รักเร่ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นรักเร่ 4 ข้อ ! (รูปดอกรักเร่)

รักเร่ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นรักเร่ 4 ข้อ ! (รูปดอกรักเร่)

รักเร่

รักเร่ ชื่อสามัญ Dahlia[2]

รักเร่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Dahlia pinnata Cav.[1] จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1]

สมุนไพรรักเร่ มีชื่อเรียกอื่นว่า รักแรก[2]

ลักษณะของต้นรักเร่

  • ต้นรักเร่ เป็นไม้พื้นเมืองของอเมริกากลาง จัดเป็นพรรณไม้พุ่มเนื้ออ่อน ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขามาก รากมีลักษณะคล้ายหัวอยู่ใต้ดิน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง ต่อกิ่ง และใช้ราก[1],[2] เจริญเติบโตได้ดีในที่กลางแจ้งแดดจัด แต่มีความชื้นพอเพียง ดินที่ใช้ปลูกควรเป็นดินร่วนซุยระบายน้ำได้ดี มีธาตุอาหารพืชพอควร และเก็บความชื้นได้ดี จึงจำเป็นต้องหาวัสดุคลุมดินด้วย เช่น ฟาง ใบไม้แห้ง หรือเปลือกถั่ว เป็นต้น[2]

รูปรักเร่

ต้นรักเร่

  • ใบรักเร่ ใบออกตรงข้ามกัน เป็นช่อในชั้นเดียวกัน แกนกลางช่อมีปีก ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟันแกมฟันเลื่อย ใบย่อยเป็นสีเขียวเข้ม หรือมีขุดแต้มเป็นสีม่วง[1]

ใบรักเร่

  • ดอกรักเร่ ออกดอกเป็นกระจุกใหญ่ดอกเดียวตรงปลายยอด ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร มีหลายสี เช่น สีม่วง สีแดงเข้ม สีส้ม สีชมพู สีเหลือง เหลืองอ่อน สีขาวเป็นลาย หรือมีสองสีในดอกเดียวกัน กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปรางน้ำ ขอบอาจตรงหรือโค้ง ส่วนกลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปท่อ ปลายจักเป็นแฉก 5 แฉก อับเรณูมีลักษณะตรงโคนเรียบ ปลายแหลม ท่อเกสรเพศเมียเป็น 2 แฉก ยาวและตรงปลายแหลม มีขน[1]

ดอกรักเร่

  • ผลรักเร่ ผลเป็นผลแห้งมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน แบน ผิวผลเกลี้ยง[1]

ผลรักเร่

สรรพคุณของรักเร่

  • รากหัวใช้กับหมูกินเป็นยารักษาโรคหัวใจ (รากหัว)[1]
  • รากหัวใช้กับหมูกินเป็นยารักษาอาการไข้ (รากหัว)[1]
  • น้ำคั้นจากต้นมีฤทธิ์เป็นยาปฏิชีวนะอ่อน ๆ สามารถฆ่าเชื้อ Staphylococcus ได้ (ต้น)[1]

ประโยชน์ของรักเร่

  • ในต่างประเทศนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับหรือปลูกเป็นไม้ตัดดอก เพราะเป็นไม้ดอกอีกชนิดหนึ่งที่มีความสวยงามไม่แพ้ดอกไม้ชนิดอื่น ๆ สวยทั้งรูปทรงของดอกและสีสันที่สวยสะดุดตา แต่ในบ้านเราไม่นิยมปลูกกันมากนัก เนื่องจากมีชื่อที่ไม่เป็นมงคลนัก[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “รักเร่”.  หน้า 675.
  2. ชนิดของไม้ตัดดอกและไม้ดอกกระถาง, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่.  “รักเร่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : natres.psu.ac.th.  [22 ส.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด