ลางสาด
ลางสาด ชื่อสามัญ Langsat (ลานสาท), Lancet (ลานเสท), Langsium (ลานเซียม)
ลางสาด ชื่อวิทยาศาสตร์ Lansium parasiticum (Osbeck) K.C.Sahni & Bennet (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Aglaia domestica (Corrêa) Pellegr., Lansium domesticum Corrêa)[1],[2],[3] จัดอยู่ในวงศ์กระท้อน (MELIACEAE)
ผลไม้ลางสาด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า รังสาด ลังสาด รางสาด ลางสาด (ไทย), ลาซะ ดูกู (มลายู) เป็นต้น โดยชื่อ “ลางสาด” หรือ “ลังสาด” นั้นมาจากภาษามาเลย์คำว่า “Langsat”[1],[2]
ลักษณะของลางสาด
- ต้นลางสาด มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะมาลายู หมู่เกาะชวา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย[5] จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เป็นไม้ผลเมืองร้อน (ร้อนชื้น) มีลำต้นตรง สูงประมาณ 5-10 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นมุมแหลมกระจายกึ่งกลางลำต้นขึ้นไป ลักษณะปลายกิ่งตั้ง ส่วนผิวของลำต้นชั้นนอกมีสีเทาและขรุขระ เปลือกไม่หลุดออก เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยหรือในดินร่วนปนทราย เป็นต้นไม้ที่ชอบแสงแดด อากาศชื้นปานกลาง และมีน้ำปานกลาง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนแบบควั่นกิ่ง การติดตา และการต่อกิ่ง[1]
- ใบลางสาด ใบเป็นใบประกอบ เกิดสลับซ้ายขวาอยู่ต่างระนาบกัน ก้านใบกลม ลักษณะใบเป็นรูปไข่รีโค้งมน ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ ที่ผิวใบมีไขนวลปกคลุมอยู่ ใบมีสีเขียวเข้ม ด้านล่างใบมีเส้นใบนูนเด่น[1]
- ดอกลางสาด ออกดอกเป็นช่อสีขาว ดอกเกิดตามลำต้นและตามกิ่ง ลักษณะของดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ[1]
- ผลลางสาด ออกผลเป็นช่อ ๆ ผลสดมีสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีเหลือง ผลมีลักษณะกลมรี เปลือกค่อนข้างบาง ผิวละเอียด ผลอ่อนนุ่ม มียางมากเป็นสีขาวขุ่น ๆ ส่วนเนื้อในนิ่ม ฉ่ำน้ำ มีรสหวานหอมอมเปรี้ยวเล็กน้อย ในผลมีเมล็ดมาก ประมาณ 5 เมล็ด และเมล็ดมีสีน้ำตาล ลักษณะกลมแบนรี มีเปลือกหุ้มบาง ๆ ผิวเมล็ดเรียบ มีเนื้อในสีขาว มีรสฝาดและขมจัด[1],[2]
ลองกอง ลางสาด แตกต่างกันอย่างไร
- ลองกองแพงกว่าลางสาด
- ลางสาดผลมีลักษณะออกกลมรี ส่วนลองกองผลจะค่อนข้างกลม
- ลางสาดเปลือกบาง ส่วนลองกองเปลือกจะค่อนข้างหนา
- ลางสาดมีผิวละเอียด ส่วนลองกองผิวจะหยาบเล็กน้อย
- สีเปลือกของลางสาดเป็นสีเหลืองสดใส ส่วนลองกองเป็นสีเหลืองซีด
- เปลือกลางสาดมียางสีขาวขุ่น ส่วนลองกองจะไม่มียาง
- ลางสาดแกะรับประทานได้ยาก เปลือกล่อนได้ไม่ดี ส่วนลองกองแกะรับประทานได้ง่าย เปลือกล่อนออกจากเนื้อได้ดี
- ลางสาดมีผลกลมเรียบไม่มีจุก แต่ผลลองกองมีจุก
- ลางสาดมีเมล็ดมาก (ประมาณ 5 เมล็ด) ส่วนลองกองมีเมล็ดน้อยหรือไม่มีเลย
- เมล็ดของลางสาดมีรสขมมาก ส่วนลองกองเมล็ดจะไม่ขม
- เนื้อลางสาดมีรสหวานอมเปรี้ยวกว่า ส่วนลองกองมีรสหวาน
- ความหวานของลางสาดมีค่าประมาณ 15-16 องศาบริกซ์ ส่วนความหวานของลองกองจะมีค่าตั้งแต่ 16-19 องศาบริกซ์ สรุปก็คือลางสาดหวานน้อยกว่าลองกอง
- เมื่อสุก เนื้อลางสาดจะฉ่ำน้ำ ส่วนเนื้อของลองกองจะแห้งและขาวใสเป็นแก้ว
- ลางสาดมีเนื้อน้อยกว่าลองกอง
- ช่อผลของลางสาดจะสั้นกว่าช่อผลของลองกอง
- ใบของลางสาดไม่ขม แต่ใบลองกองมีรสขมจัด
- ใบลางสาดค่อนข้างเรียบ ส่วนใบของลองกองจะเป็นคลื่นใหญ่ร่องลึก
สรรพคุณของลางสาด
- เมล็ดนำมาฝนกับน้ำฝนให้ข้น ใช้เป็นยาหยอดหู แก้อาการหูอักเสบหรือเป็นฝีในหูได้ (เมล็ด)[1]
- เปลือกต้นมีรสฝาด มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (เปลือกต้น)[2]
- เปลือกต้นใช้เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ (เปลือกต้น)[1],[2]
- เปลือกผลมีสารโอเลอเรซิน ซึ่งช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง (เปลือกผล)[2]
- เปลือกผลช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเดิน ด้วยการนำเปลือกมาหั่นแล้วนำไปคั่วชงกับน้ำเดือด ใช้กินครั้งละครึ่งถ้วย (เปลือกผล)[1]
- ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ (เปลือกต้น, เมล็ด)[1],[2]
- ช่วยรักษาโรคเริม (เมล็ด)[1]
- เมล็ดช่วยรักษาโรคงูสวัด (เมล็ด)[1]
ประโยชน์ของลางสาด
- โดยทั่วไปจะนิยมใช้รับประทานเป็นผลไม้สด ให้รสหวานอร่อย อีกทั้งยังมีคุณค่าทางอาหาร โดยเนื้อลางสาดจะประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรต เส้นใยอาหาร โปรตีน ธาตุแคลเซียม ธาตุเหล็ก ธาตุฟอสฟอรัส วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินซี[1]
- เมล็ดของลางสาดมีสารอัลคาลอยด์ (Acid Alkaloid) ซึ่งเป็นพิษกับหนอนและแมลง สามารถนำมาใช้ทำเป็นยาฉีดพ่นกำจัดแมลงได้ โดยใช้เมล็ดลางสาดจำนวนครึ่งกิโลกรัมนำมาบดให้ละเอียด ใช้ผสมกับน้ำประมาณ 20 ลิตรแล้วแช่ทิ้งไว้ 1 วัน หลังจากนั้นนำมากรองเอาแต่น้ำแล้วนำมาใช้ฉีดพ่นตามแปลงผัก[4]
- เปลือกผลแห้ง เมื่อนำมาเผาจะมีกลิ่นเหม็นสามารถนำมาใช้ไล่ยุงได้[1]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลลองกอง ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.longkong.ist.cmu.ac.th. [16 พ.ย. 2013].
- รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “เรื่อง ลางสาด“. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2549. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [16 พ.ย. 2013].
- ฐานข้อมูลการเกษตร ของประเทศไทย. อรรถาภิธานศัพท์เกษตรไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pikul.lib.ku.ac.th. [16 พ.ย. 2013].
- OkNation. “ผลิตพืชอินทรีย์ / สมุนไพรกำจัดโรคและแมลง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.oknation.net. [16 พ.ย. 2013].
- โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.skns.ac.th. [16 พ.ย. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by thaieyes, redsummer, arditpg, Yeoh Thean Kheng, Starr Environmental, sm_forestgarden, vicequeenmaria)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)