รักทะเล
รักทะเล ชื่อสามัญ Half Flower[4], Beach Cabbage, Beach Naupaka, Sea Lettuce[6]
รักทะเล ชื่อวิทยาศาสตร์ Scaevola taccada (Gaertn.) Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lobelia frutescens Mill., Scaevola frutescens var. sericea (Vahl) Merr., Scaevola koenigii Vahl, Scaevola sericea Vahl) จัดอยู่ในวงศ์รักทะเล (GOODENIACEAE)[1],[2],[6]
สมุนไพรรักทะเล มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า โหรา (ตราด), บ่งบง (ภาคใต้), บงบ๊ง (มลายู-ภูเก็ต) ส่วนชุมพรเรียก “รักทะเล” เป็นต้น[1],[3]
ลักษณะของต้นรักทะเล
- ต้นรักทะเล มีเขตการกระจายพันธุ์ในมาดากัสการ์ อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดจนถึงออสเตรเลีย โดยจัดเป็นไม้พุ่ม ที่มีความสูงของต้นประมาณ 2-5 เมตร แตกกิ่งก้านมาก ลำต้นตั้งตรงหรือแผ่ไม่เป็นระเบียบ เปลือกต้นเรียบ ลำต้นมีไส้ไม้ และมียางสีขาวข้น กิ่งอ่อนอวบน้ำเป็นสีเขียว และมีขนนุ่มที่ซอกใบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง หน่อไปปลูกตามพื้นที่ดินทราย สามารถออกดอกและผลได้ตลอดปี ขึ้นได้ทั่วไปตามพื้นที่โล่ง และมักพบขึ้นทั่วไปตามชายหาด หาดหิน โขดหิน ชายฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ตามบริเวณริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง หรือตามแนวหลังป่าชายเลน[1],[2],[3],[4],[7]
- ใบรักทะเล ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันแบบสลับหนาแน่นอยู่ที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ หรือเป็นรูปช้อนแกมรูปไข่กลับ ปลายใบมนกลม โคนใบเรียวแหลมหรือสอบเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบถึงหยักมนหรือเว้าเป็นคลื่น ๆ และมีจุดสีเหลืองอมเขียวตามขอบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร แผ่นใบหนากึ่งอวบน้ำ หลังใบเรียบเป็นมันถึงมีขนอ่อนปกคลุม เส้นใบเป็นแบบร่างแหขนนก ส่วนก้านใบมีสั้นมาก และมีกลุ่มขนสีขาวอยู่ตามซอกใบ ใบอ่อนขอบใบจะม้วนลง[1],[2],[3]
- ดอกรักทะเล ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุก โดยจะออกตามซอกใบ มีดอกย่อยประมาณ 2-3 ดอก ใบประดับมีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ ส่วนดอกมีลักษณะตูมโค้ง โก่งลงคล้ายรูปหัวงู ดอกบานจะเป็นรูปปากเปิด กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ส่วนปลายแยกเป็นแฉกขนาดเล็ก 5 แฉก ส่วนดอกย่อยจะเป็นสีขาวมีลายสีม่วงอ่อน มีกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะเป็นแฉกรูปใบหอก ขอบกลีบดอกเป็นคลื่น ๆ และย่น โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดและผ่าออกทำให้กลีบดอกเรียงกันอยู่เพียงด้านเดียว (ด้านบนของดอกฉีกออกหนึ่งด้าน ทำให้แฉกกลีบดอกทั้ง 5 โค้งลงด้านล่าง) ดอกมีเกสรเพศเมียโค้งเด่น ยอดเกสรมีเยื่อลักษณะเป็นรูปถ้วยคลุม เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวได้ประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร[1],[2],[3]
- ผลรักทะเล ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ปลายผลมีกลีบเลี้ยงของดอกติดอยู่ ผิวผลเรียบ ผลสดเป็นสีขาวขุ่น เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน มีขนาดประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดแข็งประมาณ 1-2 เมล็ด[1],[2],[3]
สรรพคุณของรักทะเล
- ใบมีสรรพคุณช่วยแก้ธาตุพิการ (ใบ)[7]
- น้ำต้มใบใช้กินยาช่วยย่อยได้ (ใบ)[1],[7]
- รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด (ราก)[4]
- เปลือกจากเนื้อไม้ ใบและดอกใช้ผสมปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ (เปลือกจากเนื้อไม้,ใบและดอก)[2]
- ผลมีสรรพคุณช่วยทำให้ประจำเดือนของสตรีมาเป็นปกติ (ผล)[7]
- ใบใช้ตำพอกแก้อาการปวดบวมและแก้ปวดศีรษะ หรืออีกวิธีให้นำใบไปผิงไฟแล้วนำมาประคบแก้ปวดบวม (ใบ)[1],[3]
- รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้กินเป็นยาแก้พิษจากอาหารทะเล เช่น การกินปูหรือปลาที่มีพิษ (ราก)[1],[5]
- รากใช้เป็นยาแก้เหน็บชา (ราก)[4]
ประโยชน์ของรักทะเล
- ใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับทั่วไปได้ดี เพราะเป็นพันธุ์ไม้ที่มีทรงพุ่มสวยงาม โดยจะนิยมนำมาปลูกตามพื้นที่ดินทรายตามชายฝั่งทะเล และสามารถออกดอกและผลได้ตลอดปี[3]
- บางข้อมูลระบุว่าใบรักทะเล สามารถนำมาใช้เป็นยาสูบได้[5]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “รักทะเล (Rug Thalae)”. หน้า 259.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “รักทะเล”. หน้า 134.
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “รักทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th. [27 พ.ค. 2014].
- สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “รักทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [27 พ.ค. 2014].
- หนังสือนักสืบชายหาด : คู่มือสัตว์และพืชชายหาด. (วิภาพรรณ นาคแพน, สรณรัชฎร์ กาญจนะวณิชย์, จักรกริช พวงแก้ว). “รักทะเล”. หน้า 145.
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “Scaevola taccada”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: en.wikipedia.org//wiki/Scaevola_taccada. [27 พ.ค. 2014].
- ระบบฐานข้อมูลพรรณไม้ที่เหมาะสมกับระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชน เพื่อลดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยองและพื้นที่ใกล้เคียง ภายใต้โครงการชุมชนอยู่คู่อุตสาหกรรม, สำนักสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “รักทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: onep-intranet.onep.go.th/plant/. [27 พ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅, Lauren Gutierrez, Jason Dewees)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)