มังตาน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมังตาน 14 ข้อ !

มังตาน

มังตาน ชื่อสามัญ Needle wood[5]

มังตาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Schima wallichii (DC.) Korth. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gordonia wallichii DC., Schima brevipes W. G. Craib) จัดอยู่ในวงศ์ชา (THEACEAE)[1],[2]

สมุนไพรมังตาน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า คายโซ่ จำปาดง พระราม (เลย, หนองคาย), บุนนาค (นครราชสีมา, ตราด), กาโซ้ (ยะลา, นครพนม), คาย ทะโล้ สารภีป่า สารภีดอย (ภาคเหนือ), กรรโชก (ภาคอีสาน), พังตาน พันตัน (ภาคใต้), ทะโล้ (คนเมือง), ไม้กาย (ไทใหญ่), เส่ยือสะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), กรึ๊สะ เต่อครื่อยสะ ตื้อซือซะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), หมูพี (เงี้ยงเชียงใหม่), ลำโคระ ลำพิโย๊วะ ลำคิโยะ (ลั้วะ), ตุ๊ดตรุ (ขมุ), มือแดกาต๊ะ (ภาคใต้ มาเลเซีย) เป็นต้น[1],[2],[3],[5]

ลักษณะของมังตาน

  • ต้นมังตาน เป็นไม้ค่อนข้างหายาก เนื่องจากพื้นที่ป่าถูกรุกราน โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงได้ประมาณ 15-26 เมตร ขนาดวัดรอบลำต้นได้ประมาณ 1.5 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง เปลือกต้นด้านนอกขรุขระและมักแตกเป็นร่องลึกตามยาว สีเทาปนน้ำตาลอ่อน ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลอมแดง มีเสี้ยนละเอียดสีขาวเป็นพิษต่อผิวหนัง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ต้องการความชื้นและแสงแดดปานกลาง มีเขตการกระจายพันธุ์ค่อนข้างกว้างในป่าทั่วทุกภาคของประเทศ พบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางภาคใต้ โดยมักพบขึ้นในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง หรือป่าดิบเขาที่ระดับความสูง 2,000 เมตร และในป่าเบญจพรรณทั่วไปตามเขาที่ระดับความสูงประมาณ 600 เมตร[1],[3],[5]

ต้นมังตาน

ต้นทะโล้

  • ใบมังตาน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ตามปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ขอบขนาน ปลายใบสอบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบหรือบางทีหยักตื้น ๆ ตามขอบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4.5-13 เซนติเมตร หลังใบเป็นมันสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบและเส้นกลางใบมีขนขึ้นประปราย เห็นเส้นใบเป็นรูปร่างแหได้ชัดเจน เส้นแขนงใบมีข้างละประมาณ 10-15 เส้น ส่วนใบอ่อนเป็นสีแดง[1],[2],[5]

ใบมังตาน

  • ดอกมังตาน ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่งและซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกเป็นสีขาวหรือสีขาวนวล มีกลิ่นหอม กลีบดอกและกลีบรองดอกมีอย่างละ 5 กลีบเท่ากัน กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวอ่อนขนาดเล็ก ส่วนกลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปร่างค่อนข้างกลม กลีบดอกล่างมักเล็กกว่ากลีบอื่น ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นสีเหลืองยื่นออกมาจากดอกจำนวนมาก ส่วนเกสรเพศเมียมีอันเดียวขนาดสั้น เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม โดยจะทยอยบานนาน 2 สัปดาห์ ดอกบาน 2 วันโรย ส่งกลิ่นหอมตลอดทั้งวัน[1],[2],[5]

ดอกมังตาน

  • ผลมังตาน ผลมีลักษณะเป็นรูปร่างค่อนข้างกลม มีขนาดประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร เปลือกผลแข็ง ผิวผลมีขนสีน้ำตาลเข้มคล้ายเส้นไหม เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มและจะแตกออกตามรอยเป็น 4-5 เสี่ยง แต่ละส่วนจะมีเมล็ดประมาณ 4-5 เมล็ด เป็นผลในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน[1],[5]

รูปมังตาน

ผลมังตาน

สรรพคุณของมังตาน

  1. ดอกแห้งนำมาแช่หรือชงให้สตรีหลังคลอดบุตรใหม่ ๆ ดื่มต่างน้ำเป็นยาแก้ขัดเบา แก้ลมชัก ลมบ้าหมู (ดอกแห้ง)[1],[4]
  2. รากและใบอ่อนใช้เป็นยาลดไข้ (รากและใบอ่อน)[4]
  3. คนสมัยก่อนจะใช้ต้นและกิ่งก้านอ่อน นำมาต้มกับน้ำดื่มขณะอุ่นเป็นยาแก้อาการคลื่นไส้ (ต้นและกิ่ง)[1],[4]
  1. น้ำต้มที่ได้จากต้นและกิ่งใช้ภายนอกเป็นยาหยอดหูแก้อาการปวดในหูได้ดีมาก (ต้นและกิ่ง)[1],[4]
  2. ใบสดมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง (ใบสด)[4]
  3. ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ (เปลือก)[4]
  4. ต้นและรากนำมาต้มกับน้ำดื่มรักษาโรคนิ่ว (ต้นและราก)[2]
  5. ช่วยป้องกันการเน่าของบาดแผล (เปลือก)[4]

ประโยชน์ของมังตาน

  1. เปลือกต้นมีพิษใช้เป็นยาเบื่อปลา ด้วยการนำเปลือกต้นแบบสด ๆ มาทุบให้พอแตก แล้วนำไปแช่ในน้ำบริเวณห้วยหนองคลองบึง เป็นยาเบื่อปลาทำให้ปลาเกิดอาการมึนเมา จับได้ง่าย ๆ[1]
  2. เปลือกต้นนำมาบดให้เป็นผง ใช้แต่งกลิ่นธูปหอมได้[1]
  3. ขี้เทาจากเปลือกให้สีเทาใช้เป็นสีผสมอาหาร[3]
  4. เนื้อไม้สีน้ำตาลอมแดง มีเสี้ยนละเอียดสีขาว สามารถนำมาแปรรูป ใช้ทำโครงสร้างต่าง ๆ ของบ้าน เช่น ฝาบ้าน ไม้กระดาน หรือนำมาใช้งานหัตถศิลป์ทั่วไป แต่ห้ามนำมาทำพื้นปูนอน เพราะจะทำให้ระคายผิวหนัง ทำให้ผิวหนังพุพองและเน่าเปื่อยได้[1],[2],[3]
  5. ชาวลั้วะจะใช้ลำต้นมังตานมาทำเป็นไม้ฟืน ส่วนคนเมืองจะใช้เนื้อไม้มาทำเป็นฟืนสำหรับนึ่งเมี่ยง[2]
  6. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ดอกสวยมีกลิ่นหอม[5]

ข้อควรระวัง : เปลือกและเนื้อไม้ หากสัมผัสผิวหนังจะทำให้เกิดอาการคัน[2]

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “มังตาน”.  หน้า 126.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “มังตาน, ทะโล้”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [31 ต.ค. 2014].
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ทะโล้”.  อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1, ไม้ต้นในสวน Tree in the Garden.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [31 ต.ค. 2014].
  4. พืชสมุนไพรโตนงาช้าง.  “มังตาน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/. [31 ต.ค. 2014].
  5. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “มังตาน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [31 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Jeff Collman, Ahmad Fuad Morad, CANTIQ UNIQUE), www.biotik.org, idtools.org

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด