ริดสีดวงตา (Trachoma) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคริดสีดวงตา 5 วิธี !!

ริดสีดวงตา (Trachoma) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคริดสีดวงตา 5 วิธี !!

ริดสีดวงตา

ริดสีดวงตา (Trachoma) เป็นโรคตาอักเสบเรื้อรังที่มักพบได้ในพื้นที่ที่แห้งแล้ง กันดาร มีฝุ่นมาก และมีแมลงหวี่/แมลงวันชุกชุม ซึ่งการอักเสบจะเกิดขึ้นเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี และอาจติดเชื้ออักเสบซ้ำ ๆ หลายครั้ง เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้มักมีอยู่เพียงชั่วคราว

ริดสีดวงตาเป็นโรคที่พบได้ในคนทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ พบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้หญิงมักคลุกคลีอยู่กับเด็ก และพบได้มากในเด็กอายุ 3-5 ปี หรือเด็กก่อนวัยเรียนที่พ่อแม่ปล่อยให้เล่นสกปรกทั้งวัน

โรคนี้ในอดีตเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เคยเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ประชากรโลกตาบอดได้ถึง 15% แต่ในปัจจุบันคาดว่าคงเหลือเพียง 2% ส่วนในประเทศไทย โรคนี้แทบจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป แต่ก็ยังคงพบได้บ้างทางภาคอีสาน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ โดยสาเหตุที่พบโรคนี้ได้ลดลงที่สำคัญ ได้แก่

  1. สุขอนามัยที่ดี เพราะในปัจจุบันประชาชนมีสุขอนามัยที่ดีขึ้นจากการมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ จึงทำให้มีการใช้น้ำล้างหน้าให้สะอาดอยู่เสมอ จึงมีโอกาสเกิดโรคได้น้อยลง นอกจากนี้ การมีส้วมอย่างทั่วถึง ก็ทำให้แมลงวันที่เป็นพาหะน้ำเชื้อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งลดจำนวนลงมาก จึงทำให้การแพร่กระจายเชื้อของโรคนี้ลดลงอย่างมาก
  2. สังคมเมือง การที่ประชาชนย้ายไปอยู่เมืองใหญ่ที่มีสาธารณูปโภคที่ดี ส่วนเมืองเล็ก ๆ ก็เจริญขึ้นมาก นำมาซึ่งถนนหนทาง ไฟฟ้า และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น การมีโทรศัพท์ การรู้จักใช้เตาหุงหาอาหารที่ไม่มีควัน การรู้จักใช้น้ำร้อน การลดฝุ่นละออง การขนย้ายสัตว์เลี้ยงให้อยู่ไกลบ้าน การมีตำราทางจักษุให้อ่าน หรือแม้แต่การควบคุมประชากร การแยกห้องนอน ไม่นอนรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ ตลอดจนมีการศึกษาที่ดีขึ้น เหล่านี้จึงทำให้พบโรคนี้ได้น้อยลงมาก
  3. การใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นที่ทราบกันว่า เชื้อก่อโรคริดสีดวงตาเป็นเชื้อแบคทีเรียที่จะถูกทำลายได้ง่ายด้วยยาปฏิชีวนะ การใช้ยาเหล่านี้ในการรักษาโรคจึงทำให้ฆ่าเชื้อริดสีดวงตาไปได้โดยปริยาย
  4. ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ข้ามสายพันธุ์ (Cross immunity) มีการศึกษาพบว่าในกลุ่มโรคที่เกิดจากเชื้อคลามีเดีย (Chlamydia) ซึ่งรวมถึงโรคนี้ อาจทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อโรคอื่นที่เกิดจากเชื้อในกลุ่มเดียวกันได้ เช่น ผู้ที่ได้รับเชื้อหรือเป็นวัณโรคจะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคเรื้อนด้วย หรือผู้ป่วยโรคทางเดินปัสสาวะและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่บางโรคเกิดจากเชื้อกลุ่มเดียวกันกับโรคริดสีดวงตา เมื่อเป็นโรคดังกล่าวก็อาจทำให้มีภูมิต้านทานต่อโรคริดสีดวงตาไปด้วย

หมายเหตุ : คำว่า “ริดสีดวงตา” ชาวบ้านมักหมายถึงอาการเคืองตา คันตาเรื้อรัง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการแพ้หรือจากการติดเชื้อริดสีดวงตาก็ได้ ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้จะมีสาเหตุ อาการ ภาวะแทรกซ้อน และวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป

สาเหตุของโรคริดสีดวงตา

  • เชื่อที่เป็นสาเหตุ : เกิดจากการติดเชื้อริดสีดวงซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “คลามีเดียทราโคมาติส” (Chlamydia trachomatis) ซึ่งเป็นเชื้อสายพันธุ์ย่อยในกลุ่มใหญ่ที่เรียกว่ากลุ่ม “คลามีเดีย” (Chlamydia) ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่มย่อย คือ กลุ่ม Trachomatis (เป็นกลุ่มที่มีอีกหลายกลุ่มย่อย ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่เป็นสาเหตุของโรคริดสีดวงตาด้วย), กลุ่ม Pneumonial (ทำให้เกิดโรคต่อทางเดินหายใจ) และกลุ่ม Psittaci (ทำให้เกิดโรคในสัตว์)
  • การติดต่อ : โรคนี้สามารถติดต่อกันได้โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งวิธีการติดต่อที่สำคัญ คือ
    1. การสัมผัสขี้ตาหรือสารคัดหลั่ง (เช่น น้ำมูก เสมหะ หนอง) จากตา ลำคอ และ/หรือจมูกของผู้ที่มีเชื้อ
    2. ติดต่อผ่านทางแมลงวันหรือแมลงหวี่ที่มาตอมตา แล้วนำเชื้อจากคนติดเชื้อไปสู่คนปกติ (เชื้อจากคนที่เป็นโรคจะแพร่ไปเข้าตาของอีกคนหนึ่ง) จึงมักพบเป็นพร้อมกันหลายคนในครอบครัวหรือชุมชนเดียวกัน โดยเฉพาะทางภาคอีสาน ในพื้นที่แห้งแล้ง กันดาร มีฝุ่นมาก มีแมลงหวี่ แมลงวันชุกชุม
    3. บางครั้งอาจติดต่อผ่านเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ใช้ร่วมกัน เช่น ทางผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าเช็ดตัวที่ใช้ร่วมกัน รวมไปถึงการว่ายน้ำในแหล่งน้ำเดียวกับผู้ติดเชื้อ
      อย่างไรก็ตาม การติดต่อมักจะต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นเวลานาน ๆ จึงมักพบเป็นโรคนี้พร้อมกันหลายคนในครอบครัวเดียวกัน
  • ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค : ได้แก่ สภาพแวดล้อมที่แออัด, การนอนรวมกันในห้องหลายคน, การขาดแคลนน้ำสะอาด, ขาดห้องน้ำที่สะอาด, ขาดอุปกรณ์สำหรับทำความสะอาด, มีแมลงวันจำนวนมาก, ระบบสาธารณสุขไม่ดี เป็นต้น
  • การเกิดโรค : เชื้อนี้จะเข้าไปทำให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุตาขาวและตาดำ (กระจกตา)
  • ระยะเวลาฟักตัว (ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งแสดงอาการ) : ประมาณ 5-12 วัน

อาการของโรคริดสีดวงตา

อาการของโรคนี้แบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะแรกเริ่มที่เยื่อบุตาอักเสบ หลังได้รับเชื้อประมาณ 5-12 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเคืองตา (รู้สึกคล้ายมีผงอยู่ในตา) คันตา น้ำตาไหล ตาแดงเล็กน้อย และอาจมีขี้ตา ซึ่งมักจะเป็นกับตาทั้ง 2 ข้าง ในระยะนี้แม้จะไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยบางรายก็อาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเข้าสู่ระยะที่ 2 (อาการในระยะนี้จะคล้ายคลึงกับโรคเยื่อตาขาวอักเสบจากเชื้ออื่น ๆ จนบางครั้งอาจแยกจากกันไม่ออก อย่างไรก็ตาม ถ้าพบว่ามีอาการดังกล่าวเรื้อรังนาน 1-2 เดือน และอยู่ในท้องถิ่นที่มีโรคนี้ชุกชุมหรือมีคนในบ้านเป็นโรคนี้อยู่ก่อนแล้ว แพทย์มักให้การรักษาแบบโรคริดสีดวงตาไปเลย)

    ริดสีดวงตาการรักษา
    IMAGE SOURCE : visionforethiopia.orbis.org, vrachfree.com

  2. ระยะที่เป็นริดสีดวงแน่นอนแล้ว ในระยะนี้การอักเสบจะน้อยลง ผู้ป่วยจะมีอาการต่าง ๆ ลดลงกว่าระยะแรก ๆ แต่ถ้าพลิกเปลือกตาดูจะพบว่า เยื่อบุตาหนาขึ้นและเห็นเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีเหลืองที่เยื่อบุตาด้านบน (ด้านในของผนังตาบน) นอกจากนี้จะพบว่ามีแผ่นเยื่อบาง ๆ ออกสีเทา ๆ ที่ส่วนบนสุดของตาดำ (กระจกตา) ซึ่งจะมีหลอดเลือดฝอยวิ่งเข้าไปในตาดำ ซึ่งแผ่นเยื่อสีเทาซึ่งมีหลอดเลือดฝอยอยู่ด้วยนี้เรียกว่า “แพนนัส” (Pannus) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคริดสีดวงตา เพราะในคนปกติจะไม่มีหลอดเลือดฝอยจากเยื่อบุตา (ตาขาว) เข้าสู่ตาดำเลย (โรคเยื่อตาขาวอักเสบจากการแพ้อาจมีตุ่มเล็ก ๆ ตรงที่เยื่อบุตาเปลือกตา แต่จะไม่มีแพนนัสอยู่ที่ตาดำเหมือนโรคริดสีดวงตา) ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจเป็นอยู่นานเป็นแรมเดือนหรือแรมปี และหากไม่ได้รับการรักษาก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3

    ริดสีดวงตาอาการ
    IMAGE SOURCE : www.cehjournal.org, www.hindawi.com

    รูปริดสีดวงตา
    IMAGE SOURCE : medicforyou.blogspot.com, chlamydiae.com

  3. ระยะเริ่มเป็นแผลเป็น ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการเคืองตาลดน้อยลงมากจนแทบจะไม่มีอาการอะไรเลย ส่วนตุ่มเล็ก ๆ ที่เยื่อบุเปลือกตาบนจะค่อย ๆ เริ่มยุบหายไป แต่จะมีพังผืดเข้ามาแทนที่กลายเป็นแผลเป็น (หากเป็นนานเข้าบริเวณที่เป็นตุ่มเล็ก ๆ จะกลายเป็นเส้นพังผืดเกิดเป็นแผลเป็น มีลักษณะเป็นเส้นขวางสลับกับตุ่ม) ส่วนแพนนัสที่ตาดำนั้นก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เช่นเดิม ในระยะนี้อาจกินเวลาเป็นแรมปีเช่นเดียวกับระยะที่ 2 การใช้ยารักษาในระยะนี้มักจะไม่ค่อยได้ผล และจะเข้าสู่ระยะที่ 4

    อาการริดสีดวงตา
    IMAGE SOURCE : www.flickr.com (by Community Eye Health), chlamydiae.com

  4. ระยะของการหายและเป็นแผลเป็น ในระยะนี้เชื้อจะหมดไปเอง แม้ผู้ป่วยจะไม่ได้รับการรักษาก็ตาม และแพนนัสก็ค่อย ๆ หาย แต่ผู้ป่วยก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ (ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน มักจะมีการติดเชื้ออักเสบบ่อย ๆ ประกอบกับมีปัจจัยเสริมอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม การขาดอาหาร การขาดวิตามิน เป็นต้น)

โรคนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นกันรุนแรงทุกราย ผู้ป่วยบางรายเมื่อเป็นแล้วอาจหายได้เองในระยะแรก ๆ แม้จะไม่ได้รับการรักษาก็ตาม

อนึ่ง องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แบ่งระดับความรุนแรงของโรคริดสีดวงตาออกเป็น 5 ระดับ (Grade) คือ

  • ระดับ 1 (Trachomatous Inflammation Follicular – TF) มีตุ่มเล็ก ๆ ที่เยื่อบุตาบน

ริดสีดวงตาระดับ 1 (Trachomatous Inflammation Follicular - TF)
IMAGE SOURCE : www.ncbi.nlm.nih.gov

  • ระดับ 2 (Trachomatous Inflammation – TI) เยื่อบุตาทั่ว ๆ ไป แดง อักเสบ

ริดสีดวงตาระดับ 2 (Trachomatous Inflammation - TI)
IMAGE SOURCE : www.ncbi.nlm.nih.gov

  • ระดับ 3 (Trachomatous Scarring – TS) มีแผลเป็นที่เยื่อบุตาใต้หนังตาบน

ริดสีดวงตาระดับ 3 (Trachomatous Scarring - TS)
IMAGE SOURCE : www.ncbi.nlm.nih.gov

  • ระดับ 4 (Trachomatous Trichiasis – TT) มีขนตาเก คือ ขนตาเกเข้าด้านในไปถูกเยื่อบุตาและกระจกตา

ริดสีดวงตาระดับ 4 (Trachomatous Trichiasis - TT)
IMAGE SOURCE : www.ncbi.nlm.nih.gov

  • ระดับ 5 (Corneal Opacity – CO) มีฝ้าขาวที่กระจกตา (ตาดำ)

ริดสีดวงตาระดับ 5 (Corneal Opacity - CO)
IMAGE SOURCE : www.ncbi.nlm.nih.gov

การวินิจฉัยโรคริดสีดวงตา

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้โดยอาศัยประวัติว่า ผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้ ร่วมกับการตรวจพบลักษณะอาการสำคัญ คือ ตุ่มเล็ก ๆ ที่เยื่อบุตาบน (Follicle), แผ่นเยื่อสีเทา (Pannus) ที่ส่วนบนของตาดำ, รอยแผลเป็นที่เยื่อบุเปลือกตาบน (เส้นพังผืด)

โรคนี้ควรแยกออกจากโรคเยื่อตาขาวอักเสบชนิดอื่น ๆ เช่น เยื่อตาขาวอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย, เยื่อตาขาวอักเสบจากเชื้อไวรัส, เยื่อตาขาวอักเสบจากการแพ้ เป็นต้น และควรสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นโรคริดสีดวงตา ถ้าผู้ป่วยมีอาการอักเสบอย่างเรื้อรังนานเป็นเดือน ๆ และอยู่ในท้องถิ่นที่มีโรคนี้ชุกชุม

ภาวะแทรกซ้อนของโรคริดสีดวงตา

  • หากไม่ได้รับการรักษา แผลเป็นที่บริเวณเปลือกตาบนจะดึงรั้งให้เปลือกตาม้วนเข้าด้านใน เรียกว่า “อาการขอบตาม้วนเข้า” (Entropion) ทำให้ขนตาแยงเข้าด้านในไปถูกกระจกตา เกิดการอักเสบและเป็นแผลกระจกตา ทำให้สายตาพิการได้
  • แผลเป็นอาจอุดกั้นท่อน้ำตา ทำให้น้ำตาไหลตลอดเวลา หรือไม่ก็อาจทำให้ต่อมน้ำตาไม่ทำงานและตาแห้งได้
  • อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดแผลกระจกตาและความเรื้อรังของโรค

วิธีรักษาโรคริดสีดวงตา

  1. เมื่อมีอาการทางดวงตาดังกล่าวในหัวข้ออาการ โดยเฉพาะเมื่ออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค หรือเมื่อกลับจากการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น ควรรีบไปพบแพทย์หรือจักษุแพทย์เสมอ ไม่ควรรักษาด้วยตัวเอง และเมื่อได้พบแพทย์แล้วให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
  1. หากตรวจพบว่าเป็นโรคริดสีดวงตา แพทย์จะให้รับประทานยาปฏิชีวนะเตตราไซคลีน (Tetracycline) ขนาด 250 มิลลิกรัม ครั้งละ 1-2 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน หรือให้รับประทานยาปฏิชีวนะดอกซีไซคลีน (Doxycycline) ครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันนาน 4 สัปดาห์ (ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร และในผู้ที่แพ้ยาปฏิชีวนะดังกล่าว แพทย์จะให้รับประทานยาปฏิชีวนะอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ขนาด 250 มิลลิกรัม ครั้งละ 1-2 แคปซูล วันละ 4 ครั้งแทน) นอกจากนี้ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคริดสีดวงตา แพทย์จะให้ยาป้ายตาปฏิชีวนะเตตราไซคลีน (Tetracycline) หรือยาป้ายตาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ไปใช้ร่วมด้วย โดยให้ใช้ป้ายตาทุก ๆ เดือน เดือนละ 5 วันติดต่อกัน วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น
    • ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ให้รับประทานยาในกลุ่มเตตราไซคลีน (Tetracycline) วันละ 1,500-2,000 มิลลิกรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ และให้ใช้ยาป้ายตาปฏิชีวนะร่วมด้วยวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน (แต่หากผู้ป่วยแพ้ยาในกลุ่มเตตราไซคลีนให้ใช้ยาอิริโทรมัยซินแทน)
    • ในปัจจุบันแพทย์บางท่านอาจแนะนำให้ใช้ยาอะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) เพียงครั้งเดียวแทนก็ได้ หรือบางครั้งแม้แต่ยาซัลฟา (Sulfa drugs) ก็ใช้ได้เหมือนกัน
  2. ที่สำคัญคือควรให้การรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในบ้านไปด้วยพร้อมกันทุกคน
  3. ถ้าให้ยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ หรือแพทย์ไม่แน่ใจในการวินิจฉัย แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การเพาะเชื้อคลามีเดียในเซลล์ การขูดเยื่อบุตาย้อมส่วนด้วย Geimsa stain หรือ Immunofluorescein เป็นต้น และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
  4. ในรายที่ภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล โดยในผู้ป่วยที่มีภาวะตาแห้งแพทย์จะให้ใช้น้ำตาเทียมร่วมด้วย และอาจต้องทำการผ่าตัดแก้ไขเปลือกตาที่เป็นแผลเป็น ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุของภาวะแทรกซ้อนในภายหลัง ส่วนในรายที่เป็นแผลเป็นที่กระจกตา อาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา

การรักษาโรคริดสีดวงตา จะต้องรีบรักษาตั้งแต่ในระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นระยะที่มีการติดเชื้อรุนแรง เพราะการให้ยาปฏิชีวนะดังกล่าวจะสามารถทำลายเชื้อและป้องกันมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ แต่เมื่อมารักษาล่าช้าในระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นระยะที่การติดเชื้อเบาบางลงแล้ว และเปลือกตาเริ่มเป็นแผลเป็น การใช้ยาปฏิชีวนะในระยะนี้จึงไม่ค่อยได้ประโยชน์ คือ ไม่สามารถลดหรือป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้

วิธีป้องกันโรคริดสีดวงตา

แม้ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคริดสีดวงตา แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ดังแนวทางต่อไปนี้

  1. รักษาความสะอาดของใบหน้าเสมอด้วยการล้างหน้าด้วยน้ำสะอาดและสบู่ โดยเฉพาะในเด็ก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงหวี่หรือแมลงวันตอมตา ซึ่งเป็นทางติดต่อและแพร่กระจายของโรคทางหนึ่ง
  2. ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นฝุ่นละอองหรือเล่นสกปรกทั้งวัน
  3. กำจัดหรือลดปริมาณของแมลงวันและแมลงหวี่ โดยการกำจัดขยะอย่างถูกวิธีและไม่ทิ้งขยะไว้ใกล้บ้าน
  4. ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว
  5. ใช้น้ำสะอาดและมีน้ำสะอาดไว้ใช้อย่างเพียงพอในกิจวัตรส่วนตัว
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ริดสีดวงตา (Trachoma)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 937-939.
  2. หาหมอดอทคอม.  “ริดสีดวงตา (Trachoma)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [16 ธ.ค. 2016].
  3. Siamhealth.  “ริดสีดวงตา Trachoma”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [17 ธ.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด