และอาจถึงขั้นร้ายแรงจนเกิดเชื้อราได้ สำหรับใครที่กำลังประสบปัญหาเหล่านี้อยู่ อย่าปล่อยทิ้งไว้นานไปจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ และทางที่ดีคุณควรหาวิธีรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะดีกว่า และหมั่นบำรุงส้นเท้าอยู่เสมอ เพื่อความสวยงามของเท้าที่จะอยู่กับคุณตลอดไป

สาเหตุของส้นเท้าแตก

  1. ส้นเท้าแตก (Cracked heels) บ่อยครั้งมักพบได้กับคนอ้วนที่มีน้ำหนักตัวมาก เพราะน้ำหนักมีผลโดยตรง ทำให้ส้นเท้าต้องรับภาระหนักขึ้น เมื่อมีน้ำหนักมากขึ้นหนังเท้าก็จะเริ่มหนามากขึ้นเรื่อย ๆ และมีโอกาสแตกได้ง่าย
  2. คุณเป็นคนชอบเดินด้วยเท้าเปล่าใช่หรือไม่? ไม่ว่าจะเดินบนพื้นปูน พื้นดิน พื้นบ้าน หรือพื้นแข็ง ๆ โดยที่ไม่สวมรองเท้า ถ้าใช่นี่อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของเกิดการส้นเท้าแตกได้
    วิธีรักษาส้นเท้าแตก
  3. การสวมใส่รองเท้าเปิดส้น รองเท้าส้นสูง หรือรองเท้าที่ไม่มีคุณภาพ พื้นรองเท้าแข็งมากจนเกินไป เช่น รองเท้าแตะคีบ รองเท้าฟองน้ำ รองเท้าสาน ฯลฯ
    วิธีแก้ส้นเท้าแตก
  4. การสวมใส่รองเท้าขนาดที่ไม่พอดีกับเท้า เช่น ใส่คับหรือหลวมมากจนเกินไปเป็นเวลานาน ๆ จนทำให้เกิดบวมแดงหรืออักเสบ หากปล่อยให้นานไป ส้นเท้าจะเริ่มหนาแล้วก็แตกได้
  5. การยืนหรือเดินเป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายเป็นประจำ ส้นเท้าจะเกิดการกระแทกหลายครั้ง เช่น นักวิ่ง นักเต้นรำ เป็นต้น
  6. เกิดจากกรรมพันธุ์ เช่น เป็นคนผิวแห้ง ผิวหนังกำพร้าชั้นขี้ไคลของฝ่าเท้าจะหนา และสูญเสียน้ำจากผิวมากกว่าปกติ ทำให้ผิวไม่สามารถเก็บกักความชุ่มชื้นไว้ได้ และขาดความชุ่มชื้น
  1. อายุ อายุที่มากขึ้นก็ส่งผลให้ผิวขาดความชุ่มชื้นจนเป็นสาเหตุทำให้ส้นเท้าแตกได้
  2. โรคอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง ซึ่งมักจะมีอาการข้ออักเสบที่อื่นร่วมด้วย เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด, โรคเบาหวาน ในกรณีที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี เหล่านี้จะส่งผลให้ความยืดหยุ่นของเส้นเอ็นและพังผืดฝ่าเท้าลดลงจนเกิดอาการบาดเจ็บได้ง่าย
  3. แพ้ปูนซีเมนต์หรือแพ้การสวมใส่รองเท้าที่เป็นยาง ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่อาจทำให้เกิดส้นเท้าแตกได้ แต่สาเหตุจะนี้พบได้น้อย
  4. คุณอาจขาดความเอาใจใส่ส้นเท้าของคุณ” บางคนที่ส้นเท้าแตกและรักษาจนหายแล้ว แต่ก็กลับมาเป็นอีกไม่รู้จบ นั่นอาจเป็นเพราะคุณละเลยการดูแลส้นเท้าของคุณนั่นเอง

วิธีรักษาส้นเท้าแตก

  1. foot scrub (สครับแบบมีเม็ดบีท) โดยนำมาใช้ขัดนวดเท้าตอนอาบน้ำ ขัดถูเสร็จแล้วรู้สึกถึงความแตกต่างทันที ทำให้เท้านุ่มดูกระจ่างขึ้น ส่วนหนังด้าน ๆ จะหลุดลอกออกไปเอง (แต่ถ้าเท้าด้านมากควรใช้วิธีอื่นร่วมด้วย) แล้วตามด้วยครีมบำรุงหรือ foot balm ทุกครั้ง ส่วน foot scrub ก็มีให้เลือกใช้อยู่หลายยี่ห้อด้วยกัน เช่น YVES ROCHER, H2O Spa Pumice foot Scrub, Innisfree Cooling Foot Scrub ฯลฯ
    foot scrub
  2. ครีมทาส้นเท้าแตก หรือครีมมอยส์เจอไรเซอร์ชนิดเข้มข้น โดยให้ใช้ทาถูนวดบริเวณเท้าและส้นเท้าเป็นประจำหลังการขัดเท้าหรือก่อนนอนและสวมถุงเท้าทับหลังทาเสร็จทุกครั้ง ส่วนใหญ่แล้วครีมทาส้นเท้าแตกจะมีส่วนผสมของยูเรียที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและช่วยบรรเทาอาการส้นเท้าแตกให้ดีขึ้นได้ จากที่ผมเข้าไปดูรีวิวครีมประเภทนี้มาในเว็บพันทิป สมาชิกหลายคนก็ได้แนะนำครีมทาส้นเท้าแตกหลายยี่ห้ออยู่เหมือนกัน ที่เจ้าตัวใช้แล้วบอกว่าเห็นผล เช่น ครีมทาส้นเท้าของศิริราช หรือ ศิริราชซอฟต์แคร์ (ถูกและเห็นผลไว), ครีมทาส้นเท้าแตกยี่ห้อ Du’it, ครีมทาส้นเท้าแตกยี่ห้อ Nash, ครีมทาส้นเท้าแตกเอลจี้พลัส (Ellfy plus), ครีมทาส้นเท้าแตกนิจิดีส์ (nichidi), Scholl foot cream, พอลก้า (Polka) (ยี่ห้อนี้บางคนใช้ได้ผล แต่โดยส่วนตัวผมใช้เองแล้วมันไม่ช่วยอะไรเท่าไรนัก น่าจะเป็นเหมือนครีมบำรุงส้นเท้าเสียมากกว่าจะเป็นครีมแก้ส้นเท้าแตก) ฯลฯ บ้างก็ว่าใช้ครีมกวนอิม 111 ที่ใช้ทาหน้าขาวนี้แหละมาทาส้นเท้าก็เห็นว่าได้ผลเหมือนกัน ยังไงก็ไปลองเลือกซื้อเลือกหากันดูเอาเองนะครับ
    ครีมทาเท้าส้นแตก
  3. วาสลีน อีกวิธีที่ช่วยประหยัดงบ โดยการนำวาสลีนมาทาให้ทั่วบริเวณส้นเท้าที่แตกเป็นประจำ ซึ่งจะช่วยคืนความชุ่มชื้นให้กับผิว ทำให้อาการส้นเท้าแตกลดน้อยและจางลงไปได้
    วาสลีนทาส้นเท้าแตก
  4. น้ำมันมะกอกหรือน้ำมันงา ทั้งสองอย่างนี้ก็สามารถใช้รักษาส้นเท้าแตกได้เช่นกันหากทำเป็นประจำ เพียงแค่คุณนำน้ำมันมานวดทาบริเวณส้นเท้าประมาณ 15 นาที โดยไม่ต้องล้างออก
  5. หิดขัดเท้า, ที่ขัดส้นเท้า, ที่ขูดส้นเท้า (พร้อมใบมีด), ที่ขัดเท้าไฟฟ้า (ใช้ง่ายและมันดี) เป็นอีกหนึ่งไอเทมจำเป็นที่ควรมีไว้ติดบ้าน เลือกใช้ได้ตามสะดวกตามกำลังทรัพย์ วิธีนี้สามารถช่วยแก้ปัญหาปลายเหตุได้ดีครับ สำหรับคนเท้าด้านหรือส้นเท้าแตก เพราะถ้าดูแลส้นเท้าไม่ดีมันก็จะกลับมาเป็นอีก เพราะฉะนั้นจึงควรมีไว้ติดบ้านเป็นอุ่นใจครับ 555+
    หินขัดส้นเท้าที่ขัดส้นเท้า
    ที่ขูดส้นเท้า ที่ขัดเท้าไฟฟ้า
  6. แช่เท้าในน้ำอุ่น วิธีนี้ให้คุณแช่เท้าในน้ำอุ่นทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที เมื่อครบเวลาแล้วก็ให้ใช้หินสำหรับขัดเท้า นำมาขัดถูเบา ๆ บริเวณรอยแตก ซึ่งการขัดด้วยหินจะช่วยขจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วให้หลุดลอกออกไปและทำให้ผิวนุ่มนวลได้ (ห้ามใช้แปรงเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้รอยแตกกว้างมากขึ้นไปอีก) เมื่อเสร็จแล้วก็ให้ล้างเท้าให้สะอาด เช็ดเท้าให้แห้ง แล้วทาด้วยครีมบำรุง ครีมสำหรับทารักษาส้นเท้าแตก หรือครีมสูตรพิเศษที่เราผสมขึ้นเองมาทาก็ได้ โดยให้ทำแบบนี้สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เมื่อหายดีแล้วก็ให้ลดมาทำสัปดาห์ละครั้งก็ได้
    ส้นเท้าแตกทําไงดี
  7. แช่เท้าในน้ำอุ่นผสมน้ำส้มสายชูและน้ำยาบ้วนปาก โดยให้ใช้น้ำอุ่น น้ำส้มสายชู และน้ำยาบ้วนปากอย่างละเท่ากัน แล้วแช่เท้าทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที แต่บางคนก็แช่เท้าในน้ำส้มสายชูผสมกับน้ำยาบ้วนปากอย่างละครึ่งถ้วยก่อนประมาณ 20-30 นาที แล้วค่อยแช่เท้าในน้ำอุ่นทิ้งไว้อีกครึ่งชั่วโมง จากนั้นขัดเท้าด้วยที่ขัดส้นเท้า ล้างเท้าให้สะอาด เช็ดเท้าให้แห้ง แล้วทาด้วยครีมบำรุงสำหรับทาส้นเท้าแตก (สูตรนี้ผมลองแล้วครับ เวิร์กมากก ขอบอก)
    การรักษาส้นเท้าแตก
  8. แช่เท้าในน้ำสบู่ โดยแช่เท้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที ก็ช่วยทำให้ผิวที่แห้งแตกและหยาบกร้านนิ่มลงได้ จากนั้นให้ใช้วาสลีน 1 ช้อนชาผสมกับน้ำมะนาว 1 ลูก นำมาถูบริเวณส้นเท้าที่แตก หรือจะใช้สูตรอื่น ๆ แทนก็ได้ เช่น บดสตรอว์เบอร์รี่ เติมน้ำมันมะกอกกับเกลือ แล้วนำมานวดบริเวณส้นเท้า หรือใช้ผลส้มนำมาหั่นเป็น 2 แว่นผล แล้วใช้น้ำมันพืช 1 ถ้วย นำมาผสมกับเกลือทะเล 1 ถ้วย จุ่มส้มที่เตรียมได้ลงไป แล้วนำมาขัดบริเวณส้นเท้า เป็นต้น
    วิธีแก้ปัญหาส้นเท้าแตก
  9. แช่เท้าในน้ำมะนาวผสมกับน้ำสะอาด โดยให้แช่เท้าทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วล้างออก โดยให้ทำสัปดาห์ละครั้ง แล้วคุณจะสังเกตเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลง
  10. น้ำสมุนไพรขัดส้นเท้า (มีส่วนผสมของมะขามเปียก, ขมิ้นชัน, มะกรูด, แอลกอฮอล์ และอื่น ๆ) วิธีนี้ก็ง่ายดีครับ เห็นผลเหมือนกันภายใน 10 นาที เท้าคุณจะเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ในทันที (ก็เวอร์ไป) โดยก่อนนำมาใช้ให้ล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง ทาน้ำสมุนไพรบริเวณส้นเท้าที่แตกโดยใช้แปรงสีฟันเก่า ๆ นำมาจุ่มแล้วทาทิ้งไว้ประมาณ 2-3 นาที จากนั้นให้ใช้ที่ขัดส้นเท้าขัดถูบริเวณส้นเท้าที่แตก แล้วล้างเท้าให้สะอาดเป็นอันเสร็จ โดยให้ทำเพียงอาทิตย์ละครั้ง
    YouTube video
  11. เปลือกกล้วยหอมช่วยได้ ให้คุณใช้เปลือกกล้วยมาถูตรงบริเวณส้นเท้าที่แตก โดยให้ถูไปมาแล้วทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที และล้างออกด้วยน้ำสะอาด เสร็จแล้วก็เช็ดเท้าให้แห้งแล้วตามด้วยครีมบำรุงส้นเท้า วิธีนี้ควรทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง หรือทำทุกวันติดต่อกันประมาณ 4-5 วัน เพราะกรดของผลไม้และสารอาหารในเปลือกกล้วยจะช่วยลอกผิวและสมานส้นเท้าที่แตกของคุณได้ หรือจะบดกล้วยหอมสุกหรือหัวหอมใหญ่ให้ละเอียด แล้วนำมาทาบริเวณส้นเท้าที่แตก จากนั้นใช้ผ้าพันไว้ ทิ้งไว้สักพักแล้วล้างออก หรือจะทาด้วยน้ำมะนาวผสมดินสอพอง หรือถูด้วยสารส้มกับน้ำชุบสำลี หรือทายางจากต้นรักก็ได้
    วิธีดูแลส้นเท้าแตก
  12. ยางมะละกอก็ช่วยได้นะ ถ้าบ้านใครปลูกต้นมะละกออยู่ก็ให้หักก้านมะละกอมาสัก 2-3 ก้าน ตรงขั้วที่หักจะมียางมะละกอไหลออกมา ก็ให้เราใช้ยางนี้แหละมาทาบริเวณส้นเท้าที่แตกทุกคืนก่อนนอน รอยแตกบริเวณส้นเท้าก็จะค่อย ๆ จางหายไป
  13. ต้มนมแล้วเติมน้ำมะนาวกับกลีเซอรีน พอเย็นแล้วให้นำมาใช้ทาส้นเท้าก่อนนอนและสวมถุงเท้าทับ
  14. เพิ่มความอ่อนนุ่มให้กับเท้าด้วยกลีเซอรีนผสมน้ำกุหลาบ วิธีนี้จะเห็นผลชัดเจนเมื่อคุณทำเป็นประจำ
  15. แว็กซ์เท้าด้วยพาราฟิน โดยการนำพาราฟินมาผสมกับน้ำมันเมล็ดมัสตาร์ด แล้วนำมาทาบริเวณส้นเท้าที่มีรอยแตก ทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วล้างออกในตอนเช้า โดยให้ทำต่อเนื่องประมาณ 10-15 วัน แล้วจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
  16. ในระหว่างการรักษาส้นเท้าแตก คุณต้องนวดทาครีมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นอยู่เสมอ รวมถึงการสวมใส่รองเท้าปิดส้นจนกว่าส้นเท้าแตกจะหาย ถ้าอยู่ในบ้านก็ให้สวมใส่รองเท้าสำหรับเดินในบ้าน และเวลานอนก็ให้ใส่ถุงเท้าเพื่อคงความชุ่มชื้น หากทำเป็นประจำจะช่วยทำให้ส้นเท้าของคุณหายจากอาการแตกได้เร็วขึ้น และยังช่วยทำให้ผิวเท้าของคุณเนียนนุ่มมากขึ้นอีกด้วย
  17. สำหรับผู้ที่มีอาการหนักมากจนส้นเท้าแตกเป็นรอยเลือดและมีอาการเจ็บแสบ คุณควรรีบไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการรักษาให้ตรงจุดทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง โดยแพทย์อาจให้ยาลดการอักเสบและยาสำหรับทาเท้าทั่วไป

วิธีป้องกันส้นเท้าแตก

  1. อย่าปล่อยให้ผิวแห้ง เพราะจะมีแนวโน้มทำให้ส้นเท้าของคุณแตกได้ง่ายขึ้น หลังอาบน้ำคุณควรหาครีมมานวดทาเท้าและส้นเท้า โดยให้เนื้อครีมซึมซาบเข้าสู่ผิวจนผิวชุ่มชื้น จะเลือกใช้เป็นครีม วาสลีน หรือมอยส์เจอไรเซอร์อะไรก็ได้ หลังจากทาครีมเสร็จและรอให้แห้งแล้ว ก็ให้สวมถุงเท้าหนา ๆ ทับไว้ทันทีเพื่อช่วยเก็บกักความชุ่มชื้นไว้ หากทำเช่นนี้จะเห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน
  2. เมื่ออยู่บ้านคุณควรสวมใส่รองเท้าสำหรับเดินในบ้านทุกครั้ง (ในห้องน้ำก็ต้องใส่ด้วยละ เพราะบางครั้งพื้นห้องที่ไม่แห้งก็อาจเป็นน้ำผสมสบู่หรือน้ำยาซักผ้าอยู่บ้าง ซึ่งมันอาจจะกัดผิวได้) เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เท้าเย็นจนขาดความชุ่มชื้น และเป็นการช่วยลดการกระแทกของส้นเท้ากับพื้นที่มากจนเกินไป แต่ถ้าต้องเดินเท้าเปล่าบนพื้นเย็น ๆ คุณควรจะหาครีมมาทาบริเวณเท้าและส้นเท้าเสียก่อน
  3. หลีกเลี่ยงการเดินด้วยเท้าเปล่า โดยไม่สวมใส่รองเท้าเป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะบนพื้นปูนซีเมนต์ทั้งเย็นและร้อน เพราะจะทำให้ผิวหนังบริเวณส้นเท้าเริ่มขาดความยืดหยุ่น ผิวจะเริ่มหนาและแข็งขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ผิวหนังส่วนนี้แห้งและแตก เชื่อไหมว่าพื้นปูนร้อน ๆ แค่เดินผ่านแป๊บเดียวก็อาจทำให้ส้นเท้าของคุณแตกได้ง่าย ๆ
  4. หลีกเลี่ยงการสวมใส่รองเท้าเปิดส้น เลือกสวมใส่รองเท้าให้มีขนาดพอดีกับเท้า เลือกรองเท้าชนิดที่มีบุพื้นรองเท้านุ่ม หรือไม่แข็งมากจนเกินไป ใส่แล้วรู้สึกสบาย ไม่รู้สึกคับอึดอัดก็เป็นอันใช้ได้
  5. สวมใส่ถุงเท้าก่อนสวมรองเท้าถุงครั้ง เพื่อช่วยเพิ่มความนุ่มสบายให้กับเท้าของคุณ และสวมใส่ถุงเท้าเวลานอนเป็นประจำ เพื่อช่วยลดความสูญเสียความชุ่มชื้นในผิวหนัง ป้องกันการแห้งแตกของฝ่าเท้า
  6. หลีกเลี่ยงการเดิน การวิ่ง การยืนเป็นเวลานาน ๆ หรือยืนบนพื้นที่แข็งกระด้าง เช่น พื้นปูนซีเมนต์ โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก เพราะจะทำให้ส้นเท้าต้องรับภาระหนัก จนทำให้ส้นเท้าแตก
  7. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็นมาก เช่น ที่ทำงานในห้องแอร์ เพราะจะทำให้ผิวคุณแห้งได้ง่าย แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ให้ทาครีมที่เท้าและส้นเท้ากันไว้ด้วย
  8. หลีกเลี่ยงการปล่อยให้เท้าสัมผัสกับน้ำบ่อย ๆ หรือแช่เท้าในน้ำนาน ๆ เพราะจะทำให้เท้าสูญเสียความชุ่มชื้น
  9. สวยจากภายใน เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ส้นเท้าแตกมาจากการขาดความชุ่มชื้นของผิวหนัง การดื่มน้ำเป็นประจำในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นขึ้น และช่วยป้องกันไม่ให้ส้นเท้าของคุณแตกได้
  10. สำหรับคนอ้วนหรือผู้ที่มีน้ำหนักมาก คุณควรหาวิธีการลดน้ำหนักและความอ้วน ซึ่งการลดน้ำหนักนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาส้นเท้าแตกได้แล้ว มันยังส่งผลทำให้รูปร่างของคุณดูดีขึ้น และช่วยลดอัตราการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ อันเกิดจากความอ้วนได้อีกด้วย

สรุป ผมมองว่าการแก้ปัญหามันสำคัญก็จริงนะครับ แต่การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหามันสำคัญกว่า การรักษาส้นเท้าแตกโดยรวมมันก็ไม่มีอะไรมากครับ คุณไปเลือกดัดแปลงใช้กันได้เลย อย่างที่กล่าวมาอะไรที่ทำแล้วมันส่งผลกระทบต่อส้นเท้าของคุณก็พยายามหลีกเลี่ยงไว้ ส่วนการรักษาจะแช่เท้าในน้ำอุ่นสูตรไหนก็ได้ พอแช่เท้าเสร็จแล้วก็ให้ขัดเท้าด้วยอุปกรณ์เท่าที่มี (แต่อย่าใช้แปรง) ค่อย ๆ ขัดออกให้เกลี้ยง ล้างเท้าให้สะอาด เช็ดเท้าให้แห้ง ตามด้วยการทาครีมบำรุงและสวมถุงเท้าทุกครั้ง อย่างสูตรที่ผมใช้แล้วเห็นผลทันทีหลังทำเสร็จ ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง คือ สูตรน้ำอุ่นผสมน้ำส้มสายชูและน้ำยาบ้วนปาก ส่วนสูตรอื่น ๆ ก็ได้ผลเช่นกันครับ ยังไงก็ไปลองปรับใช้กันดูนะครับ 🙂

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด