ลำไย
ลําไย ชื่อสามัญ Longan (ลองแกน) (มักเขียนผิดเป็น “ลำใย“)
ลําไย ชื่อวิทยาศาสร์ Dimocarpus longan Lour. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Euphoria longan (Lour.) Steud.) จัดอยู่ในวงศ์เงาะ (SAPINDACEAE)
ผลไม้เพื่อสุขภาพชนิดนี้เป็นที่นิยมรับประทานอย่างมากในบ้านเรา โดยจังหวัดที่ปลูกมากที่สุดคือจังหวัดลำพูน สำหรับประเทศที่ปลูกมากที่สุดเห็นจะเป็นประเทศจีนที่มีการปลูกลำไยมาถึง 26 สายพันธุ์ แต่ที่นิยมปลูกในบ้านเราจะแบ่งออกเป็น 5 พวก ชนิดแรกคือ ลำไยกะโหลก ซึ่งเป็นพันธ์ุที่มีผลใหญ่ เนื้อหวานอร่อยซึ่งก็จะแบ่งแยกย่อยไปอีกหลายสายพันธุ์ เช่น สีชมพู อีดอ อีแดง อีดำ เป็นต้น ส่วนจำพวกที่ 2-5 ก็คือ ลำไยกระดูก ลำไยสายน้ำผึ้ง ลำไยเถา ลำไยขาว และลำไยธรรมดา
ลำไยประกอบด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุโซเดียม ธาตุโพแทสเซียม ธาตุทองแดง ธาตุเหล็ก วิตามินซี วิตามินบี 12 เป็นต้น ส่วนในด้านสรรพคุณ ลำไยใช้เป็นยารักษาโรคได้แก่ เป็นยาแก้ท้องร่วง รักษาโรคมาลาเรีย บรรเทาอาการริดสีดวงทวาร เป็นต้น
สรรพคุณของลำไย
- ช่วยให้หลับสบายและช่วยในการเจริญอาหาร
- ช่วยรักษาอาการหวัด ด้วยการนำใบมาชงกับน้ำร้อนดื่ม
- ช่วยรักษาโรคมาลาเรีย ด้วยนำใบสดประมาณ 20 กรัม น้ำ 2 แก้วผสมเหล้าอีก 1 แก้ว นำมาต้มรวมกันให้เดือดจนเหลือน้ำ 1 แก้วแล้วนำมากิน
- ช่วยรักษาแผลเน่าเปื่อย บรรเทาอาการคัน ด้วยนำเมล็ดไปเผาให้เป็นเถ้าแล้วนำมาทา
- ช่วยรักษาอาการท้องร่วง ด้วยการนำเปลือกของต้นที่มีสีน้ำตาลอ่อนใช้ต้มเป็นยา
- ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร ด้วยการนำใบลำไยมาชงกับน้ำร้อนดื่ม
- ใช้เป็นยาแก้โรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหนอง ด้วยการนำใบสดประมาณ 20 กรัมไปต้มกับน้ำดื่ม
- แก้ปัญหาอาการตกขาว ด้วยการนำรากมาต้มน้ำหรือเคี้ยวให้ค้นผสมกิน
- ช่วยขับพยาธิเส้นด้าย ด้วยการนำรากมาต้มน้ำหรือเคี้ยวให้ค้นผสมกิน
- ช่วยรักษาปัสสาวะขัด ด้วยการนำเมล็ดมาทุบให้แตกแล้วต้มน้ำกิน แต่ต้องลอกเปลือกสีดำออกก่อน
- ดอกลำไยใช้เป็นยาขับปัสสาวะ สลายก้อนนิ่วในไตได้
- แก้อาการวิงเวียนศีรษะอ่อนเพลีย เพิ่มความสดชื่น ด้วยนำเปลือกผลที่แห้งแล้วมาต้มน้ำกิน
- ช่วยรักษาแผลหกล้ม โดนมีดบาด ด้วยการใช้เมล็ดบดเป็นผงแล้วนำมาพอกห้ามเลือด จะช่วยแก้ปวดได้ด้วย แต่ต้องเอาเปลือกสีดำออกก่อน
- ช่วยรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการนำเปลือกผลที่แห้งแล้วมาเผาเป็นเถ้าหรือบดให้เป็นผงแล้วนำมาโรยที่บาดแผล
- ช่วยรักษาแผลมีหนอง สมานแผล ห้ามเลือด แก้ปวด ด้วยการนำเมล็ดมาต้มหรือบดเป็นผงนำมารับประทาน
- ช่วยรักษากลากเกลื้อน ด้วยการใช้เมล็ดชุบน้ำส้มสายชูที่หมักด้วยข้าวแล้วนำมาถู แต่ทั้งนี้ต้องลอกเปลือกสีดำออกก่อน
- ช่วยรักษาแผลเรื้อรังและมีหนอง ด้วยการนำเมล็ดไปเผาเป็นเถ้า แล้วนำมาผสมกับน้ำมะพร้าวทาบริเวณที่เป็น
- เป็นยาบำรุงม้าม เลือดลม หัวใจ บำรุงร่างกาย นอนไม่หลับ อาการอ่อนเพลีย ด้วยนำเนื้อหุ้มเมล็ดมาต้มน้ำกินหรือนำมาแช่กับเหล้า
- ลำไยอบแห้งมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยยับยั้งสารก่อมะเร็ง
- ช่วยลดอนุมูลอิสระในเม็ดเลือดขาว
- ลำไยมีสารออกฤทธิ์ที่ช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
- มีสารช่วยลดการเสื่อมสลายจากข้อเข่า
- ลำไยมีวิตามินบี 12 ที่มีส่วนช่วยในการบำรุงประสาทและสมอง
- ลำไยมีธาตุแคลเซียมสูง มีส่วนช่วยในเรื่องของทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง
- ลำไยมีธาตุฟอสฟอรัสที่มีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดจากข้ออักเสบได้
- ลำไยมีธาตุโซเดียม ช่วยให้เส้นประสาทและกล้ามเนื้อทำงานได้อย่างเป็นปกติ
- ลำไยมีธาตุโพแทสเซียมที่มีส่วนช่วยให้มีสติปัญญา จิตใจร่าเริงแจ่มใสได้ โดยการส่งออกซิเจนไปเลี้ยงที่สมอง
- ลำไยมีธาตุเหล็กซึ่งช่วยป้องกันอาการอ่อนเพลียของร่างกาย
- ลำไยมีแร่ธาตุทองแดงที่มีส่วนช่วยให้ร่างกายมีพลังงาน โดยการช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประโยชน์ของลำไย
- ใช้รับประทานสดเป็นผลไม้ในยามว่าง อร่อยมาก ๆ
- น้ำลำไยช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย
- ใช้ทำเป็นอาหารก็ได้ เช่น ข้าวเหนียวเปียกลำไย ลำไยลอยแก้ว วุ้นลำไย เป็นต้น
- ลําไยเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูงมาก เนื่องจากมีน้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตในปริมาณมาก
- ลําไยมีวิตามินซีที่มีส่วนช่วยในการบำรุงผิวและเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ
- มีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจนำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง เพราะไม่มีผลข้างเคียง ซึ่งจะทำให้ลดขนาดการใช้ยาหรือเคมีบำบัดลงได้มาก
- ลำไยแห้งมีส่วนช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิวได้ดีกว่าการใช้สารเคมี
- ลําไยสามารถนำมาแปรรูปได้หลากหลาย เช่น การบรรจุกระป๋อง ลำไยอบแห้ง น้ำลำไย เป็นต้น
- เนื้อไม้สีแดงของต้นลำไยมักนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ
คุณค่าทางโภชนาการของลำไย ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 60 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 15.14 กรัม
- เส้นใย 1.1 กรัม
- ไขมัน 0.12 กรัม
- โปรตีน 1.31 กรัม
- วิตามินบี 1 0.031 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี 2 0.14 มิลลิกรัม 12%
- วิตามินบี 3 0.3 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินซี 84 มิลลิกรัม 101%
- ธาตุแคลเซียม 1 มิลลิกรัม 0%
- ธาตุเหล็ก 0.13 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุแมกนีเซียม 10 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุแมงกานีส 0.052 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุฟอสฟอรัส 21 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุโพแทสเซียม 266 มิลลิกรัม 6%
- ธาตุโซเดียม 0 มิลลิกรัม 0%
- ธาตุสังกะสี 0.05 มิลลิกรัม 1%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
คำแนะนำ : ไม่ควรรับประทานลำไยมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการร้อนใน เกิดแผลในช่องปาก และตาแฉะได้ ดังนั้นควรรับประทานแต่พอดี และผู้ที่มีอาการเจ็บคอ ไอมีเสมหะ มีหนองเป็นแผลอักเสบ ก็ไม่ควรรับประทานลำไย
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)