ยี่โถ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นยี่โถ 9 ข้อ !

ยี่โถ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นยี่โถ 9 ข้อ !

ยี่โถ

ยี่โถ ชื่อสามัญ Oleander, Sweet Oleander, Rose Bay

ยี่โถ ชื่อวิทยาศาสตร์ Nerium oleander L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Nerium indicum Mill., Nerium odorum Aiton) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยส้มลม (APOCYNOIDEAE)

สมุนไพรยี่โถ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ยี่โถไทย ยี่โถจีน ยี่โถดอกขาว ยี่โถดอกแดง (ภาคกลาง) อินโถ (ภาคเหนือ) เป็นต้น

ลักษณะของยี่โถ

  • ต้นยี่โถ มีถิ่นกำเนิดในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เช่น โปรตุเกส ไปถึงอินเดียและอิหร่าน (เปอร์เซีย) โดยมีข้อสันนิษฐานว่ามีการแพร่เข้ามาในไทยโดยชาวจีน ในปลายรัชกาลที่ 2 หรือต้นรัชกาลที่ 3 ช่วงปี พ.ศ.2352 – 2364 โดยมีลักษณะเป็นไม้พุ่มที่มีความสูงประมาณ 2 เมตร เปลือกของลำต้นมีสีเทาเรียบ มียางสีขาวคล้ายน้ำนม
  • ใบยี่โถ เป็นใบเดี่ยว มีรูปร่างรี ปลายและโคนใบแหลมคล้ายหอก ขอบใบเรียบหนาแข็ง มีสีเขียวเข้ม ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.7 เซนติเมตร
  • ดอกยี่โถ ดอกมีสีชมพู ขาว มีทั้งดอกซ้อนและดอกชั้นเดียว โดยดอกที่มีชั้นเดียวจะมีกลีบดอก 5 กลีบ เวลาดอกบานจะมีกลิ่นหอม เมื่อดอกผสมกับเกสรและร่วงหลุดไปจะติดผลดอกละ 2 ฝัก
  • ผลยี่โถ ผลเป็นรูปฝักยาว เมื่อแก่เปลือกแข็งจะแตกออก และมีเมล็ดอยู่ภายในจำนวนมาก จะมีขนคล้าย ๆ เส้นไหมติดอยู่ทำให้ลอยลมไปได้ไกล โดยต้นยี่โถนั้นสามารถออกดอกได้ทั้งปี และสามารถปลูกได้ทุกที่ ขึ้นได้ทุกสภาพดิน จะด้วยการเพาะเมล็ด การปักชำกิ่ง หรือตอนกิ่ง

ต้นยี่โถในปัจจุบันนี้บ้านเราจะรู้จักและใช้ต้นยี่โถในฐานะไม้ดอกไม้ประดับซะมากกว่า เพราะมีดอกที่งดงามคล้ายดอกกุหลาบ มีกลิ่นหอม ออกดอกได้ตลอดปี และที่สำคัญยังปลูกง่ายและทนทานตายยากอีกด้วย ส่วนในด้านของสมุนไพรนั้นก็มีสรรพคุณทางยาอยู่เหมือนกัน ซึ่งก็มีทั้งคุณและโทษ ซึ่งส่วนที่นำมาใช้เป็นยาก็ได้แก่ ผล ใบยี่โถ และดอกยี่โถ

แต่เนื่องจากน้ำยางตามส่วนต่าง ๆ ของต้นยี่โถนั้นเป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์อย่างมาก จึงนำมาใช้เป็นสรรพคุณทางยาได้ค่อนข้างจำกัด โดยมีรายงานว่าแพทย์แผนไทยนั้นมีการใช้ใบยี่โถมาปรุงเป็นยาบำรุงหัวใจ แต่ต้องมีความระมัดระวังสูงมาก เพราะมีรายงานว่าผู้ที่กินใบยี่โถเข้าไปนั้นจะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เพ้อคลั่ง หัวใจเต้นอ่อน ท้องเสีย ความดันเลือดลดลง ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด และถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย ซึ่งในอินเดียนั้นเคยพบว่าสัตว์ที่กินใบยี่โถ เช่น วัว ควาย ม้า แพะ แกะ แล้วเป็นพิษถึงตาย หรือแม้แต่คนที่กินเนื้อย่างเสียบด้วยไม้ยี่โถก็เป็นพิษจนหมดสติ รวมไปถึงน้ำผึ้งจากดอกยี่โถก็ยังเป็นพิษที่มีอันตรายร้ายแรงมากเช่นกันและไม่ควรรับประทาน โดยการแก้พิษในเบื้องต้นนั้นให้รับประทานกาแฟก่อนนำส่งโรงพยาบาล ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการนำใบยี่โถมาใช้ทำเป็นยาเบื่อหนูและยาฆ่าแมลง !

ดอกยี่โถยี่โถ

ประโยชน์ของยี่โถ

  1. ใช้เป็นยาบำรุงและรักษาโรคหัวใจ ปรับชีพจรให้เป็นปกติ แต่มีความเป็นพิษสูง ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง (ใบ)
  2. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ผล)
  3. ดอกยี่โถ สรรพคุณช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ดอก)
  4. ช่วยแก้อาการอักเสบ (ดอก)
  5. รากและเปลือกยี่โถใช้เป็นยาทาภายนอก ช่วยรักษากลากเกลื้อน แผลพุพองได้ (เปลือก, ราก)
  6. ใช้ทำเป็นยาฆ่าแมลงและยาเบื่อหนูได้
  7. กิ่งยี่โถสามารถนำมาใช้ทำเป็นไม้ไล่หนูได้ ด้วยการนำไปวางไว้บริเวณที่หนูชอบเดินป้วนเปี้ยน แต่จะต้องไม่เป็นไม้แก่หรือไม่มีน้ำยางนะครับ ไม่งั้นจะใช้ไม่ได้ผล
  8. ในโบราณมีความเชื่อว่า บ้านไหนที่มีบุตรเป็นคนหัวดื้อ หัวซน ไม่ค่อยเชื่อฟัง พ่อแม่จะใช้กิ่งของยี่โถที่มีความเหนียวมาตีลูก เพราะเชื่อว่าจะทำให้บุตรเชื่อฟัง เลิกดื้อเลิกซน กลายเป็นเด็กดี เรียนหนังสือเก่ง (เป็นเพียงความเชื่อนะครับ)
  9. นิยมปลูกต้นยี่โถไว้เพื่อเป็นไม้ประดับสวน เพราะมีดอกงดงามคล้ายกุหลาย มีกลิ่นหอม และออกดอกตลอดปี

Tip : สำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขหรือแมวถ้าเห็นว่าเพิ่งกินเข้าไป แต่ยังไม่มีอาการทางระบบประสาท หรือสัตว์ยังมีสติดีอยู่ ก็รีบทำให้สุนัขหรือแมวอาเจียนออกมาให้เร็วที่สุด ซึ่งของที่ควรมีติดบ้านไว้ก็คือ Baking Soda ก็ป้อนให้สัตว์เลี้ยงกินได้เลยครับ ไม่นานก็จะอาเจียนออกมา ต่อจากนั้นก็ให้ป้อนผงถ่านที่มีสรรพคุณในการช่วยดูดซึมพิษตามเข้าไปทันที เพราะถ้าพิษยังไม่ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดก็จะไม่มีอันตราย แต่หากว่าสัตว์ที่กินใบยี่โถเข้าไปนานแล้วหรือมีอาการหมดสติ ก็ไม่ควรรักษาด้วยวิธีการข้างต้น แต่ให้รีบนำไปหาสัตวแพทย์ด่วนเป็นดีที่สุด แต่ทางที่ดีผมแนะนำว่าอย่าปลูกไว้ในบริเวณบ้านก็จะดีมากครับ ถ้าคุณมีลูกน้อยหรือมีสัตว์เลี้ยงอยู่ในบ้าน

แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์หมอชาวบ้าน, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพประกอบ : www.photohang.com, www.biogang.net, www.nanagarden.com, www.magnoliathailand.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด