ย่านพาโหม
ย่านพาโหม ชื่อวิทยาศาสตร์ Paederia scandens (Lour.) Merr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Paederia tomentosa var. glabra Kurz) จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]
สมุนไพรย่านพาโหม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เถาผ้าห่ม (ประจวบคีรีขันธ์), มันปู (สงขลา), ตดหมา ปานูดู (ภาคเหนือ) ส่วนทางสุราษฎร์ธานีเรียก “ย่านพาโหม“[1],[2]
ลักษณะของย่านพาโหม
- ต้นย่านพาโหม จัดเป็นไม้พุ่มเลื้อยพัน อายุหลายปี มีกลิ่นเหม็นฉุน ลำต้นมีลักษณะเรียวยาว ตามกิ่งมีขนละเอียดสีขาวขึ้นปกคลุม ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.2-3.5 มิลลิเมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและใช้เถาปักชำ ชอบดินร่วน ระบายน้ำได้ดี และมีแสงแดดแบบเต็มวัน พบขึ้นในดินที่มีสภาพดินลูกรัง เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสตูล ที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 35-77 เมตร[1],[2],[3]
- ใบย่านพาโหม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปใบหอก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนละเอียดทั้งสองด้านตามเส้นกลางใบ เส้นใบ และปกคลุมหนาแน่นตามขอบใบ หลังใบมีปุยขนสั้นสีขาวเป็นกระจุก ที่มุมเส้นกลางใบตัดกับเส้นใบ ก้านใบยาวประมาณ 1.8-4.1 เซนติเมตร มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ[1],[2]
- ดอกย่านพาโหม ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีม่วงแดง[1]
- ผลย่านพาโหม ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ผลแก่เป็นสีน้ำตาล แข็งและเปราะ[1]
สรรพคุณของย่านพาโหม
- ต้นมีสรรพคุณช่วยทำให้เจริญอาหาร (ต้น)[3]
- ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากย่านพาโหมผสมกับสมุนไพรอื่น ได้แก่ เปลือกต้นเพกา เหง้าไพล กะเม็งทั้งต้น อย่างละเท่ากัน นำมาตากแห้งแล้วบดให้เป็นผง ผสมกับน้ำอุ่นหรือเหล้ากินเป็นยารักษาโรคลมที่มีอาการไข้และเลือดลมเดินไม่สะดวก (ราก)[1],[2]
- ช่วยแก้ตานซาง (ต้น)[3]
- รากใช้เป็นยาหยอดตา แก้ตามัว ตาฟาง ตาแฉะ (ราก)[1],[2]
- รากนำมาต้มกับน้ำใช้บ้วนปากแก้อาการปวดฟัน (ราก)[3]
- ต้นใช้เป็นยาขับลม (ราก)[3]
- ตำรายาไทยจะใช้ทั้งต้น เป็นยาแก้ท้องเสีย ลำไส้พิการ (ทั้งห้า)[1],[2]
- ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ราก)[3]
- ใบใช้ตำพอกแก้รำมะนาด (ใบ)[1],[2],[3]
- ใบใช้เป็นยาแก้พิษงู (ใบ)[3]
ประโยชน์ของย่านพาโหม
- ยอดอ่อนและดอกอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกได้[3] ย่านพาโหมพันธุ์ Paederia tomentosa var. glabra แผ่นใบบาง มีกลิ่นฉุน ใช้รับประทานเป็นผักใส่ข้าวยำด้วย ส่วนพันธุ์ Paederia tomentosa จะมีกลิ่นเหม็นเขียว รับประทานไม่ได้[2]
- ใช้เป็นอาหารสัตว์จำพวก โค กระบือ โดยต้นที่มีอายุราว 45 วัน จะประกอบไปด้วย โปรตีน 9.7-11.6%, แคลเซียม 1.47-1.64%, ฟอสฟอรัส 0.28%, โพแทสเซียม 2.23-2.46%, ADF 35.8-42.3%, NDF 43.0-46.9%, DMD 69.9%, ลิกนิน 15.2%[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ย่านพาโหม”. หน้า 162.
- สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์. “ย่านพาโหม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th. [29 ต.ค. 2014].
- คมชัดลึกออนไลน์. (นายสวีสอง). “ย่านพาโหม เป็นยา-อาหาร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net. [29 ต.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Phuong Tran), luirig.altervista.org
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)