มันแกว
มันแกว ชื่อสามัญ Yam bean (แยมบีน)[1], Jicama (จิคามา)[2]
มันแกว ชื่อวิทยาศาสตร์ Pachyrhizus erosus (L.) Urb. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2],[3]
มันแกว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หมากบ้ง (เพชรบูรณ์), เครือเขาขน ถั่วกินหัว ถั่วหัว ถั้วบ้ง ละแวก มันละแวก มันแกวละแวก มันลาว มันแกวลาว (ภาคเหนือ), มันเพา มันเภา (ภาคอีสาน), มันแกว (ภาคกลาง), หัวแปะกัวะ (ภาคใต้), มะคะตุ๋ม (ไทลื้อ) เป็นต้น[1],[2],[3],[5]
มันแกวที่ปลูกกันมากในประเทศไทย จะมีอยู่ 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ พันธุ์หัวเล็ก และพันธุ์หัวใหญ่ ไม่มีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน แต่จะเรียกชื่อกันตามท้องถิ่นที่ปลูก เช่น มัวแกวลพบุรี มัวแกวเพชรบุรี มันแกวบ้านหมอ ส่วนทางแถบจังหวัดสระบุรีจะเรียกพันธุ์ “ลักยิ้ม” (เพราะเมล็ดมีรอยบุ๋ม) และทางจังหวัดมหาสารคามจะเรียกพันธุ์ “งาช้าง” เป็นต้น[1]
ในประเทศไทยมีการปลูกมันแกวมานานมากแล้ว อาจเป็นไปได้ว่าชาวญวนเป็นผู้นำเข้ามาปลูกทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือมีคนไทยนำมันแกวเข้ามาจากเวียดนาม แล้วนำมาปลูกทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะคนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเรียกชาวญวนว่า “แกว” จึงเรียกมันชนิดนี้ว่า “มันแกว” ก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีการยืนข้อสันนิษฐานดังกล่าว[1]
ลักษณะของมันแกว
- ต้นมันแกว เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศเม็กซิโกและประเทศในแถบอเมริกากลาง โดยจัดเป็นพืชในตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง ลำต้นมีขน เป็นไม้เถาเลื้อยพันต้นไม้อื่น แต่ไม่มีมือเกาะ ลำต้นอาจยาวได้ถึง 5.5 เมตร ต้นไม่แตกแขนง โคนต้นเนื้อแข็ง มีหัวใต้ดินเป็นรากสะสมอาหาร หัวมีลักษณะอวบและมีขนาดใหญ่ ขนาดจะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ที่ปลูก โดยทั่วไปมีขนาดเท่ากำปั้น พบได้มากจะเป็นพันธุ์หัวใหญ่ โดยจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตร และหัวเป็นสีน้ำตาลอ่อน ในหนึ่งต้นจะมีหัวเพียงหัวเดียว ลักษณะของหัวอาจจะเป็นหัวเรียบ ๆ หรือเป็นพู และมีรูปร่างแตกต่างกันมาก ส่วนมากจะเป็นหัวแบบมี 4 พู เนื้อในหัวเป็นสีขาวขุ่น มีเส้นใยอาหารมาก รสชาติคล้ายแป้ง โดยส่วนที่อยู่ใต้ดินจะมีอายุข้ามปี แต่ส่วนที่อยู่บนดินจะมีอายุเพียงปีเดียว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนระบายน้ำดี ใต้ร่มต้นไม้ใหญ่ พบได้ทุกภาคของประเทศไทย[1],[2],[3]
- ใบมันแกว ใบเป็นประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ แตกจากก้านใบ เรียงสลับ ก้านใบยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ลักษะของใบย่อยเป็นรูปจักใหญ่หรือเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายใบแหลม โคนใบป้านมนเข้าหาเส้นกลางใบ แผ่นใบเรียบแต่สากมือ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร[1],[2],[3]
- ดอกมันแกว ออกดอกเป็นช่อกระจะออกเดี่ยว ๆ ที่ซอกใบ มีขนสีน้ำตาล ช่อดอกยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ลักษณะเป็นรูปดอกถั่วหรือรูปไต กลีบดอกเป็นสีม่วงแกมน้ำเงิน สีชมพู หรือสีขาว เมื่อดอกบานจะมีรูปร่างคล้ายดอกแค แต่มีขนาดเล็กกว่าและยาวประมาณ 2 เซนติเมตร[1],[2],[3]
- ผลมันแกว ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักเป็นรูปขอบขนาน แบน และมีขนปกคลุมทั่วทั้งฝัก ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ฝักเมื่อแก่จะเรียบ ทั้งฝักมีเมล็ดเรียงกันอยู่ภายในประมาณ 4-10 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปจัตุรัสแบน เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อนถึงเข็มหรือสีแดง ผิวมัน[1],[2],[3]
สรรพคุณของมันแกว
- รสหวานจากมันแกวมาจากอินูลิน (Inulin) ซึ่งเป็นน้ำตาลโอลิโกฟรุคโตส (Oligofructose) ซึ่งร่างกายไม่สามารถเผาผลาญได้ มันจึงเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน[5]
- มันแกวอุดมไปด้วยกรดโฟลิก ที่มีส่วนช่วยควบคุมไม่ให้หลอดเลือดหัวใจตีบ ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีขึ้น จึงช่วยป้องกันโรคหัวใจได้ โดยปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวันคือ 1 ถ้วยตวง (120 กรัม)
- มันแกวมีวิตามินซี (แม้จะไม่มาก) แต่มันก็มีส่วนช่วยในการป้องหวัด มะเร็ง และต้านอนุมูลอิสระในร่างกายได้[4],[7]
- มันแกวมีเส้นใยอาหารสูง จึงมีประโยชน์ต่อระบบขับถ่าย ช่วยป้องกันโรคท้องผูกได้ดี[4]
- จากการศึกษาของ the British Journal of Nutrition ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2005 แสดงให้เห็นว่าอาหารที่มีอินูลิน (Inulin) อย่างมันแกว สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของมะเร็งในลำไส้ใหญ่ไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้[7]
- หัวมันแกวมีสรรพคุณช่วยทำให้เกิดน้ำหล่อเลี้ยง แก้กระหายน้ำ ร้อนกระสับกระส่าย ลดไข้ รักษาโรคร้อนดับพิษ (หัว)[6]
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ หน้าแดง (หัว)[6]
- ช่วยแก้ความดันโลหิตสูง (หัว)[6]
- ใช้เป็นยารักษาพิษสุราเรื้อรัง (หัว)[6]
- ใบมันแกวมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ (ใบ)[4]
- ใบมีสรรพคุณใช้ในการรักษาโรคผิวหนังกลากเกลื้อน (ใบ)[4]
- เมล็ดแก่ป่นหรือบด ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังได้ (เมล็ด)[1] บ้างว่าใช้เมล็ดบดนำมาทาผิวหนังที่หูดจะช่วยรักษาหูดได้ (เมล็ด)[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมันแกว
- ที่ประเทศฟิลิปปินส์ได้ทำการวิเคราะห์ฝักมันแกว (ผล) พบว่าประกอบไปด้วย ความชื้น 86.4%, โปรตีน 2.6%, ไขมัน 0.3%, คาร์โบไฮเดรต 10%, ใยอาหาร 2.9%, เถ้า 0.7%, วิตามินเอ 575 หน่วยสากล, วิตามินบี1 0.11 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.09 มิลลิกรัม, วิตามินบี3 0.8 มิลลิกรัม, แคลเซียม 121 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 1.3 มิลลิกรัม, และฟอสฟอรัส 39 มิลลิกรัม (ต่อ 100 กรัม)[1]
- ในเมล็ดมันแกวประกอบไปด้วยน้ำมันที่ใช้กินได้ 20.5-28.4% จากผลการวิเคราะห์เมล็ดมัวแกวประกอบไปด้วย ความชื้น 6.7%, โปรตีน 26.7%, น้ำมัน 27.3%, คาร์โบไฮเดรต 20%, ใยอาหาร 7%, เถ้า 3.68%[1]
- ในเมล็ดแก่จะมีสารพิษ เนื่องจากประกอบไปด้วย โรตีโนน 0.12-0.43%, ไอโซฟลาวาโนน และทุฟุราโน-3-ฟีนิล ดูมาริน[1]
ประโยชน์ของมันแกว
- คนไทยส่วนใหญ่รู้จักกินหัวมันแกวเป็นอาหารส่วนใหญ่แล้วกินหัวมันแกวสดเช่นเดียวกับการกินผลไม้ (มันแกวมีรสคล้ายแป้งแต่จะออกหวาน) หรือนำมาจิ้มกับพริกเกลือ มีบ้างที่นำมาใช้ต้มหรือปรุงเป็นอาหารทั้งคาวและหวาน เช่น ผัดไข่ ผัดเปรี้ยวหวาน แกงส้ม แกงป่า หรือใช้เป็นส่วนผสมในทับทิมกรอบ ไส้ซาลาเปา เป็นต้น โดยหัวมันแกวประกอบไปด้วย ความชื้น 82.38%, โปรตีน 1.47%, ไขมัน 0.09%, แป้ง 9.72%, น้ำตาล 2.17%, วิตามินบี1 0.5 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.02 มิลลิกรัม, วิตามินซี 14 มิลลิกรัม, แคลเซียม 16 มิลลิกรัม, และธาตุเหล็ก 1.13 มิลลิกรัม (ต่อ 100 กรัม)[1],[3]
- ส่วนฝักอ่อนและเมล็ดอ่อน ใช้รับประทานเป็นผัดสดกับส้มตำ หรือต้มรับประทานเป็นผัก โดยคุณค่าทางโภชนาการของฝักอ่อนมันแกว ต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วย พลังงาน 39 แคลอรี่, ความชื้น 89.5%, โปรตีน 1.1 กรัม, ไขมัน 0.2 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 8.9 กรัม, ใยอาหาร 0.5 กรัม, วิตามินบี1 0.05 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.02 มิลลิกรัม, วิตามินบี3 0.2 มิลลิกรัม, วิตามินซี 14 มิลลิกรัม, แคลเซียม 14 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 0.4 มิลลิกรัม, และฟอสฟอรัส 15 มิลลิกรัม[1],[3]
- เนื่องจากในเมล็ดของมันแกวจะมีน้ำมันอยู่ ซึ่งเป็นน้ำมันที่คล้ายกับน้ำมันจากเมล็ดฝ้าย สามารถนำมารับประทานได้[1]
- หัวมันแกวเล็ก ๆ หรือเศษของหัวก็สามารถนำมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ได้[1]
- ใบมันแกวนำมาสับให้ละเอียด ตากให้แห้ง แล้วนำไปรองก้นหลุมที่จะปลูกพืชผักต่าง ๆ จะสามารถช่วยป้องกันแมลงที่จะเข้ามาทำลายสวนพืชผักที่อยู่ในดินได้[5]
- ส่วนของเมล็ดแก่จะมีสารพิษอยู่มากที่สุด (ส่วนที่มีพิษได้แก่ ใบแก่ ฝักแก่ และเมล็ด) ชาวบ้านจึงนิยมนำมาบดเพื่อใช้ทำยาฆ่าแมลงหรือยาเบื่อปลาได้ ส่วนวิธีการทำยาฆ่าแมลงจากเมล็ดมันแก่ ก็ให้ใช้เมล็ดมันแกวจำนวน 0.5 กิโลกรัม นำมาบดให้ละเอียด แล้วห่อด้วยผ้าขาวบาง แช่ในน้ำ 5 ปี๊บ ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 วัน จากนั้นให้กรองเอาแต่น้ำมาใช้เป็นยาฉีดพ่นในแปลงพืชผักผลไม้ โดยเมื่อจะใช้ต้องผสมน้ำอีก 5 เท่าตัว[1],[5]
- ต้นหรือเถาของต้นมันแกวมีความเหนียว ในประเทศฟิจิจะนำมาใช้เป็นแหหรืออวน[1]
คุณค่าทางโภชนาการของมันแกวดิบ ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 38 กิโลแคลอรี่
- คาร์โบไฮเดรต 17.47 กรัม
- น้ำตาล 1.8 กรัม
- ใยอาหาร 4.9 กรัม
- ไขมัน 0.09 กรัม
- โปรตีน 0.72 กรัม
- น้ำ 90.07 กรัม
- วิตามินเอ 21 หน่วยสากล
- วิตามินบี1 0.020 มิลลิกรัม
- วิตามินบี2 0.029 มิลลิกรัม
- วิตามินบี3 0.200 มิลลิกรัม
- วิตามินบี6 0.042 มิลลิกรัม
- วิตามินบี9 12 ไมโครกรัม
- วิตามินซี 20.2 มิลลิกรัม
- วิตามินอี 0.46 มิลลิกรัม
- วิตามินเค 0.3 ไมโครกรัม
- แคลเซียม 12 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.60 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 18 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 150 มิลลิกรัม
- โซเดียม 4 มิลลิกรัม
- สังกะสี (ซิงค์) 0.16 มิลลิกรัม
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
โทษของมันแกว
- ใบแก่ ฝักแก่ และเมล็ดของต้นมันแกวเป็นพิษต่อการบริโภคทั้งกับคนและสัตว์ (ส่วนที่ไม่เป็นพิษคือส่วนของหัว ใบอ่อน และฝักอ่อน)[1],[2]
- เมล็ดมันแกวมีสารพิษ ได้แก่ 12-(A)-hydroxypachyrrhizone, 12-(A)-hydroxylineonone, 12-(A)-hydroxymunduserone, dehydropachyrrhizone, dolineone, erosenone, erosin, erosone, neodehydrorautenone, pachyrrhizin, pachyrrhizone, rotenone และยังมีสารซาโปนิน ได้แก่ pachysaponins A และ pachysaponins B ที่ละลายน้ำได้ และเป็นพิษต่อปลา สามารถทำให้ปลาตายได้[2]
- ใบมันแกวมีสารพิษ Pachyrrhizid ซึ่งเป็นพิษต่อโคและกระบือมากกว่าม้า[2]
- อาการเป็นพิษที่พบ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วง หากได้รับสารพิษเข้าไปมาก อาการจะรุนแรงมากขึ้น โดยจะมีผลกระทบต่อระบบการหายใจ ทำให้หยุดหายใจ มีอาการชัก และเสียชีวิตได้[2]
- ตัวอย่างผู้ที่ได้รับพิษ ผู้ป่วยเพศชายอายุ 28 ปี รับประทานเมล็ดเข้าไป 200 กรัม ด้วยเข้าใจผิดว่าเป็นเมล็ดถั่ว หลังจากรับประทานไปได้ 2 ชั่วโมง ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย ร่างกายอ่อนเพลียจนไม่สามารถเดินได้ จากนั้นไม่รู้สึกตัว หน้าซีด เริ่มมีอาการชักกระตุกที่มือและเท้า และไม่สามารถควบคุมระบบทางเดินปัสสาวะได้ มีอาการท้องเสีย และได้เสียชีวิตลงในเวลาต่อมา หลังจากรับประทานไปประมาณ 11 ชั่วโมง[2]
- ส่วนการรักษาให้รักษาไปตามอาการ เช่น ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ มีอาการช็อค ให้รีบช่วยทำให้ผู้ป่วยหายใจได้ด้วยตัวเองหรือใส่เครื่องช่วยหายใจ ให้น้ำเกลือเพื่อรักษาสมดลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย และให้ยาตามความเหมาะสม[2]
เอกสารอ้างอิง
- โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. “มันแกว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: kanchanapisek.or.th/kp6/. [26 พ.ค. 2014].
- ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “มันแกว” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [26 พ.ค. 2014].
- ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “มันแกว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/. [26 พ.ค. 2014].
- มหัศจรรย์แห่งสมุนไพรไทย. “มันแกว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: thaiherb-tip108.blogspot.com. [26 พ.ค. 2014].
- กลุ่มสื่อส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร, ศูนย์วิทยุบริการเพื่อส่งเสริมการเกษตร สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมส่งเสริมการเกษตร. “มันแกว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: esc.agritech.doae.go.th/webpage/e-book/mun-kaew.pdf. [26 พ.ค. 2014].
- น้ำของประเทศไทย. “ผลไม้รักษาโรค”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.waterthailand.com. [26 พ.ค. 2014].
- FoodFacts. “What Is Jicama (Yambean) Good For?”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: foodfacts.mercola.com. [26 พ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Forest and Kim Starr, Robin, eLjeProks, Eliazar Parra Cardenas, Foggy Forest, Jose Amorin)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)