มะเร็งหลอดอาหาร อาการ สาเหตุ การรักษาโรคมะเร็งหลอดอาหาร 7 วิธี !

มะเร็งหลอดอาหาร อาการ สาเหตุ การรักษาโรคมะเร็งหลอดอาหาร 7 วิธี !

มะเร็งหลอดอาหาร

มะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal cancer) คือ การที่เซลล์ภายในหลอดอาหารมีการแบ่งตัวในจำนวนมากขึ้นผิดปกติทำให้เกิดเป็นเนื้องอกร้ายหรือมะเร็งขึ้นมา* และบางครั้งเซลล์มะเร็งเหล่านี้อาจลุกลามเข้าสู่อวัยวะใกล้เคียง แพร่กระจายเข้าสู่ระบบน้ำเหลือง และ/หรือแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด ทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ได้ทั่วร่างกาย

มะเร็งหลอดอาหารเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 7 ของโลก และมักพบได้บ่อยในประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงประเทศไทย (ในประเทศไทยพบได้บ่อยในภาคใต้มากกว่าภาคอื่น) จัดเป็นโรคของผู้ใหญ่ เพราะส่วนใหญ่มักพบในคนช่วงอายุ 55-65 ปี สามารถพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง แต่มักจะพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3-4 เท่า

หมายเหตุ : เนื้องอกที่หลอดอาหารเกือบทั้งหมดมักเป็นเนื้องอกร้ายหรือมะเร็ง ส่วนที่เป็นเนื้องอกไม่ร้ายนั้นพบได้น้อยมาก เช่น Adenoma, Granular cell tumor, Lipoma, Squamous cell papilloma ฯลฯ แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงมะเร็ง (เนื้อร้าย) ที่หลอดอาหารเป็นหลัก

สาเหตุของมะเร็งหลอดอาหาร

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของมะเร็งหลอดอาหารได้อย่างชัดเจน แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหาร ได้แก่

  • การสูบบุหรี่ ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นตามปริมาณและระยะเวลาที่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะมะเร็งหลอดอาหารชนิด Squamous cell carcinoma
  • การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหาร โดยเฉพาะมะเร็งหลอดอาหารชนิด Squamous cell carcinoma (การสูบบุหรี่มีความเสี่ยงมากกว่าการดื่มแอลกอฮอล์ และทั้ง 2 สาเหตุเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งเสริมทำให้เกิดมะเร็งหลอดอาหารได้ง่ายขึ้น)
  • เพศชาย เพราะพบโรคนี้ได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3-4 เท่า
  • ผู้สูงอายุ เพราะมักพบโรคนี้ในช่วงอายุประมาณ 45-70 ปี
  • เชื้อชาติ เพราะพบอุบัติการณ์ของโรคนี้ได้สูงขึ้นในชาวอิหร่าน โซเวียต จีน และชาวผิวดำแอฟริกัน แต่พบได้น้อยในชาวอเมริกา
  • การมีภาวะน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน
  • กินผักและผลไม้น้อย
  • การขาดสารอาหารบางชนิดอย่างต่อเนื่องจากการบริโภคอาหารไม่ครบ 5 หมู่
  • การบริโภคอาหารบางชนิดอย่างต่อเนื่อง เช่น อาหารที่มีสารไนโตรโซ (Nitroso compound) หรือไนโตรซามีน (Nitrosamine) ซึ่งมีอยู่ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ใส่สารนี้เป็นสารกันบูด อาหารประเภทย่าง (เช่น ปลาหมึกย่าง ปลาทะเลย่าง) อาหารหมักดองหรืออาหารที่มีเชื้อรา นอกจากนี้สารบางอย่างที่ใช้ในการปรุงรสอาหารอาจเป็นตัวการเพิ่มการเกิดสารไนโตรซามีนได้ เช่น พริก พริกไทย ซึ่งใส่ในอาหารที่มีเนื้อสัตว์และเครื่องแกง
  • ภาวะที่หลอดอาหารโดนกรดในกระเพาะกัดซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน เช่น โรคกรดไหลย้อน (GERD) ที่ทำให้เยื่อบุภายในหลอดอาหารเกิดการบาดเจ็บเสียหายต่อเนื่องเรื้อรัง, กลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison syndrome) ที่ทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดไฮโดรคลอริกออกมามากเกินไป, ภาวะการอักเสบเรื้อรังของหลอดอาหาร (Barrett’s esophagus) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดในผู้ที่มีการอักเสบของหลอดอาหารจากกรดในกระเพาะอาหารไปทำลายเซลล์เยื่อบุของหลอดอาหารเป็นเวลานาน เป็นต้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้จะทำให้เกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารชนิด Adenocarcinoma ได้
  • ความผิดปกติบางอย่างที่ทำให้อาหารไม่ผ่านลงกระเพาะโดยง่าย แต่กลับไปสะสมอยู่ในหลอดอาหารเป็นเวลานาน เช่น โรคอะคาเลเซีย (Achalasia), กลุ่มอาการพลัมเมอร์วินสัน (Plummer-Vinson syndrome), ไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal hernia) รวมทั้งภาวะที่มีการตีบแคบของหลอดอาหารจากสาเหตุต่าง ๆ
  • การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุของหลอดอาหารจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การกลืนน้ำกรดหรือด่าง การกลืนน้ำยาล้างห้องน้ำ ซึ่งอาจทำให้เยื่อบุภายในหลอดอาหารเกิดความเสียหายต่อเนื่องเรื้อรังและกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้
  • การกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มร้อนจัด ๆ เป็นประจำ
  • การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดของหลอดอาหาร
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรมของแต่ละคน ซึ่งไม่ใช่ชนิดที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์
  • เคยได้รับการฉายรังสีรักษาบริเวณทรวงอกตั้งแต่ยังเด็ก
  • เคยได้รับการตัดกระเพาะอาหารทิ้งบางส่วนหรือทั้งหมดมากว่า 20 ปีแล้ว
  • เคยเป็นมะเร็งปอด มะเร็งในช่องปาก มะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอ

อาการของมะเร็งหลอดอาหาร

โรคมะเร็งหลอดอาหารในระยะเริ่มแรกมักจะไม่ค่อยก่อให้เกิดอาการ (เนื่องจากมะเร็งหลอดอาหารมักจะลุกลามจากเยื่อบุผิวลงไปที่ผนัง ไม่ได้โตออกมาในท่อจนกว่ามันจะมีขนาดใหญ่แล้วจริง ๆ ดังนั้น โรคจึงมักตรวจพบในระยะที่ลุกลามแล้ว) แต่เมื่อเป็นมากขึ้นผู้ป่วยจะมีอาการแสดงคล้ายกับอาการของโรคที่พบในบริเวณหลอดอาหาร คือ

  • มีอาการกลืนลำบาก* กลืนไม่ลง รู้สึกกลืนแล้วเจ็บหรือติดขัดที่ตำแหน่งต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับคำจนถึงระดับลิ้นปี่ และสักพักอาจขย้อนกลับออกมา โดยอาการจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในตอนแรกผู้ป่วยจะกลืนอาหารแข็ง ๆ (เช่น ข้าวสวย เนื้อสัตว์ ขนมปัง หรือผักสด) ได้ลำบาก แต่ต่อมาเมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้นจนไปอุดตันหลอดอาหารทั้งหมดก็จะทำให้กลืนอาหารอ่อน ๆ (เช่น ข้าวต้ม) หรืออาหารที่บดแล้วไม่ได้ จนในที่สุดแม้แต่กลืนน้ำหรือน้ำลายก็ยังลำบากหรือกลืนไม่ได้
  • แน่นหน้าอกหรือแสบร้อนในช่องอก ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการปวดเจ็บที่กระดูกหน้าอกหรือในลำคอด้วย
  • รู้สึกท้องอืด อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน สะอึก สำลักอาหารบ่อย (ผู้ป่วยบางรายอาจถึงขั้นเป็นปอดอักเสบจากการสำลักอาหาร) หรือไอในขณะกินอาหาร
  • อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกินอาหารไม่ได้
  • อาจมีน้ำลายหรือเสมหะปนเลือด หรืออาเจียนเป็นเลือด
  • อาจถ่ายอุจจาระเหลวเละเป็นสีดำ (เนื่องจากมีเลือดออกจากก้อนมะเร็ง)
  • เมื่อโรคลุกลามเข้าประสาทกล่องเสียง ผู้ป่วยอาจมีเสียงแหบลง
  • อาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองที่ไหปลาร้าหรือที่คอโต (เนื่องจากมะเร็งที่แพร่กระจายไป)
  • มีอาการแสดงที่เกิดจากโรคมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปวดหลัง เมื่อโรคแพร่กระจายเข้าสู่กระดูกสันหลัง

หมายเหตุ : อาการหลักของโรคมะเร็งหลอดอาหาร คือ อาการกลืนอาหารแล้วเจ็บหรือกลืนลำบาก และมีน้ำหนักตัวลดลง (ผู้ป่วยมากกว่า 90% มักมาด้วยอาการที่เกี่ยวกับการกลืนและน้ำหนักตัวลดลง) อย่างไรก็ตาม หากมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหารเสมอไป แต่อาจเป็นโรคอื่นที่เกี่ยวข้องกับหลอดอาหารก็ได้ แต่ก็ควรไปตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาลทันทีเพื่อให้สามารถชี้ชัดได้ว่าเกิดจากมะเร็งหรือโรคอื่น ๆ

มะเร็งหลอดอาหารอาการ
IMAGE SOURCE : www.usnews.com

การแพร่กระจายของมะเร็งหลอดอาหาร

มะเร็งหลอดอาหารสามารถแพร่กระจายได้ 3 ลักษณะ ดังนี้

  • ลุกลามเข้าสู่อวัยวะข้างเคียงได้โดยตรงจากตัวก้อนมะเร็งที่โตขึ้น เช่น ลุกลามไปที่หลอดลมข้างเคียง
  • แพร่กระจายเข้าสู่ระบบน้ำเหลือง เช่น แพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง
  • แพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด เช่น แพร่กระจายไปที่ปอด กระดูกสันหลัง เป็นต้น

ชนิดของมะเร็งหลอดอาหาร

มะเร็งหลอดอาหาร แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  • มะเร็งหลอดอาหารชนิด Squamous cell carcinoma เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุของหลอดอาหาร ซึ่งมักเกิดที่ส่วนบนและส่วนกลางของหลอดอาหาร
  • มะเร็งหลอดอาหารชนิด Adenocarcinoma เป็นชนิดที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ประมาณ 50-80% ของมะเร็งหลอดอาหาร โดยเกิดจากเซลล์แกลนดูลาร์ที่อยู่บริเวณรอยต่อระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร (ส่วนปลายของหลอดอาหาร) มักเกิดต่อเนื่องมาจากภาวะการอักเสบเรื้อรังของหลอดอาหาร (Barrett’s esophagus) หรืออาจเกิดจากภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้เซลล์เยื่อบุของหลอดอาหารซึ่งปกติเป็น Squamous cells เปลี่ยนแปลงเป็น Gland cells

ระยะของมะเร็งหลอดอาหาร

มะเร็งหลอดอาหารแต่ละชนิดจะมีการแบ่งระยะของโรคที่แตกต่างกันไป ดังนี้

  1. ระยะของมะเร็งหลอดอาหารชนิด Squamous cell carcinoma ตำแหน่งที่เกิดมะเร็งจะมีส่วนในการกำหนดระยะด้วย เพราะมีผลต่อการรักษามาก
    • ระยะที่ 0 (ระยะก่อนเป็นมะเร็ง) เป็นระยะที่ตรวจพบเซลล์เยื่อบุของหลอดอาหารที่เจริญผิดปกติ แต่ยังไม่มีการลุกลามที่บ่งบอกว่าเป็นมะเร็ง
    • ระยะที่ 1 ในระยะนี้จะแบ่งออกเป็นระยะ IA และระยะ IB
      • ระยะ IA เป็นระยะของมะเร็งที่ตำแหน่งใด ๆ ยังลุกลามอยู่เฉพาะในชั้นเยื่อบุของหลอดอาหาร
      • ระยะ IB เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของหลอดอาหารส่วนล่าง ร่วมกับลักษณะของเซลล์มะเร็งที่มีการเปลี่ยนแปลงคล้ายกับเซลล์ปกติ
    • ระยะที่ 2 ในระยะนี้จะแบ่งออกเป็นระยะ IIA และระยะ IIB
      • ระยะ IIA เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของหลอดอาหารส่วนล่าง ร่วมกับลักษณะของเซลล์มะเร็งที่มีการเปลี่ยนแปลงต่างจากเซลล์ปกติทั่วไป หรือเป็นระยะที่มะเร็งลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของหลอดอาหารส่วนบนหรือส่วนกลาง ร่วมกับลักษณะของเซลล์มะเร็งที่มีการเปลี่ยนแปลงคล้ายกับเซลล์ปกติ
      • ระยะ IIB เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของหลอดอาหารส่วนบนหรือส่วนกลาง ร่วมกับลักษณะของเซลล์มะเร็งที่มีการเปลี่ยนแปลงต่างไปจากเซลล์ปกติทั่วไป หรือเป็นระยะของมะเร็งที่ตำแหน่งใด ๆ ของหลอดอาหารที่ลุกลามอยู่ในชั้นเยื่อบุของหลอดอาหารหรือถึงชั้นกล้ามเนื้อ ร่วมกับตรวจพบการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองไม่เกิน 2 ต่อม
    • ระยะที่ 3 ในระยะนี้จะแบ่งออกเป็นระยะ IIIA, IIIB และระยะ IIIC
      • ระยะ IIIA เป็นระยะของมะเร็งที่ตำแหน่งใด ๆ ของหลอดอาหารที่ลุกลามอยู่ในชั้นเยื่อหลอดอาหารหรือถึงชั้นกล้ามเนื้อ ร่วมกับตรวจพบการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ 3-6 ต่อม หรือเป็นระยะของมะเร็งที่ตำแหน่งใด ๆ ของหลอดอาหารที่ลุกลามถึงชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ร่วมกับตรวจพบการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองไม่เกิน 2 ต่อม หรือเป็นระยะของมะเร็งที่ตำแหน่งใด ๆ ของหลอดอาหารที่ลุกลามไปถึงกะบังลมหรือชั้นเยื่อหุ้มปอดหรือชั้นเยื่อหุ้มหัวใจ แต่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง
      • ระยะ IIIB เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามถึงชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ร่วมกับตรวจพบการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ 3-6 ต่อม
      • ระยะ IIIC เป็นระยะของมะเร็งที่ตำแหน่งใด ๆ ของหลอดอาหาร ร่วมกับการตรวจพบการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองเท่ากับหรือมากกว่า 7 ต่อม หรือเป็นระยะของมะเร็งที่ตำแหน่งใด ๆ ของหลอดอาหารที่ลุกลามไปถึงกะบังลมหรือชั้นเยื่อหุ้มปอดหรือชั้นเยื่อหุ้มหัวใจ ร่วมกับการตรวจพบการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง หรือเป็นระยะของมะเร็งที่ตำแหน่งใด ๆ ของหลอดอาหารที่ลุกลามไปถึงหลอดเลือดแดงใหญ่หรือหลอดลมหรือกระดูกสันหลัง
    • ระยะที่ 4 เป็นระยะของมะเร็งที่ตำแหน่งใด ๆ ของหลอดอาหาร ร่วมกับมีการแพร่กระจายไปถึงอวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่ห่างไกลจากหลอดอาหาร
  2. ระยะของมะเร็งหลอดอาหารชนิด Adenocarcinoma ตำแหน่งของรอยโรคไม่มีผลต่อการกำหนดระยะ ดังนั้น ระยะที่ 0, 3 และ 4 จึงเหมือนกับชนิดแรกทุกประการ ในที่นี้จะแสดงเฉพาะที่ระยะที่แตกต่างกัน คือ ระยะที่ 1 และระยะที่ 2
    • ระยะที่ 1 ในระยะนี้จะแบ่งออกเป็นระยะ IA และระยะ IB
      • ระยะ IA เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะในชั้นเยื่อบุของหลอดอาหาร ร่วมกับลักษณะของเซลล์มะเร็งที่มีการเปลี่ยนแปลงคล้ายกับเซลล์ปกติ
      • ระยะ IB เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะในชั้นเยื่อบุของหลอดอาหาร ร่วมกับลักษณะของเซลล์มะเร็งที่มีการเปลี่ยนแปลงต่างไปจากเซลล์ปกติทั่วไป หรือเป็นระยะที่มะเร็งลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อ ร่วมกับลักษณะของเซลล์มะเร็งที่มีการเปลี่ยนแปลงคล้ายกับเซลล์ปกติ
    • ระยะที่ 2 ในระยะนี้จะแบ่งออกเป็นระยะ IIA และระยะ IIB
      • ระยะ IIA เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อ ร่วมกับลักษณะของเซลล์มะเร็งที่มีการเปลี่ยนแปลงต่างไปจากเซลล์ปกติทั่วไป
      • ระยะ IIB เป็นระยะของมะเร็งที่ลุกลามถึงชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของหลอดอาหาร หรือเป็นระยะที่มะเร็งลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อ ร่วมกับตรวจพบการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองไม่เกิน 2 ต่อม

การแบ่งระยะของโรคมีความสำคัญอย่างมากต่อการกำหนดวิธีการรักษาและการมีชีวิตอยู่ของผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหาร สำหรับผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารในระยะที่ 1 จะมีอัตราการมีชีวิตอยู่ 5 ปีหลังการผ่าตัดอยู่ที่ประมาณ 80-90% (การรักษาในระยะแรกเริ่มนี้จะมีเป้าหมาย คือ การควบคุมมะเร็งและยืดอายุของผู้ป่วย) ส่วนผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้าย (ระยะที่ 3 และระยะที่ 4) จะมีอัตราการมีชีวิตอยู่ 5 ปีหลังการผ่าตัดไม่ถึง 15% (การรักษาในระยะสุดท้ายจะมีเป้าหมาย คือ การควบคุมอาการ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น)

อาการมะเร็งหลอดอาหาร
IMAGE SOURCE : www.gastrointestinalatlas.com, www.laparoscopyhospital.com, en.wikipedia.org, www.aafp.org

การวินิจฉัยมะเร็งหลอดอาหาร

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จาก

  • การซักประวัติและการตรวจร่างกาย เช่น การถามปัจจัยเสี่ยง การคลำก้อน การตรวจร่างกายทั่วไป อย่างไรก็ตาม การตรวจร่างกายอาจไม่พบความผิดปกติอะไร ยกเว้นที่ผู้ป่วยเป็นโรคในระยะลุกลามแล้ว ซึ่งอาจคลำต่อมน้ำเหลืองที่ไหปลาร้าหรือที่คอโตได้ หรืออาจพบอาการที่เกิดจากการลุกลามของโรคไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปวดหลัง เมื่อโรคแพร่กระจายเข้าสู่กระดูกสันหลัง เป็นต้น
  • การเอกซเรย์ทรวงอก (Chest x-ray) เป็นการตรวจทางรังสีวิทยาอย่างหนึ่ง โดยการถ่ายภาพทรวงอกด้วยรังสีเอกซ์ ซึ่งจะช่วยหาตำแหน่งของการอุดตันได้
  • การกลืนแป้งสารทึบรังสี (Barium swallow test) การตรวจนี้เป็นที่นิยมมาก การตรวจจะทำโดยการให้ผู้ป่วยกลืนน้ำที่ผสมด้วยสารทึบแสงคล้ายแป้ง ซึ่งจะไปเคลือบหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก แล้วแพทย์จะทำการเอกซเรย์ทรวงอกเป็นระยะ ๆ เพื่อตรวจหาตำแหน่งของการอุดตัน ซึ่งจะทำให้สามารถมองเห็นก้อนเนื้อได้

    การวินิจฉัยมะเร็งหลอดอาหาร
    IMAGE SOURCE : www.cancer.gov

  • การส่องกล้องเพื่อดูภายในหลอดอาหาร (Esophagoscopy) เพื่อดูความผิดปกติ หากตรวจพบรอยโรคหรือสิ่งผิดปกติที่น่าสงสัย แพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป (หากตรวจพบว่ามีต่อมน้ำเหลืองที่ไหปลาร้าหรือที่คอโต แพทย์อาจทำการตัดต่อมน้ำเหลืองนั้นไปตรวจแทนได้เช่นกัน)

    การวินิจฉัยโรคมะเร็งหลอดอาหาร
    IMAGE SOURCE : www.cancer.gov

  • การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา โดยทั่วไปแพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อในระหว่างการส่องกล้องออกมาตรวจดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์เพื่อดูลักษณะของเซลล์มะเร็งและเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง

หากผลทางพยาธิวิทยาออกมาพบว่าเป็นมะเร็ง แพทย์จะทำการตรวจหาระยะหรือการแพร่กระจายของมะเร็งหลอดอาหารเพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาต่อไป ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ซึ่งจะแสดงภาพอวัยวะภายในแบบสามมิติ ช่วยให้แพทย์สามารถเห็นตำแหน่งของโรคและการกระจายของโรคได้ละเอียดมากกว่าการเอกซเรย์ธรรมดา ทั้งนี้อาจต้องกลืนแป้งสารทึบรังสีหรือฉีดสารทึบรังสีร่วมด้วยเพื่อช่วยในการวินิจฉัยได้ดียิ่งขึ้น
  • การตรวจ MRI (Magnetic resonance imaging) เป็นการตรวจที่ใช้หลักการของสนามแม่เหล็กเหนี่ยวนำร่างกายให้ส่งสัญญาณไฟฟ้าออกมา
  • การตรวจ PET (Positron emission tomography) เป็นการฉีดสารเภสัชรังสีเข้าไปในร่างกาย ซึ่งเซลล์มะเร็งจะมีความสามารถในการจับกับสารเภสัชรังสีได้มากกว่าเซลล์ปกติ แล้วเซลล์มะเร็งจะปลดปล่อยรังสีออกมาเพื่อช่วยระบุตำแหน่งที่อยู่ของเซลล์มะเร็งร่วมกับ CT scan
  • การส่องกล้องตรวจคลื่นความถี่สูง (Endoscopic ultrasound – EUS) เป็นการส่องกล้องที่มีหัวตรวจคลื่นความถี่สูงซึ่งจะช่วยระบุการลุกลามของก้อนมะเร็งผ่านชั้นหลอดอาหารได้ และมีความแม่นยำในการตรวจค่อนข้างสูง (มีความแม่นยำมากกว่า 90% ในการตรวจการลุกลามของมะเร็งไปที่ผนังหลอดอาหาร และแม่นยำกว่า 75% ในการตรวจการแพร่กระจายของมะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลือง)
  • การส่องกล้องผ่านทางทรวงอก (Thoracoscopy) เป็นการผ่าตัดกระดูกซี่โครงเพื่อส่องกล้องเข้าไปดูในทรวงอก และเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อที่อยู่นอกหลอดอาหารหรือต่อมน้ำเหลืองที่สงสัยส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อหาการแพร่กระจายของมะเร็ง
  • การส่องกล้องผ่านช่องท้อง (Laparoscopic) เป็นการส่องกล้องผ่านผนังหน้าท้องที่กรีดเปิดไว้เพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็ง และเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อที่สงสัยไปตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป
  • การส่องกล้องตรวจหลอดลมส่วนต้น (Bronchoscopy) เป็นการตรวจเพื่อดูว่ามะเร็งมีการลุกลามไปถึงหลอดลมหรือไม่ นอกจากนี้ยังสามารถเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยาได้ด้วย
  • การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เช่น การสแกนกระดูก ในรายที่สงสัยว่าโรคแพร่กระจายไปกระดูก

นอกจากนี้ยังอาจมีการตรวจเลือดอื่น ๆ ทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูการงานของตับ ไต ดูระดับเกลือแร่ หรือดูระดับสารมะเร็งชนิดซีอีเอ (CEA – Carcinoembryonic antigen) หรือการตรวจเลือดซีบีซี (CBC) เพื่อดูเม็ดเลือดและเกล็ดเลือดก่อนทำการรักษา

วิธีรักษามะเร็งหลอดอาหาร

วิธีการรักษามะเร็งหลอดอาหาร ในการรักษาจำเป็นต้องอาศัยทีมแพทย์ในสาขาต่าง ๆ มาร่วมกันวางแผนการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง โดยจะมีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัวกำหนดวิธีการรักษาของแพทย์ ที่สำคัญ คือ ขนาด ตำแหน่ง และลักษณะของเซลล์มะเร็ง ระยะและการแพร่กระจายของโรค และปัจจัยของตัวผู้ป่วยเอง ได้แก่ อายุ สุขภาพร่างกาย และการมีโรคประจำตัวของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาจะมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี (แต่การรักษาหลัก ๆ จะมีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี คือ การผ่าตัด, ยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา) ดังนี้

  1. การผ่าตัดหลอดอาหาร (Esophagectomy) ในกรณีที่สามารถทำการผ่าตัดได้ (ผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารระยะแรก และเป็นมะเร็งที่อยู่บริเวณส่วนช่องอก หรือส่วนปลายที่อยู่ติดกับกระเพาะอาหาร) แพทย์จะทำการผ่าตัดหลอดอาหารส่วนที่เป็นมะเร็งออก ร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงเพื่อตรวจดูการแพร่กระจายของมะเร็ง แล้วจึงต่อหลอดอาหารส่วนที่เหลือเข้ากับกระเพาะอาหารหรือลำไส้ (ซึ่งมักจะต้องดึงกระเพาะอาหารหรือลำไส้ขึ้นไปอยู่ถึงทรวงอกเพื่อทำเป็นทางเดินอาหารใหม่ แต่ผู้ป่วยยังคงสามารถกลืนอาหารได้ตามปกติ)
    • โดยส่วนใหญ่แพทย์จะใช้วิธีการฉายรังสีรักษาร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดด้วย เพื่อช่วยลดขนาดของก้อนมะเร็งที่จะถูกผ่าตัดให้เล็กลง และยังเป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ที่ใช้เวลานานได้ และแพทย์อาจเลือกใช้การรักษาแบบนี้หลังการผ่าตัดด้วย
    • ผู้ป่วยที่มีความยากลำบากในการกลืน อาจต้องได้รับสารอาหารทางหลอดเลือดหลายวันก่อนและหลังการผ่าตัด ร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อ และผู้ป่วยยังต้องเรียนรู้วิธีการหายใจและการไอเพื่อไม่ให้เกิดภาวะปอดแฟบหลังการผ่าตัดด้วย

      การผ่าตัดมะเร็งหลอดอาหาร
      IMAGE SOURCE : www.cancer.gov

  2. การรักษาแบบประคับประคอง มักใช้ในกรณีที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ แพทย์อาจให้การรักษาแบบประคับประคองด้วยวิธีดังต่อไปนี้ (เพื่อช่วยบรรเทาอาการกลืนลำบาก ทำให้ผู้ป่วยพอจะสามารถกลืนอาหารและน้ำได้ หรือเป็นผู้ป่วยในระยะลุกลามที่ไม่สามารถกลืนอาหารทางปากได้เอง) ได้แก่
    • การใส่สายยางเข้าไปในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก (ผ่านทางบริเวณหน้าท้อง) เพื่อให้อาหารเหลวแก่ผู้ป่วย
    • การขยายหลอดอาหารที่ตีบ ซึ่งมักต้องทำหลายครั้ง เพราะก้อนมะเร็งจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
    • การใส่ท่อหรือวัสดุถ่างขยายหลอดอาหารที่ตีบอยู่คาไว้ (Esophageal stent) เพื่อให้อาหารผ่านลงไปได้
    • การสร้างทางเดินอาหารสู่กระเพาะอาหารใหม่ (Bypass)
    • การใช้แสงเลเซอร์ทำลายก้อนมะเร็ง เพื่อเอาก้อนมะเร็งออกหรือทำให้ก้อนมีขนาดเล็กลงเพื่อช่วยลดอาการตีบตันของหลอดอาหาร

      วิธีรักษามะเร็งหลอดอาหาร
      IMAGE SOURCE : www.cancer.gov

  3. การฉายรังสีรักษา (Radiotherapy) เป็นการรักษาโดยการฉายรังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายหรือหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยตรง ซึ่งในการรักษาแพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีการฉายรังสีรักษาเพียงอย่างเดียวแทนการผ่าตัด หรือใช้ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด หรือใช้ทั้งการฉายรังสีรักษา การให้ยาเคมีบำบัด และทำการผ่าตัดร่วมกันก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการรักษาผู้ป่วยในแต่ละราย ซึ่งวัตถุประสงค์ของการฉายรังสีจะแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ
    • ใช้เพื่อควบคุมโรคในผู้ป่วยระยะลุกลามไม่มากและยังมีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง (มักใช้ร่วมกับการรักษาอื่น ๆ คือ การให้ยาเคมีบำบัด และ/หรือการผ่าตัด)
    • ใช้เพื่อประคับประคองอาการในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากมีสุขภาพไม่แข็งแรงพอ หรือมะเร็งลุกลามไปมาก หรือมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ โดยมักใช้เพื่อบรรเทาอาการจากการกลืนลำบาก กลืนเจ็บ หรืออาการปวดจากการกระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก (มะเร็งหลอดอาหารในระยะลุกลาม การฉายรังสีส่วนมากจะใช้เพื่อบรรเทาอาการเป็นหลัก และจะได้ผลดีมากโดยเฉพาะเมื่อมีการอุดตันของหลอดอาหาร จากการศึกษาพบว่า การฉายรังสีรักษาจะใช้เพื่อบรรเทาอาการการกีดขวางของการกลืนใน 80% ของผู้ป่วย)
  4. การให้ยาเคมีบำบัด เป็นการใช้ยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยอาจให้ยาทางปากหรือฉีดเข้าเส้นเลือด มักใช้หลังการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีโอกาสกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำสูง และยังเป็นมาตรฐานในการใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารในระยะลุกลามด้วย และยังนิยมใช้ร่วมกับการฉายรังสีรักษาก่อนเข้ารับการผ่าตัดด้วย เพื่อเสริมประสิทธิภาพของการรักษาให้ดีขึ้น (ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดจากโรคได้เพิ่มมากขึ้น)
  5. การให้ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) เป็นอีกวิธีการหนึ่งของการให้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยที่ค่อนข้างจะอ่อนแอ เพื่อลดผลข้างเคียงของยาเคมีแบบทั่วไป แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและยายังมีราคาแพงมากเกินกว่าที่ผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงได้
  6. การใช้แสงกระตุ้นยาเคมี (Photodynamic therapy) เป็นการใช้ยาเคมีชนิดที่ออกฤทธิ์เฉพาะเมื่อโดนแสงที่มีคลื่นจำเพาะต่อยานั้น ซึ่งแพทย์อาจนำมาใช้รักษาในการรักษาภาวะการอักเสบเรื้อรังของหลอดอาหาร (Barrett’s esophagus) และมะเร็งหลอดอาหารระยะเริ่มแรก

การรักษามะเร็งหลอดอาหารตามระยะของโรค

  • ระยะที่ 0 (ระยะก่อนลุกลาม) แพทย์จะให้การรักษาโดยการส่องกล้องผ่าตัดเยื่อบุผิวที่มีความผิดปกติออกไป
  • ระยะที่ 1 แพทย์จะให้การรักษาโดยการผ่าตัดหลอดอาหารส่วนที่เป็นมะเร็งออก (เปิดแผลผ่าตัดทางทรวงอกหรือช่องท้อง) และอาจพิจารณาให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีรักษาก่อนการผ่าตัด ส่วนผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านสุขภาพ แพทย์อาจให้การรักษาโดยการให้ยาเคมีบำบัด หรือใช้วิธีการฉายรังสีรักษา หรือใช้ทั้งสองวิธีร่วมกัน
  • ระยะที่ 2 ในกรณีที่สามารถผ่าตัดได้ การรักษาหลักจะเป็นการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีรักษาก่อนการผ่าตัด แต่ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านสุขภาพหรือก้อนมะเร็งอยู่ที่หลอดอาหารส่วนบน การรักษาจะเป็นการให้ยาเคมีบำบัด หรือใช้วิธีการฉายรังสีรักษา หรือใช้ทั้งสองวิธีร่วมกัน
  • ระยะที่ 3 ในกรณีที่สามารถผ่าตัดได้ การรักษาหลักจะเป็นการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีรักษาก่อนการผ่าตัด แต่ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านสุขภาพหรือก้อนมะเร็งอยู่ติดกับหลอดเลือดแดงใหญ่ กระดูกสันหลัง หรือหลอดลม การรักษาจะเป็นการให้ยาเคมีบำบัด หรือใช้วิธีการฉายรังสีรักษา หรือใช้ทั้งสองวิธีร่วมกัน
  • ระยะที่ 4 ยังไม่มีการรักษาใดที่สามารถรักษามะเร็งหลอดอาหารระยะสุดท้ายให้หายขาดได้ ดังนั้นการรักษาหลักจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคอง โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาอาการและช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ได้แก่
    • การขยายหลอดอาหารส่วนที่ตีบตันจากมะเร็งโดยการใส่ท่อหรือวัสดุถ่างขยายหลอดอาหารที่ตีบอยู่คาไว้ หรือการใส่สายให้อาหาร ซึ่งอาจใส่ผ่านทางรูจมูกหรือเจาะผ่านหน้าท้อง เพื่อช่วยทำให้ผู้ป่วยได้รับโภชนาการที่เพียงพอ
    • การส่องกล้องเข้าไปในหลอดอาหาร แล้วใช้เลเซอร์ทำลายตรงก้อนมะเร็ง แต่มะเร็งก็ยังสามารถเจริญเติบโตขึ้นมาได้ใหม่ จึงทำให้ต้องรักษาซ้ำทุก 1-2 เดือน
    • การให้ยาเคมีบำบัด เพื่อทำให้อาการของผู้ป่วยทุเลาลงและช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น
    • การฉายรังสีรักษา เพื่อช่วยลดอาการปวดหรืออาการกลืนลำบากของผู้ป่วย

การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งหลอดอาหาร การดูแลจะเหมือนกับโรคมะเร็งอื่น ๆ ซึ่งจะขอกล่าวถึงต่อไปอย่างละเอียดในเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง, การดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง, การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

ผลการรักษามะเร็งหลอดอาหาร ผลการรักษานั้นจะไม่ดีเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ เนื่องจากหลอดอาหารเป็นอวัยวะที่อยู่ลึก มีพื้นที่จำกัด และทำให้ผ่าตัดได้ยาก อีกทั้งผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็มักจะอยู่ในภาวะทุพโภชนาการ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องเตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ ต้องยอมรับอาหารทางสายยางหรือทางเส้นเลือดเพื่อฟื้นฟูและบำรุงร่างกาย และภายหลังจากการรักษาครบแล้วก็ต้องไปตรวจกับแพทย์ตามนัดเป็นประจำ เพราะมะเร็งหลอดอาหารเป็นมะเร็งที่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้บ่อยชนิดหนึ่ง

ปัจจัยที่มีผลต่อการรักษาและการพยากรณ์โรค มะเร็งหลอดอาหารเป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงสูง แต่ความรุนแรงของโรคนั้นยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ได้แก่

  • ระยะของมะเร็งหลอดอาหาร ระยะของโรคที่สูงขึ้นจะมีความรุนแรงของโรคที่สูงขึ้น ถ้าตรวจพบในระยะแรก ผลการรักษาจึงดีกว่าในระยะที่ลุกลามแล้ว (แต่ส่วนใหญ่มักตรวจพบในระยะลุกลามแล้ว)
  • ขนาดของมะเร็งหลอดอาหาร ถ้าตัวก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ การรักษาก็จะยากขึ้นและมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูง
  • ตำแหน่งของมะเร็งหลอดอาหาร (มะเร็งอยู่ในหลอดอาหารส่วนลำคอ ส่วนช่องอก หรือส่วนปลายที่อยู่ติดกับกระเพาะอาหาร) หากเกิดโรคที่บริเวณหลอดอาหารในส่วนลำคอจะมีผลการรักษาแย่กว่าหลอดอาหารในส่วนอื่น ๆ เพราะการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดจะทำได้ยากกว่า
  • อายุ ถ้าผู้ป่วยมีอายุน้อยผลการรักษาจะดีกว่าผู้ป่วยที่มีอายุมาก เพราะผู้ป่วยอายุน้อยมักมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงและสามารถทนต่อการรักษาได้ดีกว่า
  • สุขภาพร่างกายและโรคร่วมอื่น ๆ ของผู้ป่วยที่มีผลต่อสุขภาพของผู้ป่วย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน เป็นต้น ถ้าผู้ป่วยมีสุขภาพไม่ดีหรือมีโรคร่วมที่มีผลต่อสุขภาพก็จะทำให้ทนต่อการรักษาได้น้อยและอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการรักษาได้สูงขึ้น

การติดตามผลการรักษามะเร็งหลอดอาหาร ภายหลังที่แพทย์ให้การรักษาจนครบแล้ว แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจเพื่อติดตามผลการรักษาเป็นระยะ โดยอาจนัดมาตรวจทุก 1-2 เดือน ใน 1-2 ปีแรกหลังการรักษา, นัดตรวจทุก 2-3 เดือน ในปีที่ 3-5 และนัดตรวจทุก 6-12 เดือน ในปีที่ 5 เป็นต้นไป

การปฏิบัติตนภายหลังการรักษามะเร็งหลอดอาหาร ควรปฏิบัติดังนี้

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และติดตามการรักษากับแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่องตามที่แพทย์นัด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ อย่างเพียงพอ
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตามควรแก่สุขภาพ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หยุดการสูบบุหรี่
  • ไปตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งหลอดอาหาร

ผลข้างเคียงจากการรักษาแต่ละวิธีจะแตกต่างกันไป และผลข้างเคียงอาจพบได้มากขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาหลายวิธีร่วมกัน

  • การผ่าตัด เช่น อาการปวด การมีเลือดออก การติดเชื้อ การบาดเจ็บจากการผ่าตัดถูกอวัยวะข้างเคียง
  • ยาเคมีบำบัด เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ผมร่วง เจ็บปากและคอ ยาไปกดการทำงานของไขกระดูกทำให้เกิดภาวะซีด ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และมีเม็ดเลือดขาวต่ำ อย่างไรก็ตาม อาการข้างเคียงเหล่านี้สามารถบรรเทาได้ด้วยยาและจะหายไปเมื่อหยุดการรักษา
  • รังสีรักษา (การฉายแสง) เช่น อ่อนเพลีย บริเวณที่ได้รับการฉายแสงอาจเป็นผื่นแดงและแห้ง การฉายแสงบริเวณหน้าอกและคออาจทำให้มีอาการเจ็บคอ คอแห้ง และไอได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหายใจลำบากในระหว่างการฉายรังสีได้

อนึ่ง อาจพบผลข้างเคียงในระยะยาวได้ด้วย (ระยะหลังครบการรักษาแล้วอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไปตลอดจนตลอดชีวิตของผู้ป่วย) แต่โดยทั่วไปโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงเหล่านี้จะพบได้น้อยประมาณ 5-15% เช่น ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีบริเวณทรวงอกหรือลำคอจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานลดลง เป็นต้น

วิธีป้องกันมะเร็งหลอดอาหาร

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งหลอดอาหาร แต่มีข้อแนะนำที่อาจช่วยลดโอกาสของการเกิดโรคนี้ได้บ้าง คือ

  1. การหลีกเลี่ยงสาเหตุต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การกินอาหารและเครื่องดื่มร้อนจัด การติดเชื้อโรคต่าง ๆ โดยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดีโดยการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ
  2. กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ เป็นประจำ
  3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  4. เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองให้พบมะเร็งหลอดอาหารในระยะแรกตั้งแต่ยังไม่มีอาการได้ (มีเพียงการส่องกล้องติดตามในผู้ป่วยที่มีภาวะการอักเสบเรื้อรังของหลอดอาหาร (Barrett’s esophagus) ส่วนจะติดตามภายในระยะเวลาเท่าใดก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันแน่ชัด) ดังนั้น เมื่อมีอาการผิดปกติต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
  5. สำหรับในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เป็นโรคกรดไหลย้อน มีภาวะการอักเสบเรื้อรังของหลอดอาหาร หรือในผู้ที่มีประวัติการกลืนน้ำกรด/ด่าง การกลืนน้ำยาล้างห้องน้ำ ซึ่งอาจส่งผลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุของหลอดอาหาร ก็ควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหาร
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “มะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal cancer)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 1167-1168.
  2. สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์.  “มะเร็งหลอดอาหาร”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.chulacancer.net.  [23 มี.ค. 2017].
  3. หาหมอดอทคอม.  “มะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal cancer)”.  (พญ.ชลศณีย์ คล้ายทอง).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [23 มี.ค. 2017].
  4. MutualSelfcare.  “มะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal cancer)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.mutualselfcare.org.  [24 มี.ค. 2017].
  5. โรงพยาบาลวัฒโนสถ.  “โรคมะเร็งหลอดอาหาร”.  (นพ.วุฒิ สุเมธโชติเมธา).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhospital.com/wattanosoth/.  [24 มี.ค. 2017].
  6. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  “มะเร็งหลอดอาหาร”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org.  [24 มี.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด