ริดสีดวงจมูก
ริดสีดวงจมูก หรือ เนื้องอกในจมูก หรือ ติ่งเนื้อเมือกจมูก (Nasal polyps) คือ เนื้อเมือก (Polyp) ของเยื่อจมูก มักเป็นทั้งสองข้างและไม่มีอันตรายร้ายแรง ยกเว้นถ้าก้อนโตมากจะทำให้หายใจไม่สะดวกและสูญเสียความรู้สึกในการรับรู้กลิ่น
ริดสีดวงจมูกเป็นก้อนเนื้อเมือกในโพรงจมูกชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดและเป็นโรคทางจมูกและไซนัสที่สร้างปัญหาให้กับตัวผู้ป่วยและแก่แพทย์ผู้ทำการรักษา ในเรื่องของการกลับมาเป็นซ้ำและการเกิดไซนัสอักเสบร่วมด้วย เพราะผู้ป่วยบางรายได้รับการผ่าตัดหลายครั้งก็ยังอาจเกิดเป็นซ้ำได้อีก
โรคนี้สามารถพบได้ในคนทุกวัย พบได้บ่อยในคนอายุมากกว่า 40 ปี และในผู้ที่เป็นโรคหืด หวัดภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ในเพศชายจะมีอัตราส่วนของการพบมากกว่าเพศหญิง จากการศึกษาถึงอุบัติการณ์ของริดสีดวงจมูกพบว่า มีอัตราแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะของกลุ่มประชากรที่นำมาศึกษาและวิธีที่ใช้ในการวินิจฉัย แต่เท่าที่เคยมีรายงานในต่างประเทศพบโรคนี้ได้ประมาณ 1-6.2% ของประชากรทั่วไป ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการสำรวจ แต่พบว่าในระหว่างปี พ.ศ. 2540-2542 ที่แผนกผู้ป่วยนอก ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา โรงพยาบาลศิริราช พบผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้คิดเป็น 2.6% ของผู้ป่วยหู คอ จมูก ทั้งหมด และส่วนใหญ่จะพบได้มากในผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 20-40 ปี ส่วนในเด็กนั้นพบได้น้อยมาก
สาเหตุของริดสีดวงจมูก
สาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของโพรงจมูก-ไซนัส อาจเกิดจากสาเหตุอะไรก็ได้ หรืออาจอยู่ในกลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ แต่โดยทั่วไปแล้วริดสีดวงจมูกมักเกิดจากสาเหตุหลายอย่างร่วมกัน ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง โดยปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดริดสีดวงจมูก ได้แก่ การอักเสบและการติดเชื้อ, ลักษณะทางกายวิภาคในโพรงจมูก, ระบบประสาทและหลอดเลือด, ปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ไซนัสอักเสบ, ภาวะภูมิแพ้ (พบว่าผู้ที่มีอาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้จะตรวจพบริดสีดวงจมูกร้อยละ 0.5-4.5), โรคหอบหืด (พบว่าผู้ที่เป็นหอบหืดมีริดสีดวงจมูกได้ร้อยละ 7), ภาวะไวต่อยาแอสไพริน (ผู้ที่มีภาวะไวต่อยาแอสไพรินจะมีริดสีดวงจมูกได้ร้อยละ 36-96), เชื้อรา (มีความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อราและริดสีดวงจมูกในกลุ่มอาการย่อยของโรคไซนัสจากเชื้อรา), โรคซิสติกไฟโบรซิส (พบริดสีดวงจมูกได้สูงถึงร้อยละ 20-37 และมักพบในผู้ป่วยที่อายุน้อย), กรรมพันธุ์ (พบว่าผู้ที่มีริดสีดวงจมูกมีประวัติในครอบครัวสูงถึงร้อยละ 52), ผู้ที่มีความผิดปกติของการเคลื่อนไหวของขนเล็ก ๆ ที่อยู่ที่เยื่อบุผิว, ผู้ที่มีความผิดปกติของการขับเกลือแร่ของเซลล์ทำให้มีน้ำเมือกที่เหนียวข้น, ความผิดปกติของกระแสลมที่ผ่านเข้าไปในบริเวณที่เป็นต้นตอของริดสีดวงจมูก ได้แก่ บริเวณโพรงจมูกส่วนกลางและบริเวณรูเปิดของไซนัส, สภาพแวดล้อม (ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสภาพแวดล้อมจะมีผลต่อการเกิดริดสีดวงจมูกหรือไม่ แต่มีรายงานว่าการใช้เตาฟืนให้ความอบอุ่นในบ้านอาจมีความสัมพันธ์กับริดสีดวงจมูก) เป็นต้น
อาการของริดสีดวงจมูก
เมื่อก้อนริดสีดวงจมูกหรือติ่งเนื้อเมือกมีขนาดโตขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูก แน่นจมูก หายใจไม่สะดวก พูดเสียงขึ้นจมูก ซึ่งเป็นเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี (เมื่อก้อนริดสีดวงจมูกมีขนาดโตขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูกมากขึ้นจนทำให้เกิดการนอนกรนเพิ่มขึ้นและเกิดความผิดปกติของการนอน จากนั้นจะมีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำและมีผลต่อคุณภาพชีวิตในเวลาต่อมา) ในบางครั้งผู้ป่วยอาจไม่มีความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นหรือได้รับกลิ่นน้อยลง หรืออาจมีอาการจามหรือน้ำมูกได้ ซึ่งอาจมีลักษณะใส ขุ่นข้น เหนียว หรือมีสีเหลืองเขียว ถ้าก้อนริดสีดวงจมูกอุดกั้นรูเปิดของไซนัสก็อาจทำให้เกิดอาการปวดที่หัวคิ้วหรือโหนกแก้มได้เช่นเดียวกับไซนัสอักเสบ
ในรายที่มีไซนัสอักเสบร่วมด้วยมักมีอาการปวดใบหน้าบริเวณไซนัสที่อักเสบ (เช่น ปวดตื้อบริเวณโหนกแก้มหรือสันจมูก) ปวดหรือมึนศีรษะ มีน้ำมูกเป็นหนองออกข้นเหลืองหรือเขียว หรือมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวไหลจากด้านหลังจมูกลงในคอ อาจมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ปวดหู หายใจมีกลิ่นเหม็น ความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง
ส่วนอาการแสดงของโรคริดสีดวงจมูกพบว่า ผู้ป่วยมักมีก้อนริดสีดวงจมูกหลายก้อน และมักพบขึ้นทั้ง 2 ข้างของโพรงจมูก ก้อนริดสีดวงจมูกจะมีลักษณะเฉพาะคือ เป็นก้อนเนื้อนุ่ม ผิวค่อนข้างเรียบใส มีสีขาวเทาหรือสีออกขาวเหลือง ออกซีด ๆ ขุ่น ๆ ในรายที่ริดสีดวงจมูกโตมากอาจห้อยลงมาทางด้านหน้าของโพรงจมูก ทำให้เห็นเป็นก้อนจุกอยู่ที่รูจมูกได้ หรือบางรายก้อนริดสีดวงอาจยื่นมาทางด้านหลังของโพรงจมูก ถ้าก้อนใหญ่มากก็อาจทำให้เห็นเป็นก้อนย้อยลงไปในคอได้
ภาวะแทรกซ้อนของริดสีดวงจมูก
- ส่วนมากจะทำให้มีอาการแน่นจมูกน่ารำคาญ บางรายอาจมีไซนัสอักเสบแทรกซ้อน
- ทำให้เกิดการผิดรูปของจมูก เช่น สันจมูกกว้าง (Widening of nasal bridge) ที่เกิดจากการเป็นริดสีดวงจมูกนาน ๆ และมี pressure effect ต่อกระดูกจมูกและใบหน้า โดยมีรายงานว่า ริดสีดวงจมูกอาจทำให้เกิดการทำลายของกระดูกในโพรงจมูกได้
- ริดสีดวงจมูกไปอุดตันทางเดินหายใจส่วนต้น และในบางรายอาจเกิดปัญหาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive sleep apnea) แทรกซ้อนได้
การวินิจฉัยโรคริดสีดวงจมูก
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคริดสีดวงจมูกได้จากอาการที่แสดงดังกล่าว โดยแพทย์จะตรวจภายในโพรงจมูก-หลังโพรงจมูกโดยการใช้เครื่องมือถ่างรูจมูกด้านหน้า (อาจร่วมกับการใส่ยาทำให้เยื่อบุโพรงจมูกยุบบวม) และใช้ไฟฉายส่องดูหรือใช้กระจกส่องตรวจหลังโพรงจมูกทางด้านหลัง ซึ่งถ้าริดสีดวงจมูกมีขนาดใหญ่จะสามารถตรวจพบได้โดยง่าย (มักจะพบติ่งเนื้อเมือกค่อนข้างใสอุดกั้นอยู่ในรูจมูก) แต่ในรายที่ก้อนเนื้อมีขนาดเล็กก็จำเป็นต้องใช้กล้องเทโลสโคปขนาดเล็กส่องเข้าไปตรวจดูในโพรงจมูก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในแต่ละรายไป
โรคนี้ควรแยกออกจากการเป็นหวัดคัดจมูก จากโรคภูมิแพ้ กล่าวคือ โรคหวัดภูมิแพ้จะทำให้มีอาการคัดจมูก คันจมูก จาม และมีน้ำมูกใส ๆ ไหลออกมาเป็นชั่วครั้งชั่วคราวเวลาถูกฝุ่นหรือถูกความเย็น แต่จะไม่มีอาการคัดแน่นจมูกตลอดเวลาเหมือนโรคริดสีดวงจมูก และเมื่อรับประทานยาแก้แพ้ เช่น ยาเม็ดคลอร์เฟนิรามีน อาการก็จะทุเลาไปได้เป็นพัก ๆ ถ้าใช้ไฟส่องดูรูจมูก บางครั้งอาจมองเห็นมีก้อนบวมเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีกอยู่ทางด้านข้างของจมูกและไม่อุดตันเต็มรูจมูกไปทั้งหมดเหมือนกับโรคริดสีดวงจมูก แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าสงสัยว่ามีก้อนเนื้องอกในจมูกก็ควรไปให้หมอตรวจดูให้แน่ชัด เพราะถ้าเป็นโรคริดสีดวงจมูกจริง ๆ และหากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาก็อาจทำให้มีโรคไซนัสอักเสบแทรกซ้อนได้
วิธีรักษาริดสีดวงจมูก
การรักษาริดสีดวงจมูก มีเป้าหมายเพื่อกำจัดหรือทำให้ริดสีดวงจมูกมีขนาดเล็กลง ทำให้จมูกโล่งขึ้นและหายใจทางจมูกได้ตามปกติ ไม่มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล คัน จาม หรือเสมหะไหลลงคอ ผู้ป่วยสามารถกลับมาดมกลิ่นได้ตามปกติ และเพื่อรักษาไซนัสอักเสบ (ถ้ามี) รักษาโรคอื่น ๆ ที่เกิดร่วมกับริดสีดวงจมูก หรือภาวะที่เป็นปัจจัยเสริมหรืออาจเป็นสาเหตุของการเกิดริดสีดวงจมูก เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก หากสงสัยว่าเป็นริดสีดวงจมูกควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยทั่วไปแพทย์จะให้การรักษาริดสีดวงจมูกด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูก ในรายที่พบว่าริดสีดวงจมูกมีขนาดเล็ก รักษาด้วยการใช้สเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูก ซึ่งได้ผลดีและปลอดภัย สามารถช่วยลดการอักเสบ ช่วยลดขนาดและป้องกันไม่ให้ริดสีดวงจมูกมีขนาดโตขึ้น อาจช่วยให้ก้อนริดสีดวงฝ่อลงได้ ทั้งนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูกจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ยาไม่สามารถกระจายเข้าไปในโพรงจมูกได้เนื่องจากมีริดสีดวงจมูกอยู่เต็มจมูก, ผู้ป่วยมีการติดเชื้อ เช่น เป็นไซนัสอักเสบทำให้มีน้ำมูกเหลืองข้นอยู่ในโพรงจมูกเป็นต้น ดังนั้นหลังการใช้สเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูกไปได้สักระยะ ถ้ายังมีริดสีดวงจมูกเหลืออยู่และอาการของผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้น ควรผ่าตัดเอาริดสีดวงจมูกออก
- ยาสเตียรอยด์ชนิดกินหรือฉีด ในบางรายอาจให้ยาสเตียรอยด์ชนิดกินหรือฉีดร่วมกับยาสเตียรอยด์ชนิดพ่น ซึ่งจะทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นมากและขนาดของริดสีดวงจมูกก็เล็กลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นผลทำให้การได้รับกลิ่นของผู้ป่วยดีขึ้น ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด นอกจากนี้ยาสเตียรอยด์ยังช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำของริดสีดวงจมูกได้ด้วย ดังนั้นการใช้ยาสเตียรอยด์จึงถือเป็นการรักษาหลักสำหรับโรคริดสีดวงจมูก ส่วนขนาดของยาสเตียรอยด์นั้นสามารถลดลงได้เรื่อย ๆ โดยที่อาการทางจมูกของผู้ป่วยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่อาจจะไม่สามารถทำให้ริดสีดวงในจมูกหมดไปได้
- การผ่าตัดเอาริดสีดวงจมูกออกแบบธรรมดา (Simple polypectomy) การผ่าตัดริดสีดวงจมูก แพทย์อาจใช้วิธีดั้งเดิม คือ การใช้ลวดคล้องและดึงออกมา ซึ่งจะเป็นการผ่าตัดเอาริดสีดวงจมูกออกเท่านั้น ไม่ได้ผ่าตัดเข้าในโพรงไซนัส แต่พบว่าการกลับมาเป็นซ้ำของริดสีดวงจมูกหลังการผ่าตัดด้วยวิธีนี้อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง
- การผ่าตัดริดสีดวงจมูกและไซนัสด้วยวิธีส่องกล้องเข้าไปในโพรงไซนัส หรือ การผ่าตัดผ่านทางจมูกโดยใช้กล้องเทโลสโคป (Endoscopic sinus surgery – ESS) เป็นการผ่าตัดเอาริดสีดวงจมูกออกร่วมกับผ่าตัดเข้าไปในโพรงไซนัสโดยใช้กล้องเทโลสโคป ถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการรักษาริดสีดวงจมูกดีกว่าการผ่าตัดแบบธรรมดา เพราะการใช้กล้องเทโลสโคปจะช่วยทำให้เห็นภาพบริเวณที่จะทำการผ่าตัดได้ชัดเจนขึ้นและยังสามารถมองเห็นและทำการผ่าตัดในบริเวณที่อยู่ด้านข้างได้ด้วย เนื่องจากกล้องเทโลสโคปจะมีขนาดมุมต่าง ๆ หลายขนาด สามารถผ่าตัดเข้าไปในโพรงไซนัสที่มีรอยโรคได้ ทำให้สามารถผ่าตัดเอารอยโรคที่อยู่ในโพรงไซนัสออกมาได้ และทำให้การขับน้ำเมือกและการถ่ายเทอากาศของไซนัสดีขึ้น ผลการผ่าตัดส่วนใหญ่จะได้ผลดีถึงดีมาก (ได้ผลสำเร็จ 80% ขึ้นไป) แต่ก็เป็นวิธีที่ยุ่งยากและทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออก บาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อตาหรือเส้นประสาท เป็นต้น และหลังการผ่าตัดแพทย์จะติดตามผู้ป่วยและให้การรักษาด้วยยาต่อเนื่องไป โดยการปรับขนาดของยาสเตียรอยด์ชนิดกินและพ่นให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการรักษา
- เพื่อให้การรักษาตามวิธีที่กล่าวมาได้ผลที่ดีขึ้นและไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ทำให้คัดจมูก คันจมูก หรือทำให้จาม ซึ่งอาจเป็นอากาศ กลิ่น ฝุ่นละอองหรืออะไรก็ได้
- ห้ามสั่งน้ำมูกแรง ๆ เวลาน้ำมูกไหลให้ใช้ผ้าหรือกระดาษที่ดูดซับน้ำได้ดีซับออก อย่าสั่งน้ำมูกแรง ๆ จะทำให้เยื่อเมือกช้ำและเป็นมากขึ้น
- ห้ามใช้ยาหยอดจมูก ยาพ่นจมูก หรือยานัตถุ์ทุกชนิด เพราะยิ่งใช้จะยิ่งทำให้เยื่อจมูกบวมจนกลายเป็นริดสีดวงหรือเนื้องอกที่ใหญ่มากขึ้น
- ควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น
- นอกจากนี้ยังต้องรักษาโรคติดเชื้อหรือโรคภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุร่วมด้วย
วิธีป้องกันริดสีดวงจมูก
- ส่วนใหญ่ยังไม่มีวิธีป้องกัน แต่ถ้าเป็นหืด หวัด ภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบ ควรได้รับการรักษาอย่างจริงจัง ซึ่งอาจช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคริดสีดวงจมูก
- โรคริดสีดวงจมูกเกี่ยวกับมะเร็งหรือไม่ ?
ตอบ ริดสีดวงจมูกนั้นไม่เกี่ยวกับมะเร็ง และไม่สามารถเปลี่ยนหรือกลายเป็นมะเร็งไปได้ ซึ่งลักษณะของริดสีดวงจมูกก็มีลักษณะอย่างที่กล่าวไปข้างต้น หากเป็นแพทย์หู คอ จมูก เมื่อเห็นก็พอจะบอกได้ว่าใช่หรือไม่ แต่อย่างไรก็ดี อาจต้องตัดเนื้อบางส่วนไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์โดยพยาธิแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นริดสีดวงจมูก เพราะมีหลายครั้งที่พบว่าเป็นเนื้องอกบางอย่างที่ดูคล้ายคลึงกับริดสีดวง เช่น ก้อนแพบพิโลมา มะเร็งโพรงจมูก เยื่อบุอักเสบ ถุงน้ำบางอย่าง ซีสต์บางอย่าง หรือสิ่งแปลกปลอม เป็นต้น - ริดสีดวงจมูกรักษาอย่างไร เมื่อไรถึงต้องผ่าตัด ?
ตอบ การรักษาริดสีดวงจมูกประกอบด้วยการรักษาด้วยยาและการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยทั่วไปจะเริ่มจากการรักษาด้วยยาก่อน ถ้าการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดร่วมด้วย แต่มีบางกรณีที่แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดเร็วขึ้น ถ้าริดสีดวงจมูกมีขนาดใหญ่มาก ริดสีดวงจมูกที่อุดตันช่องเปิดของไซนัสทำให้เกิดไซนัสอักเสบที่รักษาด้วยยาไม่หายหรือเป็น ๆ หาย ๆ หรือริดสีดวงจมูกที่แพทย์สงสัยว่าเกิดจากภาวะแพ้เชื้อรา - ไม่ผ่าตัดได้ไหม…เพราะยังกลัวอยู่ ?
ตอบ มีคนไข้มากมายที่เป็นริดสีดวงจมูกแต่ยังไม่ทราบ เนื่องจากก้อนริดสีดวงจมูกยังมีขนาดเล็กและยังสบายดีอยู่ ในทางการแพทย์หากผู้ป่วยไม่คัดจมูก ไม่สูญเสียความรู้สึกในการรับรู้กลิ่น ไม่มีไซนัสอักเสบร่วมด้วย อาจไม่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดก็ได้ - ถ้าผ่าตัดแล้วจะหายขาดไหม ?
ตอบ แม้จะผ่าตัดเสร็จแล้วหายขาด แต่ก็มีโอกาสเป็นใหม่ได้อีก เนื่องจากการเกิดโรคริดสีดวงเป็นกลไกของร่างกายที่เราไม่ได้แก้ด้วยการผ่าตัด
- การผ่าตัดริดสีดวงจมูกมีผลข้างเคียงหรือไม่ ?
ตอบ ไซนัสเป็นโครงสร้างซึ่งอยู่ติดกับอวัยวะสำคัญ คือ สมองทางด้านบน ตาทางด้านข้าง เส้นประสาทและหลอดเลือดแดงใหญ่ทางด้านหลัง ดังนั้นการผ่าตัดเข้าไปในไซนัสจึงมีโอกาสทะลุเข้าสมอง ตา และกระทบกระเทือนต่อเส้นประสาทตาหรือเลือดแดงใหญ่ได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ตั้งแต่มีเลือดออกรอบ ๆ ตา ซึ่งจะหายไปได้เอง จนถึงขั้นทำให้ตาบอด ถ้าทะลุเข้าสมองอาจทำให้น้ำในสมองรั่วออกมา ซึ่งในบางรายต้องมาผ่าตัดซ่อมในภายหลัง หรือถ้ากระทบกระเทือนต่อหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงสมอง อาจทำให้เลือดออกมาจนเป็นอันตรายหรือเป็นอัมพาตได้ อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงดังกล่าวก็พบได้น้อยมาก โดยเฉพาะถ้าผ่าตัดโดยแพทย์ที่รู้ลักษณะทางกายวิภาคและโครงสร้างของไซนัสเป็นอย่างดีแล้ว (มีข้อมูลที่รายงานจากทั่วโลกพบว่ามีโอกาสทำให้มีน้ำในสมองรั่ว 0-2.3%, ทำให้เลือดออกในลูกตา 0-0.2% และกระทบกระเทือนต่อหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงสมอง 0-0.3%) ส่วนผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจพบได้ คือ มีเลือดออกหลังการผ่าตัด แต่ก็สามารถแก้ไขได้โดยการใส่วัสดุห้ามเลือดหรือจี้ห้ามเลือดในบริเวณที่มีเลือดออก - การผ่าตัดริดสีดวงจมูกมีขั้นตอนอย่างไร ?
ตอบ แพทย์อาจเลือกทำการผ่าตัดโดยใช้ยาชาเฉพาะที่หรือดมยาสลบก็ได้ โดยทั่วไปแล้วในรายที่คาดว่าใช้เวลาผ่าตัดไม่นานและไม่มีเลือดออกระหว่างทำการผ่าตัดมากนักจะใช้ยาชาเฉพาะที่ (ยกเว้นในผู้ป่วยเด็ก) โดยแพทย์จะใช้สำลีชุบยาชาและยาที่ทำให้เยื่อบุโพรงจมูกยุบบวมใส่ไว้ในโพรงจมูก หลังจากนั้นแพทย์จะฉีดยาชาในบริเวณที่จะทำการผ่าตัด แล้วจึงเริ่มทำการผ่าตัดโดยการสอดกล้องเทเลสโคปและเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดผ่านทางช่องจมูก และแพทย์จะดูบริเวณที่ทำการผ่าตัดผ่านทางจอมอนิเตอร์อีกทอดหนึ่ง เมื่อทำการผ่าตัดเสร็จแล้ว ในผู้ป่วยบางรายแพทย์จะใส่วัสดุที่ใช้ในการซับเลือดรองไว้ในบริเวณที่ทำการผ่าตัด และหลังทำการผ่าตัดผู้ป่วยมักจะหายใจผ่านทางจมูกได้เกือบปกติเหมือนเดิม - การผ่าตัดริดสีดวงจมูกได้ผลดีแค่ไหน ?
ตอบ โดยทั่วไปการผ่าตัดจะได้ผลดีขึ้นประมาณ 40-98% (ค่ามัธยฐานอยู่ที่ร้อยละ 88), ริดสีดวงจมูกเกิดซ้ำขึ้นมาอีก 8-66% (ค่ามัธยฐานอยู่ที่ร้อยละ 25) และต้องผ่าตัดใหม่ 6-42% (ค่ามัธยฐานอยู่ที่ร้อยละ 22) ทั้งนี้การผ่าตัดจะได้ผลดีมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น แพทย์ทำการผ่าตัดได้ดีแค่ไหน, สาเหตุหลักที่ทำให้เป็นริดสีดวงจมูก (สาเหตุบางอย่างจะทำให้การผ่าตัดไม่ค่อยได้ผลดี เช่น ริดสีดวงจมูกที่เกิดจากการแพ้เชื้อรา ที่เกิดจากภาวะที่ทนยากลุ่มแอสไพรินไม่ได้ หรือที่เกิดจากมีความผิดปกติของการขับเกลือแร่ของเซลล์ทำให้มีน้ำเมือกที่เหนียวข้น เป็นต้น), ความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นไซนัสอักเสบ (ถ้าเป็นมากและเป็นมานาน ผลการรักษาจะไม่ค่อยได้ผลดีเท่าในรายที่เป็นน้อยกว่าและเป็นมานานน้อยกว่า)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ติ่งเนื้อเมือกจมูก (Nasal polyps)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 468-469.
- ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “ริดสีดวงจมูก (Nasal Polyps)”. (รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [02 มิ.ย. 2016].
- ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “แนวทางการดูแลรักษาโรคริดสีดวงจมูกในคนไทย (Clinical Practice Guideline for the Management of Nasal Polyps in Thais)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rcot.org. [03 มิ.ย. 2016].
ภาพประกอบ : androsent-sleep.com, www.wikimedia.org (by MathieuMD), www.studyblue.com, drpaulose.com, www.drrahmatorlummc.com, www.richmondent.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)