ลิ้นมังกร
ลิ้นมังกร ชื่อสามัญ Dragon’s Tongue[1]
ลิ้นมังกร ชื่อวิทยาศาสตร์ Sauropus spatulifolius Beille (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sauropus changianus S.Y.Hu)[1] จัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)
สมุนไพรลิ้นมังกร ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกว่า เหล่งหลี่เฮียะ เหล่งจิเฮี้ย (จีน-แต้จิ๋ว), หลงลี่เยียะ หลงซื่อเยียะ (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]
หมายเหตุ : นอกจากนี้ยังมีลิ้นมังกรอีกชนิด ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sauropus rostratus Miq. (เข้าใจว่ามาจากประเทศจีน) ตามตำราสมุนไพรระบุว่ามีสรรพคุณใกล้เคียงกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้[2] และลิ้นมังกรที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นลิ้นมังกร (บ้างเรียกว่า ลิ้นแม่ยาย หรือลิ้นมังกรทอง) ชนิดที่มีชื่อสามัญว่า Mother-in Law’s Tongue, Snake plants ซึ่งชนิดนี้จะใช้ปลูกเป็นไม้ประดับเป็นหลัก
ลักษณะของลิ้นมังกร
- ต้นลิ้นมังกร จัดเป็นไม้กลางแจ้งยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 1-1.5 ฟุต ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง คองอเล็กน้อย และมีขนสั้น ๆ ปกคลุมอยู่ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำและวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินชุ่มชื้นระบายน้ำดี เช่น ดินปนทรายหรือดินร่วนปนทราย[1],[2]
- ใบลิ้นมังกร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันไปตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปมนรี ปลายใบมน โคนใบสอบแหลมเข้าหาก้านใบ ส่วนขอบใบเรียบ หลังใบเป็นสีเขียวเข้มลาย ตามเส้นใบและท้องใบเป็นสีเขียวนวลหรือเขียวอ่อน เส้นโคนใบมีขน[1],[2]
- ดอกลิ้นมังกร ออกดอกเป็นช่อหรือออกเป็นกระจุกตามซอกใบและลำต้น ซึ่งดอกจะเรียงติดกันเป็นแถวสั้น ๆ คล้ายช่อดอก แต่จะแยกออกเป็นดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย ดอกมีขนาดเล็กมีสีแดงม่วงหรือสีม่วงเข้ม ดอกหนึ่งมี 6 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปกลมรีมีเนื้อหนา ดอกมีเกสรเพศผู้ 3 อัน และเกสรเพศเมีย 3 อัน[1],[2]
- ผลลิ้นมังกร ลักษณะของผลคล้ายกับเม็ดถั่ว มีก้านสั้น ๆ ผลจะถูกกลีบเลี้ยงที่ขยายตัวหุ้มเอาไว้[1]
สรรพคุณของลิ้นมังกร
- ใบมีรสจืด เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อปอด ใช้เป็นยาแก้ปอดร้อน ช่วยทำให้ปอดชุ่มชื่น (ใบ)[2]
- ดอกสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อักกระอักเลือด และไอเป็นเลือด หรือจะใช้ใบสด 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือผสมกับสันเนื้อหมูต้มกับน้ำแกงรับประทานก็ได้ (ใบ,ดอก)[1]
- ช่วยแก้อาการไอมีเสลดเหนียว หรือไอแห้ง ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 7-8 ใบ และผลอินทผลัม 7 ผล นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือถ้าเป็นใบแห้งให้ใช้ประมาณ 15 กรัม นำมาต้มผสมกับเนื้อหมูแล้วทานแต่น้ำ (ใบ)[1],[2]
- ใบมีรสสุขม สรรพคุณเป็นยาแก้เจ็บคอ แก้ไอแห้ง ไอร้อน ไอหอบหืด ไอเป็นเลือด แก้เสียงแหบแห้ง ไม่มีเสียง ให้ใช้ใบสดประมาณ 7-8 กรัม หรือใบแห้งประมาณ 10-30 กรัม นำมาต้มรับประทาน (ใบ)[1],[2]
- ช่วยขับเสมหะ (ใบ)[2]
- ช่วยแก้หลอดลมอักเสบ หอบหืด หรือโรคติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน ให้ใช้ใบสดประมาณ 7-8 ใบ หรือใบแห้งประมาณ 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ใบ)[1],[2]
- ช่วยบำรุงปอด ด้วยใช้ใบสดประมาณ 7-8 กรัม หรือใบแห้งประมาณ 10-30 กรัม นำมาต้มรับประทาน (ใบ)[1],[2]
- ช่วยลดความดันโลหิต ด้วยการใช้ต้นลิ้นมังกรทั้งต้น (รวมราก) นำมาล้างให้สะอาด ใส่ลงในหม้อต้มกับน้ำ 2-3 ส่วน แล้วต้มเคี่ยวจนเหลือน้ำ 1 ส่วน (ต้มจนเดือดประมาณ 20 นาที) จะผสมกับน้ำตาลกรวดเพื่อเพิ่มรสชาติด้วยก็ได้ โดยใช้กินครั้งละ 1 แก้ว เช้า กลาง และเย็น (จะกินก่อนหรือหลังอาหารก็ได้) จะทำให้มีอาการดีขึ้นและควบคุมได้ (ทั้งต้น)[3]
- ช่วยแก้อาการท้องผูก (ใบ)[2]
- ใบสดนำมาตำหรือขยี้ใช้เป็นยาทาหรือพอกแก้พิษร้อนอักเสบ (ใบ)[4]
หมายเหตุ : การนำใบมาใช้เป็นยาต้องเก็บมาจากต้นที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว[1] ส่วนวิธีการใช้ตาม [2] ให้ใช้ใบสดครั้งละ 15-30 กรัม หรือถ้าเป็นใบแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้เข้ากับตำรายาอื่น ๆ ก็ได้ตามต้องการ[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของลิ้นมังกร
- พืชชนิดนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้[1]
ประโยชน์ของลิ้นมังกร
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ ไม้ขอบรั้ว หรือตามทางเดินทั่วไป[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ลิ้นมังกร”. หน้า 699-700.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ลิ้นมังกร”. หน้า 498.
- หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. (นายเกษตร). “ลิ้นมังกร กับสูตรแก้ความดันโลหิต”.
- สมุนไพรน่ารู้. “พืชถอนพิษต่าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rajini.ac.th. [31 พ.ค. 2014].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)