ลำโพงกาสลัก
ลำโพงกาสลัก ชื่อวิทยาศาสตร์ Datura metel L. (Datura metel var. fastuosa (L.) Saff.) (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Datura fastuosa L.) จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)[1],[2],[3]
สมุนไพรลำโพงกาสลัก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะเขือบ้าดอกดำ (ลำปาง), ลำโพงกาลัก (ชุมพร, สุราษฎร์ธานี), กาสลัก, ลำโพงแดง, ลำโพงดำ, ลำโพงกาสลัก (ภาคกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3]
ต้นลำโพง หลัก ๆ ในบ้านเราที่นิยมนำมาใช้ทำยาจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ลำโพงขาว (ต้นเขียว ดอกสีขาว), และลำโพงกาสลัก (ต้นสีแดงเกือบดำ ดอกสีม่วงเป็นชั้น ๆ) และในด้านการทำยาจะนิยมใช้ลำโพงกาสลักดอกสีม่วงม่วงดำ ยิ่งซ้อนชั้นมากยิ่งมีฤทธิ์แรง[3]
ลักษณะของลำโพงกาสลัก
- ต้นลำโพงกาสลัก จัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่ม ตามลำต้นและกิ่งก้านเป็นสีม่วง[1]
- ใบลำโพงกาสลัก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมนและไม่เท่ากัน ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟันห่าง ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร[1],[3]
- ดอกลำโพงกาสลัก ออกดอกเดี่ยว โดยจะออกตามซอกใบ กลีบดอกเป็นสีม่วง โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายกลีบบานเป็นรูปแตร กลีบซ้อนกัน 2-3 ชั้น ดอกยาวประมาณ 3.5-5.5 นิ้ว ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวติดกันเป็นหลอดยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวดอก[1],[3]
- ผลลำโพงกาสลัก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม มีขนาดประมาณ 1-1.5 นิ้ว ผิวเป็นขนคล้ายหนามเป็นตุ่ม เนื้ออ่อนเป็นตุ่ม ๆ รอบ ขั้วเป็นแผ่นกลมหนาริมคม ผลเป็นสีเขียวอมม่วง พอผลแห้งจะแตกออกได้ ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะกลมแบนคล้ายเมล็ดมะเขือ[1],[3]
สรรพคุณของลำโพงกาสลัก
- ดอกนำมาหั่นตากแดดผสมกับยาสูบ ใช้สูบแก้อาการหอบหืด แก้การบีบตัวของหลอดลม(ดอก)[1],[2],[3] ส่วนใบมีสรรพคุณแก้หอบหืด และขยายหลอดลม (ใบ)[3]
- รากใช้สุมให้เป็นถ่านปรุงเป็นยาแก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้เซื่องซึม (ราก)[1],[3]
- เมล็ดมีรสเมาเบื่อ นำมาคั่วให้หมดน้ำมัน ใช้ปรุงเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้กระสับกระส่าย (เมล็ด)[3]
- ใบมีรสขมเมาเบื่อ มีสรรพคุณช่วยแก้สะอึกในไข้พิษกาฬ (ใบ)[3]
- น้ำคั้นจากต้นเมื่อนำมาหยอดตาจะทำให้ม่านตาขยาย (ต้น)[3]
- ใบมีฤทธิ์กดสมอง มีสรรพคุณช่วยแก้อาการอาเจียนจากการเมารถเมาเรือ (แต่มีอาการข้างเคียงคือ ทำให้ปากและคอแห้ง) (ใบ)[3]
- ใบใช้เป็นยาทาแก้อักเสบเต้านม (ใบ)[3]
- ใบและยอดลำโพงกาสลัก มีสารอัลคาลอยด์ที่มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ ช่วยแก้อาการปวดเกร็งท้องได้ (ใบและยอด)[3]
- น้ำมันจากเมล็ดมีรสเมาเบื่อ ใช้ปรุงเป็นยาใส่แผล แก้กลากเกลื้อน หิด เหา ผื่นคัน (น้ำมันจากเมล็ด)[3]
- เมล็ดนำมาหุงทำน้ำมันใส่แผล เป็นยาแก้กลากเกลื้อนผื่นคัน (เมล็ด)[1],[2]
- ดอกตากแห้งใช้ผสมยาเส้นสูบ แก้โพรงจมูกอักเสบ และแก้ริดสีดวงจมูก (ดอก)[3]
- ใบใช้เป็นยาพอกแก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน แก้แผลเรื้อรัง ปวดแสบบวมที่แผล แก้พิษฝี และแก้พิษจากสัตว์กัดต่อย (ใบ)[3]
- ใบสดใช้ตำพอกฝี ทำให้ฝียุบ แก้ปวดบวมอักเสบ (ใบ)[1],[2],[3]
- รากมีรสหวานเมาเบื่อ ใช้ฝนทาแก้พิษร้อน ดับพิษฝี แก้ปวดบวม แก้อักเสบ (ราก)[1],[3]
- เมล็ดใช้เป็นยาทาเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย ขัดยอก ด้วยการใช้เมล็ด 30 กรัม นำมาทุบให้พอแหลก แล้วนำมาแช่กับน้ำมันพืชประมาณ 7 วัน ใช้ทาบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อยหรือขัดยอก จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ และยังใช้ใส่ฟันที่เป็นรู เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดได้ด้วย (เมล็ด)[3]
- ทุกส่วนของต้นมีฤทธิ์เป็นยาเสพติด ช่วยระงับอาการปวด และแก้อาการเกร็ง (ทั้งต้น)[1],[3]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของลำโพงกาสลัก
- ใบและยอดลำโพงมีสารอัลคาลอยด์ Hyoscine และ Hyocyamine ซึ่งมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ ใช้แก้อาการปวดท้องเกร็ง แก้หอบหืด และช่วยขยายหลอดลม[2]
- สารอัลคาลอยด์ Hyoscine มีฤทธิ์กดสมอง สามารถใช้ควบคุมอาการอาเจียนจากการเมารถได้[2]
- สารอัลคาลอยด์ Hyoscine และ Hyocyamine มีอาการข้างเคียงคือ ทำให้ปากและคอแห้ง[2]
พิษของลำโพงกาสลัก
- ผลและเมล็ดลำโพงกาสลักเป็นพิษ โดยมีสารอัลคาลอยด์ hyoscine และ hyoscyamine หากรับประทานเข้าไป อาการที่แสดงข้างต้น คือ ปากแห้ง กระหายน้ำมาก สายตาพร่ามัว ม่านตาขยายและปรับสายตาไม่ได้ ทำให้ตาไม่สู้แสง ผิวหนังร้อนแดง มีผื่นแดงตามใบหน้า คอ และหน้าออก มีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะ รู้สึกสับสน การทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ ถ้าหากได้รับมากมจะมีอาการวิกลจริต เพ้อคลั่ง เคลิ้มฝัน และมีอาการทางจิตและประสาท ตาแข็ง ตื่นเต้น หายใจได้ไม่สะดวก พูดไม่ออก หายใจได้ช้าลง ตัวเขียว เมื่อแก้พิษจนหายแล้ว จะมีอาการวิกลจริตตลอดไป เพราะรักษาไม่ค่อยหาย[3]
หมายเหตุ : เนื่องจากต้นลำโพงกาสลัก และลำโพงขาว มีสรรพคุณทางยาที่คล้ายกัน สามารถใช้แทนกันได้ อ่านสรรพคุณและพิษของลำโลงเพิ่มเติมได้ที่ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นลำโพงขาว 35 ข้อ !
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ลำโพงกาสลัก (Lam Phong Ka Salak)”. หน้า 270.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ลำโพงกาสลัก”. หน้า 99.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ลำโพง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [30 พ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Kyle Wicomb, Damon Taylor, Ahmad Fuad Morad, [╠╣♥ŃEҰ] -น้ำผึ้ง-)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)