ลีลาวดี
ลีลาวดี หรือ ลั่นทม เป็นไม้ดอกชนิดยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง เม็กซิโก แคริบเบียน และอเมริกาใต้ ในบ้านเรามีความเชื่อมาแต่โบราณว่าไม่ควรปลูกต้นลั่นทมไว้ในบริเวณบ้าน เนื่องจากมีชื่ออัปมงคล เพราะไปพ้องกับคำว่า “ระทม” ซึ่งแปลว่า ความทุกข์ใจ เศร้าโศกนั่นเอง แต่ได้มีการเปลี่ยนมาเรียกชื่อใหม่แทนซึ่งก็คือ “ลีลาวดี” โดยเป็นชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งมีความหมายว่า “ดอกไม้ที่มีท่วงท่าสวยงามและอ่อนช้อย” และในปัจจุบันนี้ต้นลีลาวดีได้รับความนิยมและปลูกกันอย่างแพร่หลายไม่ว่าจะในบ้านหรือนอกบ้านก็ตาม
ลีลาวดี มีชื่อสามัญว่า Plumeria, Frangipani, Temple tree (ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plumeria spp.) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยระย่อม (RAUVOLFIOIDEAE) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จำปา, จงป่า (กาญจนบุรี), จำปาลาว (ภาคเหนือ), จำปาขาว (ภาคอีสาน), จำปาขอม (ภาคใต้), ไม้จีน (ยะลา), มอยอ (นราธิวาส), จำไป (เขมร) เป็นต้น โดยเป็นต้นไม้ที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายเพราะออกดอกตลอดปี เลี้ยงดูง่าย และสีของดอกลีลาวดีนั้นยังมีสีสันสดใส สวยงาม ไม่ว่าจะเป็น ขาว เหลืองอ่อน ชมพู แดง ฯลฯ ซึ่งบางดอกอาจจะมีมากกว่า 1 สีก็ได้ และดอกลั่นทมยังเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศลาวอีกด้วยครับ
ประวัติดอกลีลาวดี เดิมทีแล้วต้นลั่นทมเป็นไม้ที่นำเข้ามาจากเขมร ซึ่งมีชื่อเดิมว่า “ต้นขอม” เล่ากันว่ามีการนำเข้ามาปลูกในไทย เมื่อครั้งไปตีนครธมจนได้รับชัยชนะ แล้วได้มีการนำต้นไม้ชนิดนี้เข้ามาปลูก และเรียกชื่อเป็นที่ระลึกว่า “ลั่นธม” โดยคำว่าลั่นนั้นแปลว่า ตีฆ้อง ลั่นฆ้อง ลั่นกลอง ส่วนคำว่าธมนั้นมาจากคำว่า “นครธม” จึงเป็นที่มาของชื่อลั่นธม และเพี้ยนกลายมาเป็น “ลั่นทม” ในปัจจุบัน โดยมีผู้รู้ด้านภาษาไทยได้กล่าวถึงความหมายของลั่นทมไว้ โดยมีความหมายว่า “การละแล้วซึ่งความทุกข์ความโศกเศร้าและมีความสุข” เพราะคำว่า ลั่น นั้นมีหมายว่า แตกหัก ละทิ้ง ส่วนคำว่า ทม ก็หมายถึงความทุกข์โศก
แต่เนื่องจากทุกส่วนของต้นลีลาวดีจะมียางสีขาวขุ่นซึ่งเป็นพิษ โดยสารที่เป็นพิษคือกรด Plumeric acid ถ้าหากสัมผัสยางจะทำให้เกิดผื่นคันตามผิวหนัง ผิวหนังอักเสบบวมแดง และต้นลีลาวดีนี้กิ่งยังเปราะและหักง่ายอีกด้วย จึงไม่เหมาะที่จะปลูกไว้ในบ้านที่มีเด็กซุกซนอยู่เท่าไหร่นัก
ประโยชน์ของต้นลีลาวดี
- ดอกลีลาวดีใช้ผสมกับพลู ทำเป็นยาแก้ไข้และไข้มาลาเรีย (ดอกลีลาวดี, เปลือกต้น)
- ช่วยรักษาไข้หวัด (ราก)
- ใช้ปรุงเป็นยาแก้ไอ (เนื้อไม้)
- ช่วยถ่ายเสมหะและโลหิต (ยางและแก่น)
- ช่วยขับเหงื่อ แก้ร้อนใน (ราก)
- ช่วยรักษาโรคหืดหอบ ด้วยการใช้ใบลีลาวดีแห้งนำมาชงกับน้ำร้อนดื่ม (ใบแห้ง)
- ยางจากต้นลีลาวดีใช้ผสมกับไม้จันทร์และการบูรทำเป็นยาแก้อาการปวดฟัน (ยางจากต้น)
- มีการนำมาใช้ปรุงเป็นยารักษาโรคลำไส้พิการของม้า (ต้น)
- ใช้ปรุงเป็นยาถ่าย (เนื้อไม้, ยางจากต้น, เปลือกราก, เปลือกต้น)
- ช่วยขับลมในกระเพาะ (เปลือกราก)
- ใช้เปลือกต้นผสมกับน้ำมันมะพร้าว มันเนย และข้าว ทำเป็นยาแก้ท้องเดิน(เปลือกต้น)
- ใช้เปลือกต้นผสมกับน้ำมันมะพร้าว มันเนย และข้าว ทำเป็นยาขับปัสสาวะ (เปลือกต้น)
- ฝักนำมาฝนเพื่อนำมาใช้ทาแก้ริดสีดวงทวารได้ (ฝัก)
- ช่วยขับระดู (เปลือกต้น)
- ช่วยในการขับพยาธิ (เนื้อไม้)
- ใช้เปลือกรากปรุงเป็นยารักษาโรคหนองใน (เปลือกราก)
- ช่วยรักษาโรคโกโนเรียหรือโรคหนองในแท้ (Gonorrhea) (เปลือกต้น)
- ช่วยรักษากามโรค (ยางและแก่น)
- ช่วยรักษาโรคไขข้ออักเสบ (ยากจากต้น,เปลือกราก)
- ใบสดใช้ชงกับน้ำร้อนรักษาหิด (ใบสด)
- ใบสดลีลาวดีลนไฟประคบร้อนช่วยแก้อาการปวดบวมได้ (ใบสด)
- ใช้ปรุงเป็นยาถ่ายพิษทั้งปวง (ยางและแก่น)
- ยางจากต้นลีลาวดีใช้ผสมกับไม้จันทร์และการบูรทำเป็นยาแก้คัน (ยางจากต้น)
- ดอกใช้ทำธูป (ดอก)
- กลิ่นของดอกลีลาวดีช่วยทำให้นอนหลับสบาย
- มีความเชื่อว่ากลิ่นของดอกลีลาวดีจะช่วยลดความรู้สึกทางเพศ เหมาะสำหรับนักบวชและผู้ฝึกตน ที่ไม่ต้องการให้กามารมณ์มากวนใจ
- ต้นลีลาวดีนิยมใช้ในการจัดสวนเพื่อตกแต่งภูมิทัศน์เป็นอย่างมาก โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกกันก็คือ “พันธุ์ขาวพวง” หรือพันธุ์ดั้งเดิมนั่นเอง
แหล่งอ้างอิง : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)