ลิ้นควาย สรรพคุณและประโยชน์ของต้นลิ้นควาย 2 ข้อ !

ลิ้นควาย

ลิ้นควาย ชื่อวิทยาศาสตร์ Hoya diversifolia Blume จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)[1]

สมุนไพรลิ้นควาย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กล้วยปิ้ง สังวาลย์พระอุมา (ภาคกลาง), ลิ้นควาย (สงขลา), ต้าง, สลิท, ย่านลิ้นควาย เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของต้นลิ้นควาย

  • ต้นลิ้นควาย จัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยอิงอาศัย ที่มีลำต้นอาศัยอยู่ตามต้นใหญ่ใหญ่ ลำต้นยาวได้ถึง 20 เมตร ลำต้นเป็นข้อปล้อง ซึ่งแต่ละต้นจะมีรากงอกออกมาเพื่อเอาไว้ยึดเกาะ ตามลำต้นมีน้ำยางสีขาว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ชอบความชุ่มชื้น มีเขตการกระจายพันธุ์ในพม่า คาบสมุทรอินโดจีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบได้มากทางภาคใต้ โดยมักขึ้นกระจายอยู่บนต้นไม้อื่นในป่าดงดิบชื้น ป่าพรุ ป่าโปร่ง ตามสวนผลไม้ ตลอดจนป่าชายเลนหรือตามริมแม่น้ำทั่วไป[1],[2]

ต้นลิ้นควาย

  • ใบลิ้นควาย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ระยะห่างระหว่างคู่ของใบค่อนข้างห่างกันประมาณ 9-20 เซนติเมตร ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับหรือรูปรี ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบแหลมหรือมน ในสภาวะแห้งแล้งขอบใบจะม้วนลง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว เนื้อใบหนา เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบมองเห็นได้ชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาวได้ประมาณ 7-15 มิลลิเมตร[1],[2]

ใบลิ้นควาย

รูปลิ้นควาย

  • ดอกลิ้นควาย ออกดอกเป็นช่อตามง่ามใบ เป็นช่อรูปครึ่งทรงกลม เรียงแบบซี่ร่ม ก้านช่อดอกยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร ก้านช่อดอกใหญ่และมีขนปกคลุมอยู่ มีดอกประมาณ 12-20 ดอก ดอกจะบานจากรอบนอกเข้าไปหากลางช่อ ดอกออกที่ปลายแกนช่อเดิมได้หลายครั้ง ทำให้แกนช่อดอกยืดออกไปได้ถึง 2 เซนติเมตร ดอกเป็นรูปกงล้อ สีขาวอมเขียว สีนวลอมชมพู สีชมพูอมม่วง หรือสีแดงอมชมพู ก้านดอกยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบส่วนโคนเชื่อมติดกันประมาณครึ่งหนึ่งของกลีบ ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ปลายกลีบแหลมม้วนลง บริเวณที่ม้วนจะเกลี้ยง นอกนั้นจะมีขนสีขาวใสค่อนข้างนุ่มและสั้น เมื่อบานจะมีขนาดกว้างประมาณ 8-12 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบเช่นเดียวกัน ลักษณะเป็นรูปไข่และมีขนาดเล็ก กลางดอกมีเส้าเกสรรูปแท่น ด้านบนเว้าเล็กน้อย ประกอบด้วยรยางค์ 5 แฉก เกสรเพศผู้จะอยู่ใต้แฉก มีเกสรเพศผู้ 5 อัน รังไข่มี 2 อัน แยกออกจากกัน ก้านเกสรเพศผู้เมียและยอดเกสรเพศเมียติดกัน มีแผ่นบางใสคลุมอยู่ ออกดอกในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน[1],[2]

กล้วยปิ้ง

ดอกลิ้นควาย

  • ผลลิ้นควาย ผลมีลักษณะเป็นฝักและออกเป็นคู่ ๆ ฝักมีลักษณะโค้งเป็นรูปเคียว มีขนาดกว้างประมาณ 1 นิ้ว และยาวได้ประมาณ 6 นิ้ว เปลือกฝักหนา เมื่อฝักแก่จะแตกออกเป็นแนวเดียว ภายในมีเมล็ดมาก เมล็ดยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร และมีขนเป็นพู่สีขาวที่ปลายด้านหนึ่ง[1],[2]

สรรพคุณของลิ้นควาย

  • ใบใช้ตำพอกหรือต้มกับน้ำอาบ เป็นยาแก้อาการปวดข้อ (ใบ)[1]

ประโยชน์ของลิ้นควาย

  • สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี[2]

สังวาลย์พระอุมา

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ลิ้นควาย”.  หน้า 698-699.
  2. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 3.  “สลิท”.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ria Tan, Yeoh Yi Shuen, Wee Foong Ang, Ahmad Fuad Morad, pat_ktl, fracass.be), vermonthoyascom.fatcow.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด