20 สรรพคุณและประโยชน์ของลูกไหน (ลูกพรุน, ลูกพลัม) !

20 สรรพคุณและประโยชน์ของลูกไหน (ลูกพรุน, ลูกพลัม) !

พลัม

ไหน หรือ พลัม ภาษาอังกฤษ Plum

พลัม ชื่อวิทยาศาสตร์ Prunus domestica L. จัดอยู่ในวงศ์ ROSACEAE ในตระกูลพรุน เช่นเดียวกับ ลูกท้อ บ๊วย เชอร์รี่ อัลมอนด์ และนางพญาเสือโคร่ง และมีถิ่นกำเนิดจากบริเวณคอเคซัสในเอเชียตะวันตก[3]

โดยทั่วไปแล้วเราจะเรียกว่าผลไม้ชนิดนี้ว่า “พลัม” หรือ “ลูกพลัม” (ทับศัพท์) แต่สำหรับคนจะเรียกว่า “ไหน” หรือ “ลูกไหน” ซึ่งเป็นชื่อไทย ส่วนลูกพลัมแห้งเราจะเรียกว่า “พรุน” หรือ “ลูกพรุน” ซึ่งอาจเรียกตามชื่อสกุล (Prunus) หรือตามชื่อวิทยาศาสตร์ (Prunus domestica L.)[3]

พลัมมีอยู่ด้วยกันหลากหลายสายพันธุ์ โดยมี 3 ชนิดที่สำคัญได้แก่ Prunus domestica, Prunus salicina และ Prunus americana พลัมหลาย ๆ ชนิดจะผสมตัวเองได้ไม่ดี จำเป็นต้องมีการปลูกร่วมกันหลาย ๆ สายพันธุ์เพื่อช่วยในการผสมเกสร เพราะจะทำให้เกิดการติดผลที่ดีขึ้น สำหรับสายพันธุ์ที่ปลูกได้ดีในประเทศก็มีอยู่หลายสายพันธุ์เช่นกัน โดยเฉพาะพลัมสายพันธุ์ญี่ปุ่น[1],[3] เช่น

  • พันธุ์กัลฟ์รูบี้ ผลเป็นรูปหัวใจมีขนาดใหญ่ เมื่อสุกเต็มที่จะเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีเกือบดำ เนื้อในผลมีสีเหลือง รสหวานฉ่ำ[1]
  • พันธุ์กัลฟ์โกล สายพันธุ์จากฟลอริดา ผลมีขนาดใหญ่เท่ากับพันธุ์กัลฟ์โกล ผลเมื่อแก่จัดจะมีสีเหลืองและค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีแดงอมเหลืองเมื่อสุก เนื้อในผลมีสีเหลือง รสชาติดี มีกลิ่นหอม[1]
  • พันธุ์แดงบ้านหลวง หรือพันธุ์บ้านหลวงแดง สายพันธุ์จากไต้หวัน ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม ที่ผลมีร่องลึกเห็นได้ชัด ผิวของผลมีสีแดง และมีจุดประอยู่บริเวณผิวผล ผลอ่อนเนื้อแข็งมีรสเปรี้ยว ส่วนผลสุกเนื้อจะนิ่มและมีรสหวาน โดยสายพันธุ์นี้จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีเนื้อสีแดงและชนิดที่มีเนื้อสีเหลือง[1]
  • พันธุ์เหลืองอินเดีย สายพันธุ์จากอินเดีย ออกดอกติดผลดก ผลแก่เป็นสีเหลือง เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง เนื้อในผลมีสีเหลือง พันธุ์นี้ไม่นิยมนำมารับประทานสด แต่จะนิยมนำไปแปรรูปในลักษณะแช่อิ่มหรือดองมากกว่า[1]
  • พันธุ์แดงอินเดีย สายพันธุ์นี้นำเข้าจากอินเดียเช่นกัน ผลจะมีขนาดเล็ก มักนิยมปลูกไว้เพื่อใช้เป็นคู่ผสม[1]
  • พันธุ์จูหลี่ สายพันธุ์จากไต้หวัน ลักษณะของผลคล้ายกับสายพันธุ์แดงบ้านหลวง แต่ผลจะมีขนาดเล็กกว่า นิยมปลูกไว้เพื่อใช้เป็นคู่ผสม ใช้ผลแปรรูปเป็นพลัม และนำมาแช่อิ่มได้ดี[1]

ลักษณะของต้นพลัม

  • ต้นพลัม พลัมเป็นไม้ผลยืนต้น มีลักษณะทรงต้นค่อนข้างเล็กเช่นเดียวกับต้นพีช การปลูกในประเทศไทยต้องปลูกในที่ที่มีความหนาวเย็น และพื้นที่ที่ปลูกจะต้องมีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป แต่สำหรับบางสายพันธุ์อาจปลูกได้ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป[2]

ต้นพลัม

  • ใบพลัม ลักษณะของใบเป็นรูปหอก ปลายและโคนใบแหลม แผ่นใบสีเขียว ขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อยแบบถี่ ๆ

ใบพลัม

  • ดอกพลัม ออกดอกจำนวนมาก ดอกมีขนาดเล็กและมีสีขาว ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ปกติแล้วจะผสมตัวเองไม่ได้ แต่จะต้องผสมข้ามพันธุ์และเฉพาะเจาะจงพันธุ์เท่านั้น และจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากได้รับความหนาวเพียงพอ[2]

ดอกต้นพลัม

ดอกพลัม

  • ลูกพลัม ผลเป็นแบบ Drupe จึงจัดเป็นพวก Stone Fruit คือมีส่วนของ Endocarp ที่แข็งเหมือนกับลูกพืชและบ๊วย และผลจะมีความหลากหลายทั้งในเรื่องของขนาด สีของผล และเนื้อของผล ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่เพาะปลูก บางพันธุ์ผลอาจมีร่องยาวด้านข้าง เมื่อผลโตเต็มที่จะมีสีนวลสีขาวปกคลุมอยู่ ซึ่งเราเรียกว่าสารเคลือบ หรือ “Wax bloom” เนื้อมีรสหวานหรือหวานอมเปรี้ยว ด้านในผลมีเมล็ดแข็งอยู่ 1 เมล็ด[2]

ไหน

พลัม

ลูกไหน

ลูกไหนแดง

  • เมล็ดพลัม เมล็ดเป็นเมล็ดเดี่ยวและแข็ง มีสีน้ำตาล

เมล็ดพลัม

พลัมสามารถแบ่งตามการใช้ประโยชน์ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ พลัมชนิดที่ใช้รับประทานแบบสด ๆ (ลูกพรุนสด) เหมือนผลไม้ทั่วไป ได้แก่พันธุ์กัลฟ์โกล พันธุ์กัลฟ์รูบี้ พันธุ์เหลืองบ้านหลวง และพันธุ์แดงบ้านหลวง และอีกชนิดคือพลัมสำหรับแปรรูป เช่น การนำมาทำเป็นแยมพลัม น้ำลูกพลัม นำมาดอง หรือนำมาแช่อิ่ม ได้แก่ พันธุ์จูหลี่[2]

ประโยชน์ของลูกพลัม

  1. ประโยชน์ลูกพรุน ช่วยในการชะลอวัย ชะลอความแก่ ป้องกันโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ เพราะพรุนเป็นผลไม้ที่มีไขมันต่ำและมีสารอาหารสำคัญสูงอยู่หลายชนิด เช่น วิตามิน เกลือแร่ คาร์โบไฮเดรต โพแทสเซียม[3],[4] ซึ่งกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาได้ระบุว่าผลไม้ที่ช่วยชะลอความแก่ได้ดีที่สุดคือ “ลูกพรุนแห้ง” หรือ “ลูกพรุนอบแห้ง” โดยสูงกว่าลูกเกด ส้ม แอปเปิล ลูกแพร์ เกรปฟรุต บลูเบอร์รี ฯลฯ[4]
  2. ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เนื่องจากลูกพรุนมีสารคริปโตคลอโรจีนิกในปริมาณมาก ซึ่งสารชนิดนี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดฤทธิ์ของอนุมูลอิสระ ซึ่งงานวิจัยของ Tufts University in Boston ระบุให้พรุนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงเป็นอันดับ 1 โดยวัดจากค่า ORAC ของพรุน มี 5,770 หน่วยต่อกรัม และยังสูงเป็น 2 เท่าของผลไม้ที่มีค่า ORAC อันดับต้น ๆ[3]
  3. ช่วยป้องกันและต่อต้านมะเร็ง ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง ป้องกันดีเอ็นเอถูกทำลาย ช่วยลดการอักเสบและช่วยป้องกันมะเร็ง ด้วยการยับยั้งการกลายพันธุ์และสารก่อมะเร็ง เพราะพรุนมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่หลายชนิดและมีอยู่ในปริมาณมาก มีธาตุเหล็กและวิตามินเอ และมีปริมาณของสารโพลีฟีนอลสูงถึง 282-922 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ซึ่งสารโพลีฟีนอลที่พบมากในลูกพรุนคือ กรดไฮดรอกซีซินนามิก ที่อยู่ในรูปของกรดนีโอคลอโรเจนิกและกรดคลอโรจีนิก นอกจากนี้ยังมีโปรแอนโธไซยานิดิน และฟลาโวนอยด์พิกเมนต์ ดังนั้นการรับประทานผลิตภัณฑ์จากลูกพรุนเป็นประจำจะช่วยป้องกันมะเร็งได้เป็นอย่างดี[3]
  4. ช่วยส่งเสริมสุขภาพหัวใจ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ช่วยรักษาระดับการเต้นของหัวใจ ช่วยป้องกันไขมันไม่ให้ถูกทำลาย เนื่องจากเซลล์เมมเบรน เซลล์สมอง และโมเลกุลของคอเลสเตอรอลล้วนประกอบไปด้วยไขมันเป็นส่วนใหญ่ ที่ง่ายต่อการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ[3]
  5. ลูกพรุนอุดมไปด้วยธาตุเหล็กที่มีความสำคัญในสร้างเม็ดเลือด ช่วยบำรุงเลือด ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง แก้อาการอ่อนเพลีย สมาธิสั้น การเรียนรู้ลดลง และช่วยในการดูดซึมของธาตุต่าง ๆ ในร่างกาย และยังช่วยในเรื่องของภาวะที่สตรีต้องสูญเสียเลือดไปกับประจำเดือนด้วย[3],[4]
  1. ลูกพรุนมีวิตามินอีที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาของออกซิเจนที่ไม่สมบูรณ์ในร่างกาย ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ยืดอายุของเม็ดเลือดแดง[5]
  2. ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด (LDL) และช่วยลดระดับความดันโลหิต ให้ประโยชน์ต่อหลอดเลือดหัวใจ จึงช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้เป็นอย่างดี[3],[5]
  3. พรุนมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำมาก จึงเป็นประโยชน์ต่อผู้เป็นเบาหวาน และยังมีงานวิจัยที่ระบุว่าพรุนสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[3] แม้ว่าลูกพรุนจะมีความหวาน โดยประกอบไปด้วยน้ำตาลหลายชนิด เช่น ฟรุกโตส ซอร์บิทอล แต่ก็ไม่ทำให้ระดับของน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างเร็ว[5]
  4. การรับประทานลูกพรุนเป็นประจำในปริมาณมากจะช่วยในการลดน้ำหนักได้ เพราะลูกพรุนมีไขมันต่ำ มีแคลอรีน้อย และยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ[3] อีกทั้งยังมีเส้นใยอาหารจำนวนมาก ทั้งชนิดที่ละลายน้ำได้และชนิดที่ละลายน้ำไม่ได้ ซึ่งมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้[5]
  5. ผลไม้ที่มีสีแดง-ม่วง เช่น แอปเปิล องุ่น สตรอว์เบอร์รี แครนเบอร์รี แบล็กเบอร์รี รวมไปถึงลูกพรุน จะเข้าไปช่วยบำรุงการทำงานของเซลล์สมอง หากใครอยากฉลาดก็ให้รับประทานผลไม้ที่มีสีนี้กันเยอะ ๆ[3]
  6. ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ เพราะลูกพรุนมีวิตามินอีและแร่ธาตุที่ช่วยลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อยามเครียด[4]
  7. พรุนเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม การรับประทานลูกพรุนจะช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้[3]
  8. ช่วยบำรุงสายตา ช่วยในการมองเห็น เนื่องจากลูกพรุนมีวิตามินที่ช่วยบำรุงตาในส่วนของจอรับภาพ และยังมีวิตามินบีที่ช่วยบำรุงเส้นประสาทที่เลี้ยงลูกตา[4],[5]
  9. ช่วยเสริมสร้างและบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง[2],[3] ช่วยทำให้กระดูกผุช้าลง โดยพบว่าสตรีที่รับประทานลูกพรุนแห้งวันละ 1 ขีดต่อติดกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่ามีการสร้างมวลมากขึ้นอย่างชัดเจน[4]
  10. ช่วยป้องกันอาการท้องผูก เพราะพรุนมีเส้นใยอาหารสูง จึงช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารและมีฤทธิ์ในการระบายท้อง จึงช่วยบำบัดอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี และยังช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้อีกด้วย[3],[4]
  11. ลูกพรุนอุดมไปด้วยโพแทสเซียม วิตามินอี ธาตุเหล็ก และเส้นใยอาหาร ที่ช่วยทำให้ผิวพรรณมีเลือดฝาด ผิวพรรณดูสดใส ทำให้ผิวพรรณดูเนียนนุ่มชุ่มชื้น ไม่เหี่ยวย่นก่อนวัยอันควร จึงช่วยคงความเป็นหนุ่มเป็นสาว เพราะเมื่อคนเราพ้นช่วงสดใสของชีวิต คือช่วงอายุประมาณ 25 ปี ร่างกายจะเสื่อมโทรมลง ใบหน้าที่เคยเอิบอิ่มก็จะเริ่มหมองคล้ำ ผิวพรรณก็เริ่มซีดโทรม ไขมันก็เริ่มเข้าไปสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ธาตุเหล็กที่มีมากในลูกพรุนจะช่วยในเรื่องนี้ได้[3],[5]
  12. ลูกพรุนมีวิตามินบี 2 ที่นอกจากจะช่วยเสริมสร้างเม็ดเลือดแดงแล้ว ยังช่วยในกระบวนการสร้างและช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผิวหนัง เล็บ และผม[5]
  13. สำหรับผู้ที่เป็นตะคริวบ่อย ๆ ควรรับประทานอาหารหรือผลไม้ที่มีแคลเซียมสูง จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยหนึ่งในผลไม้ที่อุดมไปด้วยแคลเซียมนั้นก็คือ “ลูกพรุน[3]
  14. ช่วยลดอาการปวดประจำเดือนของสตรี เพราะลูกพรุนอุดมไปด้วยแมกนีเซียมที่เป็นตัวช่วยควบคุมฮอร์โมนให้เป็นปกติและช่วยบรรเทาอาการปวด แต่ต้องรับประทานก่อนมีอาการปวดประจำเดือนประมาณ 1-2 วัน[4]
  15. ช่วยลดอาการอักเสบและอาการเจ็บปวดต่าง ๆ[4]

คุณค่าทางโภชนาการของลูกพลัม ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 46 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 11.42 กรัม
  • น้ำตาล 9.92 กรัม
  • เส้นใย 1.4 กรัม
  • ไขมัน 0.28 กรัม
  • โปรตีน 0.7 กรัมลูกพลัม
  • วิตามินเอ 17 ไมโครกรัม 2%
  • เบตาแคโรทีน 190 ไมโครกรัม 2%
  • ลูทีนและซีแซนทีน 73 ไมโครกรัม
  • วิตามินบี 1 0.028 มิลลิกรัม 2%
  • วิตามินบี 2 0.026 มิลลิกรัม 2%
  • วิตามินบี 3 0.417 มิลลิกรัม 3%
  • วิตามินบี 5 0.135 มิลลิกรัม 3%
  • วิตามินบี 6 0.029 มิลลิกรัม 2%
  • วิตามินบี 9 5 ไมโครกรัม 1%
  • วิตามินซี 9.5 มิลลิกรัม 11%
  • วิตามินอี 0.26 มิลลิกรัม 2%
  • วิตามินเค 6.4 ไมโครกรัม 6%
  • ธาตุแคลเซียม 6 มิลลิกรัม 1%
  • ธาตุเหล็ก 0.17 มิลลิกรัม 1%
  • ธาตุแมกนีเซียม 7 มิลลิกรัม 2%
  • ธาตุแมงกานีส 0.052 มิลลิกรัม 2%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 16 มิลลิกรัม 2%
  • ธาตุโพแทสเซียม 157 มิลลิกรัม 3%
  • ธาตุโซเดียม 0 มิลลิกรัม 0%
  • ธาตุสังกะสี 0.1 มิลลิกรัม 1%

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

คุณค่าทางโภชนาการของลูกพรุนอบแห้ง ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 240 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 63.88 กรัม
  • น้ำ 30.92 กรัมลูกพรุน
  • น้ำตาล 38.13 กรัม
  • เส้นใย 7.1 กรัม
  • ไขมัน 0.38 กรัม
  • โปรตีน 2.18 กรัม
  • วิตามินเอ 39 ไมโครกรัม 5%
  • เบตาแคโรทีน 394 ไมโครกรัม 4%
  • ลูทีนและซีแซนทีน 148 ไมโครกรัม
  • วิตามินบี 1 0.051 มิลลิกรัม 4%
  • วิตามินบี 2 0.186 มิลลิกรัม 16%
  • วิตามินบี 3 1.882 มิลลิกรัม 13%
  • วิตามินบี 5 0.422 มิลลิกรัม 8%
  • วิตามินบี 6 0.205 มิลลิกรัม 16%
  • วิตามินบี 9 4 ไมโครกรัม 1%
  • โคลีน 10.1 มิลลิกรัม 2%น้ำลูกพรุน
  • วิตามินซี 0.6 มิลลิกรัม 1%
  • วิตามินอี 0.43 มิลลิกรัม 3%
  • วิตามินเค 59.5 ไมโครกรัม 57%
  • ธาตุแคลเซียม 43 มิลลิกรัม 4%
  • ธาตุเหล็ก 0.93 มิลลิกรัม 7%
  • ธาตุแมกนีเซียม 41 มิลลิกรัม 12%
  • ธาตุแมงกานีส 0.299 มิลลิกรัม 14%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 69 มิลลิกรัม 10%
  • ธาตุโพแทสเซียม 732 มิลลิกรัม 16%
  • ธาตุโซเดียม 2 มิลลิกรัม 0%
  • ธาตุสังกะสี 0.44 มิลลิกรัม 5%
  • ธาตุฟลูออไรด์ 4 ไมโครกรัม

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

ข้อควรระวังในการรับประทานลูกพลัม

  • สำหรับคนทั่วไป ลูกพรุนหรือน้ำลูกพรุนมีฤทธิ์เป็นยาระบาย การรับประทานครั้งละมาก ๆ อาจทำให้ท้องเสียได้ ดังนั้นควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม คือครั้งละประมาณ 15-30 cc.[5]
  • สำหรับหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานลูกพรุนในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะลูกพรุนเป็นผลไม้ที่ช่วยให้ขับถ่ายง่าย อาจทำให้ถ่ายเยอะและส่งผลให้มดลูกบีบตัว กระตุ้นให้คลอดลูกเร็วกว่ากำหนด[3]
  • น้ำลูกพรุนเข้มข้นจะค่อนข้างอันตรายสำหรับเด็กและไม่แนะนำให้เด็กรับประทาน เนื่องจากมีแร่ธาตุสูงจนเกินไปสำหรับเด็ก และจะไปกระตุ้นระบบขับถ่าย เพราะขนาดผู้ใหญ่ที่กินแล้วก็จะมีฤทธิ์คล้ายกับยาถ่ายเลยทีเดียว แต่ถ้าลูกน้อยท้องผูกจริง ๆ ก็ให้ใช้ น้ำลูกพรุน 1 ส่วน ผสมกับน้ำต้มสุก 1 ส่วน และให้ลูกกินประมาณ 1 ช้อนชา (สำหรับเด็กที่มีอายุ 5 เดือนขึ้นไป) และขอย้ำว่าต้องใช้ในกรณีที่มีอาการท้องผูกจริง ๆ เท่านั้น[3]
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคไต ผู้ที่ต้องล้างไตอยู่เป็นประจำ รวมไปถึงผู้ที่มีอาการถ่ายเหลวหรือมีอาการของลำไส้ที่ไม่ปกติ ห้ามรับประทานลูกพรุนเป็นอันขาด เพราะอาจจะทำให้อาการที่เป็นอยู่รุนแรงมากขึ้น เพราะลูกพรุนมีโพแทสเซียมสูง ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตไม่สามารถขับโพแทสเซียมออกจากร่างกายได้แบบที่ควรจะเป็น จึงทำให้โพแทสเซียมคั่งในเลือด ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนล้า หัวใจเต้นอย่างผิดปกติ และอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. ธนาคารพันธุกรรมพืช 50 ปี สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  อ้างอิงใน: สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร (โอฬาร ตัณฑวิรุฬห์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rdi.ku.ac.th.  [6 พ.ย. 2013].
  2. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  อ้างอิงใน: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [6 พ.ย. 2013].
  3. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th.  [6 พ.ย. 2013].
  4. บทความเผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียง โดยสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา.  “หลากประโยชน์ของลูกพรุน“.  โดยนายสุดสายชล หอมทองภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.uniserv.buu.ac.th.  [6 พ.ย. 2013].
  5. วิชาการดอตคอม.  [ออนไลน์].  “น้ำลูกพรุนมากคุณประโยชน์“.  เข้าถึงได้จาก: www.vcharkarn.com.  [6 พ.ย. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by camillo.kokkodrillo, steffi’s, Sami Anttila, DarrenU, diggleken, Valter Jacinto | Portugal, Giancarlo Sibilio, celiorod, naturgucker.de, nutrinfo)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด