มันฝรั่ง
มันฝรั่ง ชื่อสามัญ Potato, Irish potato, White potato[1]
มันฝรั่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum tuberosum L. จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)[1],[3]
มันฝรั่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มันเทศ มันอาลู มันอีลู (ภาคเหนือ) เป็นต้น[1]
ลักษณะของมันฝรั่ง
- ต้นมันฝรั่ง เป็นพืชดั้งเดิมของชาวโลกซีกตะวันตก เชื่อว่ามีแหล่งกำเนิดบนพื้นที่ระหว่างเม็กซิโกและชิลี บนแถบที่ราบสูงบนเทือกเขาแอนดีส ในประเทศโบลิเวีย หรือเปรู โดยจัดเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 4-5 เดือน ลำต้นมีลักษณะเป็นกิ่ง ตั้งตรงและมีความสูงของต้นประมาณ 0.6-1 เมตร ลำต้นเป็นครีบ เมื่ออ่อนมีขน หัวเกิดจากลำต้นที่อยู่ใต้ดิน ใน 1 ต้นจะให้หัวมันฝรั่งประมาณ 8-10 หัว สำหรับแหล่งปลูกมันฝรั่งในประเทศไทยที่ได้ผลดี คือ จังหวัดทางภาคเหนือซึ่งมีอากาศหนาวเย็น เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ส่วนทางภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ ก็มีปลูกกันบ้างแต่มีผลผลิตน้อยเมื่อเทียบกับจังหวัดทางภาคเหนือ โดยจังหวัดเชียงใหม่เป็นที่มีการปลูกและผลิตมันฝรั่งมากที่สุด[1],[2]
- หัวมันฝรั่ง หัวเกิดไหลอันเป็นลำต้นที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดเป็นกิ่งหรือเกิดจากส่วนล่างของลำต้น งอกชอนไชลงไปในดิน ตอนกลายขยายใหญ่ เพื่อสร้างหัว หัวมีตาอยู่โดยรอบในลักษณะวงกลม ตาแต่ละตาจะสามารถแตกออกได้ 3 กิ่ง ที่ตามีเกล็ดที่มีรูปร่างคล้ายจาน มีไว้สำหรับป้องกันตาไม่ให้ได้รับอันตราย ภายในหัวมันฝรั่งมีแกนตรงกลางพุ่งไปยังตาทุกตา[2]
- ใบมันฝรั่ง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับ มีขนเล็กน้อย ประกอบไปด้วยใบยอด 1 ใบ และใบย่อยที่มีลักษณะเป็นรูปรี หรือรูปไข่แกมแวงรีหรือแกมไข่กลับปลายแหลมประมาณ 2-4 คู่ และใบย่อยสั้นอีก 2 คู่ หรือมากกว่านี้ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-7 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกมันฝรั่ง ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกเกิดเป็นกลุ่มบริเวณยอดของต้นหรือซอกใบ ก้านดอกยาว ประกอบไปด้วยดอกฝอยประมาณ 7-20 ดอก ก้านดอกย่อยมีขน ดอกหนึ่งมีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีขาว สีกุหลาบ สีชมพูม่วง หรือสีม่วง โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน และเกสรเพศเมีย 1 อัน ซึ่งมีก้านชูเกสรยาว[1],[2]
- ผลมันฝรั่ง ผลเป็นผลสดมีหลายเมล็ด ผลมีลักษณะเล็กและกลม ผลเป็นสีเขียวหรือสีน้ำตาล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 1 นิ้ว ผลติดกันเป็นพวง ๆ[1],[2]
สรรพคุณของมันฝรั่ง
- หัวมีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตสูงและช่วยป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว (หัว)[1],[4]
- ช่วยลดไขมัน ด้วยการใช้หัวมันฝรั่งมาปรุงเป็นอาหารรับประทาน (หัว)[1]
- ช่วยป้องกันและรักษาโรคโลหิตจางได้ เพราะร่างกายจะดูดซึมธาตุเหล็กกับวิตามินซีที่มีอยู่ในหัวมันฝรั่ง ซึ่งจะช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงในร่างกาย (หัว)[4]
- ใบมีสรรพคุณช่วยทำให้หลับ (ใบ)[1]
- หัวมีสรรพคุณเป็นยาระงับประสาท (หัว)[1]
- มันฝรั่งก็ช่วยบำรุงสมองได้ เพราะอุดมไปด้วยวิตามินบี 6 ที่เป็นตัวช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง ทำให้ผลิตสารสื่อประสาทได้อย่างเป็นปกติ เช่น เซโรโทนิน (ช่วยกระตุ้นอารมณ์), กาบา (ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย), และอดรีนาลิน (ช่วยลดความเครียด) โดยปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวันคือ ครึ่งถึงหนึ่งถ้วยตวง (ทั้งแบบบดและแบบต้ม) และไม่ควรรับประทานมากกว่านี้ เพราะมีวิตามินซีอยู่ จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร จนทำให้รู้สึกท้องอืดเฟ้อได้
- ชาวเปรูจะนำมันฝรั่งมาทาบริเวณศีรษะเพื่อช่วยรักษาอาการปวดศีรษะ (หัว)[3]
- มันฝรั่งมีวิตามินซีมาก จึงช่วยป้องกันไข้หวัดได้ (หัว)[4]
- นอกจากจะช่วยป้องกันหวัดแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟันได้เป็นอย่างดีอีกด้วย (หัว)[5]
- ตำรับยาแก้คางทูม ให้ใช้มันฝรั่ง 1 ลูก นำมาฝนกับน้ำส้มสายชู แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น เมื่อแห้งแล้วให้ทาซ้ำจนหาย (หัว)[3]
- หัวใต้ดินมีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยในการย่อย (หัว)[1]
- ในหัวมันฝรั่งจะมีสารจำพวกเพกทิน (เป็นสารที่พบในผนังเซลล์และเนื้อเยื่อของพืชบางชนิด) ประกอบด้วยกรดกาแล็กทูรอนิก ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของกาแล็กโทสเป็นหลัก (ในผลไม้จะมีเพกทินเป็นตัวเชื่อมผนังเซลล์ทำให้แข็งและคงรูป เมื่อผลไม้สุกงอม เพกทินจะสลายตัวเป็นน้ำตาลที่ละลายได้ดี ทำให้ผลไม้นิ่มและเสียรูป) ซึ่งมีประโยชน์ช่วยทำให้การบีบตัวและการคลายตัวของลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น (หัว)[4]
- ชาวอิตาลีในสมัยก่อนจะปลูกต้นมันฝรั่งและนำไปต้มหรือเผากิน ครั้นเวลาจะกินก็จะเติมเกลือลงไปด้วยเล็กน้อย ด้วยเชื่อว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นความต้องการทางเพศได้ ทำให้คนที่กินมากจะมีลูกมาก (เรื่องนี้ก็ไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นใดนะครับ) (หัว)[5]
- ช่วยถอนพิษที่เป็นอันตรายในตับ (หัว)[4]
- ใช้รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้น้ำคั้นจากหัวมันฝรั่งนำมาทาบริเวณแผลบ่อย ๆ หรือนำมาตำให้ละเอียดแล้วใช้พอก และให้เปลี่ยนยาหลาย ๆ ครั้ง (หัว)[1],[3]
- ใบมีสรรพคุณแก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ในโรคไอ (ใบ)[1]
- ช่วยขับน้ำนมของสตรี (หัว)[1]
- ชาวเปรูเป็นชาติแรกที่นำมันฝรั่งมาทำเป็นยาพอกกระดูก เมื่อกระดูกหัก (หัว)[3]
- นอกจากนี้มันฝรั่งยังอุดมไปด้วยแคลเซียมมีส่งผลดีต่อหัวใจ ช่วยปรับฮอร์โมนและทำให้ระบบภายในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ช่วยในการดูดซึมอาหารได้ดี ป้องกันการบูดเน่าของอาหารภายในลำไส้ ลดอาการบวมและไตอักเสบ (หัว)[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมันฝรั่ง
- สารสำคัญที่พบ ได้แก่ Barogenin, Chaconine, Erytoxanthin, Glucinol optatolectin, Glucoside, Patatin, Stearic acid, Tuberoside, Zeaxanthin[1]
- มันฝรั่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ต้านการเป็นพิษต่อตับ ลดคอเลสเตอรอล ลดน้้ำในเลือด[1]
- Yamakawa และคณะ (1999) ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการทดลอง Sweetpotato พบว่ามีสาร angiotensin converting enzyme ที่ช่วยลดความดันโลหิตสูงและลดไขมันได้[1]
- Noguchi และคณะ (2007) ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการทดลองสารสกัดจาก Potato snacks จำนวน 1.7 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในหนูถีบจักรทดลอง ผลการทดลองพบว่าสามารถลดความดัน SBP ได้ 35 มิลลิเมตรปรอท และลดไขมันได้[1]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ โดยให้แกะกินส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นมันฝรั่งในขนาด 2.8 กิโลกรัม และ 3.85 กิโลกรัม เป็นระยะเวลา 9 วัน ไม่พบพิษ[1]
- ในมันฝรั่งจะมีสาร Solanine โดยในมันฝรั่ง 1 กิโลกรัม จะมี Solanine ประมาณ 20-100 มิลลิกรัม โดย Solanine จะมีมากในรากและเปลือกมันฝรั่ง ในมันฝรั่งเปลือกแดงจะมี Solanine มากกว่ามันฝรั่งเปลือกเหลือง และมันฝรั่งดิบจะมี SOlanine มากกว่ามันฝรั่งสุก นอกจากนี้มันฝรั่งเมื่อโดนแสงแดดเปลือกจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียว และทำให้ปริมาณของ Solanine เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย[3]
- เฉพาะในเนื้อของมันฝรั่งที่มีรากงอกออกมาหรือเปลือกเปลี่ยนเป็นสีเขียวจะมีปริมาณของ Solanine น้อย เมื่อกินแล้วจะไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าหากมีปริมาณของ Solanine เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติเป็น 4-5 เท่า หรือมากกว่า 0.4 กรัมต่อกิโลกรัม เมื่อกินแล้วจะเกิดอาการเป็นพิษได้ แต่ก็ไม่ถึงกับตาย และเคยมีรายงานว่า เด็กที่กินมันฝรั่งที่เปลือกเปลี่ยนเป็นสีเขียวจะทำให้เกิดอาการกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบถึงตาย[3]
ประโยชน์ของมันฝรั่ง
- หัวมันฝรั่งเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง คือ มีปริมาณของแป้ง โปรตีน แร่ธาตุ และวิตามินบางชนิดอยู่ในเกณฑ์สูง จึงใช้เป็นอาหารประจำวันได้เป็นอย่างดี ซึ่งประชาการในยุโรปและอเมริกาจะรับประทานมันฝรั่งเป็นอาหารหลักแทนข้าว ด้วยวิธีการนำมาต้ม ทอด อบ ฯลฯ[2] นอกจากนี้ยังพบว่าโปรตีนที่ได้จากมันฝรั่งมีคุณภาพสูงกว่าโปรตีนที่ได้จากถั่วลิสงอีกด้วย และด้วยการที่มันฝรั่งอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด ทำให้นักโภชนาการเชื่อว่าหากคนที่ติดอยู่บนเกาะร้างปลูกมันฝรั่งไว้กินเป็นอาหารพวกเขาจะไม่มีวันอดตาย และนี่ก็คือเหตุผลที่ว่าเหตุใดกัปตันเรือในสมัยก่อนจึงนิยมบรรทุกมันฝรั่งไว้เป็นเสบียงสำหรับการเดินทาง[5]
- นอกจากจะใช้เป็นอาหารของมนุษย์โดยตรงแล้วยังนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย ด้วยการใช้หัวสดต้มหรือหมักเป็นอาหารของวัว ควาย และสุกร[2]
- มันฝรั่งสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น การนำมาทำแป้ง นำมาหั่น ๆ บางแล้วทอดกรอบ ทำเป็นขนมขบเคี้ยว ทำน้ำตาลกลูโคสและเดกทริน (ใช้สำหรับทำกาวและสารให้ความเหนียวต่าง ๆ) หรือใช้อุตสาหกรรมการหมักเพื่อผลิตแอลกอฮอล์และกรดซิตริก ล้อยาง พลาสติก ฟิล์ม สีน้ำมัน และใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมทอฝ้า เป็นต้น[2],[3]
- มันฝรั่ง ลดความอ้วนได้นะ ! หลาย ๆ คนอาจเคยเข้าใจผิดว่าหากรับประทานมันฝรั่งมากก็จะยิ่งทำให้อ้วน แต่ความจริงแล้วมันไม่ได้อย่างที่คุณคิดทั้งหมด ซึ่งความจริงก็คือ เจ้ามันฝรั่งนี้แหละที่เป็นตัวช่วยในการลดน้ำหนักและความอ้วนได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว เพราะจะช่วยทำให้อิ่มท้องได้นาน ทำให้ไม่รู้สึกหิวง่าย และช่วยลดการกินจุกจิก อีกทั้งมันฝรั่งยังเป็นอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำและอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด แต่อย่างไรก็ตามถ้านำมันฝรั่งมาปรุงแบบผิดวิธี มันก็ทำให้อ้วนได้เหมือนกัน เพราะมันฝรั่งสามารถดูดซับเครื่องปรุงต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำมันได้มากถึง 30-40% คุณอาจจะเคยชินกับการกินฝรั่งในรูปของมันฝรั่งทอด เฟรนช์ฟรายด์ หรืออะไรก็ตามแต่ที่ใส่เครื่องปรุงแต่งมากมาย ซึ่งอยากให้รู้ไว้ว่าสิ่งที่ทำให้คุณอ้วนนี้ไม่ได้เป็นเพราะมันฝรั่ง แต่เป็นเพราะเครื่องปรุงแต่งเหล่านี้ต่างหาก ส่วนการนำมันฝรั่งมาทำเป็นอาหารเพื่อสุขภาพอย่างถูกวิธีนั้นก็สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การนำมาต้มให้สุกแล้วบด โรยเกลือและพริกไทยป่นเล็กน้อย (ถ้าอยากให้มีกลิ่นหอมก็ให้ใส่ส่วนผสมที่ได้ห้อในกระดาษฟรอยด์แล้วค่อยนำเข้าเตาอบ) หรือจะนำมาต้มให้สุกผสมในน้ำแกง เช่น ในเมนูหัวปลาต้มเผือก เป็นต้น หรือนำมาทำเป็นขนม เช่น บัวลอย เป็นต้น
- มันฝรั่งสามารถช่วยลดรอยคล้ำใต้ตาได้เพราะมันฝรั่งมีเอนไซม์ที่ทำให้สีผิวดูอ่อนและจางลงได้ จึงช่วยลดความหมองคล้ำลงได้ชั่วคราว วิธีนี้จึงเหมาะกับสาว ๆ ที่ต้องการแก้ปัญหาตาคล้ำอย่างเร่งด่วนได้เป็นอย่างดี วิธีการก็คือให้นำมันฝรั่งมาฝานบาง ๆ นำมาแปะดวงตาไว้ประมาณ 15-20 นาที (หากนำมันฝรั่งไปแช่เย็นก่อนนำมาใช้ก็จะยิ่งดี เพราะจะช่วยลดปัญหาตาบวมและทำให้ตาสดชื่นได้ด้วย) สำหรับผู้ที่มีอาการคันยุบยิบเล็กน้อย ก็ไม่ต้องเอามือไปเกานะครับ เพราะตามข้อมูลบอกไว้ว่าอาจรู้สึกคันยิบ ๆ เพียงเล็กน้อย แต่ไม่มีผลร้ายแต่อย่างใด[6]
- มันฝรั่งก็ทำให้ผิวชุ่มชื้นได้ ด้วยการใช้น้ำมันฝรั่งต้ม 4 ช้อนโต๊ะ และนม 140 มิลลิกรัม ขั้นตอนแรกให้นำมันฝรั่งมาต้ม แล้วกรองเอาน้ำต้มที่ได้มา 4 ช้อนโต๊ะ ใส่ลงไปในนมแล้วคนให้เข้ากัน เก็บใส่ขวดแล้วยำไปแช่เย็น เมื่อจะนำมาใช้ก็ให้เขย่าขวดก่อน แล้วนำมาทาหน้าด้วยการนวดเบา ๆเป็นวงกลม ทิ้งไว้สักครู่แล้วจึงใช้ผ้าซับออก[7]
- มันฝรั่งกับการทำความสะอาดผิว ให้ใช้น้ำต้มมันฝรั่ง 2 ช้อนชา, สบู่ป่น 2 ช้อนชา, เนย 2 ช้อนชา, และน้ำมันอัลมอนด์ 8 ช้อนโต๊ะ ขั้นตอนแรกให้นำสบู่และน้ำมันอัลมอนด์ใส่ถ้วย และอุ่นในน้ำร้อนจนผสมเข้ากัน จากนั้นใส่เนยลงไปคนและตามด้วยน้ำต้มมันฝรั่ง แล้วนำออกจากเตาและคนต่อไปอีกจนส่วนผสมเย็นตัวลง เสร็จแล้วเก็บไว้ในขวด เมื่อจะใช้ก็ให้นำครีมที่ได้มาใช้ทำความสะอาดใบหน้าเหมือนโลชั่น ด้วยการนวดคลึงใบหน้าเบา ๆ เป็นวงกลม ทิ้งไว้สักครู่ แล้วค่อยล้างออกด้วยน้ำอุ่น[7]
- มาส์กหน้ามันฝรั่งสูตรผิวกระชับผิวเต่งตึงกระชับรูขุมขน และทำให้เลือดไหลเวียนดี ด้วยการใช้มันฝรั่งป่น 2 ช้อนโต๊ะ แล้วให้เทน้ำอุ่นลงในถ้วยที่ใส่มันฝรั่งป่นและคนเข้ากันจนเนื้อข้น ก่อนมาส์กหน้าให้ใช้ครีม หรือน้ำมันเบบี้ออยล์เล็กน้อยทาใบหน้าให้ทั่ว และให้ใช้พู่กันจุ่มมาส์กมันฝรั่งมาทาใบหน้าและคอ ยกเว้นรอบดวงตา ทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที เมื่อครบแล้วให้ใช้ผ้าอุ่นประคบใบหน้าให้มาส์กอ่อนตัวก่อน แล้วค่อยล้างออกด้วยน้ำอุ่น (สูตรนี้จะทำให้ผิวแห้ง จึงไม่ควรทำบ่อยจนเกินไป)[7]
- มาส์กหน้ามันฝรั่งสูตรบำรุงผิวหน้า ให้ใช้น้ำต้มมันฝรั่ง 7 1/2 ช้อนโต๊ะ, ขี้ผึ้ง 3 3/4 ช้อนโต๊ะ, น้ำมันโจโจ้บา 1/4 ช้อนโต๊ะ, และบอแร็กซ์ 1/4 ช้อนโต๊ะ ขั้นตอนแรกให้ใช้ความร้อนอ่อน ๆ ละลายขี้ผึ้งและน้ำมันให้เข้ากัน ใส่ผงบอแร็กซ์ตามลงไปในน้ำต้มมันฝรั่ง แล้วค่อย ๆ ใส่ส่วนผสมดังกล่าวลงไปคนกับขี้ผึ้งที่ละลายแล้ว เสร็จแล้วเอาขึ้นจากเตาและคนต่อไปเรื่อย ๆ จนส่วนผสมเย็นตัว แล้วนำมาทาใบหน้าด้วยการนวดเบา ๆ เป็นวงกลม เสร็จแล้วทิ้งไว้สักครู่ แล้วใช้ผ้าซับออก (สูตรนี้สามารถนำมาใช้ทามือ ทาผิว เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ทำให้ผิวอ่อนนุ่มได้อีกด้วย)[7]
- โลชั่นมันฝรั่ง (สำหรับผิวมันและผิวธรรมดา) ให้ใช้น้ำคั้นจากมันฝรั่งดิบ 1 แก้ว และน้ำมะเขือเทศ 1 แก้ว ชั้นตอนแรกให้ไสมันฝรั่งและคั้นเอาแต่น้ำโดยใช้ผ้ากรองคั้นอีกครั้ง จากนั้นให้คั้นเอาแต่น้ำมะเขือเทศ นำมาผสมเข้าด้วยกัน แล้วใช้สำลีชุบโลชั่นที่ได้เช็ดหน้าเช้าเย็น ส่วนทีเหลือให้เก็บไว้ในตู้เย็น[7]
- มืออ่อนนุ่มด้วยมันฝรั่ง ให้ใช้มันฝรั่ง 2-3 ลูก และนมอุ่น 3-4 ช้อนโต๊ะ ขั้นตอนแรกให้ต้มมันฝรั่งให้สุก ปอดเปลือกและบดให้เละ แล้วใส่นมลงไปคนให้เข้ากัน เสร็จแล้วให้นำมาพอกมือให้หนา ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที แล้วค่อยล้างออก[7]
คุณค่าทางโภชนาการของมันฝรั่งดิบ ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 77 กิโลแคลอรี่
- คาร์โบไฮเดรต 17.47 กรัม
- แป้ง 15.44 กรัม
- ใยอาหาร 2.2 กรัม
- ไขมัน 0.1 กรัม
- โปรตีน 2 กรัม
- น้ำ 75 กรัม
- วิตามินบี1 0.08 มิลลิกรัม 7%
- วิตามินบี2 0.03 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี3 1.05 มิลลิกรัม 7%
- วิตามินบี5 0.296 มิลลิกรัม 6%
- วิตามินบี6 0.295 มิลลิกรัม 23%
- วิตามินบี9 16 ไมโครกรัม 4%
- วิตามินซี 19.7 มิลลิกรัม 24%
- วิตามินอี 0.01 มิลลิกรัม 0%
- วิตามินเค 1.9 ไมโครกรัม 2%
- แคลเซียม 12 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุเหล็ก 0.78 มิลลิกรัม 6%
- แมกนีเซียม 23 มิลลิกรัม 6%
- แมงกานีส 0.153 มิลลิกรัม 7%
- ฟอสฟอรัส 57 มิลลิกรัม 8%
- โพแทสเซียม 421 มิลลิกรัม 9%
- โซเดียม 6 มิลลิกรัม 0%
- สังกะสี (ซิงค์) 0.29 มิลลิกรัม 3%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
เมนูมันฝรั่ง
การเลือกซื้อมันฝรั่ง
- ในการเลือกซื้อมันฝรั่ง ควรเลือกมันฝรั่งที่มีผิวสวย เนื้อแน่น ผิวเป็นสีเหลืององ ไม่มีรากงอกออกมาหรือเปลือกมีการเปลี่ยนสี มีรอยแผลเน่าเป็นสีดำ เขียวหรือเนื้อนิ่ม เนื่องจากจะทำให้ปริมาณของสารพิษ Solanine มีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของราก ตาราก เปลือก และบริเวณที่เน่า เพราะเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะเกิดอาการเป็นพิษต่อร่างกาย โดยพิษของ Solanine ถ้าได้รับจะทำให้มีอาการคอแห้ง ชา ปวดแสบปวดร้อนในลำคอ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องร่วง ทำให้มึนงง การเต้นของหัวใจอ่อนลง ตัวเย็นชืด การหายใจล้มเหลว ชักมีไข้ สลบ เป็นต้น (ส่วนการรักษาคือการทำให้อาเจียน หรือให้ Activated chacoal เพื่อช่วยดูดซึมสารพิษ และทำการรักษาไปตามอาการ)[3]
- มีรายงานว่าถ้าสตรีตั้งครรภ์กินสาร Solanine เข้าไปจะทำให้แท้งบุตรได้ ถ้ามันฝรั่งที่มีรากงอกออกมาหรือมีตาราก ให้ตัดส่วนรากและตารากออก แล้วนำไปแช่น้ำสักพัก ก็สามารถนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารได้[3]
- การปรุงอาหารจากมันฝรั่ง ก่อนนำมาปรุงอาหารต้องนำมาล้างให้สะอาดก่อนนำไปอบหรือต้ม และให้ปรุงทั้งเปลือก เพราะเปลือกจะช่วยรักษากลิ่นหอมของมันฝรั่งไว้และช่วยรักษาคุณค่าของสารอาหารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในมันฝรั่งไม่ให้เสื่อมสลายไปด้วย ส่วนน้ำที่ต้มมันฝรั่งก็อย่าทิ้ง เพราะสามารถเก็บไปทำเป็นน้ำซุปได้
- การเก็บมันฝรั่ง มีคำแนะนำว่าไม่ควรเก็บมันฝรั่งไว้ในตู้เย็น เพราะความเย็นจะไปกระตุ้นให้เกิดการงอกของรากได้ ดังนั้นควรเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องปกติจะดีที่สุด
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “มันฝรั่ง” หน้า 153.
- โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. “มันฝรั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: kanchanapisek.or.th/kp6/. [25 พ.ค. 2014].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 90 คอลัมน์: อาหารสมุนไพร. (วิทิต วัณนาวิบูล). “มันฝรั่ง อาหารหลักของชาวยุโรป”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [25 พ.ค. 2014].
- เดลินิวส์. “มันฝรั่ง สุดยอดอาหารสุขภาพ”. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพร 91 ชนิด พิชิตโรค ชุด ตำรายาล้ำค่าของหมอโฮจุน (สำนักพิมพ์อินสปายร์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dailynews.co.th. [25 พ.ค. 2014].
- ราชบัณฑิตยสถาน. (ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน). “มันฝรั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.royin.go.th. [25 พ.ค. 2014].
- ผู้จัดการออนไลน์. “พิสูจน์! ฝานมันฝรั่งมาแปะตา ลดอาการรอยคล้ำใต้ตาได้ทันใจ?”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [25 พ.ค. 2014].
- เอ็มไทย. “ผิวสวย 6 วิธี ด้วย.. มันฝรั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: women.mthai.com. [25 พ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Werner_Schmutz, naturgucker.de / enjoynature.net, Bob Osborn, Ahmad Fuad Morad, Maquinarias Blanchet, iheartyum)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)