รุ่งอรุณ
รุ่งอรุณ ชื่อสามัญ Chinese trumpet vine
รุ่งอรุณ ชื่อวิทยาศาสตร์ Campsis grandiflora (Thunb.) K. Schum. จัดอยู่ในวงศ์ BIGNONIACEAE เช่นเดียวกับแคหางค่าง แคทะเล แคนา แคแสด แคหัวหมู น้ำเต้าต้น ปีบ เพกา และไส้กรอกแอฟริกา โดยต้นรุ่งอรุณนั้นยังมีชื่ออื่นอีกว่า “มธุรดา“[1]
ต้นรุ่งอรุณ จัดเป็นพันธุ์ไม้เลื้อยพื้นเมืองของประเทศจีนตอนใต้ ซึ่งแต่เดิมรุ่งอรุณนั้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bignonia grandiflora Thunb. และต่อมาได้ถูกจัดให้อยู่ในสกุล Campsis โดยชื่อสกุลที่ว่า “Campsis” นั้นแปลว่า โค้งงอ ซึ่งมาจากภาษากรีกคำว่า “Kampe” สื่อถึงพืชที่ลักษณะเป็นหลอดยาวและโค้ง ส่วนชื่อชนิดที่ว่า “Grandiflora” นั้นมีความว่า “ดอกขนาดใหญ่” ซึ่งมาจากภาษาละติน[2]
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าต้นรุ่งอรุณและต้นมธุลดาเคยเป็นพืชชนิดเดียวกันมาก่อน เพราะเดิมแล้วอยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีที่ว่าพื้นที่ทางเอเชียตะวันออกและทวีปอเมริกาเหนือเคยเชื่อมติดกัน และต่อมาเมื่อเกิดช่องแคบเบริง จึงทำให้วิวัฒนาการแยกเป็นไม้ต่างชนิดกัน[2]
ลักษณะของต้นรุ่งอรุณ
- ต้นรุ่งอรุณ จัดเป็นไม้เลื้อย สามารถเลื้อยไปได้ไกลถึง 6 เมตร มีรากพิเศษที่ออกเป็นกระจุกอยู่รอบข้อ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำกิ่ง เป็นต้นไม้ที่ชอบแสงแดดจัด ดินร่วนและระบายน้ำได้ดี จึงควรปลูกในบริเวณที่มีแสงแดดจัด เพราะจะช่วยทำให้ดอกดกและออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1],[2]
- ใบรุ่งอรุณ มีใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ มีใบย่อยประมาณ 4-5 คู่ ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเป็นหยักแบบฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกรุ่งอรุณ ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงสั้น โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายยอด ดอกเป็นสีส้มอมสีแดง แต่ละช่อมีดอกย่อยประมาณ 4-10 ดอก แต่ละดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง มีความยาวประมาณ 3.2-3.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายแผ่ออกเป็นกลีบ 5 กลีบ ขอบกลีบดอกหยักเล็กน้อย แต่ละดอกมีเกสรตัวผู้ 4 อัน ส่วนรังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ และมักไม่ค่อยติดผล[1],[2]
- ผลรุ่งอรุณ ผลมีลักษณะเป็นฝักยาว ฝักอ่อนเป็นสีเขียว ภายในผลมีเมล็ดลักษณะแบนและมีปีก
ประโยชน์ของต้นรุ่งอรุณ
- ต้นรุ่งอรุณมีประโยชน์ด้านสมุนไพร โดยพบว่าในประเทศจีนมีการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรสำหรับขับเสมหะ[2]
- นอกจากจะใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว ยังมีการนำมาปลูกเพื่อเป็นไม้สำหรับให้ร่มเงาได้เป็นอย่างดี และปลูกเป็นไม้ประดับได้ด้วย เนื่องจากดอกมีขนาดใหญ่และมีสีสันสวยงาม[2]
เอกสารอ้างอิง
- สวนหลวง ร.๙. “รุ่งอรุณ“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: suanluangrama9.or.th. [29 ธ.ค. 2013].
- วารสาร อพวช. “งามพรรณพฤกษา ชุดวัลยชาติ ตอน รุ่งอรุณ“. (สราวุธ สังข์แก้ว, อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์).
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by P.O.L.2010, lika2009 (in the U.S.A.), Jim’s Plants, Vietnam Plants & The USA. plants, Babij, joka2000, shiro’s, yori_1, yopparainokobito, douneika, Fomal Haut)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)