ลําโพง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นลำโพงขาว 35 ข้อ !

ลําโพง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นลำโพงขาว 35 ข้อ !

ลำโพงขาว

ลำโพง ชื่อสามัญ Thorn Apple, Apple of Peru, Green Thorn Apple, Hindu Datura, Metel,[1],[4]

ลำโพง ชื่อวิทยาศาสตร์ Datura metel L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Datura alba Rumph. ex Nees) จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)[1]

สมุนไพรลำโพง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะเขือบ้า (ภาคเหนือ, ภาคอีสาน), ลำโพงขาว ลำโพงดอกขาว (ภาคกลาง), ละอังกะ (ส่วย-สุรินทร์), เลี้ยก (เขมร-สุรินทร์), มั่วโต๊ะโละ เล่าเอี้ยงฮวย (จีน), หยางจินฮัว ม่านทัวหลัว (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3]

ต้นลำโพงหลัก ๆ ที่นำมาใช้เป็นยาในบ้านเราจะมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน (จริง ๆ แล้วมีมากกว่านั้น) คือ ลำโพงขาว (ต้นเขียว ดอกสีขาว), และลำโพงกาสลัก (ต้นสีแดงเกือบดำ ดอกสีม่วงเป็นชั้น ๆ)[1]

ลักษณะของลำโพง

  • ต้นลำโพง จัดเป็นไม้ล้มลุก ที่มีอายุประมาณ 1-2 ปี ลำต้นมีขนาดเล็กเท่าต้นมะเขือพวง มีความสูงของลำต้นประมาณ 2 เมตร ลำต้นกลมตั้งตรง แตกกิ่งก้านออกไปรอบ ๆ ต้น ลำโพงขาวต้นจะเป็นสีเขียว ลำต้นเปราะแต่เปลือกต้นเหนียว ทั้งต้นไม่มีขนปกคลุม ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่อุดมสมบูรณ์หรือดินที่มีปุ๋ยมาก ๆ ชอบความชื้นแฉะ เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง[1],[2],[3] เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบภูเขาทางภาคตะวันตกของประเทศปากีสถานและประเทศอัฟกานิสถาน ต่อมาได้แพร่กระจายออกไปในเขตร้อนและกึ่งร้อนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งจะพบขึ้นได้ตามธรรมชาติทั่วทุกภาค[5]

ต้นลำโพงขาว

  • ใบลำโพง ใบเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ออกเรียงสลับ แต่ใบบริเวณปลายกิ่งเกือบจะเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบคล้ายกับใบมะเขือพวงเชนกัน แผ่นใบเป็นรูปไข่หรือค่อนข้างกลมเล็กน้อย ปลายใบแหลม โคนใบเฉียงและเว้าเข้าหากันแต่มีขนาดไม่เท่ากัน ส่วนขอบใบเป็นคลื่นและหยักเป็นซี่ฟันหยาบ ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวอ่อน ก้านใบยาวประมาณ 2-6 เซนติเมตร[1],[2],[3]

ใบลำโพงขาว

  • ดอกลำโพง ออกดอกเดี่ยวตามง่ามใบหรือส่วนยอดของต้น ลักษณะของดอกเป็นรูปแตรหรือลำโพงขนาดใหญ่ ดอกจะมีความยาวประมาณ 3.5-5.5 นิ้ว โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายบานออกเป็นรูปแตรชั้นเดียว ดอกเป็นสีขาวและมีขนปกคลุม (แต่ถ้าเป็นลำโพงกาสลัก ดอกจะเป็นสีม่วงและปลายกลีบซ้อนกันประมาณ 2-3 ชั้น) โคนดอกมีกลีบเลี้ยงสีเหลืองอ่อนหรือสีเขียวหุ้มอยู่ และยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวดอก กลีบดอกยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5-7.5 เซนติเมตร แตกออกเป็น 5 แฉก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน และเกสรเพศเมีย 1 อัน[1],[2],[3]

ลำโพงดอกขาว

ดอกลำโพงขาว

  • ผลลำโพง เมื่อดอกร่วงโรยไปจะติดผล ลักษณะของผลเป็นลูกกลมขนาดเท่ากับผลมะเขือเปราะ แต่ปกคลุมไปด้วยหนามแหลมยาวทั้งผล ผลอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนผลแก่เป็นสีน้ำตาลอ่อน ผลมีขนาดโตประมาณ 1-1.5 นิ้ว เมื่อแก่จัดผลจะแตกภายในแบ่งเป็น 4 ซีก ภายในมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก เมล็ดเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำและมีลักษณะแบน เป็นรูปสามเหลี่ยม[1],[3]

ผลลำโพง

ผลลำโพงขาว

เมล็ดลำโพง

สรรพคุณของลำโพง

  1. เมล็ดนำมาคั่วพอหมดน้ำมัน ใช้ปรุงเป็นยากินบำรุงประสาท (เมล็ด)[5]
  2. บางตำราระบุว่าใช้รากเป็นยาแก้วิกลจริต บ้างว่าน้ำต้มจากใบ ราก และเมล็ด ใช้กินเป็นยาแก้อาการคุ้มคลั่งและเป็นยาลดไข้ (ราก)[5]
  3. เปลือกผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้กษัย (เปลือกผล)[7]
  4. ใช้ต้นรากลำโพงผสมกับยามหานิลเทียนทอง เป็นยาแก้โรคซางเด็ก (ต้นและราก)[7]
  5. ใบมีสรรพคุณช่วยทำให้ผู้ที่เป็นหืดหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น (ใบ)[1]
  6. น้ำคั้นจากต้นเมื่อนำมาใช้หยอดตาจะทำให้ม่านตาขยาย เช่นเดียวกับการหยอดตา (ต้น)[1]
  7. ดอกนำมาหั่นตากแห้งผสมกับยาฉุนสูบแก้อาการหอบหืด แก้การตีบตัวของหลอดลม โดยให้ใช้สูบตอนที่มีอาการหอบหืดกำเริบ ให้สูบจนกว่าอาการจะหายไป วิธีนี้เด็กไม่ควรใช้ และไม่ควรสูบมากจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้ได้รับพิษได้ (ดอก)[2],[3],[7] ส่วนใบก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้หอบหืดเช่นกัน เพราะช่วยขยายหลอดลม (ใบ)[3],[7] บ้างก็ว่าใช้ต้นลำโพงทั้งต้นนำมาตากแห้งหั่นสูบแก้โรคหืด (ทั้งต้น)[5]
  8. ดอกนำมาหั่นตากแดดให้แห้ง ใช้มวนสูบแก้ริดสีดวงจมูก (ดอก)[5]
  9. เมล็ดไปคั่วให้น้ำมันในเมล็ดออก ใช้เป็นยาถอนพิษไข้ แก้ไข้พิษ แก้ไข้กระสับกระส่าย (เมล็ด)[3],[5] ส่วนผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษไข้ แก้ไข้ที่ทำให้กระสับกระส่าย (ผล)[5]
  10. ถ่านจากรากมีรสเย็น สรรพคุณเป็นยาแก้ไข้พิษ เซื่องซึม และแก้ไข้กาฬ (ถ่านจากราก)[5]
  1. ช่วยแก้อาการสะอึกในไข้กาฬ (ใบ)[7]
  2. รากใช้ฝนทาแก้พิษร้อน ดับพิษร้อน (ราก)[5],[7]
  3. เมล็ดมีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดฟัน (เมล็ด)[4]
  4. น้ำจากใบสดใช้หยอดหู แก้อาการปวดหู (ใบ)[4]
  5. เมล็ดลำโพงนำมาตำให้เป็นผงผสมกับน้ำมันงา ใช้หยอดหูน้ำหนวก (เมล็ด)[7]
  6. ใบมีฤทธิ์กดสมอง มีสรรพคุณแก้อาเจียนจากการเมารถเมาเรือ (ใบ)[7]
  7. ใบใช้เป็นยาทาเต้านมของสตรีลูกอ่อนที่ให้นมบุตร เพื่อช่วยแก้อาการอักเสบของเต้านม (ใบ)[1]
  8. ช่วยขับลมชื้น ให้ใช้ดอกลำโพงมาดองกับเหล้า 500 ซีซี เป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วนำมารับประทานครั้งละ 1 ถ้วยชาจีน วันละ 2 ครั้ง (ดอก)[3]
  9. ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะ (เมล็ด)[3]
  10. ช่วยแก้อาการปวดเกร็งท้อง (ใบ)[7]
  11. ช่วยแก้ริดสีดวง (เปลือกผล)[7]
  12. ใบใช้เป็นยาพอกแก้แผลเรื้อรัง แผลฝี แผลไหม้ (ใบ)[1],[4]
  13. เปลือกผลมีรสเมาเบื่อ สรรพคุณช่วยแก้มะเร็ง คุดทะราด (เปลือกผล)[7]
  14. ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ใบ)[7]
  15. เมล็ดมีสรรพคุณช่วยแก้โรคผิวหนัง (เมล็ด)[4]
  16. น้ำมันจากเมล็ดมีฤทธิ์ช่วยฆ่าเชื้อโรค เชื้อโรคที่ตัว แก้กลากเกลื้อน หิด เหา (น้ำมันจากเมล็ด)[5] ส่วนเมล็ดนำมาหุงทำน้ำมันใส่แผล แก้กลากเกลื้อนผื่นคันได้ (เมล็ด)[2]
  17. ใบมีรสเบื่อเมา ใช้เป็นยาตำพอกรักษากลากเกลื้อน และฝี ทำให้ฝียุบ (ใบ)[1],[2],[4],[5]
  18. รากมีรสเมาหวานเล็กน้อย มีสรรพคุณแก้ฝีกาฬทั้งปวง (ราก)[5]
  19. ใบใช้ตำพอกแก้ปวดบวมอักเสบ แก้ปวดบวมที่แผล (ใบ)[2],[4],[5],[7] ส่วนรากก็มีสรรพคุณแก้ปวดบวมอักเสบเช่นกัน (ราก)[5] ช่วยรักษาไขข้ออักเสบ และมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ (ใบ)[4],[7]
  20. ใช้เมล็ดประมาณ 30 กรัม นำมาทุบให้พอกแหลก แล้วแช่กับน้ำมันพืชไว้ประมาณ 7 วัน (เช่น น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันงา ฯลฯ หรือนำมาดองกับเหล้าก็ได้) ใช้ทาบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อยหรือขัดยอก จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้ แต่ถ้านำมาใช้ใส่ฟันที่เป็นรูจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ (เมล็ด)[1] ส่วนอีกวิธีให้ใช้ดอกลำโพงมาดองกับเหล้า 500 ซีซี เป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วนำมารับประทานครั้งละ 1 ถ้วยชาจีน วันละ 2 ครั้ง จะช่วยแก้อาการปวดเมื่อยได้ (ดอก)[3]
  21. เมล็ดใช้เป็นยาชา (เมล็ด)[3]
  22. บางตำรายังระบุว่า รากลำโพงใช้แก้หมาบ้ากัดได้ (ราก)[5]
  23. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวด แก้ชัก แก้เหน็บชาเนื่องจากลมชื้น และช่วยขับลม ส่วนเมล็ดที่นำไปคั่วให้น้ำมันในเมล็ดออก ใช้เป็นยาแก้ปวดข้อ ขาบวม ปวดบวม แก้พิษฝี ส่วนมากใช้เป็นยาภายนอก (เมล็ด)[3]
  24. ทั้งต้นหรือทุกส่วนของลำต้นมีฤทธิ์เป็นยาเสพติด ช่วยระงับความเจ็บปวด และแก้อาการเกร็ง ใช้มากจะทำให้เกิดการเสพติด (ทั้งต้น)[1]

หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม [3] เมล็ดให้ใช้ครั้งละ 0.34-0.5 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานหรือใช้ชงกับน้ำรับประทาน หรือจะบดเป็นผงรับประทานครั้งละ 0.1-0.2 กรัม หากใช้ภายนอกให้ใช้น้ำตมล้างแผล หรือใช้บดเป็นผงโรยใส่แผลตามต้องการ ส่วนดอกและใบตากแห้ง นำมาใช้ทำเป็นยาสูบ แก้หอบหืด[3]

หมายเหตุ : ลำโพงยังมีอีกหลายชนิดที่พบได้ในประเทศไทย เช่น ลำโพงกาสลัก (Datura Fastuosa L.) จะมีลักษณะของต้นคล้ายกับต้นลำโพงขาว แต่จะมีกิ่งก้านเป็นสีม่วงหรือสีม่วงอมแดง และดอกเป็นสีม่วง ปลายกลีบซ้อนกันหลายชั้น, ลำที่พบในประเทศจีน (Datura inermis Jasq.) ทั้งต้นมีขนปกคลุม มีดอกสีขาวขนาดใหญ่ ผลกลมเรียบไม่มีหนาม, ลำโพงยุโรป (Datura stramonium L.) ชนิดนี้มีดอกสีขาว ผลมีหนามแข็งปกคลุม ปลายผลแหลมเล็กน้อย เป็นต้น โดยลำโพงหลายชนิดที่กล่าวมาจะมีสรรพคุณทางยาที่ใกล้เคียงกันกับลำโพงขาว และสามารถนำมาใช้แทนกันได้[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของลำโพง

  • ทั้งต้นพบสารอัลคาลอยด์ (Alkaloids) โดยจะพบจากดอกมากที่สุด ซึ่งมีหลายชนิด เช่น Hyoscine-Lsopolamine, Hyocyamine เป็นต้น
  • ใบและยอดลำโพงมีสารอัลคาลอยด์ Hyoscine และ Hyocyamine ซึ่งมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ ใช้แก้อาการปวดท้องเกร็ง แก้หอบหืด และช่วยขยายหลอดลม[2]
  • สารอัลคาลอยด์ Hyoscine มีฤทธิ์กดสมองหรือกดประสาทส่วนกลาง ทำให้ประสาทสงบ ทำให้จิตใจสงบ ทำให้ง่วงนอน และนอนหลับได้ยาวขึ้น แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่มากจนเกินไปจะทำให้เกิดภาพหลอน พูดจาเพ้อ มีอาการคุ้มคลั่งคล้ายกับได้รับยาทะโทรปีน (Atropine) และทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น มีการหายใจแรงขึ้น[3] Hyoscine สามารถใช้ควบคุมอาการอาเจียนจากการเมารถได้[2]
  • จากการทดลองกับสัตว์พบว่าลำโพงมีฤทธิ์คล้ายยาชา และสามารถระงับความเจ็บปวดได้[3]
  • สารอัลคาลอยด์ Hyoscine และ Hyocyamine มีอาการข้างเคียงคือ ทำให้ปากและคอแห้ง[2]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่า หากร่างกายได้รับสารรวมจากลำโพง จะถูกตับและไตดูดซึมอย่างรวดเร็ว ถ้าได้รับพิษแล้วมีอาการชัก ตาเหลือก หายใจช้าลง หัวใจเต้นเร็วขึ้น และทำให้หัวใจวายได้ ซึ่งจากการทดลองกับหนูทดลองในปริมาณ 80 มิลลิกรัมต่อหนึ่งกิโลกรัม ก็สามารถทำให้หนูตายได้[3]

ประโยชน์ของลำโพง

  • ใบใช้มวนสูบเป็นบุหรี่ได้ แต่ต้องระมัดระวังในการใช้ อย่าใช้จนเกินขนาด โดยไม่ควรใช้เกินกว่า 1 กรัม มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น มีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะในขณะที่สูบ หากมีอาการดังกล่าวควรเลิกใช้ทันที หรือมักจะมีอารมณ์เคลิ้ม เกิดความคิดสับสน และต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะกลับคืนมาได้[1]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรลำโพง

  • สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[3]
  • ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เป็นโรคตาบอดตาใส เป็นหวัดไอร้อน และเป็นโรคเกี่ยวกับตับและไต ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้เช่นกัน[3]
  • แม้แพทย์แผนโบราณของไทยจะใช้ลำโพงเพื่อรักษาโรคได้มากมาย แต่ก็มีคำเตือนว่าควรระวังเป็นอย่างยิ่งถึงการใช้เมล็ด เพราะเชื่อว่ามีพิษทางเมาเบื่ออย่างรุนแรง อาจทำให้เป็นบ้าหรือถึงตายได้ ด้วยเหตุนี้ต้นลำโพงจึงมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “มะเขือบ้า” (ส่วนคำว่ามะเขือคงมาจากลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นลำโพงที่คล้ายกับต้นมะเขือพวง) ซึ่งสอดคล้องกับคนไทยในอดีตจะเรียกคนบ้าบางจำพวกว่า “บ้าลำโพง” เพราะเชื่อว่าเกิดจากการสูบหรือกินลำโพงเข้าไปนั่นเอง[5]
  • หากได้รับสารพิษเข้าไปจะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียและหลับไป 4-8 ชั่วโมง ถ้ามีจำนวนมากจะทำให้เกิดอาการเพ้อฝัน ตื่นเต้น ตาแข็ง หายใจไม่สวก พูดไม่ออก เมื่อแก้พิษจนแล้ว อาจมีอาการวิกลจริตตลอดไป รักษาไม่หาย บางท่านบอกว่าเมล็ดดิบ 1-3 เมล็ด กินแล้วจะทำให้ความจำดี แต่ปรากฏว่าเมื่อกินเข้าไปแล้วก็ทำให้เกิดพิษ มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก จึงกินยาแก้พิษ ทำให้อาการเป็นพิษหายไป แต่อาการทางประสาทยังอยู่ รักษาไม่หาย ดังนั้นจึงไม่ควรเสี่ยง[7]

พิษของลำโพง

  • สารออกฤทธิ์หรือสารพิษที่พบมากในเมล็ดและใบ (พบได้ทุกส่วน แต่มีมากในเมล็ด) คือ สารในกลุ่มโทรเพน อัลคาลอยด์ (Tropane alkaloids) ได้แก่ ไฮออสซีน (Hyoscine), ไฮออสไซอะมีน (Hyoscyamine), และสโคโพลามีน (Scopolamine) ซึ่งสารพิษในต้นลำโพงจะไม่สามารถถูกทำลายได้ด้วยความร้อน[5],[6],[8]
  • อาการเป็นพิษที่พบ ถ้ากินเมล็ดและใบลำโพงเข้าไปจะแสดงอาการภายในเวลา 5-10 นาที ซึ่งอาการที่พบก็คือ ปากและคอแห้ง กระหายน้ำอย่างรุนแรง น้ำลายแห้งทำให้กลืนน้ำลายลำบากและทำให้พูดไม่ชัด มีอาการปวดศีรษะ มีไข้ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ผู้ป่วยจะรู้สึกสับสน มึนงง ตื่นเต้น มีอาการประสาทหลอนทั้งหูและตา และอาจมีพฤติกรรมคล้ายโรคจิต ทำให้เพ้อฝัน ตาแข็ง ตาพร่า ม่านตาขยาย สู้แสงไม่ได้ ตัวร้อน ผิวหนังร้อนแดงและแห้ง กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน หายใจช้าและขัด ผิวหนังเป็นสีคล้ำเพราะขาดออกซิเจน ในเด็กบางคนอาจมีอาการชัก ชีพจรเต้นเร็วและอ่อน นอกจากนี้ยังมีอาการปัสสาวะคั่ง ท้องผูก รายที่รุนแรงจะหมดสติและโคม่า[3],[5],[6]
  • แพะเป็นสัตว์ที่มีน้ำย่อยพิเศษ เมื่อกินต้นลำโพงเข้าไปแล้วจึงไม่มีอันตรายใด ๆ[1]

ตัวอย่างผู้ป่วยที่ได้รับพิษลำโพง

  • มีรายงานความเป็นพิษในผู้ใหญ่ที่รับประทานต้นและผลสดของลำโพงขาว[6]
  • เด็กอายุประมาณ 10-12 ปี ได้รับประทานดอกลำโพงขาว ทำให้เด็กมีอาการปากแห้ง ม่านตาขยาย มีไข้ และผิวหน้าร้อนแดง[6]
  • ชาย 4 คน ได้ดื่มชาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของเมล็ดลำโพงขาว พร้อมกับได้สูบดอกแห้งของลำโพงขาว พบว่าทั้ง 4 ราย มีอาการเป็นพิษที่คล้ายกับอาการพิษที่ได้รับจากสารอะโทรปีน (Atropine) ผู้ป่วยมีอาการทางประสาทเป็นหลัก คือ มีอาการกระสับกระส่าย เพ้อ ประสาทหลอน เดินเซ ม่านตาขยาย มีอาการคั่งของปัสสาวะ และยังพบอาการอื่น ๆ อีกเช่น ปากแห้ง กระหายน้ำ มีไข้ และหัวใจเต้นแรง[6]
  • ในประเทศสหรัฐอเมริกามีรายงานเกี่ยวกับการได้รับพิษจากลำโพงค่อนข้างบ่อย เพราะพืชชนิดนี้มีการแพร่กระจายอยู่ในหลาย ๆ แห่งของประเทศ เช่น ตามไร่นา พื้นที่ลุ่มทั่วไป เขตใกล้ภูเขา หรือตามที่รกร้าง ข้างกองขยะ ริมถนนหนทาง ซึ่งเด็ก ๆ มักจะได้รับพิษโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น นำดอกมาหยิบใส่ปากและเคี้ยวเล่น หรือดูดเล่นตรงเกสรดอก ส่วนวัยรุ่นจะได้รับจากเมล็ดที่มักนำไปผสมกับน้ำหรือเครื่องดื่ม หรือเพื่อนแนะนำให้ทดลองกิน หรือใช้ผสมในสารเสพติดอื่น ๆ เช่น กัญชาและโคเคน เป็นต้น[8]
  • ส่วนในประเทศไทย เคยมีรายงานว่ามีคนชายและหญิงจำนวน 6 คน ได้กินขนมจีนน้ำยาปนด้วยส่วนประกอบของลำโพง และถูกนำส่งโรงพยาบาล ผู้ป่วยทั้งหมดมีอาการมึนศีรษะ ตาพร่า ปากและคอแห้ง มีอาการกระหายน้ำ ใจสั่น ปวดปัสสาวะแต่ถ่ายไม่ออก หลังจากนำน้ำล้างกระเพาะไปตรวจพบว่ามีสารคล้ายอะโทรปีนจากน้ำแกง ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับสารพิษที่พบในลำโพง[8]

การรักษาพิษลำโพง

  • ในกรณีที่รับประทานเข้าไปควรรีบขัดขวางการดูดซึมของสารพิษ ซึ่งอาจจะใช้วิธีกินผงถ่าน เพื่อช่วยลดการดูดซึมของสารพิษ แล้วให้ยาถ่าย และให้รีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการล้างท้อง[5],[6] บ้างว่าให้รับประทานชะเอมต้มรวมกับถั่วเขียว แล้วจึงรีบพาไปพบแพทย์[3]
  • ถ้าจำเป็นให้ใช้เครื่องช่วยหายใจ และให้ลดไข้โดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว[6]
  • ให้ยาไฟโซสติกมีน (Physostigmine) (เด็กให้ในขนาด 0.5-1 มิลลิกรัม ส่วนผู้ใหญ่ให้ในขนาด 1-4 มิลลิกรัม) เข้าทางหลอดเลือดอย่างช้า ๆ โดยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 นาที และขนาดยาอาจเพิ่มขึ้นได้โดยฉีดซ้ำทุก 5 นาที แต่ขนาดยาที่ใช้ทั้งหมดรวมกันแล้วจะต้องใช้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัมสำหรับเด็ก และไม่เกิน 6 มิลลิกรัมสำหรับผู้ใหญ่[6]
  • ควรมียาอะโทรปีน (Atropine) ขนาด 1 มิลลิกรัม เตรียมไว้ด้วย เพื่อใช้แก้ไขกรณีที่ให้ยาไฟโซสติกมีน (Physostimine) มากเกินไป จนทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นช้า ชัก ปรือ หลอดลมเกร็งตัวอย่างมาก[6]
  • และในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการตื่นเต้นมากและมีอาการชัก อาจให้ยาไดอะซีแพม (Diazepam) ได้ แต่ต้องระวังอย่าให้ในขนาดสูง เพราะในระยะหลังพิษของสารในกลุ่มโทรเปนอัลคาลอยด์ (Tropane alkaloids) จะกดการทำงานของสมองส่วนกลางร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้เสริมฤทธิ์กับยาไดอะซีแพม (Diazepam) ได้ และให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดเพื่อช่วยรักษาสมดุลของน้ำและอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย[5],[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ลำโพง”.  หน้า 693-695.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ลำโพง Thorn Apple”.  หน้า 99.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ลำโพง”.  หน้า 490.
  4. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ลำโพงดอกขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [30 พ.ค. 2014].
  5. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 322 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า.  (เดชา ศิริภัทร).  “ลำโพง : พิชพลังลึกลับจากอดีตสู่อนาคต”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [30 พ.ค. 2014].
  6. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ลำโพงขาว”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/.  [30 พ.ค. 2014].
  7. สมุนไพรท้องถิ่นรักษาโรค, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ.  “ลำโพง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.nectec.or.th/schoolnet/library/webcontest2003/100team/dlss019/. [30 พ.ค. 2014].
  8. สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่น.  (ประพันธ์ เชิดชูงาม, ศุภชัย รัตนมณีฉัตร).  “ลำโพง : พืชมีพิษ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: dpc6.ddc.moph.go.th.  [30 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Mayank Bhatnagar, Ray Cui, cpmkutty, Damon Taylor, thammavong viengsamone, karitsu, naturgucker.de / enjoynature.net, Joel Ignacio)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด