ยาคุมฉุกเฉิน
ยาคุมฉุกเฉิน หรือ ยาคุมกําเนิดฉุกเฉิน หรือ ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency contraception pill) คือยาฮอร์โมนเช่นเดียวกับยาคุมกำเนิดธรรมดา ที่ผลิตออกมาเพื่อใช้เฉพาะในเหตุการณ์จำเป็นฉุกเฉินเท่านั้น แต่ตัวยาจะมีขนาดฮอร์โมนสูงกว่า ใช้กินเพื่อลดโอกาสการตั้งครรภ์หลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน โดยจะเกิดผลดีหากใช้อย่างถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้เต็ม 100% เพราะในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการคุมกำเนิดแบบใดที่ให้ผลเต็มร้อย ไม่ว่าจะเป็นการทำหมันหรือใส่ถุงยางอนามัยก็ตาม โดยตัวยาจะทำให้เยื่อบุมดลูกเปลี่ยนแปลงจนไม่เหมาะกับการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว
สรุปแล้วยาคุมฉุกเฉินก็คือยาคุมที่เหมือนกับยาคุมกำเนิดธรรมดาทั่วไปนั่นแหละครับ เพียงแต่จะมีปริมาณฮอร์โมนต่อเม็ดสูงกว่า และมีไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น และต้องกินหลังจากมีเพศสัมพันธ์ภายในเวลาที่กำหนด ไม่ควรใช้เพื่อการคุมกำเนิดในระยะยาว ถ้าจะคุมกำเนิดยาว ๆ แนะนำให้กินเป็นยาเม็ดคุมกำเนิดแบบธรรมดาจะดีกว่าครับ เพราะจะมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อผู้ใช้มากกว่า หรือจะเลือกใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นก็ได้ เช่น การใส่ห่วงอนามัย การใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด การฝังยาคุมกำเนิด เป็นต้น
ข้อบ่งใช้ยาคุมฉุกเฉิน
ยาคุมฉุกเฉินมีข้อบ่งใช้ในการป้องกันการตั้งครรภ์ใน “กรณีฉุกเฉินเท่านั้น” ซึ่งคำว่าฉุกเฉินในที่นี้หมายถึง
- สตรีที่ถูกข่มขืนกระทำชำเรา หรือการมีเพศสัมพันธ์กันโดยไม่เต็มใจหรือไม่ตั้งใจ
- การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้มีการคุมกำเนิดด้วยวิธีใด ๆ
- การมีเพศสัมพันธ์ในคู่สามีภรรยาที่มีการคุมกำเนิดอยู่ แต่การใช้วิธีคุมกำเนิดปกติเกิดความผิดพลาด ไม่ถูกต้อง หรือมีเหตุฉุกเฉิน เช่น การนับระยะปลอดภัยผิดพลาด, ถุงยางอนามัยรั่ว แตก หรือฉีกขาด, ห่วงอนามัยหลุด, ลืมฉีดยาคุมกำเนิด, ลืมกินยาเม็ดคุมกำเนิดเกิน 3 วันขึ้นไป
วิธีการกินยาคุมฉุกเฉิน
การกินยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน (แบบเดิม) อย่างถูกต้อง มีดังนี้
- ต้องกินยาคุมฉุกเฉินเม็ดแรก “ให้เร็วที่สุดหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน” โดยไม่ควรนานเกินกว่า 120 ชั่วโมง (5 วัน) หลังจากการมีเพศสัมพันธ์ (แต่ถ้าจะให้ได้ผลดีไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน และจะให้ผลดีที่สุดคือไม่เกิน 12 ชั่วโมง) และต้องกินยาคุมฉุกเฉิน (เม็ดที่ 2) ซ้ำอีก 1 เม็ด หลังจากกินยาเม็ดแรกไปแล้ว 12 ชั่วโมง เช่น มีเพศสัมพันธ์เสร็จและเริ่มกินยาเม็ดแรกเวลา 0.00 น. เมื่อครบ 12 ชั่วโมงให้กินซ้ำอีก 1 เม็ด คือ เวลา 12.00 น.
- เพื่อความสะดวก สามารถกินยาคุมฉุกเฉินได้พร้อมกัน 2 เม็ดในครั้งเดียว ซึ่งเป็นขนาดที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้กิน โดยที่ประสิทธิภาพและความปลอดภัยจะไม่แตกต่างจากการแบ่งกินเป็น 2 ครั้ง ซึ่งในต่างประเทศจะนิยมรูปแบบการกินในครั้งเดียวมากกว่า โดยตัวยาที่จำหน่ายจะมีความแรงจากเดิมเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า คือจะมีตัวยาลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ขนาด 1.5 มิลลิกรัม เพียง 1 เม็ด จึงทำให้เกิดความสะดวกในการกินมากกว่าแบบ 2 เม็ด แต่วิธีนี้จะไม่ค่อยเหมาะกับมือใหม่ครับ เพราะในบางรายยังพบว่าจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน (จากการกินยาเพียงครั้งเดียวพร้อมกัน 2 เม็ด) ได้มากกว่าการแบ่งกิน 2 ครั้ง
- ในกรณีที่กินยาในแต่ละเม็ด แล้วเกิดอาเจียนหรืออ้วกออกมาภายใน 2 ชั่วโมง จะต้องกินยาใหม่ (กินซ้ำอีก 1 เม็ดในทันที) สำหรับมือใหม่ที่ไม่เคยกินหรือกลัวกินแล้วอาเจียนจะซื้อมาเผื่ออีก 1 กล่องก็ได้ครับ
- หลังกินยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ การกินยาแก้อาเจียนก่อนยาคุมฉุกเฉินจะช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ดี
- ไม่แนะนำให้กินยาคุมฉุกเฉินเกิน 2 กล่อง หรือ 4 เม็ดต่อเดือน เพราะอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงกับรังไข่ในระยะยาวได้
- สามารถกินยาคุมฉุกเฉินได้ แม้จะกินยาคุมกำเนิดชนิดปกติอยู่แล้วก็ตาม “แต่จะกินได้เฉพาะในกรณีที่ลืมกินยาเกิน 3 วัน ร่วมกับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน” ในกรณีนี้เราสามารถกินยาคุมฉุกเฉินแทรกเข้าไปได้โดยไม่แทรกแซงการทำงานของยาคุมชนิดปกติ
- สำหรับการเก็บรักษายาคุมฉุกเฉิน ควรเก็บในที่อุณหภูมิห้องปกติหรือไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส
กินยาคุมฉุกเฉินแล้วประจำเดือนจะมาเมื่อไหร่
ยาคุมฉุกเฉินไม่ใช่ยาขับประจำเดือนหรือทำให้ประจำเดือนมา แต่ผลข้างเคียงจากยาอาจทำให้มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดในช่วงเวลา 1 สัปดาห์หลังกินยาได้ ซึ่งพบได้ประมาณ 16% (โดยเลือดที่ออกมามักเป็นผลข้างเคียงจากยา ไม่ใช่ประจำเดือน) ส่วนประจำเดือนจริง ๆ ของรอบเดือนนั้น มักจะมาในช่วงเวลาเดิม ซึ่งในบางรายอาจมาช้าหรือเร็วกว่าปกติก็ได้ ดังนั้น คุณจึงควรรอให้ถึงกำหนดเวลาปกติที่ประจำเดือนจะมาก่อน และหากพ้นเวลานั้นไปแล้วประมาณ 1-3 สัปดาห์ (จากที่ประจำเดือนควรจะมา) แล้วประจำเดือนยังไม่มา ให้สงสัยไว้ก่อนว่ากำลังตั้งครรภ์ และคุณควรรีบไปพบแพทย์
ยกตัวอย่าง : หากคุณมีรอบเดือนปกติคือ 28 วัน (ประจำเดือนมาทุก ๆ 28 วัน) ประจำเดือนครั้งล่าสุดมาวันแรกคือวันที่ 1 มกราคม หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันและกินยาคุมฉุกเฉินวันที่ 14 มกราคม ในช่วงวันที่ 15-21 อาจมีเลือดออกผิดปกติหรือออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอดได้ ซึ่งไม่ใช่เลือดประจำเดือน เมื่อครบ 28 วัน ประจำเดือนควรจะมาวันที่ 29 มกราคม ซึ่งประจำเดือนจริง ๆ อาจจะมาช้ากว่าหรือเร็วกว่าวันที่ 29 มกราคมก็ได้ แต่ถ้าเลยหลังวันที่ 29 ไปแล้วประมาณ 1-3 สัปดาห์ ประจำเดือนยังไม่มา คุณควรทดสอบการตั้งครรภ์ และรีบไปพบแพทย์
ข้อควรรู้ : กินยาคุมฉุกเฉินแล้วมีเลือดออกก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ท้อง เพราะเลือดที่ออกมาอาจไม่ใช่ประจำเดือนก็ได้ อย่าประมาทกันล่ะครับ
ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉิน
- ก่อนการใช้ยาคุมฉุกเฉิน คุณควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ (ไม่ต้องอายครับ เพราะมันเป็นเรื่องปกติมาก ๆ สำหรับแพทย์หรือเภสัช)
- ถึงแม้จะใช้ยาคุมฉุกเฉินอย่างถูกต้อง (กินทันทีหรือภายในเวลาที่กำหนด) ก็อาจทำให้ตั้งครรภ์ได้ ถ้าพลาดตั้งครรภ์แล้ว ก็ไม่ต้องทำแท้งครับ เพราะเด็กจะยังปกติดีอยู่
- ประสิทธิภาพของยาจะดีถ้าคุณกินยาทันทีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งการกินยาภายใน 72 ชั่วโมง จะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 75-79% (รวมยาเม็ดที่ 2 แล้ว) แต่ถ้าเริ่มกินยาภายใน 12-24 ชั่วโมงแรกหลังการมีเพศสัมพันธ์ จะทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงขึ้นเป็น 85% ดังนั้น คุณควรกินยาเม็ดแรกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ส่วนการกินยาหลังจากเลย 72 ชั่วโมงไปแล้ว หรือตั้งแต่ 72-120 ชั่วโมง (3-5 วัน) ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะลดลงเหลือเพียง 60%)
- ระหว่างยาเม็ดแรกกับเม็ดที่ 2 คุณสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างปลอดภัย เพราะประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของยายังคงมีเท่าเดิม แต่อย่าลืมว่าประสิทธิภาพไม่ใช่ 100% โอกาสตั้งครรภ์จะยังคงมีอยู่ (ในกรณีที่กินยาครบ 2 เม็ดแล้ว หลังจากนั้นก็มีเพศสัมพันธ์กันอีก แบบนั้นจะเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้สูงมากครับ ไม่ควรทำ)
- ยาคุมฉุกเฉินเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูงครับ (หากใช้อย่างถูก) ความเชื่อที่ว่ากินแล้วอันตราย ทำให้เป็นมะเร็ง ตั้งครรภ์นอกมดลูก ไม่จริงนะครับ “ถ้าคนทั่วไปยังกินยาคุมกำเนิดแบบธรรมดาได้ คุณก็กินยาคุมฉุกเฉินได้แบบไม่ต้องกังวลครับ“
- จากการศึกษาพบว่า คุณสามารถใช้ยาคุมฉุกเฉินได้มากกว่า 1 ครั้ง (ไม่เกิน 2 ครั้ง) ภายใน 1 เดือน โดยไม่มีอาการข้างเคียงรุนแรงใด ๆ จากการใช้ดังกล่าวในคนมากกว่า 30 ปี พบว่าการใช้ยาคุมฉุกเฉินไม่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด และไม่มีความสัมพันธ์กับการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือความสามารถในการตั้งครรภ์หลังเลิกใช้ยา
- ไม่ควรใช้ยานี้เพื่อคุมกำเนิดเป็นประจำหรือใช้ในระยะยาว เพราะหากใช้ซ้ำกันหลายครั้งอาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ ดังนั้นหากต้องการคุมกำเนิดในระยะยาว คุณควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพและได้ผลดีกว่า
- การกินยาคุมฉุกเฉินเป็นประจำจะเกิดอาการข้างเคียงเหล่านี้ได้สูง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติการณ์การตั้งครรภ์นอกมดลูกเพิ่มขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้การ “ใช้ยาคุมฉุกเฉินเป็นประจำหลังร่วมเพศทุกครั้งอาจจะเกิดการตั้งครรภ์ได้สูงและอาการแทรกซ้อนได้มากขึ้นด้วย“
- ยาคุมฉุกเฉินห้ามกินเกิน 2 ครั้งในชีวิต ส่วนนี้ “ไม่จริง” นะครับ คุณสามารถกินได้มากกว่า 2 ครั้ง เพียงแต่ไม่ควรกินเกิน 2 กล่องต่อเดือน ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว
- มีความเข้าใจผิด ๆ ว่าการกินยาคุมฉุกเฉินโดยไม่ทราบว่ามีการตั้งครรภ์ จะทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ ส่วนนี้ไม่เป็นความจริงนะครับ เพราะมีรายงานว่า “ยังไม่พบทารกพิการจากการที่มารดากินยาคุมฉุกเฉินโดยไม่ทราบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์“
- ยาคุมฉุกเฉินไม่ใช้ยาทำแท้ง หลายคนยังเข้าใจผิดในเรื่องนี้อยู่ เพราะยาจะต้องเข้าไปในร่างกายก่อนที่จะมีการฝังตัวของไข่ที่เยื่อบุโพรงมดลูก แต่หากไข่ที่ผสมกับอสุจิได้ฝังตัวที่ผนังมดลูกไปแล้ว จะกินยาคุมฉุกเฉินก็ไม่ได้ช่วยอะไร สรุป “ยาคุมฉุกเฉินมีฤทธิ์ยับยั้งหรือรบกวนการตกไข่ ไม่ใช่ยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อน” จึงไม่มีผลทำให้แท้งหรือทำให้ทารกในครรภ์พิการ
- ยาคุมฉุกเฉินไม่ทำให้อ้วนขึ้นแต่อย่างใด เพราะหน่วยงานควบคุมยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicines Agency: EMA) ออกมายืนยันแล้วว่า “ไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าการกินยาคุมฉุกเฉินแล้วจะทำให้อ้วนขึ้นหรือตัวบวมขึ้น“
- ยาคุมฉุกเฉินไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสมะเร็งปากมดลูก หรือกามโรคชนิดต่าง ๆ แต่การใช้ถุงยางอนามัยนอกจากจะช่วยคุมกำเนิดได้แล้ว ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย
- หากมีอาการผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อประจำเดือนขาดหรือประจำเดือนไม่มา ให้รีบไปพบแพทย์
- หลังใช้ยาคุมฉุกเฉินและประจำเดือนมาแล้ว ถ้าอยากกินยาคุมแบบปกติทั้งแบบ 21 เม็ดและ 28 เม็ด คุณต้องตระหนักไว้ว่า “ในแผงแรกอาจยังไม่ได้ผลในการคุมกำเนิดอย่างเต็มที่ คุณควรใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วยไปจนกว่าจะขึ้นแผงที่ 2” เพื่อความชัวร์
- การคุมกำเนิดฉุกเฉิน ไม่ได้มีเพียงแต่การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินเท่านั้น แต่ยังมีใช้ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทอง (Copper IUDs) เพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉินอีกด้วย ซึ่งจะแตกต่างกับยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินทั่วไปที่จะเป็นการใช้ฮอร์โมนเพื่อเข้าไปชะลอกระบวนการตกไข่ ส่วนห่วงหุ้มทองแดงนั้นจะมีสารที่เข้าไปทำลายไข่และเชื้ออสุจิไม่ให้เกิดการปฏิสนธิกันได้ โดยสามารถใส่ห่วงอนามัยได้ภายใน 120 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ โอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครร์จะอยู่ที่ 0.09 – 0.10% เท่านั้น ซึ่งวิธีนี้สามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ดีกว่าวิธีการคุมกำเนิดฉุกเฉินแบบอื่น ถ้าไม่มีการถอดห่วงออกก็จะเป็นการคุมกำเนิดต่อไปได้อีกนานตราบเท่าที่ต้องการ (ขึ้นอยู่กับชนิดของห่วง มีทั้ง 3 ปี, 5 ปี และแบบ 10 ปี แต่ในภาพด้านล่าง คือ คอปเปอร์ที Copper T 380 (Paragard®) ที่มีอายุการใช้งานได้นานถึง 10 ปี)
ผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉิน
- ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ๆ จากยาคุมฉุกเฉินจะเป็นอาการที่ไม่รุนแรงมากนัก ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เจ็บคัดเต้านม ปวดท้อง มีเลือดออกกะปริดกะปรอย (ออกมาเล็กน้อยประมาณ 1-2 วัน หรือ 3-4 วัน) ประจำเดือนมาช้าหรือเร็วกว่าปกติ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา และจะหายไปได้เองภายใน 24 ชั่วโมง (ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ไม่ได้หมายความว่าจะมีอาการข้างเคียงเหล่านี้เกิดขึ้นได้เกือบทุกคนที่ใช้นะครับ แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่กินแล้วมีอาการข้างเคียงดังกล่าว หากกินไปแล้วไม่มีอาการดังกล่าวก็ไม่ต้องแปลกใจ)
- การกินยาคุมฉุกเฉินในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด แต่การใช้ยานี้ติดต่อกันนาน ๆ นอกจากจะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดที่ด้อยกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดแบบปกติแล้ว ยังอาจทำให้เกิดความผิดปกติที่รังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ถึง 2% ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยานี้เกิน 2 กล่องต่อเดือน
ยี่ห้อยาคุมฉุกเฉิน
ผลิตภัณฑ์ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินที่จำหน่ายในบ้านเราจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ยี่ห้อหลัก ๆ ครับ คือ มาดอนน่า กับ โพสตินอร์ ซึ่งเป็นยาคุมฉุกเฉินที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพียงเดียว คือ ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดก็พอ ๆ กันครับ เพราะเป็นตัวยาเดียวกันและมีขนาดเท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าจะชอบของถูก (ของไทย) หรือของแพง (ของนอก) มากกว่า ส่วนยาคุมฉุกเฉินแบบฮอร์โมนรวมก็มีครับ คือรวมทั้งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Levonorgestrel) กับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Ethinyl estradiol) เข้าด้วยกัน แต่เดี๋ยวนี้มันมียาคุมฉุกเฉินออกมาใหม่ครับ คือ Ulipristal acetate ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าแบบเดิม แต่ในบ้านเราตอนนี้ยังไม่มีขายนะครับ คงต้องรอไปก่อน คราวนี้มาดูกันต่อดีกว่าครับว่าแต่ละยี่ห้อจะแตกต่างกันยังไง
- ยาคุมฉุกเฉินโพสตินอร์ (POSTINOR) : ราคาประมาณ 40-60 บาท แต่ผมซื้อจากร้านยาในเซเว่นมากล่องละ 58 บาทครับ (29/10/58) ในกล่องยาจะมีแผงยา 1 แผง และเอกสารกำกับยา 1 แผ่น ยาในแผงจะมีอยู่ด้วยกัน 2 เม็ด เม็ดยาจะเป็นสีขาว มีลักษณะกลม ผิวหน้าแบนทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งมีอักษร NOR ส่วนอีกด้านหนึ่งเรียบ ในยา 1 เม็ดจะประกอบไปด้วย ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) 0.75 มิลลิกรัม (ผลิตโดย Gedeon Richter Plc., Budapest-Hungary) โดยตัวยา Levonorgestrel จะเป็น Progestin (synthetic progestogen) รุ่นที่ 2 ออกฤทธิ์ในการคุมกำเนิดโดยการชะลอหรือยับยั้งการเจริญของถุงไข่หรือการแตกของถุงไข่ จึงเป็นการยับยั้งการตกไข่ หากกินยาหลังการตกไข่หรือหลังจากที่ฮอร์โมน Luteinizing hormone (LH) มีระดับสูงสุดแล้ว (เป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่จะเกิดการตกไข่ตามมา) จะป้องกันการตั้งครรภ์ไม่ได้
- ยาคุมฉุกเฉินมาดอนน่า (Madonna) : ราคาประมาณ 30-40 บาท ผมซื้อจากร้านยาในเซเว่นมากล่องละ 40 บาท (29/10/58) ในกล่องยาจะมีแผงยา 1 แผง และเอกสารกำกับยา 1 แผ่น ยาในแผงจะมีอยู่ด้วยกัน 2 เม็ด เม็ดยาเป็นสีขาว มีลักษณะกลม ผิวหน้าแบนทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งมีอักษร NOR และ 750 ส่วนอีกด้านหนึ่งเรียบ ในยา 1 เม็ด จะประกอบไปด้วย ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) 0.75 มิลลิกรัม เช่นเดียวกับยาคุมโพสตินอร์ครับ (ผลิตโดย บริษัท ไบโอแลป จำกัด)
- ยาคุมฉุกเฉินแบบฮอร์โมนรวม หรือที่เรียกว่า Yuzpe Regimen : เป็นการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Ethinyl Estradiol – EE) 0.1 มิลลิกรัม และโปรเจสเตอโรน (Levonorgestrel) ขนาด 0.5 มิลลิกรัม ใช้กินครั้งละ 2 เม็ด 2 ครั้ง (รวม 4 เม็ด) ภายในเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ห่างกัน 12 ชั่วโมง โดยตัวยาจะเข้าไปขัดขวางการปฏิสนธิของอสุจิและไข่ ช่วยยับยั้งการตกไข่ หรืออาจมีผลต่อการทำงานของคอร์ปัสลูเทียมก็ได้ วิธีนี้เป็นที่นิยมในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีข้อเสียคือผลข้างเคียงจะมีมากกว่า 2 ตัวแรกครับ แต่ในปัจจุบันยาเม็ดชนิดนี้แทบจะไม่ค่อยมีใช้กันแล้วครับ
- ยาคุมฉุกเฉิน ellaOne 30 mg : ยาคุมฉุกเฉินแบบใหม่ที่ FDA ให้การรับรองเป็นที่เรียบร้อย ในบางประเทศมีใช้กันมาระยะหนึ่งแล้วครับ แต่ในบ้านเรายังไม่มีขาย ตัวยาที่นำมาใช้ คือ Ulipristal acetate ขนาด 30 มิลลิกรัม เป็นยาในกลุ่ม selective progesterone receptor modulator รุ่นที่ 2 ที่มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดฉุกเฉินสูงกว่าลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์แม้ว่าจะกินยาล่าช้าออกไปจนถึง 120 ชั่วโมง (5 วัน) หลังการมีเพศสัมพันธ์ก็ตาม และยาตัวนี้ยังมีประสิทธิภาพแม้อยู่ในช่วงที่ฮอร์โมน Luteinizing hormone (LH) มีระดับสูงสุด (เป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่จะเกิดการตกไข่ตามมา) นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว โดยออกฤทธิ์รบกวนการทำหน้าที่ของตัวอสุจิ หรือการผสมระหว่างไข่กับอสุจิ หรือการเตรียมความพร้อมของเยื่อบุมดลูก หากกินยานี้ภายใน 120 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์พบว่าจะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงกว่า Levonorgestrel ครับ โดยความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์จะลดลงไปครึ่งหนึ่งของการใช้ Levonorgestrel เลยทีเดียว ! ส่วนในด้านความปลอดภัยก็ไม่แตกต่างจาก Levonorgestrel ครับ เพราะจากการใช้ไม่พบว่ามีอาการข้างเคียงร้ายแรง และไม่มีหลักฐานว่ายาตัวนี้จะทำให้ทารกพิการหากการคุมกำเนิดล้มเหลว นอกจากนี้ภาวะน้ำหนักตัวมากเกินหรือโรคอ้วนก็ยังกระทบต่อประสิทธิภาพของยานี้น้อยกว่า Levonorgestrel ด้วยครับ ส่วนอาการข้างเคียงที่พบได้จากยานี้ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง และปวดประจำเดือน
คำถามที่พบบ่อย
Q : หาซื้อยาคุมฉุกเฉินได้ที่ไหน ?
A : ตามร้านขายยาทั่วไป ราคาประมาณ 30-50 บาท (ควรซื้อไว้ 2 กล่อง เพราะอาจมีการอาเจียนหลังกิน)
Q : กินยาคุมฉุกเฉินก่อนมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ ?
A : กินก่อนได้ แต่ประสิทธิภาพจะไม่ดีเท่าตอนกินหลังมีเพศสัมพันธ์ทันที
Q : กินยาคุมฉุกเฉินหลังจากมีเพศสัมพันธ์ไปแล้วหลายวันได้หรือไม่ ?
A : ได้ครับ อย่างช้าสุดไม่ควรเกิน 5 วัน (แต่ประสิทธิภาพจะน้อย) จะให้ดีคือไม่เกิน 3 วันจะได้ผล 75% แต่ถ้ากินภายใน 24 ชั่วโมงหรือกินทันทีจะป้องกันได้ถึง 85% (ยิ่งเร็วยิ่งดี)
Q : หลังจากกินยาคุมฉุกเฉินแล้วเมื่อไหร่ประจำเดือนจะมา ?
A : โดยทั่วไปแล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์ และในรอบเดือนถัดไปประจำเดือนจะมาในช่วงเวลาเดิม (ในบางรายอาจมาช้าหรือเร็วกว่าเดิม) หากประจำเดือนไม่มาให้สงสัยไว้ก่อนว่าตั้งครรภ์ แล้วควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอีกที
Q : กินยาคุมฉุกเฉินแล้วประจำเดือนไม่มา ?
A : ต้องรอดู 2-3 สัปดาห์ หากประจำเดือนยังไม่มา ให้สงสัยไว้ก่อนว่าตั้งครรภ์
Q : หลังจากกินยาคุม 3-5 วัน แล้วพบว่ามีเลือดออก หมายความว่าไม่ตั้งครรภ์แล้วใช่ไหม ?
A : ไม่ใช่ครับ เพราะส่วนใหญ่อาจเป็นผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉินก็ได้ และจะหายไปเองใน 2-3 วัน
Q : กินยาคุมฉุกเฉินแล้วจะมีเลือดออกหรือเปล่า ?
A : หลังกินยา 3-5 วันอาจมีเลือดออก และถือเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับบางรายก็ไม่มีอาการดังกล่าว
Q : หลังจากกินยาคุมฉุกเฉิน 3-5 วันแล้วมีเลือดออก จะเริ่มกินยาคุมกำเนิดแบบธรรมดาได้เลยไหม ?
A : เริ่มกินได้เลยครับ แต่แผงแรกควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น การใส่ถุงยางอนามัย เมื่อถึงเดือนถัดไปยาก็จะทำงานได้อย่างเต็มที่แล้ว
Q : กินยาคุมฉุกเฉินบ่อย จะเป็นอะไรไหม ?
A : มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์สูงมากขึ้น เพราะประจำเดือนอาจจะมาไม่ตรง (ห้ามใช้เกินเดือนละ 2 กล่อง)
Q : ยาคุมฉุกเฉิน มีอันตรายหรือไม่ ?
A : หากใช้อย่างถูกวิธี ก็ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ กับร่างกายได้ (หากไม่จำเป็นจริง ๆ ห้ามใช้เด็ดขาด) แต่สำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคหัวใจ หรือโรคที่เกี่ยวกับเส้ยเลือดหัวใจ โรคลมชัก โลหิตแข็งตัว ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน
Q : ระหว่างยาคุมฉุกเฉินกับถุงยางอนามัย อันไหนดีกว่ากัน ?
A : ถุงยางอนามัยดีกว่า เพราะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100% และยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศได้อีกด้วย
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)