รวม 15 คำถามการใช้ยาปรับฮอร์โมน ยาคุมเพื่อรักษาและลดสิว ที่สาว ๆ ควรรู้!

ยาปรับฮอร์โมนกับคำถามที่พบบ่อย

ขอเกริ่นสั้น ๆ เพื่อทำความเข้าใจกันก่อน เรื่องแรก ฮอร์โมนเพศจะแบ่งออกเป็น ฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน และฮอร์โมนเพศชาย คือ ฮอร์โมนแอนโดรเจน (ในผู้หญิงก็มีฮอร์โมนชนิดนี้อยู่ เพียงแต่ปกติจะมีในปริมาณน้อย หากใครมีมากก็จะทำให้มีสิว ผิวหน้ามัน ขนดกนั่นเอง)

ต่อมาเรื่องยาปรับฮอร์โมน ซึ่งยานี้จะมีสรรพคุณหลัก ๆ อยู่ 2 เรื่อง คือ 1.มีฤทธิ์ในการคุมกำเนิด และ 2.ใช้รักษาภาวะที่มีฮอร์โมนเพศชายสูง ซึ่งการกินยาปรับฮอร์โมนหรือยาคุมในยุคก่อน ๆ นั้นจะเน้นแค่เรื่องช่วยคุมกำเนิดเพียงอย่างเดียว ต่อมาก็ได้มีการพัฒนาสูตรมาเรื่อย ๆ ทั้งยาคุมฮอร์โมนต่ำเพื่อลดผลข้างเคียงของยาให้น้อยลง จนมาถึงในปัจจุบันก็สามารถพัฒนาเป็นยาคุมรักษาสิว ช่วยลดสิว ผิวมัน ขนดก ยาคุมช่วยให้หน้าใส ฯลฯ และยาคุมที่ทานแล้วไม่อ้วนบวมน้ำได้ ซึ่งในยานี้ก็จะประกอบไปด้วยฮอร์โมนอยู่ 2 ชนิด คือ

  1. เอสโตรเจน คือ Ethinyl Estradiol (ee) ทำหน้าคล้ายเอสโตรเจน โดยจะมีขนาดตั้งแต่ 0.015-0.05 mg (15-50 mcg) ซึ่งขนาด ee ที่มากขึ้นก็ยิ่งทำให้หน้าอกและสะโพกใหญ่ ปริมาณและจำนวนวันของประจำเดือนก็มากขึ้นด้วย แต่นี่ก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ยิ่ง ee มากก็จะทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ง่ายตามไปด้วย เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แต่หาก ee มีขนาดน้อยหรือใช้ยาคุมฮอร์โมนต่ำ อาการข้างเคียงเหล่านี้ก็จะลดลงตามไปด้วย และยิ่งต้องเคร่งครัดเรื่องการกินยาให้ตรงเวลามากขึ้น ต้องกินยาในเวลาเดิมทุกวัน (บวกลบไม่เกิน 30 นาที) เพื่อลดผลข้างเคียงเรื่องเลือดออกกะปริดกะปรอยทั้งเดือนนั่นเอง
  2. โปรเจสติน (Progestin) มีหลายตัว แต่หลัก ๆ จะแบ่งออกเป็น 4 รุ่น คือ
    • Ethynodiol diacetate, Ethisterone, Norethindrone, Norethindrone acetate, Norethynodrel ฯลฯ เป็นยาคุมรุ่นแรกที่มีฤทธิ์ต่ำหรือฮอร์โมนต่ำ จึงต้องใช้ปริมาณยามาก จึงทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น เป็นสิว ผิวมัน ขนดก
    • Norgestrel, Levonorgestrel เป็นรุ่นที่ปรับปรุงประสิทธิภาพให้แรงขึ้น จึงสามารถใช้ในปริมาณที่น้อยลง ทำให้อาการข้างเคียงต่าง ๆ ลดลง แต่ยังคงมีผลต่อกระบวนการเผาผลาญไขมันมีผลทำให้ผิวมัน เป็นสิวอยู่ครับ
    • Desogestrel, Gestodene, Etonogestrel, Norgestimate, Norelgestromin เป็นกลุ่มที่เริ่มช่วยลดผลที่ทำให้สิว ผิวมัน ขนดกได้
    • Drospirenone, Chlormadinone acetate, Cyproterone acetate เป็นกลุ่มที่พัฒนาใหม่ให้ดียิ่งขึ้น แถมยังมีจุดเด่นในเรื่องมีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชายอีกด้วย

1. ยาปรับฮอร์โมนคืออะไร ?

ตอบ ยาปรับฮอร์โมน คือ ยาคุมกำเนิดที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ให้มีส่วนประกอบของฮอร์โมน 2 ชนิด คือ Ethinyl Estradiol (EE) ที่ทำหน้าคล้ายเอสโตรเจน และ Progestin ซึ่งมีอยู่หลายชนิดที่มีฤทธิ์ยับยั้งฮอร์โมนเพศชายและช่วยปรับสมดุลในร่างกาย

2. ข้อดีของยาปรับฮอร์โมน มีอะไรบ้าง ?

ตอบ นอกจากจะช่วยเรื่องการคุมกำเนิดและปรับให้ประจำเดือนมาเป็นปกติแล้ว ยาปรับฮอร์โมนรุ่นใหม่ ๆ ยังเป็นยาคุมที่ช่วยให้หน้าใส รักษาสิว ช่วยลดสิว รวมถึงลดความมันของผิวหนังและเส้นผม ลดขนดก ป้องกันไม่ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นจากอาการบวมน้ำ บรรเทาอาการเครียดหงุดหงิดอ่อนเพลียในช่วงก่อนหรือมีประจำเดือน อาการปวดไมเกรน อาการจากโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ รวมไปถึงอาการภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) อันเกิดจากฮอร์โมนที่ไม่สมดุลด้วย

3. ข้อควรระวังของการกินยาปรับฮอร์โมน

ตอบ ก่อนเริ่มกินยาคุมต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชก่อนเสมอ เพราะตัวยาอาจไปเพิ่มโอกาสการเกิดหรือเพิ่มความรุนแรงของโรคที่เป็นอยู่ได้ เช่น ผู้ที่มีโรคหัวใจบางชนิด เบาหวาน โรคตับ โรคไต ลมชัก เป็นต้น ส่วนข้อควรระวังอื่น ๆ เช่น การกินยาในแผงแรกควรเริ่มจากยาคุมฮอร์โมนต่ำและต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วยเพราะประสิทธิภาพการคุมกำเนิดอาจยังไม่ดีนัก หรือถ้าลืมกินยามากกว่า 2 เม็ดติดต่อกันก็ให้หยุดกินยาแล้วคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์หากมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

4. ยาปรับฮอร์โมน ee20d, ee30d และ ee35c หมายความว่าอะไร ?

ตอบ ee จะหมายถึง Ethinyl Estradiol (ฮอร์โมนเอสโตรเจน) ส่วนเลข 20, 30, 35 คือปริมาณเอสโตรเจนที่มีอยู่ในยาคุม (20 เท่ากับ 20 mcg (μg) หรือ 0.02 mg) ส่วน d และ c จะหมายถึงส่วนประกอบของโปรเจสติน โดย d ก็คือ Drospirenone ส่วน c ก็คือ Cyproterone acetate ซึ่งทั้ง 2 ตัวเป็นส่วนประกอบที่นิยมใช้ในยาคุมรุ่นใหม่

5. ยังไม่เคยกินยาปรับฮอร์โมน อยากลองเริ่มกินต้องทำอย่างไร ?

ตอบ ควรเริ่มจากยาคุมหรือยาปรับฮอร์โมนต่ำไว้ก่อน เช่น ยาคุมฮอร์โมนต่ำ ee20d โดยการเลือกกินแต่ละยี่ห้อให้กินไปก่อนอย่างน้อย 3-5 แผง แล้วจึงค่อยเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้อที่มีฮอร์โมน ee สูงขึ้น เช่น ยาคุม ee30d ที่ลดสิว ช่วยให้หน้าใส หรือขยับไปจนถึงยี่ห้อที่มีระดับ ee สูงขึ้นที่เราทนได้ เช่น ยาปรับฮอร์โมนที่มีฤทธิ์ปรับฮอร์โมนเพศชาย ee35c (ยาคุมฮอร์โมนต่ำ ไม่เหมาะสำหรับที่คนลืมกินยาบ่อย ๆ เพราะหากลืมกินยาเพียงเม็ดเดียวก็จะเสี่ยงทำให้ตั้งครรภ์ได้มากขึ้น)

ระดับ EE ของยาคุมที่พบในท้องตลาด

  • EE 0 mcg / 0 mg ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว เหมาะสำหรับหญิงให้นมบุตรและคนที่แพ้เอสโตรเจน
  • EE 15 mcg / 0.015 mg เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มกินยาคุม
  • EE 20 mcg / 0.02 mg เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มกินยาคุม
  • EE 30 mcg / 0.03 mg
  • EE 35 mcg / 0.035 mg
  • EE 50 mcg / 0.05 mg เป็นที่นิยมของสาวประเภท 2 เนื่องจากมี EE สูงสุด

6. วิธีกินยาปรับฮอร์โมนอย่างถูกต้อง แบบ 21 และ 28 เม็ด

ตอบ

  • ยาปรับฮอร์โมนแบบ 21 เม็ด ในแผงยามักจะระบุเป็นวันจันทร์ถึงอาทิตย์ ซึ่งเราสามารถเริ่มกินยาในตำแหน่งใดก็ได้ แต่ต้องให้ตรงกับวันที่กิน และควรกินอย่างต่อเนื่องในเวลาเดียวกันทุกวัน คือ วันละ 1 เม็ดก่อนนอน (ถ้ากลัวลืมให้ตั้งนาฬิกาเตือนไว้)
    โดยให้เริ่มกินเม็ดแรกในวันแรกของการมีประจำเดือน หรืออาจจะเริ่มในวันที่ 2-5 ของการมีประจำเดือนก็ได้ หากจำเป็น แต่ต้องใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยหากมีเพศสัมพันธ์ระหว่างช่วง 7 วันแรกของการเริ่มรับประทานยา และกินไปตามลำดับลูกศรที่ระบุไว้จนยาหมดแผง เมื่อกินยาหมดแผงครบ 21 เม็ดก็ให้เว้นช่วงไม่ต้องกิน 7 วัน เพื่อให้เป็นช่วงปลอดฮอร์โมน (ถ้าวันที่เริ่มกินเม็ดแรกของแผงเป็นวันใด เมื่อเว้นครบ 7 วันแล้ว วันที่เริ่มต้นแผงใหม่จะต้องเป็นวันเดียวกันเสมอ)
  • ยาปรับฮอร์โมนแบบ 28 เม็ด ให้ผลในการคุมกำเนิดเช่นเดียวกับแบบ 21 เม็ด เหมาะสำหรับคนชอบลืม เพราะต้องกินยาทุกวันและเวลาเดิม วันละ 1 เม็ด โดยให้เริ่มกินเม็ดแรกตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือน เมื่อกินหมดแผงแล้วก็เริ่มแผงใหม่ในวันต่อมาได้ทันทีโดยไม่ต้องสนใจว่ากำลังมีประจำเดือนอยู่หรือไม่ก็ตาม (โดยทั่วไปในแผงยาจะมียาฮอร์โมนเพียง 21 เม็ด และมีเม็ดแป้งปลอดฮอร์โมนอีก 7 เม็ด แต่จะมีเป็นบางยี่ห้อเท่านั้นที่แตกต่างจากที่กล่าวมาเล็กน้อย เช่น ชนิดแผง 24/4 เม็ด คือจะมียาฮอร์โมน 24 เม็ด และมีเม็ดแป้งปลอดฮอร์โมนอีก 4 เม็ด ส่วนวิธีการกินก็ไม่ต่างกันครับ)

7. ยาปรับฮอร์โมนหรือยาคุมช่วยรักษาสิว ลดสิวได้ยังไง ตัวไหนเหมาะกับสิวแบบไหน ?

ตอบ ยาปรับฮอร์โมนส่วนใหญ่จะมีส่วนประกอบของฮอร์โมนอยู่ 2 ชนิด คือ เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสติน (Progestin) โดยกลไกที่ยาคุมสามารถรักษาสิวได้ก็เพราะเค้ามีการพัฒนาตัว “โปรเจสติน” ให้มีคุณสมบัติหรือโครงสร้างคล้ายกับแอนโดรเจน (Androgen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย เพื่อให้มันออกฤทธิ์ไปปิดกั้นตัวรับแอนโดรเจน มีผลทำให้ฮอร์โมนแอนโดรเจนทำงานน้อยลง ทำให้สามารถลดการทำงานของต่อมไขมันซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดสิวได้ ซึ่งยาคุมรักษาสิวแต่ละยี่ห้อก็จะแตกต่างกันตรงชนิดของโปรเจสตินนี่แหละครับ คือไม่ใช่ว่ายาคุมทุกตัวจะสามารถรักษาสิวและลดสิว รวมถึงช่วยให้หน้าใสได้เหมือนกันหมด เพียงแต่จะมียาปรับฮอร์โมนที่มีโปรเจสตินบางตัวที่ช่วยลดสิวได้ นั่นก็คือ

  • ไซโปรเตอโรน อะซิเตท (Cyproterone acetate) เช่น ยาปรับฮอร์โมนที่มีฤทธิ์ปรับฮอร์โมนเพศชาย ee35c เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวรุนแรง เป็นยาคุมรักษาสิวโดยเฉพาะ แต่กินแล้วอาจเกิดผลข้างเคียงได้ (ไซโปรเตอโรน อะซิเตทไม่ได้มีผลข้างเคียงมากนัก แต่มักใช้ในสูตรรวมกับ ee 35 mcg จึงอาจทำให้บางคนมีโอกาสเกิดอาการคลื่นไส้ได้)
  • ดรอสไพรีโนน (Drospirenone) เช่น ยาคุม ee20d เป็นยาคุมฮอร์โมนต่ำ, ยาคุม ee30d เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวปานกลาง เป็นยาคุมที่ช่วยลดสิว ช่วยให้หน้าใส และช่วยลดอาการบวมน้ำได้ ทำให้น้ำหนักตัวคงที่ไม่เพิ่มขึ้น
  • คลอร์มาไดโนน อะซิเตท (Chlormadinone acetate) เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวปานกลาง กินแล้วไม่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • เจสโตดีน (Gestodene) สามารถออกฤทธิ์ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านการทำงานของตับ เหมาะกับคนที่กังวลเรื่องตับ
  • เดโซเจสเทรล (Desogestrel) เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวไม่มาก ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย ลดปัญหามีเลือดออกกะปริดกะปรอย (หากรับประทานครั้งแรกอาจจะต้องเลือกชนิดที่มี ee เพียง 20 mcg หรือยาคุมฮอร์โมนต่ำ เพื่อลดโอกาสการเกิดอาการข้างเคียง)

8. ยาปรับฮอร์โมนหรือยาคุมแบบไหน กินแล้วช่วยลดสิว รักษาสิวได้ และต้องกินนานแค่ไหนถึงจะได้ผล ?

ตอบ อย่างแรกเลยต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาปรับฮอร์โมนที่มีโปรเจสตินในรุ่นที่ 1 และ 2 เพราะเป็นยาคุมรักษาสิว ลดสิว รุ่นเก่าและยังมีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเพศชาย แล้วเลือกกินยาปรับฮอร์โมนรุ่นใหม่ (รุ่นที่ 4) การกินยาปรับฮอร์โมนในรุ่นใหม่เพื่อรักษาสิวจากฮอร์โมน (Hormonal Acne) นั้น หลัก ๆ แล้วจะเลือกใช้ยาปรับฮอร์โมนที่มีโปรเจสตินในกลุ่ม Drosperinone (ยาคุม ee20d, ยาคุม ee30d) และ Cyproterone acetate (เช่น ยาปรับฮอร์โมนที่มีฤทธิ์ปรับฮอร์โมนเพศชาย ee35c) เพราะโปรเจสตินทั้ง 2 ตัวนี้มีคุณสมบัติเด่นในการต้านฮอร์โมนเพศชายจึงเป็นยาคุมที่ช่วยลดสิวได้ดี (ให้ประสิทธิภาพดีไม่ต่างกัน) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรกินยาติดต่อกันอย่างน้อย 3-6 เดือนจึงจะเห็นผล เนื่องจากการปรับฮอร์โมนของร่างกายเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหาและต้องอาศัยระยะเวลาเพื่อให้ฮอร์โมนในร่างกายสมบูรณ์

9. ยาคุมยี่ห้อไหนกินแล้วไม่อ้วน ไม่บวมน้ำ ?

ตอบ ความจริงแล้วตัวยาคุมไม่ทำให้อ้วน แต่น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอาจเกิดจากยาคุมทำให้เกิดหิวบ่อย จึงทำให้กินข้าวมากขึ้น บ่อยขึ้น หรือยาคุมไปมีผลเพิ่มการดูดกลับน้ำจนทำให้มีอาการบวมน้ำ ถ้าไม่อยากอ้วนจากการบวมน้ำก็แนะนำให้ใช้ยาคุมที่มีส่วนประกอบของโปรเจสตินชนิด Drospirenone เพราะมีฤทธิ์ช่วยลดอาการอ้วนบวมน้ำเนื่องจากการคั่งของน้ำในร่างกายได้ เช่น ยาคุมฮอร์โมนต่ำ ee20d, และยาคุม ee30d

10. อยากน้ำหนักเพิ่มกินยาปรับฮอร์โมนยี่ห้อไหนดี ?

ตอบ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ยาปรับฮอร์โมนใช้สำหรับปรับฮอร์โมนเป็นหลัก ส่วนน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นเป็นแค่ผลพลอยได้ แม้จะมีหลายงานวิจัยระบุว่า ยาคุมหรือยาปรับฮอร์โมนไม่ได้มีผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น แต่น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอาจเกิดจากผลทางอ้อมใน 2-3 กรณี คือ ยาคุมทำให้คลื่นไส้ หิวบ่อย ทำให้กินข้าวได้มากขึ้น บ่อยขึ้น, EE เข้าไปมีผลเพิ่มการดูดกลับของน้ำ ทำให้มีอาการบวมน้ำ

11. ยาปรับฮอร์โมนช่วยในเรื่องอาการก่อนมีประจำเดือนได้จริงหรือเปล่า ?

ตอบ หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน เครียด ปวดศีรษะ ตึงคัดเต้านม แขนขาบวม ท้องบวมอืด อยากอาหารมากกว่าปกติ เป็นกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ซึ่งมีชื่อว่า PMDD หรือ Premenstrual Dysphoric Disoder ซึ่งจะเป็นอาการที่รุนแรงกว่า Premenstrual Syndrome (PMS) ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในช่วงระหว่างตกไข่ในแต่ละรอบเดือน (ประมาณ 7-10 วันก่อนการมีประจำเดือน) ซึ่งหนึ่งในวิธีการรักษาหลัก ๆ ก็คือการใช้ยาปรับฮอร์โมนหรือยาคุมฮอร์โมนต่ำ ชนิดที่มียาฮอร์โมน 24 เม็ด และเม็ดแป้ง 4 เม็ด ซึ่งจะช่วยลดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย และลดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนได้

12. อยากใช้ยาคุมเพื่อคุมกำเนิดและรักษาสิว เน้นประหยัด อาการข้างเคียงไม่ซีเรียส ควรเลือกยาปรับฮอร์โมนยี่ห้อไหนดี ?

ตอบ ใช้ยี่ห้อไหนก็ได้ เพราะยาคุมกำเนิดทุกตัวย่อมมีคุณสมบัติในการคุมกำเนิดอยู่แล้ว แต่ถ้าให้แนะนำก็อาจเลือกเป็นยาคุมที่มีฮอร์โมน ee สูง คือมี ee 0.03 mg ขึ้นไป เช่น ยาปรับฮอร์โมนที่มีฤทธิ์ปรับฮอร์โมนเพศชาย และยังเป็นยาคุมที่ช่วยรักษาสิว ช่วยให้หน้าใส ee35c แต่ทั้งนี้ก็ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอเพื่อความปลอดภัย

13. กินยาปรับฮอร์โมนแล้วมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ควรเปลี่ยนไปใช้ยาคุมยี่ห้อไหน ?

ตอบ การกินยาปรับฮอร์โมนแผง 1-2 อาจทำให้มีอาการข้างเคียงคลื่นไส้อาเจียนได้ (ถ้ามีอาเจียนก็แนะนำให้กินยาในช่วงก่อนนอน) ซึ่งอาจเป็นเรื่องปกติ เพราะเมื่อกินไป 2-3 แผงแล้วส่วนใหญ่อาการจะค่อย ๆ หายไป แต่หากยังมีอาการอยู่ควรปรึกษาเภสัชกรและ/หรือเปลี่ยนไปกินยาคุมฮอร์โมนต่ำที่มีปริมาณ ee น้อย คือมี ee 0.02 mg

14. กินยาปรับฮอร์โมนแล้วมีเลือดออกระหว่างรอบเดือน ควรเปลี่ยนไปใช้ยาปรับฮอร์โมนยี่ห้อไหนดี ?

ตอบ อาการเลือดออกกะปริดกะปรอยหรือเลือดออกระหว่างรอบเดือนนั้นมักมีสาเหตุมาจากการกินยาคุมฮอร์โมนต่ำ เช่น ee 0.015 mg หรืออาจเกิดจากการลืมกินยาบ่อยหรือกินยาไม่ค่อยตรงเวลา

เบื้องต้นให้ลองพยายามกินยาให้ตรงเวลาทุกวันและไม่ควรลืมกินยา (ควรตั้งนาฬิกาเตือนกินยาเวลาเดิมทุกวัน) แต่หากทานครบแผงแล้วยังมีอาการอยู่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อหาสาเหตุและ/หรือเปลี่ยนไปใช้ยาคุมที่มี EE สูงขึ้น เช่น ยาคุม ee30d (EE 0.03 mg) หรือยาปรับฮอร์โมนที่มีฤทธิ์ปรับฮอร์โมนเพศชาย ee35c (EE 0.035 mg)

15. มียาปรับฮอร์โมนสำหรับหญิงให้นมบุตรไหม ?

ตอบ คุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมลูกที่ต้องใช้ยาคุมกำเนิด ควรเลือกใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (ยาคุมที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นยาคุมสำหรับหญิงให้นมบุตรโดยเฉพาะ) เพราะหากเลือกใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน (EE) ผสมอยู่ด้วย จะทำให้น้ำนมลูกไหลน้อยเกินไป

ยาปรับฮอร์โมนกินตามเพื่อนบอกหรือกินตามรีวิวไม่ได้ ต้องเลือกกินตรงกับปัญหาของแต่ละคน ยาคุมรักษาสิว ยาคุมลดสิว ยาคุมฮอร์โมนต่ำ ยาคุมหน้าใส เพราะแต่ละคนมีปัญหาและความต้องการไม่เหมือนกัน ตั้งแต่ปัญหาขนาดหน้าอก/สะโพก ผิวมัน เป็นสิว ขนดก มีหนวด บางคนเป็นฝ้า บางคนมีไมเกรน บางคนอ้วนบวมน้ำ แต่บางคนอาจอยากเพิ่มน้ำหนัก หรือบางคนอยากเลื่อนการมีประจำเดือน ดังนั้น ถ้าไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนซื้อยาปรับฮอร์โมนมารับประทานทุกครั้ง”

การหาซื้อยาคุมหรือยาปรับฮอร์โมนในบ้านเราเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ซึ่งจุดนี้เองก็อาจกลายเป็นข้อเสียได้เหมือนกัน เพราะบางคนไม่ได้เลือกยาคุมด้วยความรู้ความเข้าใจ ถ้าจะให้ดีคุณผู้หญิงทั้งหลายควรเลือกกินยาปรับฮอร์โมนให้ตรงกับปัญหาและความต้องการของตัวเอง เพราะยาคุมแต่ละยี่ห้อก็จะมีฮอร์โมนและปริมาณที่แตกต่างกันไป ฉะนั้นควรทำความเข้าใจศึกษาให้ถ่องแท้ก่อนเลือกทานนะครับ หรือหากไม่แน่ใจควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาจะดีที่สุด

ตนเองมีแนวโน้มเป็นสาวที่มีฮอร์โมนแบบไหน ? สามารถเข้าไปร่วมเล่น Quiz กันได้ที่ลิงก์ https://hormonequizs.com/quiz2

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด