ย่านงด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นย่านงด 3 ข้อ ! (ขมัน)

ย่านงด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นย่านงด 3 ข้อ ! (ขมัน)

ย่านงด

ย่านงด ชื่อวิทยาศาสตร์ Poikilospermum suaveolens (Blume) Merr. วงศ์กะลังตังช้าง (URTICACEAE หรือ CECROPIACEAE)[1]

สมุนไพรย่านงด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เครือเต่าไห้ (ลำปาง), ขมัน (จันทบุรี), อ้ายไร (กรุงเทพฯ), ชะไร ยาวี (สตูล), เถากะมัน ย่านมูรู (พัทลุง), กุระเปี๊ยะ (สงขลา), มะรุ (ปัตตานี), โร (พังงา), มือกอ (มลายู-นราธิวาส) เป็นต้น[2]

ลักษณะของย่านงด

  • ต้นย่านงด จัดเป็นพรรณไม้เถาเนื้อแข็ง เถามีลักษณะกลมเรียบ มีสีน้ำตาลเข้ม จามข้อเถามีรากอากาศงอห้อยลงมา กิ่งอ่อนและลำต้นมีตุ่มระบายอากาศตามผิว เปลือกต้นเป็นสีเทาและมียางใส[1],[2] มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย อินโดจีน ไปจนถึงอินโดนีเซีย ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นทั่วไปตั้งแต่ภาคเหนือจนถึงภาคใต้ โดยมักขึ้นตามชายป่าดิบชื้นที่มีแสงแดด[3]

ต้นย่านงด

  • ใบย่านงด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับไปตามปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปรีกว้าง ปลายใบทู่หรือเป็นติ่งแหลม โคนใบมนเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 14 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-26 เซนติเมตร เนื้อใบหนาเกลี้ยง หลังใบและท้องใบเรียบ เส้นใบออกจากจุดฐาน 3 เส้น มีเส้นแขนงใบ 10-12 คู่ สามารถเห็นเส้นใบได้ชัดเจน ก้านใบมีสีน้ำตาลอมแดง ยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร มีเกล็ดประปราย ยอดอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง[1],[2],[3]

ใบย่านงด

  • ดอกย่านงด ออกดอกเป็นช่อตามกิ่ง ดอกเป็นแบบแยกเพศ ดอกเพศผู้จะออกรวมกันเป็นช่อกลมหรือเป็นก้อนสีชมพูอมแดง ขนาดประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ส่วนดอกเพศเมียจะรวมกันเป็นช่อกลมเหมือนกัน แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า หรือมีขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร ดอกย่อยจะอัดติดกันแน่นอยู่บนฐานดอก ที่โคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็ก ๆ ปลายแยกเป็นแฉก 4 แฉก มีเกสรเพศผู้ 2-4 อัน รังไข่มี 1 ช่อง มีไข่อ่อน 1 หน่วย[1],[2],[3]

ดอกย่านงด

  • ผลย่านงด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ผลเป็นสีแดงถึงสีน้ำตาลอมแดง มีขนาดประมาณ 2-4 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อผลยาวได้ถึง 4 เซนติเมตร[1],[3]

ผลย่านงด

สรรพคุณของย่านงด

  • เปลือกจากเนื้อไม้ย่านงด นำมาผสมปรุงเป็นยาบำรุงประสาท บำรุงหัวใจ และบำรุงครรภ์รักษาสำหรับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ (เปลือกจากเนื้อไม้)[1],[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “ย่านงด”.  หน้า 132.
  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ขมัน (Khaman)”.  หน้า 57.
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ย่านงด”.  อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [08 มิ.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Zaharil Dzulkafly, Johannes Lundberg, Cerlin Ng)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด