มะแว้งนก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะแว้งนก 29 ข้อ !

มะแว้งนก

มะแว้งนก ชื่อสามัญ Black nightshade, Common nightshade, Deadly nightshade[2]

มะแว้งนก ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum nigrum L. จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)[1]

สมุนไพรมะแว้งนก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าต้มตอก หญ้าต้อมต๊อก (เชียงใหม่), ทุมขัน (นครราชสีมา), ข่าอม (ประจวบคีรีขันธ์), ประจาม (สงขลา), แว้งนก (สุราษฎร์ธานี), ออเตียมกุย โอเตียมกุย (จีน, กรุงเทพฯ), หลงขุย ขู่ขุย (จีนกลาง), สะกอคระ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), ด่อกะริ่ว (ปะหล่อง), บ่ะดีด แผละแคว้ง (ลั้วะ), น้ำใจใคร เป็นต้น[1],[2],[3],[5],[6]

หมายเหตุ : ข้อมูลจาก The Plant List ระบุว่าชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum nigrum L. เป็นชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ของชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum americanum Mill.

ลักษณะของมะแว้งนก

  • ต้นมะแว้งนก เป็นวัชพืชที่พบได้ตามที่รกร้างทั่วไป จัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก อายุประมาณ 1 ปี ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง ลำต้นกลมมน เป็นเหลี่ยมสัน หรือเป็นร่องและมีขนปกคลุมเล็กน้อย มีความสูงของต้นประมาณ 30-90 เซนติเมตร หรืออาจสูงได้ถึง 1 เมตร แตกกิ่งก้านมาก รากมีลักษณะกลมยาวเป็นสีเหลืองอ่อน แตกรากฝอยมาก [1],[2],[3],[5]

ต้นมะแว้งนก

รากมะแว้งนก

  • ใบมะแว้งนก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปขอบขนาน รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ เป็นคลื่น หยักเล็กน้อย เว้าเป็นพูตื้น ๆ หรือหยักซี่ฟันเป็นแฉก ๆ ที่บริเวณโคนใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร ผิวใบเรียบหรือมีขน ก้านใบยาวประมาณ 0.5-1.2 เซนติเมตร[1],[2],[3]

ใบมะแว้งนก

  • ดอกมะแว้งนก ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่ม โดยจะออกบริเวณเหนือซอกใบ ช่อดอกมีดอกย่อยขนาดเล็กประมาณ 4-10 ดอก และอาจมีได้ถึง 20 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ดอกมีลักษณะเป็นรูประฆัง กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กมาก ส่วนกลีบดอกเป็นสีขาว มี 5 กลีบ ขนาดกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร ใจกลางดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลือง 5 อัน ก้านดอกมีขนปกคลุมเล็กน้อย[1],[2],[3]

ดอกมะแว้งนก

  • ผลมะแว้งนก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดกว้างประมาณ 4-7 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำหรือสีดำ[1],[2],[3]

หญ้าต้อมต๊อก

ผลมะแว้งนก

เมล็ดมะแว้งนก

หมายเหตุ : ในวงศ์เดียวกันยังมีพืชอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน คือชนิด Solanum nigrum L. var. pauciftorum Liov. แตกต่างกันตรงที่ชนิดนี้มีกิ่งก้านเล็กกว่า ลำต้นมีหนามเล็กน้อย ดอกมีขนาดเล็ก แต่ละช่อมีดอกประมาณ 2-5 ดอก[3]

สรรพคุณของมะแว้งนก

  1. ชาวเขาเผ่าอีก้อและมูเซอจะใช้รากและผลมะแว้งนก นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาบำรุงร่างกาย แก้อาการอ่อนเพลีย (ราก, ผล)[1]
  2. ใช้รักษาเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการใช้ผลแห้งนำมาบดให้เป็นผง ตวง 1-2 ช้อนชา ในน้ำร้อน 1 แก้ว ใช้ดื่มเช้าและเย็น (ผลสุก)[2]
  3. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ผลสุก)[2]
  4. ใช้เป็นยารักษามะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก (ทั้งต้น)[3]
  5. ทั้งต้นมีรสขม เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ ใช้เป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ประสะเลือดให้เย็น แก้ไข้หวัดตัวร้อน ไข้หวัดแดด (ทั้งต้น)[3] ตำรายาแก้ไข้หวัดแดด จะใช้ต้นสด 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำใส่น้ำตาลแดงเล็กน้อยรับประทานเป็นยา (ทั้งต้น)[3]
  6. ผลมะแว้งสุกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (ผลสุก)[2]
  7. ผลสุกและดอกมะแว้งนกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ (ดอก, ผลสุก)[2] ส่วนชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จะนำรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ราก)[6]
  1. ช่วยแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้ไอร้อนในปอด (ทั้งต้น)[3]
  2. ตำรับยาแก้หลอดลมอักเสบ รวมถึงอาการไอ จะใช้ต้นสดของมะแว้งนก 35 กรัม, กิ๊กแก้ 10 กรัม และชะเอมเทศ 3 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานติดต่อกัน 10 วัน (ทั้งต้น)[3]
  3. ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับเสมหะ (ทั้งต้น)[5]
  4. ช่วยแก้อาการหอบไอ (ทั้งต้น)[5]
  5. ชาวโอรัง อัสลีในรัฐเประ ประเทศมาเลเซีย จะนำผลและใบมะแว้งนกมาเคี้ยวเพื่อรักษาการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน (ผลและใบ)[7]
  6. ตำราแก้ต่อมเต้านมอักเสบเฉียบพลัน จะใช้ต้นสด 70 กรัม นำมาต้มกับน้ำแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 3-7 วัน จะพบว่าการอักเสบลดน้อยลงและมีอาการดีขึ้น (ทั้งต้น)[3]
  7. ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการจุกเสียด (ทั้งต้น)[5]
  8. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ผลสุก)[2]
  9. ตำรายาแก้ฝีในท้อง ท้องมาน จะใช้ต้นสดครั้งละ 500 กรัม นำมาต้มกับน้ำแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง (ทั้งต้น)[3]
  10. ใบและผลสุกมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (ใบ, ผลสุก)[2] แก้ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ (ทั้งต้น)[3]
  11. ช่วยมุตกิดตกขาวของสตรี (ทั้งต้น)[3]
  12. ช่วยรักษาอาการบวมน้ำ (ใบ, ทั้งต้น)[2]
  13. ใบใช้เป็นยารักษาแผล (ใบ)[2]
  14. ผลนำมาตำคั้นเอาน้ำทาหรือพอกแผลที่ถูกทากดูด (ผล)[1]
  15. ผลสุกใช้เป็นยารักษากลาก (ผลสุก)[2]
  16. ทั้งต้นใช้ภายนอกนำมาต้มใช้น้ำชะล้างผิวหนังแก้ผื่นคันเรื้อรัง แก้ฝีหนอง แก้พิษงู (ทั้งต้น)[3]
  17. ใช้เป็นยาแก้พิษ แก้บวม (ทั้งต้น)[3]
  18. ใช้รักษาโรคไขข้ออักเสบ (ใบ)[2]
  19. ช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ (ผลสุก)[2]
  20. ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาครรภ์ไข่ปลาอุกชนิดร้ายแรง (ทั้งต้น)[5]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [3] ให้ใช้ต้นสดครั้งละ 25-35 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือนำมาตำคั้นเอาน้ำรับประทาน ส่วนภายนอกใช้น้ำต้มชะล้างผิวหนัง ส่วนต้นแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-25 กรัม ต้มกับน้ำรับประทาน[3]

ข้อควรระวัง : ผู้ที่ธาตุไฟอ่อน ม้ามและกระเพาะเย็น ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[3]

พิษของมะแว้งนก

  • ส่วนที่เป็นพิษ : ผลดิบ มีสารพิษ Slanine ออกฤทธิ์ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร[4]
  • อาการเป็นพิษ : ความเป็นพิษจะเกิดหลังจากกินพืชที่มีสารชนิดนี้หลายชั่วโมง โดยจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อนที่ปากและคอหอย แล้วจึงมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง และท้องร่วง อุณหภูมิในร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้น ส่วนอาการอื่น ๆ ที่พบคือ เหงื่อออก ปวดศีรษะ น้ำลายไหลมากกว่าปกติ หายใจติดขัดและกล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย ส่วนอาการเป็นพิษในขั้นสุดท้าย คือ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เนื่องจากลำไส้เป็นแผล ปัสสาวะเป็นเลือดเนื่องจากไตชำรุด ชักกระตุก หมดสติ และมีอุณหภูมิลดต่ำลง[4]
  • วิธีการรักษา : ถ้ายังไม่อาเจียนให้ทำการล้างท้อง โดยผสมผงถ่านใน Gavage ด้วย และให้น้ำเกลือเพื่อป้องกันการช็อก ต้องระวังอาการไตวาย ให้ยาเคลือบกระเพาะอาหาร และถ้ามีอาการชัก ควรให้ยาแก้ชัก[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะแว้งนก

  • สารที่พบคือสาร Alkaloid หลายชนิด เช่น Solamargine, Solasonine, Solavilline, Solasodamine, Solanine และยังพบสารจำพวก Saponin เช่น Tigogenin, Diosgenin และยังพบสาร Solanidine, วิตามินเอ, วิตามินซี เป็นต้น[3]
  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ adipic acid, α-carotene, chlorgenin, hyperoside, quercetin-3-O-α-rhamnosyl-(1-2)-β-galactoside เป็นสารสกัดที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด, galactoside, saccharopine, sitosterol, solamargine, solanocapsine, stigmasterol, tigogenin, tomatidenol, uttronin A, B, utroside A, B[2]
  • ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส ยีสต์ ลดการอักเสบ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ลดความดันโลหิต ลดอุณหภูมิของร่างกาย ลดการอักเสบ[2]
  • สารสกัดจากผลด้วยน้ำ แอลกอฮอล์ หรือคลอโรฟอร์ม มีประสิทธิภาพในการขับเสมหะและแก้ไอได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์ขับเสมหะได้ดีที่สุด[3]
  • ใบมะแว้งนกมีฤทธิ์ลดการตกตะกอนของแคลเซียมในไตและปอดของหนู[1]
  • สาร Acetyl choline ที่แยกได้จากผลมะแว้งนก มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ และลดความดันโลหิตในสัตว์ทดลอง[1]
  • สารสกัดจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นมะแว้งนกด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ลดการหลั่งกรดและเอนไซม์เปปซิน ช่วยป้องกันการเกิดโรคกระเพาะอาหารในสัตว์ทดลอง[1]
  • อัลคาลอยด์ในส่วนเหนือดินมีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย[1]
  • น้ำที่ต้มได้จากมะแว้งนก มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อได้หลายชนิด เช่น เชื้อบิด, เชื้อไทฟอยด์, เชื้อในลำไส้ใหญ่, เชื้อ Staphelo coccus และเชื้ออหิวาต์ที่พบในหมู[3]
  • จากการศึกษาผลของสารสกัด solamargine จากมะแว้งนก ต่อการเจริญของเซลล์มะเร็งตับ human hepatoma SMMC-7721 และ HepG2 ผลการทดลองพบว่า สารสกัด solamargine มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและกระตุ้นให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งทั้งสองชนิด โดยมีผลยับยั้งวัฏจักรของเซลล์ ให้หยุดอยู่ที่ระยะ G2/M Phase นอกจากนี้ยังมีผลกระตุ้นให้เกิดการแสดงออกของเอนไซม์ caspase 3 อีกด้วย จากผลการทดลองจึงแสดงให้เห็นว่าสารสกัด solamargine จากมะแว้งนก มีฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งตับได้[8]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าเมื่อฉีดสารสกัดจากทั้งต้นด้วย 50% เอทานอลเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร ขนาดสูงสุดก่อนเกิดอาการเป็นพิษมีค่าเท่ากับ 1 กรัมต่อกิโลกรัม ส่วนพืชทั้งต้นเมื่อให้หนูกินไม่เป็นพิษ[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.1968 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากเมล็ดของผลมะแว้งนกในหนูถีบจักร พบว่าสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[2]

ประโยชน์ของมะแว้งนก

  • ผลสุกไม่มีพิษ ใช้รับประทานได้[6]
  • ยอดอ่อนนำมาต้มรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “มะแว้งนก”.  หน้า 199.
  2. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “หญ้าต้อมต๊อก”.  หน้า 161.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “มะแว้งนก”.  หน้า 458
  4. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “หญ้าต้อมต๊อก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/.   [01 พ.ย. 2014].
  5. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “มะแว้งนก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com.  [01 พ.ย. 2014].
  6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “มะแว้งนก”.  อ้างอิงใน :  หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือสมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 6 : สมุนไพรที่เป็นพิษ (สมพร ภูติยานันต์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :  eherb.hrdi.or.th.  [01 พ.ย. 2014].
  7. Ethnomedical survey of plants used by the Orang Asli in Kampung Bawong, Perak, West Malaysia“.  (Anbu Jeba Sunilson John Samuel,  Anandarajagopal Kalusalingam, Dinesh Kumar Chellappan, Rejitha Gopinath, Suraj Radhamani, Hj Azman Husain, Vignesh Muruganandham, Proom Promwichit).
  8. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งตับของสารสกัด solamargine จากหญ้าต้มต๊อก”.  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/.  [01 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Terry Howes, Adam Grubb and Annie Raser-Rowland, John Poulakis, Ahmad Fuad Morad, –Tico–, Compmouse, naturgucker.de, FRANCISCO DE ERIT VAZQUEZ TORO)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด