มะเร็งรังไข่
มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer) คือ โรคที่เกิดจากการที่มีเซลล์มะเร็งเจริญเติบโตในรังไข่* จัดเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุดของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ผู้หญิง เพราะผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ในระยะที่มะเร็งลุกลามไปมากแล้ว เนื่องจากโรคนี้ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดง หรือมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นมะเร็งรังไข่ (พบว่า มีผู้ป่วยเพียง 25% เท่านั้นที่จะตรวจพบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ได้ก่อนที่มะเร็งจะแพร่กระจาย ซึ่งการตรวจพบได้ในระยะแรกนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคให้หายขาดได้)
มะเร็งรังไข่เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั่วโลกรวมทั้งในผู้หญิงไทย (พบได้เป็นอันดับที่ 6 ของมะเร็งในผู้หญิง) พบได้ในผู้หญิงหลายช่วงวัยทั้งในวัยเด็กและวัยเจริญพันธุ์ แต่มักพบได้มากในช่วงอายุ 40-60 ปี (แต่มะเร็งรังไข่บางชนิดมักพบได้ในเด็กก่อนหรือหลังอายุ 10 ปี) ในปี พ.ศ.2557 ในสหรัฐอเมริกาพบโรคมะเร็งรังไข่ได้ประมาณ 1.3-1.4% ของผู้หญิงอเมริกัน ในประเทศที่กำลังพัฒนาพบโรคนี้ได้ประมาณ 5 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คน (ในประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ.2544-2546 รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบโรคนี้ได้ประมาณ 5.1 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คน) ส่วนในประเทศที่พัฒนาแล้วพบโรคนี้ได้ประมาณ 9.4 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คน
หมายเหตุ : รังไข่ (Ovary) เป็นอวัยวะคู่ (มีทั้งด้านซ้ายและด้านขวา) ที่อยู่ในช่องท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน และอยู่ในระยะสืบพันธุ์เฉพาะของผู้หญิง มีหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงและผลิตไข่เพื่อการผสมพันธุ์ ซึ่งรังไข่สามารถเกิดโรคมะเร็งได้ทั้ง 2 ข้าง โดยพบเกิดกับข้างซ้ายและข้างขวาได้ใกล้เคียงกัน และพบได้พร้อมกันทั้ง 2 ข้างประมาณ 25%
ชนิดของมะเร็งรังไข่
โรคมะเร็งรังไข่มีหลายชนิด สามารถแบ่งตามตำแหน่งเริ่มต้นของเซลล์มะเร็งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
- มะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่ (Epithelial cell tumors) เป็นกลุ่มเกิดจากเซลล์เยื่อบุผิวรังไข่ (Epithelium) อาจเป็นเยื่อบุผิวของท่อนำไข่ ของเยื่อบุมดลูก หรือของเยื่อบุผิวของรังไข่ เป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 90% ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด พบเกิดในผู้ใหญ่ และพบได้สูงในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป (โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงโรคมะเร็งรังไข่ จึงมักจะหมายถึงโรคมะเร็งรังไข่กลุ่มที่เกิดจากเยื่อบุผิวรังไข่นี้) นอกจากนี้มะเร็งในกลุ่มนี้เยื่อบุผิวยังแบ่งได้เป็นอีก 2 แบบ คือ
- มะเร็งรังไข่แบบ 1 (Ovarian cancer type 1) คือ มะเร็งรังไข่ที่มีความรุนแรงของโรคต่ำ (Low grade tumor) ธรรมชาติของโรคจะไม่ค่อยลุกลามแพร่กระจาย จึงมักพบโรคนี้ในระยะที่ 1 และเป็นมะเร็งกลุ่มที่มีการพยากรณ์โรคดี นอกจากนั้นโรคในกลุ่มนี้ยังมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือยีน เช่น KRAS, PTEN, BRAF แต่มักไม่พบความผิดปกติของยีน TP53 (Tumor protein 53) มะเร็งในกลุ่มนี้ที่พบได้บ่อย คือ มะเร็งในกลุ่ม Borderline adenocarcinoma
- มะเร็งรังไข่แบบ 2 (Ovarian cancer type 2) คือ มะเร็งรังไข่ที่มีความรุนแรงของโรครุนแรง (High grade tumor) มักพบในระยะลุกลามออกนอกรังไข่ไปแล้ว เป็นโรคที่มักพบร่วมกับการมียีนผิดปกติชนิด TP53 และชนิด BRCA (Breast cancer) และเป็นโรคกลุ่มที่มีการพยากรณ์โรคไม่ดี
- มะเร็งฟองไข่ (Germ cell tumors) เป็นกลุ่มที่เกิดจากเซลล์ที่ผลิตไข่ เป็นกลุ่มที่พบได้น้อยประมาณ 5% ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด มักพบได้ในเด็กและในหญิงอายุน้อย
- มะเร็งเนื้อรังไข่ (Stromal cell tumors) เป็นกลุ่มเกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพันซึ่งผลิตฮอร์โมนเพศหญิง เป็นกลุ่มที่พบได้น้อยมาก
สาเหตุของมะเร็งรังไข่
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ที่แน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยง* ที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคนี้ คือ
- การมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุมดลูก และ/หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะ
- การมีญาติสายตรง (มารดา พี่สาว น้องสาว หรือลูกสาว) เป็นมะเร็งรังไข่ 2 คน
- การมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งรังไข่ 1 คน เป็นมะเร็งเต้านม 1 คน ซึ่งเกิดก่อนอายุ 50 ปี
- การมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งรังไข่ และมีประวัติคนในครอบครัว 2 คน
- เป็นมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 60 ปี
- การมีคนในครอบครัว 1 คนเป็นมะเร็งรังไข่ และมีคนในครอบครัว 3 คน เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ (มี 1 คนเป็นก่อนอายุ 50 ปี)
- การมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เพราะพบโรคนี้ได้สูงในช่วงอายุ 40-60 ปี
- การมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี หรือหมดประจำเดือนช้า (หมดช้ากว่าอายุ 55 ปี)
- การคลอดบุตรคนแรกหลังจากอายุ 30 ปีไปแล้ว
- การไม่มีบุตรหรือมีบุตรน้อย เพราะพบโรคนี้ในคนที่ไม่เคยตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์เพียง 1-2 ครรภ์ ได้สูงกว่าในคนที่ตั้งครรภ์มากกว่านี้
- การใช้ยากระตุ้นการตกไข่เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตั้งครรภ์ เช่น ในภาวะมีบุตรยาก
- การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนหลังวัยหมดประจำเดือนติดต่อกันนานเกิน 5 ปี
- การมีภาวะอ้วนตั้งแต่วัย 18 ปี เพราะพบโรคนี้ในคนอ้วนสูงกว่าในคนผอม
- เคยเป็นโรคมะเร็งรังไข่มาแล้วข้างหนึ่ง โรคมะเร็งเต้านม และ/หรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- สภาพแวดล้อม เช่น สารเคมี อาหาร เนื่องจากพบโรคนี้ในประเทศอุตสาหกรรมมากกว่าประเทศเกษตรกรรม
- มีการศึกษาพบว่า การใช้แป้งบริเวณอวัยวะเพศเป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ แต่อาจเป็นเพราะแป้งในสมัยก่อนมีสารปนเปื้อนก็ได้
หมายเหตุ : ปัจจัยเสี่ยง หมายถึง การมีโอกาสเกิดมะเร็งเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าการมีปัจจัยเสี่ยงหรือมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างจะต้องกลายเป็นโรคมะเร็งเสมอไป หรือการที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใด ๆ เลยก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีทางเป็นโรคมะเร็ง
อาการของมะเร็งรังไข่
ในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดง แต่ต่อมาจะมีอาการคล้ายของโรคของกระเพาะปัสสาวะและทางเดินอาหารทั่วไป
เช่น แน่นท้อง รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องอืดท้องเฟ้อ มีลมในท้อง เรอ รู้สึกอิ่มจนอึดอัดแม้จะรับประทานอาหารอ่อน ๆ คลื่นไส้ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่จนต้องรีบเข้าห้องน้ำ ปัสสาวะบ่อย ปวดท้องน้อย การขับถ่ายผิดปกติไปจากเดิม (เช่น ท้องผูก ท้องเสีย) อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผอมแห้ง น้ำหนักตัวลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดหลังตอนล่าง เจ็บในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเป็นอย่างต่อเนื่องและค่อย ๆ เป็นมากขึ้นทีละน้อย ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ในระยะที่โรคลุกลามแล้ว
ผู้ป่วยบางรายอาจมีประจำเดือนผิดปกติ เช่น ปวดประจำเดือน หรือมีเลือดออกกะปริดกะปรอย บางรายอาจมีอาการปวดท้องเฉียบพลันแบบถุงน้ำรังไข่ที่มีขั้วบิด
ในระยะท้ายของมะเร็งรังไข่ ผู้ป่วยจะมีอาการคลำได้ก้อนในท้องน้อย ปวดท้องน้อย มีน้ำในช่องท้องหรือท้องมาน (ท้องบวมหรือเสื้อผ้าคับท้องหรือเอว) และมีอาการของภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากมะเร็งลุกลามไปยังบริเวณข้างเคียงและ/หรือไปยังปอดและตับ (เช่น ดีซ่าน ตับโต ไอเรื้อรัง หายใจหอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก เป็นต้น)
ระยะของมะเร็งรังไข่
- ระยะที่ 1 แบ่งออกเป็นระยะ IA, IB และระยะ IC
- ระยะ IA เป็นระยะที่พบเซลล์มะเร็งในรังไข่ (Ovary) หรือท่อนำไข่ (Fallopian tube) เพียง 1 ข้าง
- ระยะ IB เป็นระยะที่พบเซลล์มะเร็งในรังไข่หรือท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง
- ระยะ IC เป็นระยะที่พบเซลล์มะเร็งในรังไข่หรือท่อนำไข่ 1 ข้าง หรือพบทั้ง 2 ข้าง ร่วมกับ (a) หากมะเร็งเป็นถุงน้ำและถุงน้ำได้แตกออก หรือ (b) พบเซลล์มะเร็งอยู่ที่ผิวด้านนอกของรังไข่หรือท่อนำไข่ หรือ (c) พบเซลล์มะเร็งที่เยื่อบุอุ้งเชิงกราน (Pelvic peritoneum)
- ระยะที่ 2 แบ่งออกเป็นระยะ IIA, IIB และระยะ IIC
- ระยะ IIA เป็นระยะที่พบมะเร็งในรังไข่หรือท่อนำไข่ 1 ข้าง หรือทั้ง 2 ข้าง และเซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังมดลูก (Uterus) และ/หรือท่อนำไข่ และ/หรือรังไข่อีกข้าง
- ระยะ IIB เป็นระยะที่พบมะเร็งในรังไข่หรือท่อนำไข่ 1 ข้าง หรือทั้ง 2 ข้าง และเซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังลำไส้ใหญ่ (Colon)
- ระยะ IIC เป็นระยะที่พบมะเร็งในเยื่อบุอุ้งเชิงกราน (Pelvic peritoneum) โดยที่มะเร็งไม่ได้แพร่กระจายมาจากส่วนอื่นของร่างกาย
- ระยะที่ 3 แบ่งออกเป็นระยะ IIIA, IIIB และระยะ IIIC
- ระยะ IIIA เป็นระยะที่พบมะเร็งในรังไข่หรือท่อนำไข่ 1 ข้าง หรือทั้ง 2 ข้าง และเซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองเฉพาะบริเวณด้านหน้าหรือด้านหลังของเยื่อบุช่องท้อง (Peritoneum) เท่านั้น หรือแพร่กระจายไปยังโอเมนตัม (Omentum) โดยที่เซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายมาส่วนนี้ยังมีขนาดเล็กมาก สามารถมองเห็นเฉพาะจากการส่องกล้อง และอาจแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงได้
- ระยะ IIIB เป็นระยะที่พบมะเร็งในรังไข่หรือท่อนำไข่ 1 ข้าง หรือทั้ง 2 ข้าง และมะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังโอเมนตัม (มะเร็งที่แพร่กระจายมาส่วนนี้ยังมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร และมะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหลังเยื่อบุช่องท้องได้)
- ระยะ IIIC เป็นระยะที่พบมะเร็งในรังไข่หรือท่อนำไข่ 1 ข้าง หรือทั้ง 2 ข้าง และมะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังขั้วลำไส้ (มะเร็งที่แพร่กระจายมาส่วนนี้ยังมีขนาดใหญ่กว่า 2 เซ
- นติเมตร และมะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหลังเยื่อบุช่องท้องหรือผิวของตับหรือม้ามได้)
- ระยะ IIIA เป็นระยะที่พบมะเร็งในรังไข่หรือท่อนำไข่ 1 ข้าง หรือทั้ง 2 ข้าง และเซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองเฉพาะบริเวณด้านหน้าหรือด้านหลังของเยื่อบุช่องท้อง (Peritoneum) เท่านั้น หรือแพร่กระจายไปยังโอเมนตัม (Omentum) โดยที่เซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายมาส่วนนี้ยังมีขนาดเล็กมาก สามารถมองเห็นเฉพาะจากการส่องกล้อง และอาจแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงได้
- ระยะที่ 4 เป็นระยะที่มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยแบ่งออกเป็นระยะ IVA และระยะ IVB
- ระยะ IVA เป็นระยะที่พบเซลล์มะเร็งในของเหลวซึ่งสร้างขึ้นรอบ ๆ ปอด
- ระยะ IVB เป็นระยะที่มะเร็งมีการแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดออกนอกช่องท้องไปยังอวัยวะหรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ ของร่างกาย ได้แก่ ปอด ตับ สมอง กระดูก และต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ
การวินิจฉัยมะเร็งรังไข่
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ได้จาก
- การซักประวัติและการตรวจร่างกาย
- การตรวจภายในช่องคลอด (Pelvic exam) การตรวจภายในจะช่วยตรวจหามะเร็งปากมดลูกได้ แต่จะไม่สามารถตรวจมะเร็งรังไข่ในระยะแรกได้ (มักจะตรวจพบมะเร็งรังไข่ในระยะท้ายของโรค ซึ่งมักจะคลำพบก้อนที่รังไข่) แต่การตรวจภายในก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องตรวจเป็นประจำ โดยมีคำแนะนำให้เริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุมากกว่า 18 ปี
- การตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็งที่สร้างจากเซลล์มะเร็งรังไข่ (CA 125 assay)
- การตรวจอัลตราซาวนด์ (Ultrasound exam)
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)
- การตรวจเพทสแกน (PET scan)
- การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
- การเอกซเรย์ทรวงอก (Chest x-ray)
- การใช้กล้องส่องเข้าช่องท้อง (Laparoscopy) ซึ่งแพทย์จะวางยาสลบ กรีดแผลประมาณ 1 เซนติเมตร แล้วสอดกล้องตัวเล็ก ๆ เข้าไปในช่องท้องเพื่อดูอวัยวะในช่องท้อง
- การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา (Biopsy) ในโรคที่เกี่ยวกับการมีก้อนเนื้อในรังไข่ แพทย์จะไม่ตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ก่อนให้การรักษาเหมือนในโรคอื่น ๆ เพราะอาจมีผลข้างเคียงจากการตัดชิ้นเนื้อได้สูง เช่น การเกิดเลือดออกในช่องท้อง ลำไส้ทะลุจากเข็มที่เจาะพลาดไปโดนลำไส้ และหากเป็นมะเร็งก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าสู่เยื่อบุช่องท้อง อีกทั้งเมื่อแพทย์ตรวจพบก้อนเนื้อในรังไข่ การรักษาหลักจะเป็นการผ่าตัดเสมอ ดังนั้น การจะวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ได้อย่างแน่นอน จึงทำได้จากการตรวจรังไข่ในขณะทำการผ่าตัดและจากการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อหลังการผ่าตัดแล้วส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
หลังจากวินิจฉัยโรคได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งหรือระยะของโรคเพื่อนำไปใช้ในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะผ่าตัดทางหน้าท้องเพื่อดูว่ามีการกระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่นหรือไม่ และจะตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา พร้อมกับตัดก้อนเนื้องอกและอวัยวะที่เป็นมะเร็งออกด้วย
การรักษามะเร็งรังไข่
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งรังไข่ แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัด (ผ่าตัดรังไข่ทั้งสองข้างร่วมกับผ่าตัดมดลูกและท่อนำไข่ทั้งสองข้าง เพราะเป็นอวัยวะที่โรคมะเร็งอาจลุกลามไปได้) และให้การรักษาต่อเนื่องด้วยการให้ยาเคมีบำบัดหรือร่วมกับยารักษาตรงเป้าเมื่อเป็นโรคที่เซลล์มะเร็งเป็นชนิดรุนแรงและ/หรือเมื่อโรคลุกลามแล้ว ส่วนการใช้รังสีรักษาอาจใช้ในกรณีที่โรคแพร่กระจายไปแล้วเพียงเพื่อช่วยบรรเทาอาการ (เช่น แพร่กระจายเข้ากระดูกและก่ออาการปวดกระดูก) แต่ยังอยู่ในระหว่างการทดลองทางคลินิก
- วิธีการรักษาโรคมะเร็งรังไข่ การรักษาโรคมะเร็งรังไข่มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระยะของโรค สภาพโดยรวมของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาจะประกอบไปด้วยแพทย์หลายแผนก เช่น สูตินรีแพทย์ แพทย์ทางรังสีวิทยา แพทย์ทางเคมีบำบัด ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้ประเมินถึงแนวทางการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละรายไป
- การผ่าตัด (Surgery) การผ่าตัดมะเร็งรังไข่มีอยู่หลายวิธี ได้แก่
- การผ่าตัดมดลูกและปากมดลูก (Hysterectomy) มีทั้งการผ่าตัดเฉพาะปากมดลูกออก (Subtotal hysterectomy) และการผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกออกทั้งหมด (Total hysterectomy) ถ้าผ่าตัดทางหน้าท้องจะเรียกว่า “Abdominal hysterectomy” ถ้าผ่าตัดทางช่องคลอดจะเรียกว่า “Vaginal hysterectomy” และถ้าผ่าตัดผ่านกล้องจะเรียกว่า “Laparoscopic hysterectomy”
- การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ในข้างที่เป็นมะเร็งออก (Unilateral salpingo-oophorectomy)
- การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ออกทั้งสองข้าง (Bilateral salpingo-oophorectomy)
- การผ่าตัดโอเมนตัมหรือเนื้อเยื่อที่บุช่องท้องออก (Omentectomy)
- การผ่าตัดเอาส่วนของต่อมน้ำเหลืองออกเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา (Lymph node biopsy)
- การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการใช้ยาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งหรือยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ในปัจจุบันแพทย์นิยมใช้ยาหลายตัวสลับกันเป็นระยะ เพราะได้ผลดีกว่าการใช้ยาเพียงตัวเดียว หลังจากกินยาหรือฉีดยาเคมีบำบัดเข้าทางหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อแล้ว ตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าทางกระแสเลือดและจับกับเซลล์มะเร็งที่อยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเรียกว่า “Systemic chemotherapy” แต่ในบางกรณีแพทย์อาจฉีดยาเคมีบำบัดเข้าทางช่องไขสันหลัง ในอวัยวะ หรือในช่องท้องเพื่อหวังผลในการทำลายเซลล์มะเร็งเฉพาะที่ ซึ่งเรียกว่า “Regional chemotherapy”
- การให้ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) เป็นการรักษาโดยการใช้ยาหรือสารอื่น ๆ ที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งและก่อให้เกิดอันตรายต่อเซลล์ปกติน้อยกว่ายาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา แต่ยานี้ค่อนข้างจะมีราคาแพงเกินกว่าที่ผู้ป่วยทั่วไปจะเข้าถึงได้ โดยยาที่นำมาใช้รักษามะเร็งรังไข่จะเป็นยาในกลุ่มโมโนโคลนอล แอนติบอดี (Monoclonal antibody) เช่น บีวาซิซูแมบ (Bevacizumab) และยาในกลุ่ม PARP inhibitors เช่น Olaparib และ Niraparib ที่ใช้ในการรักษามะเร็งรังไข่ระยะลุกลาม
- การใช้รังสีรักษา (Radiation therapy) เป็นการใช้รังสีเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งและทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง ซึ่งการใช้รังสีรักษานั้นมี 2 ประเภท คือ ประเภทที่ใช้เครื่องฉายรังสีจากภายนอกร่างกาย (External radiation therapy) ซึ่งเป็นที่นิยมกว่าอีกประเภท คือ การฝังแร่ในร่างกาย (Internal radiation therapy) ส่วนการนำมาใช้รักษามะเร็งรังไข่นั้นยังอยู่ในระหว่างการทดลองทางคลินิก
- การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการรักษาโรคมะเร็งโดยอาศัยหลักการทำงานของภูมิคุ้มกัน กล่าวคือ เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้นให้ทำการกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นออกจากร่างกาย เป็นการส่งเสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานเพื่อกำจัดหรือควบคุมเซลล์มะเร็งในร่างกายได้ แต่การนำมาใช้รักษามะเร็งรังไข่ยังอยู่ในระหว่างการทดลองทางคลินิก
- การผ่าตัด (Surgery) การผ่าตัดมะเร็งรังไข่มีอยู่หลายวิธี ได้แก่
- การรักษามะเร็งรังไข่ตามระยะของโรค
- ระยะที่ 1 หรือมะเร็งระยะแรก (Early cancer) การรักษาจะประกอบไปด้วย
- การผ่าตัดมดลูกและปากมดลูก (Hysterectomy), การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ออกทั้งสองข้าง (Bilateral salpingo-oophorectomy), การผ่าตัดโอเมนตัม (Omentectomy), การตัดเอาส่วนของต่อมน้ำเหลืองออกเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา (Lymph node biopsy) และอาจตามด้วยการให้ยาเคมีบำบัดภายหลังการผ่าตัดร่วมด้วย
- การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่เฉพาะข้างที่เป็นมะเร็งออก (Unilateral salpingo-oophorectomy) ในสตรีบางรายที่ยังต้องการมีบุตร และอาจตามด้วยการให้ยาเคมีบำบัดภายหลังการผ่าตัดร่วมด้วย
- ระยะที่ 2, 3 และ 4 หรือระยะลุกลาม (Advanced cancer) การรักษาจะประกอบไปด้วย
- การผ่าตัดมดลูกและปากมดลูก, การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ออกทั้งสองข้าง, การผ่าตัดโอเมนตัม, การตัดเอาส่วนของต่อมน้ำเหลืองออกเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา และตามด้วยการให้ยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือด (Intravenous chemotherapy) หรือทางปาก (Intraperitoneal chemotherapy) หรือตามด้วยการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) ได้แก่ Bevacizumab, Olaparib หรือ Niraparib
- การให้ยาเคมีบำบัดแล้วตามด้วยการผ่าตัดมดลูกและปากมดลูก, การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ออกทั้งสองข้าง และการผ่าตัดโอเมนตัม
- การให้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียวในรายที่ไม่สามารถผ่าตัดได้
- ส่วนการรักษาด้วยรังสีบำบัด (Radiation therapy), การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) กับผู้ป่วยระยะนี้ยังอยู่ในระหว่างการทดลองทางคลินิก
- ระยะที่ 1 หรือมะเร็งระยะแรก (Early cancer) การรักษาจะประกอบไปด้วย
- การรักษามะเร็งรังไข่ชนิด Germ cell tumors และ Stromal cell tumors สำหรับการรักษามะเร็งรังไข่ชนิด Germ cell tumors นั้น การรักษาหลักจะประกอบด้วย การผ่าตัด (ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 วิธี คือ การผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกออกทั้งหมด การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ในข้างที่เป็นมะเร็งออก การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ออกทั้งสองข้าง และการผ่าตัดเพื่อลดขนาดเนื้องอก), การสังเกตอาการ (Observation), การให้ยาเคมีบำบัด และการใช้รังสีรักษา ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค ส่วนมะเร็งรังไข่ชนิด Stromal cell tumors การรักษาส่วนใหญ่จะทำได้โดยการผ่าตัดรังไข่ข้างที่เป็นมะเร็งออก แต่ถ้ามีการลุกลามออกนอกรังไข่ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
- การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งรังไข่ การดูแลจะเหมือนกับโรคมะเร็งอื่น ๆ ซึ่งจะขอกล่าวถึงต่อไปอย่างละเอียดในเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง, การดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง, การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
- ผลการรักษามะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งรังไข่ชนิด Germ cell tumors เป็นโรคที่มีความรุนแรงต่ำถึงปานกลาง เพราะโรคมักตอบสนองได้ดีต่อยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา แต่โรคมะเร็งรังไข่ชนิด Epithelial cell tumors ที่พบได้เป็นส่วนใหญ่นั้นจัดเป็นโรคที่ค่อนข้างรุนแรง เพราะผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ในระยะที่มะเร็งลุกลามแล้ว ดังนั้น การผ่าตัดก้อนมะเร็งให้หมดไปจึงเป็นไปได้ยาก และเซลล์มะเร็งมักดื้อต่อยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา การรักษาโดยรวมจึงได้ผลไม่สู้ดี แต่ถ้าตรวจพบในระยะแรกก็มักจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ในโรคระยะที่ 1 คือ ประมาณ 60-70%, ระยะที่ 2 ประมาณ 30-60%, ระยะที่ 3 ประมาณ 0-50% และระยะที่ 4 ประมาณ 0-20%
- ปัจจัยที่มีผลต่อการรักษาและการพยากรณ์โรค (Prognosis) จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่
- ระยะของโรคมะเร็งรังไข่
- ชนิดและขนาดของก้อนมะเร็ง
- อายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
- เป็นการวินิจฉัยครั้งแรกหรือเป็นมะเร็งที่กลับมาเป็นซ้ำ
- การติดตามผลการรักษามะเร็งรังไข่ หลังการรักษาข้างต้น ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจติดตามเป็นระยะเพื่อสอบถามอาการ, ตรวจร่างกาย, ตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็งที่สัมพันธ์กับมะเร็งรังไข่, ตรวจระดับ AFP และ HCG สำหรับมะเร็งรังไข่ชนิด Germ cell tumors, ตรวจระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน เทสโทสเตอโรนในเลือดสำหรับมะเร็งรังไข่ชนิด Stromal cell tumors, ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูว่ามีการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งหรือไม่ รวมทั้งดูผลข้างเคียงจากการรักษาต่าง ๆ นอกเหนือจากการตรวจติดตามแล้วผู้ป่วยจะต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง งดการสูบบุหรี่ ออกกำลังกายเป็นประจำ และรับประ
- ทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างถูกสุขลักษณะด้วย
ผลข้างเคียงของการรักษามะเร็งรังไข่
ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งรังไข่ในแต่ละวิธีจะแตกต่างกันไป และผลข้างเคียงจะมีสูงขึ้นเมื่อใช้หลาย ๆ วิธีรักษาร่วมกัน และ/หรือเมื่อผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และมีโรคประจำตัว (เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคภูมิต้านตนเอง)
- การผ่าตัด ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ การสูญเสียอวัยวะ แผลติดเชื้อ และการขาดฮอร์โมนเพศจากการผ่าตัดรังไข่เมื่อผู้ป่วยยังไม่หมดประจำเดือน ซึ่งจะส่งผลทำให้ช่องคลอดแห้ง ร้อนตามตัว เกิดอาการของคนวัยทอง และเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนและกระดูกหักได้สูงขึ้น
- ยาเคมีบำบัด ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด การมีเลือดออกง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และการติดเชื้อได้ง่ายจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
- รังสีรักษา ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ปัสสาวะลำบาก และมีผลข้างเคียงต่อผิวหนังและต่อเนื้อเยื่อเฉพาะส่วนที่ได้รับรังสี
- ยารักษาตรงเป้า ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ ทำให้เกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุทำให้ผนังลำไส้ทะลุได้ ฯลฯ
การป้องกันมะเร็งรังไข่
- ในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางเฉพาะสำหรับการป้องกันโรคมะเร็งรังไข่ เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ และยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งรังไข่ที่มีประสิทธิภาพในการตรวจให้พบโรคตั้งแต่ในระยะที่ยังไม่มีอาการแสดง ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ การรีบไปพบสูตินรีแพทย์เสมอเมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น (โดยเฉพาะอาการผิดปกติทางทางปัสสาวะ ทางอุจจาระ และ/หรือทางประจำเดือน และ/หรือคลำได้ก้อนเนื้อในช่องท้องน้อย) หรือมีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวไปแล้ว (ในหัวข้อสาเหตุ) เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
- หลังอายุ 40 ปี ผู้หญิงทุกคนควรได้รับการตรวจภายในและตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง พร้อมกับการตรวจมะเร็งปากมดลูก ซึ่งการตรวจอาจช่วยให้พบมะเร็งรังไข่ตั้งแต่ในระยะแรกได้ (ผู้ที่มีความเสี่ยงควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย)
- สำหรับในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ที่สำคัญที่สุด คือ การมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะเมื่อพบโรคเมื่ออายุต่ำกว่า 50 ปี ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการป้องกันการเกิดโรคนี้ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ได้แก่
- การกินยาเม็ดคุมกำเนิด โดยให้กินอย่างต่อเนื่องให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะไม่เกิดผลเสียต่อร่างกาย
- การผ่าตัดเอาท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างออก เพราะแพทย์เชื่อว่า เซลล์มะเร็งจะเกิดจากท่อนำไข่แล้วมาเจริญเติบโตที่รังไข่
- การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ออกทั้ง 2 ข้าง
- เมื่อมีบุตรครบตามที่ต้องการแล้วหรือมีอายุมากกว่า 40-50 ปี และมีโรคอื่นในอุ้งเชิงกรานที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น การมีเนื้องอกในมดลูก แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดท่อนำไข่ และ/หรือรังไข่ออกร่วมไปด้วยเลยเพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งรังไข่
- การเฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นระยะ ๆ เพื่อสอบถามอาการ ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจภายใน ตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของรังไข่ ร่วมกับการตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็งที่สัมพันธ์กับมะเร็งรังไข่ (ความถี่ในการตรวจเฝ้าระวังขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น อาจนัดตรวจทุก 3-6 เดือน เป็นต้น) เนื่องจากการตรวจพบมะเร็งรังไข่ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกนั้นมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการรักษาสูงขึ้นจนสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (จากการศึกษาพบว่า การตรวจพบมะเร็งรังไข่ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกสามารถทำให้ผู้ป่วย 9 ใน 10 มีชีวิตอยู่ได้นานกว่า 5 ปีหลังการตรวจพบครั้งแรก)
- หมั่นสังเกตสิ่งผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย หากมีอาการผิดปกติดังกล่าวเกิดขึ้นควรไปพบแพทย์เสมอ
- วิธีการอื่น ๆ ที่อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ได้ คือ
- การกินยาเม็ดคุมกำเนิดต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะมีการศึกษาพบว่าผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่กินนานเกิน 5 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งรังไข่เพียงครึ่งหนึ่งของผู้หญิงที่ไม่เคยใช้ยาคุมกำเนิด อย่างไรก็ดี การใช้ยาคุมกำเนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้
- การมีบุตรก่อนอายุ 30 ปี และเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองเป็นเวลานาน
- การทำหมันหลังคลอดโดยการตัดท่อนำไข่หรือการตัดมดลูก
- พยายามลดความอ้วนอย่างถูกวิธี หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมัน ๆ (เพราะจากการศึกษาของสมาคมโรคหัวใจพบว่า คนอ้วนจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งรังไข่มากกว่าคนผอมถึงร้อยละ 50)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 1162.
- National Cancer Institute. “Ovarian, Fallopian Tube, and Primary Peritoneal Cancer”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.cancer.gov. [02 เม.ย. 2017].
- สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์. “มะเร็งรังไข่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.chulacancer.net. [02 เม.ย. 2017].
- หาหมอดอทคอม. “มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [03 เม.ย. 2017].
- Siamhealth. “มะเร็งลำรังไข่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [04 เม.ย. 2017].
- ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “โรคมะเร็งรังไข่”. (รศ.นพ.วีรศักดิ์ วงศ์ถิรพร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [04 เม.ย. 2017].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)