ระย่อม สรรพคุณและประโยชน์ของต้นระย่อมน้อย 22 ข้อ !

ระย่อม สรรพคุณและประโยชน์ของต้นระย่อมน้อย 22 ข้อ !

ระย่อม

ระย่อม ชื่อสามัญ Rauwolfia (รอโวลเฟีย)[3], Serpent wood, Indian Snake Root[5]

ระย่อม ชื่อวิทยาศาสตร์ Rauvolfia serpentina (L.) Benth. ex Kurz จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยระย่อม (RAUVOLFIOIDEAE)[1]

สมุนไพรระย่อม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ละย่อม (สุราษฎร์ธานี), ปลายข้าวสาร (กระบี่), เข็มแดง ย่อมตีนหมา (ภาคเหนือ), กะย่อม ระย่อมน้อย (ภาคใต้), กอเหม่ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน), คลาน ตูมคลาน มะโอ่งที สะมออู (กะเหรี่ยงกาญจนบุรี), เสอเกินมุ อิ้นตู้หลัวฟูมุ (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3],[4],[6],[9]

ลักษณะของระย่อม

  • ต้นระย่อม จัดเป็นไม้พุ่มเตี้ยขนาดเล็ก ผลัดใบในช่วงฤดูแล้ง แล้วจะผลิใบใหม่ในช่วงฤดูฝน ลำต้นมีความสูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ลำต้นมักคดงอ เปลือกลำต้นเป็นสีขาวหรือสีน้ำตาลอมเทา มียางสีขาว รากใต้ดินแตกสาขามาก มีรอยแผลใบอยู่ตามลำต้น ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและการตอน เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและผสมกับอินทรียวัตถุ ต้องการความชุ่มชื้นของดิน มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่ศรีลังกา อินเดีย เนปาล ภูฏาน ภูมิภาคอินโดจีน พม่า จีน และมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค โดยมักขึ้นตามที่โล่งในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงจนถึงประมาณ 800 เมตร[1],[2],[3],[4],[7],[13]

ต้นระย่อม

  • ใบระย่อม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันหนาแน่นที่ปลายยอด หรือออกเรียงรอบข้อ ข้อละ 3-4 ใบ ใบเรียงคู่จะมีน้อย ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปรีแกมรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-20 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา สีเขียวเข้มเป็นมัน[1],[2],[3],[6]

ใบระย่อม

  • ดอกระย่อม ออกดอกเป็นช่อ ลักษณะคล้ายดอกเข็ม โดยจะออกที่ปลายยอด มีดอกย่อยจำนวนมาก ประมาณ 1-50 ดอก ดอกเป็นสีขาว กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวเป็นสีชมพูเข้มหรือสีแดง พอดอกโรยจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ สีขาวแกมเขียว ก้านดอกเป็นสีแดง ออกดอกในช่วงต้นฤดูหนาว[1],[2],[4],[6]

ระย่อม

ดอกระย่อม

  • ผลระย่อม เมื่อดอกร่วงโรยไปก็ติดผล ซึ่งผลจะมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือรูปทรงรี บางครั้งติดกันเป็นผลแฝดตรงโคนด้านใน ผิวผลเรียบเป็นมันและฉ่ำน้ำ มีขนาดประมาณ 1-1.8 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดงเข้มหรือสีดำ ในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด[1],[2],[3],[6],[13]

ผลระย่อม

สรรพคุณของระย่อม

  1. รากมีรสขม เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อตับและหัวใจ มีสรรพคุณช่วยทำให้เจริญอาหาร อยากอาหาร (ราก)[1],[2],[3],[5],[6],[8]
  2. ช่วยบำรุงประสาท (ราก)[1],[2],[5]
  3. กระพี้มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต ทำให้โลหิตเป็นปกติ ทำให้โลหิตตั้งอยู่ และช่วยแก้โลหิตเป็นพิษ (กระพี้)[5],[8],[12]
  4. ช่วยฟอกเลือด ทำให้เลือดเย็น (ราก)[6]
  5. รากใช้เป็นยาลดความดันโลหิต ด้วยการใช้รากแห้งในขนาด 200 มิลลิกรัม นำมาป่นให้เป็นผงคลุกกับน้ำผึ้งทำเป็นยาเม็ดรับประทานติดต่อกัน 1-3 อาทิตย์ (ราก[3],[4],[5],[6],[8],[13], ต้น[5])
  1. รากมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ราก)[5]
  2. ช่วยแก้ปวดอาการศีรษะเนื่องจากความดันโลหิตสูง (ราก)[1],[2]
  3. ใช้เป็นยากล่อมประสาท ช่วยทำให้จิตใจสงบ แก้อาการนอนไม่หลับ ช่วยให้นอนหลับ แก้อาการบ้าคลั่ง คลุ้มคลั่งเนื่องจากดีกำเริบและโลหิต (ราก)[1],[2],[3],[4],[5],[6],[8]
  4. รากมีสรรพคุณเป็นยาขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้พิษกาฬ แก้บ้าเพื่อดีและโลหิต (ราก)[1],[2],[6]
  5. ตำรายาไทยจะใช้รากระย่อมเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้หวัดตัวร้อนที่ทำให้มีอาการปวดหัว (ราก[1],[2],[3],[4],[6], ต้น, เปลือก, ไส้[5])
  6. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ป่า ไข้มาลาเรีย ไทฟอยด์[7] บ้างใช้รากเป็นยาแก้ไข้ชัก แก้โรคเด็กเป็นซางชัก (ราก)[12] ใช้ต้นเป็นยาแก้ไข้อันทำให้หนาว (ต้น)[12] และใช้ไส้เป็นยาแก้ไข้อันร้ายกาจ (ไส้)[12]
  7. เปลือกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้พิษ แก้ไข้สันนิบาต (เปลือก)[8],[12]
  8. ช่วยแก้หืด แก้ลมอัมพฤกษ์ (ราก)[12]
  9. น้ำจากใบ ใช้เป็นยารักษาโรคแก้วตามัว (น้ำจากใบ)[4],[8]
  10. ดอกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ตาแดง แก้โรคอันเกิดแต่จักษุ (ดอก)[5],[8],[12]
  11. ช่วยแก้อาการจุกเสียด (ราก)[1],[2],[5]
  12. รากใช้เป็นยาแก้บิด แก้ท้องเดิน ท้องเสีย (ราก)[1],[2],[4],[6]
  13. รากนำมาบดให้เป็นผงปั้นเป็นเม็ดหรือคั่วให้กรอบ แล้วนำมาชงหรือต้มกินเป็นยาช่วยย่อยอาหาร (ราก)[1],[2]
  14. ใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (ราก)[6]
  15. รากใช้เป็นยาขับพยาธิ[1],[2],[3],[4],[6] ขับพยาธิในเด็ก พยาธิไส้เดือนกลมของเด็ก (ราก)[12]
  16. ยาต้มจากรากมีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ และเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ (ราก)[1],[2],[4],[5],[6]
  17. ใช้เป็นยาขับระดูของสตรี (ราก)[4]
  18. ช่วยบำรุงความกำหนัด (ราก)[12]
  19. ใช้แก้พิษงู แมลงกัดต่อย และรักษาโรคผิวหนังผดผื่นคัน (ราก)[6]
  20. รากสดใช้เป็นยารักษาหิด ด้วยการใช้รากระย่อมสดประมาณ 2-3 ราก นำมาตำให้ละเอียด แล้วเติมน้ำพืชให้พอแฉะ ใช้เป็นยาทาบริเวณที่เป็นหิด วันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย (รากสด)[8]
  21. ช่วยระงับอาการปวด (ราก)[1],[2],[4],[6]
  22. ช่วยบำรุงน้ำนมของสตรี (ราก)[1],[2]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้รากตาม [5] ให้ใช้รากแห้ง 100 กรัม นำมาชงกับน้ำดื่มเช้าและเย็น[5] ส่วนข้อมูลการใช้ตาม [6] ระบุให้ใช้รากแห้งครั้งละประมาณ 10-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือนำมาบดให้เป็นผงทำเป็นเม็ดรับประทาน หรือใช้เข้ากับตำรายาอื่นได้ตามต้องการ[6]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรระย่อม

  • สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้[5]
  • สมุนไพรชนิดนี้มีพิษเล็กน้อย จึงไม่ควรรับประทานมากเกินกว่าปริมาณที่กำหนด และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการความดันต่ำและเป็นพิษต่อร่างกายได้[6]
  • หากมีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ใจสั่น หรือมีอาการผิดปกติ ให้หยุดใช้ยาทันที[8]
  • อาการเป็นพิษหรือผลข้างเคียงของการใช้ยานี้คือทำให้เกิดการจมูกตันหรือคัดจมูก หายใจไม่ออก หน้าแดง ปากแห้ง คอแห้ง ซึมเศร้า ง่วงนอนบ่อย ทำให้ฝันร้าย หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ไม่สบายท้อง อยากอาหารเพิ่มขึ้น ไม่มีเรี่ยวแรง ถ่ายไม่หยุด ดังนั้นจึงควรใช้อย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ[1],[2],[3],[5],[6]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของระย่อม

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ สารในกลุ่ม indole alkaloids ชนิดที่สำคัญ คือ reserpine, ajmaline, ajmalinimine, raurolfia alkaloid G, rescinnamidine, sarpagine, serpentine, serpentinine, sitosterol, stigmasterol, vinorine, yohimbine เป็นต้น[5],[6]
  • ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต สงบระงับประสาท กดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้นอนหลับ แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน กระตุ้นกล้ามเนื้อมดลูกและลำไส้เล็กบีบตัว ยับยั้งการบีบตัวของลำไส้เล็ก[5] ปิดกั้น adrenergic receptor , dopamine receptor และ GABA receptor ต้านการเต้นไม่เป็นจังหวะของหัวใจ มีฤทธิ์ต่อหัวใจ ทำให้หลอดเลือดคลายตัว เป็นพิษต่อเซลล์ ต้าน adrenaline, acetylcholine, histamine, ต้านไวรัส, เชื้อรา, ยับยั้งพยาธิไส้เดือน แก้คลื่นไส้อาเจียน ยับยั้งการงอกและการเจริญเติบโตของพืช มีผลต่อต่อมไทรอยด์และต่อมใต้สมอง มีผลต่อการทำงานของไต กระตุ้นกล้ามเนื้อลาย ทำให้เกิดการชักง่ายขึ้น เพิ่มน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์เหมือน estrogen เพิ่มคอเลสเตอรอลและบิลิรูบินในเลือด เร่งการสลายโปรตีนในการสลายตัวเองของเซลล์และเนื้อเยื่อ[12]
  • รากระย่อมมีสารอัลคาลอยด์ Reserpine ซึ่งมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตและกล่อมประสาท[3]
  • จากการทดลองพบว่าสาร Reserpine มีฤทธิ์ความดันโลหิตในแมวหรือสุนัขทดลอง โดยพบว่าสารดังกล่าวนั้นสามารถลดความดันโลหิตได้เป็นเวลานานตามที่พอใจ[6]
  • เมื่อนำสารที่สกัดได้จากรากมาทดลองกับหนูขาว พบว่าทำให้หนูขาวมีการเคลื่อนไหวน้อยลง และทำให้หนูขาวมีอาการสงบขึ้น มีระยะเวลาในการหลับยาวนานขึ้น[6]
  • สารรวมที่สกัดได้จากระย่อมนั้นเมื่อนำมาทดลองในคนและสัตว์ที่มีความดันโลหิตสูง พบว่ามีประสิทธิภาพทำให้ความดันและการเต้นของหัวใจลดลง จากการทดลองจึงเห็นว่าสารกลุ่มนี้มีความหมายต่อผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงและหัวใจเต้นเร็วผิดปกติเป็นอย่างยิ่ง[6]
  • ในรากระย่อมมีสาร Rauhinbine ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาบำรุงความกำหนัด[11]
  • เมื่อปี ค.ศ.1958 ที่ประเทศอินเดีย ได้มีการทดลองใช้สารสกัดจากรากระย่อมในคนธรรมดาและคนไข้เบาหวาน ผลการทดลองพบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของคนได้[5]
  • เมื่อปี ค.ศ.1960 ที่ประเทศอินเดีย ได้มีการทดลองใช้สารสกัดจากรากระย่อมทดลองในแมว ผลการทดลองพบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของแมวได้[5]

รากระย่อมสมุนไพรระย่อม

ประโยชน์ของระย่อม

  • ยอดอ่อน ดอกอ่อน และผลอ่อน สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้ เช่น แกงเลียง แกงส้ม[9]
  • รากใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในม้า[10]
  • บางท้องถิ่นจะใช้รากระย่อมเป็นยาเบื่อสุนัข[7]
  • ในปัจจุบันได้มีการสกัดสารจากรากระย่อมมาใช้เป็นยาแก้ความดันโลหิตสูง[5] ในอินเดียจะบดรากเตรียมเป็นยาเม็ด ส่วนทางยุโรปและอเมริกาจะเตรียมสารสกัดระย่อมทำเป็นยาฉีดลดความดันโลหิตและกล่อมประสาท[10]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ระย่อม (Ra Yom)”.  หน้า 257.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “ระย่อม”.  หน้า 169.
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ระย่อมน้อย Rauwolfia”.  หน้า 177.
  4. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ระย่อม”.  หน้า 672-673.
  5. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ระย่อม”.  หน้า 135-136.
  6. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ระย่อมน้อย”.  หน้า 474.
  7. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ระย่อม”.  อ้างอิงใน : หนังสือพืชสมุนไพร เล่ม 2.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [28 ต.ค. 2014].
  8. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ระย่อมน้อย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [28 ต.ค. 2014].
  9. ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.  “ระย่อมน้อย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : area-based.lpru.ac.th/veg/.  [28 ต.ค. 2014].
  10. ไทยเกษตรศาสตร์.  “ประโยชน์ของระย่อมน้อย”.  อ้างอิงใน : ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com.  [28 ต.ค. 2014].
  11. ไทยเกษตรศาสตร์.  “ระย่อม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com.  [28 ต.ค. 2014].
  12. สมุนไพรในร้านยาโบราณ.  “ระย่อม”.  อ้างอิงใน :  pharmacy.msu.ac.th.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :  www.infoforthai.com.  [28 ต.ค. 2014].
  13. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ย่อมตีนหมา”.  หน้า 666-656.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Tony Rodd, Ahmad Fuad Morad, bardosaurus)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด