7 สรรพคุณและประโยชน์ของม่อนไข่ ! (เซียนท้อ)

ม่อนไข่

ม่อนไข่ ชื่อสามัญ Canistel, Egg fruit, Tiesa, Yellow sapote, Canistelsapote, Chesa (ฟิลิปปินส์), Laulu lavulu หรือ Lawalu (ศรีลังกา)

ม่อนไข่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Pouteria campechiana (Kunth) Baehni (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lucuma campechiana Kunth) จัดอยู่ในวงศ์พิกุล (SAPOTACEAE)

สมุนไพรม่อนไข่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ลูกท้อพื้นบ้าน (ราชบุรี), ท้อเขมร (ปราจีนบุรี), ทิสซา (เพชรบูรณ์)[3],[4], เซียนท้อ เขมา ละมุดเขมร ละมุดสวรรค์ หมากป่วน โตมา (กรุงเทพฯ)[6]

ลักษณะของต้นม่อนไข่

  • ต้นม่อนไข่ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงโดยทั่วไปไม่เกิน 8 เมตร และอาจสูงได้ถึง 27-30 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของต้นประมาณ 1 เมตร ลำต้นมียางสีขาว ๆ ที่กิ่งอ่อนเป็นสีน้ำตาล[1],[2] ผลไม้ม่อนไข่ เป็นผลไม้พื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ (ประเทศเม็กซิโก) และในอเมริกาใต้ (ประเทศเบลีซ, กัวเตมาลา, คอสตาริกา, เอลซัลวาดอร์, ฮอนดูรัส, ปานามา, นิการากัว)[3]

ต้นม่อนไข่เปลือกต้นม่อนไข่ 

ลูกม่อนไข่

  • ใบม่อนไข่ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม ยาวประมาณ 11.25-28 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4-7.5 เซนติเมตร ใบเป็นมันและบาง[1],[5]

ใบม่อนไข่

  • ดอกม่อนไข่ ดอกมีสีครีมและมีกลิ่นหอม[1]
  • ผลม่อนไข่ ผลมีลักษณะเป็นกลมรูปรี ปลายผลมีหลายแหลมหรือจะงอย ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5-7.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7.5-12.5 เซนติเมตร ผลเมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองอ่อน เปลือกผลบาง เนื้อในผลเป็นสีเหลืองสดน่ารับประทาน เนื้อมีลักษณะเหนียวคล้ายกับแป้งทำขนม เนื้อนิ่มคล้ายกับไข่แดง (จึงเป็นที่มาของชื่อ Egg fruit) ภายในผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ และมีลักษณะเป็นรูปรีสีดำ รสหวาน[1]

ผลไม้ม่อนไข่

ผลม่อนไข่

เมล็ดม่อนไข่

สรรพคุณของม่อนไข่

  • เปลือกของต้นม่อนไข่ใช้เป็นยารักษาอาการไข้ ตัวร้อน (เปลือกต้น)[1]
  • ผลสุกใช้รับประทาน ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ผล)[1]
  • เมล็ดใช้เป็นยาสำหรับช่วยรักษาแผลเน่าเปื่อย (เมล็ด)[1]
  • ช่วยรักษาผดผื่นคัน (เปลือกต้น)[1]

ประโยชน์ของม่อนไข่

  • ผลม่อนไข่นิยมใช้รับประทานเป็นผลไม้สด เห็นว่าอร่อยนัก ชาวฟลอริดานิยมรับประทานร่วมกับเกลือ พริกไทย มายองเนส หรือน้ำมะนาว[1]
  • นอกจากผลจะใช้รับประทานสดแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ทำเป็นขนมได้อีก เช่น แพนเค้ก แยม คัสตาร์ด ทาร์ต ใช้อบให้สุก หรือนำมาใช้ผสมกับนมหรือโยเกิร์ต เป็นต้น[1],[2]
  • เนื้อไม้ของต้นม่อนไข่มีความละเอียดและแข็งแรง สามารถนำมาใช้ทำเป็นไม้กระดานหรือใช้ในงานก่อสร้างต่าง ๆ ได้[5]

คุณค่าทางโภชนาการของม่อนไข่ ต่อ 100 กรัม (เฉพาะในส่วนที่กินได้)

  • พลังงาน 138.8 กิโลแคลอรี
  • ท้อเขมรโปรตีน 1.68 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 36.69 กรัม
  • ไขมัน 0.13 กรัม
  • เส้นใย 0.10 กรัม
  • น้ำ 60.6 กรัม
  • เถ้า 0.90 กรัม
  • แคโรทีน (โปรวิตามินเอ) 0.32 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 1 0.17 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.0.1 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 3.72 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 58.1 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 26.5 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 37.3 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 0.92 มิลลิกรัม
  • ทริปโตเฟน 28 มิลลิกรัม
  • เมไธโอนีน 13 มิลลิกรัม
  • ไลซีน 84 มิลลิกรัม

แหล่งที่มา : According to analyses made at the Laboratorio FIM de Nutricion in Havana.[5]

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน (นิดดา หงส์วิวัฒน์และทวีทอง หงส์วิวัฒน์).  “ม่อนไข่หรือทิสซา“.
  2. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  “Pouteria campechiana“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: en.wikipedia.org.  [9 ม.ค. 2014].
  3. GRIN (Germplasm Resources Information Network) Taxonomy for Plants.  “Pouteria campechiana (Kunth) Baehni“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.ars-grin.gov.  [9 ม.ค. 2014]
  4. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  “ม่อนไข่“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org.  [9 ม.ค. 2014].
  5. The New Crop Resource Online Program, Purdue University.  “Canistel“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.hort.purdue.edu.  [9 ม.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad, Starr Environmental, KeithABradley, alloe., Forest & Kim, sergioniebla, dinesh_valke)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด