ลิเภา สรรพคุณและประโยชน์ของย่านลิเภา 20 ข้อ ! (หญ้ายายเภา)

ลิเภา สรรพคุณและประโยชน์ของย่านลิเภา 20 ข้อ ! (หญ้ายายเภา)

ลิเภา

ลิเภา ชื่อสามัญ Big Lygodium, Climbing Fern, Darai Paya, Ribu-Ribu Besar, Ribu-Ribu Gajah

ลิเภา ชื่อวิทยาศาสตร์ Lygodium flexuosum (L.) Sw. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eupatorium rebaudianum Bertoni, Stevia rebaudiana (Bertoni) Hemsl.)[1] (ส่วนชนิด Orthosiphon aristatus (Blume) Miq., Lygodium polystachyum Wall. ex T. Moore คือ “ลิเภาป่า“) จัดอยู่ในวงศ์ LYGODIACEAE

สมุนไพรลิเภา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เฟิร์นตีนมังกร (กรุงเทพฯ), หมอยแม่ม่าย (นครราชสีมา), ตีนตะขาบ (พิจิตร), กระฉอด หมอยแม่ม่าย (ราชบุรี), กระฉอก ตะเภาขึ้นหน (ประจวบคีรีขันธ์), ลิเภาใหญ่ (ปัตตานี), หมอยยายชี (สุราษฎร์ธานี), กูดก้อง กูดเครือ กูดงอดแงด กูดแพะ กูดย่อง ผักจีน ต๊กโต (ภาคเหนือ), ตะเภาขึ้นหน หลีเภา (ภาคใต้), เต่วีเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), กิ๊โก่หล่า (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), กูดงอ บ่ะกูดงอ บะฮวาล (ลั้วะ), กะราวาหระ (ขมุ), กูดงอ (ไทลื้อ), ด่อวาเบรียง (ปะหล่อง), กูดก๊อง ผักกูดก๊อง (คนเมือง), งอแง, ลิเภาย่อง, ย่านลิเภา, หญ้ายายเภา, สายพานผี เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของลิเภา

  • ต้นลิเภา จัดเป็นเฟิร์นทอดเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่นยาวได้หลายเมตร ลำต้นเป็นเหง้าสั้นมีขนสีน้ำตาลเข้มหนาแน่น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-6 มิลลิเมตร ไม่มีเกล็ด ลำต้นเมื่อแก่จะมีสีดำและเป็นมัน ขยายพันธุ์โดยใช้สปอร์และวิธีการปักชำ เจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิด ชอบแสงแดดรำไร พบขึ้นตามป่าทั่วไป ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ ป่าเต็งรัง ป่าผลัดใบ ป่าผลัดใบผสมทั่วทุกภาคของประเทศ[1],[2]

ลิเภา

ลิเภาใหญ่

  • ใบลิเภา ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น แกนกลางมีลักษณะเป็นเถาเลื้อย แกนกลางใบประกอบชั้นที่ชัดเจน โคนก้านใบเป็นสีน้ำตาล ส่วนด้านบนเป็นสีเหลืองน้ำตาล มีขนสีน้ำตาล มีปีกแผ่ยื่นออกมาไม่ชัดเจนหรือไม่มี ใบย่อยออกเรียงบนแกนกลางของใบ โดยใบย่อยที่ไม่สร้างสปอร์ ก้านใบย่อยจะยาวได้ประมาณ 2-4 มิลลิเมตร แผ่นใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบหยักเว้าเป็นฟันปลา มีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ผิวใบมีขนใส หลังใบเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขนขึ้นประปรายตามเส้นใบ ส่วนใบย่อยที่สร้างสปอร์ที่อยู่กลางเถาขึ้นไปนั้น แอนนูลัสจะประกอบด้วยเซลล์เพียงแถวเดียว เรียงตัวในแนวขวางและอยู่ตรงยอดของอับสปอร์ เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์เทียมจะมีลักษณะเป็นถุงเรียงซ้อนกันและมีขนใส กลุ่มสปอร์นั้นจะเกิดที่ขอบใบย่อย มีขนาดกว้างประมาณ 1.5 มิลลิเมตร และยาวได้ถึง 1 เซนติเมตร[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ลักษณะของใบย่อยนั้นจะมีอยู่หลายรูปร่าง เช่น ขอบขนาน ถึงรูปสามเหลี่ยมยาว ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร[1]

ย่านลิเภา

หญ้าลิเภา

สรรพคุณของลิเภา

  1. ชาวเขาเผ้าอีก้อ แม้ว มูเซอ และเย้า จะใช้ราก เหง้า ลำต้น ทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการเจ็บคอ เสียงแหบ (ทั้งต้น)[1]
  2. ทั้งต้นมีรสจืดเย็น มีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ (ทั้งต้น)[2]
  3. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการร้อนใน (ราก)[4]
  4. ใบอ่อนหญ้าลิเภา (ชนิด Lygodium circinatum (Burm. F.) Sw. เข้าใจว่าใช้ได้ทั้งสองชนิด) สามารถนำมาแช่กับน้ำแล้วห่อด้วยผ้าสะอาด บีบเอาน้ำออกมาใช้เป็นยาหยอดตาแก้ตาเจ็บหรือนัยน์ตาเป็นแผล (ใบอ่อน)[5] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า น้ำคั้นจากใบก็ใช้เป็นยาหยอดตาแก้ตาเจ็บได้เช่นกัน
  5. ตำรายาไทยจะใช้ทั้งต้นปรุงเป็นยาแก้พิษฝีภายใน ฝีภายนอก (ทั้งต้น)[2]
  1. ทั้งต้นรวมรากและเหง้าใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต เลือดตกใน (ทั้งต้น)[1]
  2. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปัสสาวะแดง ปัสสาวะเหลือง (ราก)[4]
  3. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคริดสีดวงทวารและโรคนิ่ว (ราก)[3]
  4. ราก ใบ และเถาใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้เลือดพิการ แก้ระดูมากะปริบกะปรอย (ราก, ใบ, เถา)[4]
  5. ใบนำมาขยี้ใช้พอกแผลช่วยห้ามเลือด หรือใช้พอกแผลสด จะช่วยทำให้แผลแห้งและหายเร็วยิ่งขึ้น (ใบ)[3]
  6. ใช้เป็นยารักษาบาดแผลและแผลพุพอง (ใบ)[2]
  7. ใบใช้ตำพอกรักษาโรคหิด ผื่นแดง ฝีฝักบัว (ใบ)[2]
  8. ทั้งเถาและใบใช้ตำพอกปิดแผลที่อสรพิษขบกัดต่อย เป็นยาถอนพิษ แก้ฟกบวม ทำให้เย็น และช่วยแก้อาการอักเสบจากงู ตะขาบ แมงป่อง และแมลงมีพิษกัดต่อย (ทั้งต้น)[1],[2]
  9. ส่วนใต้ดิน นำมาต้มเป็นยาห่มแก้พิษจากสุนัขกัด แก้อาการจากพิษ แก้ปวด (ส่วนที่อยู่ใต้ดิน)[3]
  10. ใบใช้ตำพอกป้องกันอาการปวดข้อ อาการแพลง (ใบ)[2]
  11. ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ต้นและใบย่านลิเภา ผสมกับหัวยาข้าวเย็น นำมาต้มกับน้ำดื่มต่างน้ำชา เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยในผู้สูงอายุ (ต้นและใบ)[1]
  12. ทั้งต้นรวมรากและเหง้าใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดหลัง (ทั้งต้น)[1]
  13. รากใช้ผสมกับยาอื่นเป็นยารักษาโรคมะเร็ง (ราก)[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของลิเภา

  • สารสกัดจากทั้งต้นด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำให้หนูและกระต่ายแท้ง[1]
  • ใบมีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรีย[2]

ประโยชน์ของลิเภา

  • ใบอ่อนและยอดอ่อนสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้ เช่น แกง ผัด ต้ม นึ่ง ลวก หรือนำมารับประทานสดร่วมกับน้ำพริก ลาบ เป็นต้น[2],[3]
  • ต้นสามารถนำมาใช้ทำเชือกได้ เพราะเถามีความเหนียวคงทน หรือนำมาทำเครื่องจักสานต่าง ๆ เช่น สานตะกร้า กำไล ทำกระเป๋า เครื่องประดับ ฯลฯ และล่าสุดนี้เห็นจะมีเคสโทรศัพท์มือถือที่ทำจากหญ้าชนิดนี้ออกมาจำหน่ายด้วยนะครับ[2],[5]

รูปหญ้าลิเภา

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “หญ้ายายเภา”.  หน้า 145.
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ลิเภา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [03 ก.ย. 2014].
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “หญ้ายายเภา, ลิเภาใหญ่”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [03 ก.ย. 2014].
  4. หัตถกรรมย่านลิเภา.  “ย่านลิเภา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.tungsong.com.  [03 ก.ย. 2014].
  5. ไทยเกษตรศาสตร์.  “ลิเภา”.  อ้างอิงใน : หนังสือวัลลิ์รุกขบุปผชาติตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com.  [03 ก.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Leonora Enking, Shubhada Nikharge, Nieminski), www.dailynews.co.th

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด