มะเร็งผิวหนัง
มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer หรือ Cutaneous carcinoma) เป็นโรคมะเร็งที่พบได้สูงในคนผิวขาว แต่พบได้เรื่อย ๆ ไม่ถึงกับบ่อยมากในคนไทย (โรคมะเร็งผิวหนังไม่อยู่ใน 10 ลำดับของมะเร็งที่พบบ่อยของทั้งหญิงและชายไทย ซึ่งอาจเป็นเพราะผิวหนังของคนไทยมีเม็ดสีเมลานินที่ช่วยป้องกันอันตรายจากแสงแดด) และพบได้มากขึ้นตามอายุ มักพบได้บ่อยในคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุ (ส่วนมากจะพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป) ทั้งนี้โอกาสเกิดในผู้ชายและผู้หญิงมีใกล้เคียงกัน หรือพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย
มะเร็งผิวหนังสามารถพบเกิดได้กับผิวหนังทั่วตัว แต่จะพบได้มากบริเวณที่ถูกแสงแดด โดยเฉพาะบริเวณศีรษะที่พบได้ประมาณ 80-90% และที่ใบหน้าพบได้ประมาณ 65% (ได้แก่ ตา หู จมูก) ส่วนอื่น ๆ ที่พบได้รองลงมา คือ คอ แขน มือ แต่ไม่ว่าจะเกิดที่อวัยวะส่วนใด ถ้าตรวจพบได้ตั้งแต่แรกและกำจัดเซลล์ที่ผิดปกติออกไปได้หมดก็สามารถหายขาดจากโรคนี้ได้
จุดเด่นของโรคมะเร็งผิวหนัง คือ เราสามารถมองเห็นได้ง่าย ทำให้สังเกตเห็นความผิดปกติได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งการลุกลามก็มักเป็นไปอย่างช้า ๆ ผู้ป่วยจึงมักได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที (ถ้าไม่เป็นคนไร้ความสังเกตเลยทีเดียวหรือเป็นคนประเภทไม่สนใจว่าจะมีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับตัวเอง) ซึ่งผลการรักษาโดยส่วนใหญ่แล้วจะได้ผลดีและหายขาดถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เริ่มแรก โดยการรักษาทั่วไปจะเป็นการผ่าตัดเอามะเร็งผิวหนังออกให้หมด แต่ในบางครั้งมะเร็งที่ถูกปล่อยไว้จนมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะผ่าตัดออกได้หมด อาจต้องรักษาโดยการใช้รังสีรักษา หรือถ้ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปส่วนอื่นการรักษาจะต้องให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
ผิวหนังแบ่งออกเป็น 2 ชั้นใหญ่ คือ ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ที่อยู่นอกสุด และชั้นหนังแท้ (Dermis) ที่อยู่ด้านใน ซึ่งมะเร็งผิวหนังจะเกิดขึ้นในชั้นหนังกำพร้ากับเนื้อเยื่อ 3 ชนิด คือ
- Squamous cells เป็นเนื้อเยื่อที่มีลักษณะแบนที่อยู่ส่วนบนสุดของชั้นหนังกำพร้า
- Basal cells เป็นเนื้อเยื่อที่มีลักษณะกลมที่อยู่ใต้ Squamous cells
- Melanocytes อยู่ในส่วนล่างของชั้นหนังกำพร้า ทำหน้าที่ผลิตสารเมลานินซึ่งเป็นสารสร้างสีผิว
ชนิดของโรคมะเร็งผิวหนัง
โรคมะเร็งผิวหนังมีอยู่หลายชนิด ส่วนใหญ่มักเจริญขึ้นอย่างช้า ๆ และลุกลามเฉพาะที่ แต่มีบางชนิดที่อาจจะแพร่กระจายไปทางกระแสเลือดและต่อมน้ำเหลืองได้ ซึ่งก็พบได้น้อย โดยชนิดที่พบได้บ่อย คือ ชนิดคาร์ซิโนมา (Carcinoma) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ โรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา และโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา ส่วนโรคมะเร็งผิวหนังชนิดอื่น ๆ นั้นพบได้เพียงประปราย ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงโรคมะเร็งผิวหนัง โดยทั่วไปจะหมายถึงโรคมะเร็งผิวหนังทั้ง 2 กลุ่มนี้เท่านั้น ได้แก่
- โรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา (Non melanoma skin cancer) เป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับเนื้อเยื่อบุผิว (Epithelium) ของผิวหนัง ส่วนใหญ่จะเป็นเฉพาะที่ ไม่แพร่กระจาย และลุกลามช้า โอกาสที่จะแพร่กระจายไปส่วนอื่นมีน้อย มะเร็งผิวหนังชนิดนี้ที่พบได้บ่อยจะมีอยู่ 2 ชนิด คือ
- ชนิดเบซาลเซลล์ หรือมะเร็งเซลล์หนังกำพร้าชั้นฐาน หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “บีซีซี” (Basal cell carcinoma – BCC) เป็นโรคมะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อยที่สุด จัดเป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงต่ำและมักไม่มีการแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ดังนั้นจึงมักไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต (เพียงแต่จะดูไม่สวยงาม) แต่ก็อาจลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองได้ มะเร็งชนิดนี้มักพบในคนอายุ 40-50 ปีขึ้นไป (อายุน้อยกว่านี้ก็พบได้เช่นกัน) โดยเฉพาะในคนผิวขาว และพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย
- ชนิดสะความัสเซลล์ หรือมะเร็งเซลล์หนังกำพร้าชั้นตื้น หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “เอสซีซี” (Squamous cell carcinoma – SCC) เป็นโรคมะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อยรองมา แต่จะมีความรุนแรงมากกว่าชนิดเบซาลเซลล์ จัดเป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงปานกลาง เพราะสามารถลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองและแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้สูงกว่าชนิดเบซาลเซลล์เมื่อรอยโรคมีขนาดใหญ่ หรือเมื่อเป็นเซลล์มะเร็งที่เซลล์มีการแบ่งตัวสูง ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักจะแพร่กระจายไปสู่ปอด หากพบได้เร็วการรักษาจะหายขาด แต่หากไม่ได้รับการรักษาก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ สามารถพบได้ในคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป (อายุน้อยกว่านี้ก็พบได้เช่นกัน) โดยเฉพาะในคนผิวขาว ส่วนผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเกิดเท่ากัน
- โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา หรือมะเร็งเซลล์สร้างเม็ดสี (Melanoma หรือ Malignant melanoma) เป็นมะเร็งที่เกิดกับเซลล์สร้างเม็ดสีของผิวหนังที่เรียกว่า “เมลาโนไซต์” (Melanocyte) เป็นชนิดที่พบได้น้อยที่สุดและพบได้ไม่บ่อย แต่มีความรุนแรงสูง เพราะมีโอกาสแพร่กระจายไปเนื้อเยื่อข้างเคียงและที่อื่น ๆ ได้มากกว่าชนิดแรก โดยโรคจะลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองและแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้สูงและรวดเร็ว ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักจะไปยังปอด กระดูก และสมอง หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ภายใน 1 ปี สามารถพบได้ในเด็กโต (ในคนอายุต่ำกว่า 20 ปี พบมะเร็งชนิดนี้ประมาณ 1% ของมะเร็งชนิดนี้ทั้งหมด) และจะพบได้สูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นจนพบได้สูงสุดในช่วงอายุประมาณ 45-65 ปี ต่อจากนั้นจะพบได้น้อยลง ผู้ชายพบได้สูงกว่าผู้หญิงเล็กน้อย มักพบได้มากในคนที่เคยมีผิวไหม้จากแสงแดด โดยเฉพาะคนผิวขาว
ทั้งนี้ ในสหราชอาณาจักรเมื่อปี ค.ศ.2010 มีผู้ป่วยประมาณ 100,000 รายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา และมีจำนวน 12,818 รายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งผิวหนังจำนวน 2,746 ราย จากชนิดเมลาโนมา 2,203 ราย และจากชนิดไม่ใช่เมลาโนมา 546 ราย ส่วนในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.2008 มีผู้ป่วยจำนวน 59,695 รายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา และมีผู้ป่วยจำนวน 8,623 รายที่เสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าว
สาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนัง
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังทั้ง 2 กลุ่ม แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยง คือ
- การสัมผัสแสงแดดหรือรังสีอัลตราไวโอตทั้ง UVA และ UVB มากเกินเป็นเวลานานในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะแสงแดดจัด ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุด เช่น ในผู้ที่เล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ชอบอาบแดด หรือทำงานกลางแดด
- เชื้อชาติคนผิวขาว ผิวหนังบาง ผมสีบลอนด์หรือแดง ตาสีฟ้า ผิวไหม้แดดง่าย จะมีโอกาสเสี่ยงสูง เพราะมีเม็ดสีที่ผิวหนังน้อย ความสามารถในการป้องกันเซลล์ผิวหนังจากแสงอัลตราไวโอเลตจึงมีน้อยกว่าคนสีผิวคล้ำ
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง
- การได้รับสารพิษหรือสารเคมีก่อมะเร็งเรื้อรัง เช่น การสัมผัสสารหนูที่ปนอยู่ในน้ำ (เป็นสารพิษที่เมื่อร่างกายได้รับอย่างต่อเนื่องจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บจนอาจกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็ง หรือเซลล์ถูกทำลายจนเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้) น้ำมันดิน พารัฟฟิน เรเดียม เป็นต้น และยังรวมถึงการกินสารหนูที่ผสมอยู่ในยาจีน ยาไทย ยาหม้อ และยาลูกกลอน
- ผิวหนังสัมผัสกับรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดไอออนไนซ์ (Ionizing radiation) ในปริมาณสูงเรื้อรัง ซึ่งรังสีชนิดนี้จะทำให้เซลล์เสียหาย บาดเจ็บ และตายจากการแตกตัวของโมเลกุลในเซลล์เป็นประจุบวกและลบ เช่น รังสีเอกซ์ รังสีรักษา (ฉายรังสี) ที่ใช้ในการรักษาโรค
- การอักเสบหรือการบาดเจ็บของผิวหนังเรื้อรังจากสาเหตุต่าง ๆ (อาจทำให้เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงกลายพันธุ์ไปเป็นเซลล์มะเร็งได้) เช่น โรคผิวหนังเรื้อรัง, โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema), การสัก, แผลเป็นจากแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก, แผลเรื้อรังต่าง ๆ (เช่น แผลเรื้อรังจากสารเคมี), การระคายเคืองจากไม้ทิ่มบริเวณริมฝีปากในคนกินหมากหรือการคาบบุหรี่เป็นประจำ, บริเวณอวัยวะเพศโดยเฉพาะเพศชายที่มีการอักเสบบ่อย ๆ (เช่น หนังหุ้มอวัยวะเปิดไม่หมด) ซึ่งจะทำให้เกิดมะเร็งของอวัยวะภายในและมะเร็งผิวหนังได้ในเวลาต่อมา
- การมี Actinic keratosis ซึ่งเป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง แต่มีโอกาสเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งชนิดสะความัสเซลล์ (Squamous cell carcinoma) ได้
- การกลายพันธุ์ของไฝ ซึ่งสังเกตได้จากไฝจะเจริญเติบโตลงลึกในเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนัง อาจแตกเป็นแผล อาจมีเลือดออก และมักโตเร็ว
- การเป็นโรคผิวเผือก (Albinism) ซึ่งมีความผิดปกติของการสร้างเม็ดสี จึงมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งผิวหนังได้ง่าย
- การมีภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายบกพร่อง เช่น เป็นโรคติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ การได้รับยากดภูมิคุ้มกันหลังการปลูกถ่ายไต เป็นต้น
- เกิดจากการมีพันธุกรรมผิดปกติบางชนิด เช่น โรค Xeroderma pigmentosum ซึ่งเป็นโรคที่เซลล์ผิวหนังมีความไวต่อแสงแดดมากผิดปกติ จึงทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตามก็พบโรคทางพันธุกรรมเหล่านี้ได้น้อยมาก ๆ
- การสูบบุหรี่เป็นเวลานาน ๆ
- สำหรับมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma) อาจเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสาเหตุหรือเกิดจากไฝที่อยู่บริเวณที่มีการเสียดสีเกิดเป็นแผล มีเลือดออก หรือมีการระคายเคือง เนื่องจากการรักษาแผลที่ไม่ถูกต้อง เช่น การใช้ธูปจี้ การใช้ปูนป้าย การใช้น้ำกรดหรือด่าง ฯลฯ ในการจี้ไฝทำให้เกิดเป็นแผลเรื้อรังและมีเลือดออก
อาการของโรคมะเร็งผิวหนัง
อาการที่พบได้บ่อยของโรคผิวหนัง คือ การมีตุ่มหรือก้อนเนื้อ หรือแผลเรื้อรังที่ผิวหนัง ซึ่งสามารถพบได้ในทุกบริเวณรวมทั้งหนังศีรษะ ฝ่ามือ และฝ่าเท้าหรือไฝต่าง ๆ ที่โตเร็ว อาจเจ็บ แตกเป็นแผล มีเลือดออกเรื้อรัง โดยอาจพบเพียงก้อนเนื้อเดียวหรือหลายก้อนพร้อม ๆ กันก็ได้
เมื่อโรคลุกลาม อาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงกับผิวหนังส่วนที่เป็นโรคโตจนคลำได้ เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่หน้าหูหรือลำคอโต เมื่อมีรอยโรคที่หนังศีรษะหรือใบหน้า, ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้โต เมื่อมีรอยโรคที่มือหรือแขน หรือต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต เมื่อมีรอยโรคที่เท้าหรือขา เป็นต้น
- โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเบซาลเซลล์ (Basal cell carcinoma) มีลักษณะเป็นตุ่มหรือก้อนเนื้อนูนใสขนาดเล็ก ๆ (เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-20 มิลลิเมตร) ขอบม้วนนูน สีคล้ายขี้ผึ้งหรือไข่มุก มีเส้นเลือดฝอยขยายเล็ก ๆ บนพื้นผิว อาจแตกเป็นแผล มีเลือดออกง่าย อาจมีอาการเจ็บเล็กน้อย ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ อาจลามกว้างขึ้นหรือเป็นลึกจนกินถึงกระดูกได้ แต่ก็ยังเป็นเฉพาะที่ไม่แพร่กระจายไปบริเวณอื่น ซึ่งมักพบที่ใบหน้า หู คอ บางรายอาจมีอาการเป็นปื้นแบนราบแข็งติดกับผิวหนัง สีเดียวกับสีผิวหรือสีน้ำตาล ซึ่งมักพบที่หน้าอกหรือหลัง
- โรคมะเร็งผิวหนังชนิดสะความัสเซลล์ (Squamous cell carcinoma) มีลักษณะเป็นตุ่มหรือก้อนเนื้องอกนูนแดงลักษณะหยุ่น ๆ ผิวขรุขระ อาจแตกเป็นแผล เลือดออกง่าย มีอาการเจ็บ หรืออาจมีลักษณะเป็นปื้นแบนราบ ผิวเป็นขุย หรือตกสะเก็ด มักพบที่ใบหน้า ริมฝีปาก หู คอ มือ หรือแขน
- โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma) มีลักษณะเป็นไฝ ขี้แมลงวัน หรือจุดดำบนผิวหนังที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ เช่น มีสีคล้ำมากขึ้น หรือบางจุดในเม็ดไฝมีสีแตกต่างจากจุดอื่น มีอาการปวดหรือคัน หรือลอกมีเกล็ดขุย มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหล โดยทั่วไปจะกินพื้นที่แบบไม่สมดุล มักมีขนาดโตมากกว่า 6 มิลลิเมตร มีการกระจายของเม็ดสีไปรอบ ๆ เม็ดไฝ ไฝกลายเป็นแผลหรือมีเลือดออก หรือกลายเป็นก้อนแข็ง ผิวหยาบ ในผู้ชายมักพบขึ้นที่บริเวณลำตัว ศีรษะ และลำคอ ส่วนในผู้หญิงมักพบที่แขนและขา
ระยะของโรคมะเร็งผิวหนัง
โรคมะเร็งผิวหนังมี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่น ๆ แต่จะแบ่งตามชนิดของเซลล์มะเร็งด้วย ดังนี้
- ระยะของโรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา
- ระยะที่ 1 รอยโรคมีขนาดโตไม่เกิน 2 เซนติเมตร (อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ภายหลังการรักษา คือ ประมาณ 90-100%)
- ระยะที่ 2 รอยโรคมีขนาดโตเกิน 2 เซนติเมตร หรือมีขนาดใดก็ได้แต่เป็นเซลล์มะเร็งชนิดที่มีการแบ่งตัวสูงหรือลุกลามลงลึกใต้ผิวหนัง (อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ภายหลังการรักษา คือ ประมาณ 70-80%)
- ระยะที่ 3 โรคลุกลามเข้าเนื้อเยื่ออื่นที่อยู่ติดผิวหนัง หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงเพียง 1 ต่อมและต่อมมีขนาดโตไม่เกิน 3 เซนติเมตร (อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ภายหลังการรักษา คือ ประมาณ 50%)
- ระยะที่ 4 รอยโรคลุกลามเข้ากระดูก หรือเส้นประสาท หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองมากกว่า 1 ต่อม หรือต่อมน้ำเหลืองมากกว่า 3 เซนติเมตร หรือโรคแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักแพร่กระจายเข้าสู่ปอด (อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ภายหลังการรักษา คือ ประมาณ 0-30%)
- ระยะของโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา ซึ่งบางระยะของโรคยังแบ่งย่อยออกไปได้อีก แต่มักใช้สำหรับแพทย์เพื่อใช้ในการพิจารณาวิธีรักษาและเพื่อการศึกษา
- ระยะที่ 1 รอยโรคมีขนาดโตไม่เกิน 2 มิลลิเมตร (อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ภายหลังการรักษา คือ ประมาณ 75-80%)
- ระยะที่ 2 รอยโรคมีขนาดโตมากกว่า 2 มิลลิเมตร (อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ภายหลังการรักษา คือ ประมาณ 40-70%)
- ระยะที่ 3 โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง (อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ภายหลังการรักษา คือ ประมาณ 30-40%)
- ระยะที่ 4 โรคแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักจะแพร่กระจายเข้าสู่ปอด กระดูก และสมอง (อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ภายหลังการรักษา คือ ประมาณ 0-10%)
ส่วนความรุนแรงของโรคมะเร็งผิวหนังจะขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งผิวหนัง (ชนิดเมลาโนมาจะรุนแรงกว่าชนิดสะความัสเซลล์ ส่วนชนิดเบซาลเซลล์จะรุนแรงน้อยสุด), ระยะของโรค (ดังที่กล่าวไปในหัวข้อที่แล้ว), ขนาดและตำแหน่งที่เกิดโรค (ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่สามารถผ่าตัดรอยโรคออกได้หมด ความรุนแรงของโรคจะน้อยกว่าเมื่ออยู่ในตำแหน่งที่ผ่าตัดได้ไม่หมด หรือผ่าตัดไม่ได้) รวมถึงอายุและสุขภาพของผู้ป่วย (ถ้าผ่าตัดไม่ได้ จากอายุและ/หรือจากสุขภาพ ความรุนแรงของโรคก็จะสูงขึ้น)
การวินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนัง
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนังได้จากประวัติการได้รับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ของผู้ป่วยดังที่กล่าวมา การตรวจลักษณะของรอยโรค สี ขนาด และรูปร่างของผิวที่ผิดปกติ การตรวจคลำต่อมน้ำเหลือง ส่วนการตรวจวินิจฉัยที่ให้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรค (ก้อนเนื้อ แผล หรือไฝ) เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งอาจตัดบางส่วนหรือตัดทั้งก้อนก็ได้
นอกจากนี้ อาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วยเพื่อจัดระยะของโรคและประเมินสุขภาพของผู้ป่วย เช่น การตรวจเอกซเรย์ภาพปอดเพื่อดูการแพร่กระจายของโรคเข้าสู่ปอด การตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวนด์เพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็งสู่ตับ การตรวจซีบีซีเพื่อดูการทำงานของไขกระดูก ตับ และของไต เป็นต้น แต่ทั้งนี้การตรวจเพิ่มเติมต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็ง ขนาดของรอยโรค การมีต่อมน้ำเหลืองโต และดุลยพินิจของแพทย์
การตรวจมะเร็งผิวหนังแรกเริ่มด้วยตนเอง
เนื่องจากการรักษามะเร็งผิวหนังจะได้ผลดีและหายขาดเมื่อตรวจพบตั้งแต่แรกเริ่ม ดังนั้นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวไปควรสำรวจร่างกายของตนเองให้ทั่วเป็นระยะ ซึ่งจะต้องใช้กระจกตั้งและกระจกมือช่วย โดยมีขั้นตอนการตรวจดังนี้
- ให้ยืนหน้ากระจกแล้วส่องข้างหน้า ข้างหลัง ด้านข้างทั้งซ้ายและขวา และยกแขนขึ้น
- ตรวจดูที่แขน รักแร้ มือ หลังมือ และข้อศอก
- ตรวจดูที่ต้นขาด้านหน้าและหลัง น่อง หน้าแข้ง เข่า หลังเท้า และซอกนิ้ว
- ตรวจดูที่คอด้านหน้าและด้านหลัง หนังศีรษะ และไรผม
- ตรวจดูที่หลัง
ลักษณะที่ทำให้สงสัยว่าเป็นมะเร็งผิวหนัง
- รอยโรคที่เป็นอยู่เดิมมีรูปร่างเปลี่ยนไป เช่น ไฝที่เป็นอยู่เดิมมีลักษณะเปลี่ยนไป คือ ลักษณะของไฝสองข้างไม่เหมือนกัน, ขอบของไฝไม่เรียบ, สีของไฝไม่สม่ำเสมอ และไฝมีขนาดโตมากกว่า 6 มิลลิเมตร (อาจสังเกตจากการใช้หลัก ABCDEs ดังรูป)
- รอยโรคมีอาการปวดหรือคัน แตกเป็นแผล และมีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออก
- มีรอยโรคเกิดขึ้นใหม่และไม่หายใน 4-6 สัปดาห์
- เป็นแผลเรื้อรังไม่หายภายใน 4 สัปดาห์
วิธีรักษาโรคมะเร็งผิวหนัง
แนวทางการรักษาโรคมะเร็งผิวหนังทุกชนิดจะคล้ายคลึงกัน คือ การรักษาด้วยการผ่าตัดเอารอยโรคออกไปให้หมด ในรายที่พบระยะแรกและรอยโรคมีขนาดเล็กอาจจี้ด้วยความเย็น หรืออาจใช้วิธีขูดออกร่วมกับการจี้ด้วยไฟฟ้าหรือด้วยไนโตรเจนเหลว ถ้าเป็นส่วนผิวอาจใช้แสงเลเซอร์รักษา ถ้าเป็นที่หนังตา ติ่งหู หรือปลายจมูกอาจใช้รังสีรักษา (ฉายรังสี) เป็นต้น ส่วนในรายที่เป็นบริเวณกว้างหรืออยู่ในที่ที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือมะเร็งแพร่กระจายไปส่วนอื่นหรือเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma) ที่มีการแพร่กระจายไปแล้ว แพทย์จะให้รักษาด้วยรังสีรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัด ซึ่งผลการรักษาส่วนใหญ่มักจะได้ผลดีและหายขาดได้
- การผ่าตัดมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัดด้วยวิธี Mohs micrographic surgery (MMS) ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ได้รับความนิยมและได้ผลดีถึง 90-95% (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อถัดไป), การผ่าตัดปกติ (Simple excision), การใช้มีดโกนผ่าเป็นชั้นบาง ๆ (Shave excision), การขูดออกโดยใช้เครื่องมือขูด (Curettage) ร่วมกับการจี้ด้วยไฟฟ้า (Electrodesiccation), การจี้ด้วยความเย็น (Cryosurgery), การใช้แสงเลเซอร์ในการผ่าตัด (Laser surgery) ซึ่งการจะเลือกใช้วิธีการผ่าตัดใดนั้นแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นราย ๆ ไป
- ในกรณีที่โรคแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง โดยเฉพาะมะเร็งชนิดเมลาโนมา (Melanoma) การรักษาจำเป็นต้องทำการผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง (Sentinel lymph node biopsy) ออกไป
- ส่วนทางเลือกในการรักษาอื่น ๆ เช่น การรักษาด้วย Dermabrasion (เป็นการเอาผิวหนังชั้นนอกออกโดยใช้ล้อหมุน), การรักษาด้วย Photodynamic therapy (เป็นการฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำร่วมกับแสงเลเซอร์ซึ่งจะทำให้ยาออกฤทธิ์เฉพาะที่มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา) ส่วนการให้ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) ยังคงอยู่ในขั้นตอนการศึกษา
- การผ่าตัดหรือการจี้ไฟฟ้านั้นเป็นการผ่าตัดเล็กที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือซับซ้อนและไม่มีอาการเจ็บแต่อย่างใด เพราะแพทย์จะใช้วิธีฉีดยาชาเฉพาะที่ให้ ไม่ต้องดมยาสลบ แผลผ่าตัดหรือจี้จะหายเป็นปกติภายใน 7 วัน โรคก็จะหายขาดได้ ยกเว้นในรายที่เป็นบริเวณกว้างที่อาจต้องทำการปลูกถ่ายผิวหนัง โดยเอาผิวหนังบริเวณอื่นมาปะบริเวณที่แหว่งไป
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง
การดูแลตนเองจะเหมือนกับโรคมะเร็งอื่น ๆ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปในเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง, การดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง, การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
การผ่าตัดรักษามะเร็งผิวหนังด้วยวิธี MMS
การผ่าตัด Mohs micrographic surgery (MMS) เป็นการผ่าตัดเอาเฉพาะมะเร็งผิวหนังออกไปได้หมด ถึงแม้จะไม่ทราบขอบเขตของมะเร็งที่แน่ชัด และทำให้มีการสูญเสียเนื้อเยื่อปกติที่อยู่ข้างเคียงน้อยที่สุด เป็นวิธีการผ่าตัดที่ได้ผลดีมากถึง 90-95% ซึ่งแพทย์จะทำการผ่าตัดมะเร็งออกทีละชั้นเป็นชั้นบาง ๆ และจี้ด้วยไฟฟ้าเพื่อห้ามเลือดก่อนจะปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ แล้วจึงนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูว่าตำแหน่งใดที่ยังมีมะเร็งหลงเหลืออยู่ ซึ่งผู้ป่วยจะนั่งรอผลการตรวจชิ้นเนื้อประมาณ 2 ชั่วโมง ถ้ายังตรวจพบเซลล์มะเร็ง แพทย์จะกลับไปผ่าตัดซ้ำด้วยวิธีเดิมในตำแหน่งที่ยังมีมะเร็งหลงเหลืออยู่จนกว่าจะไม่พบเซลล์มะเร็งผิวหนังอยู่ที่บริเวณรอยโรคนั้น (ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยอาจต้องทำการผ่าตัดซ้ำด้วยวิธีการเดิมนี้ 2-3 ครั้งหรืออาจมากกว่านั้น) หลังจากนั้นแพทย์จะทำการปิดแผลโดยการเย็บแผลหรือปล่อยให้แผลหายเองตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายไป
มะเร็งผิวหนังที่ควรรักษาด้วยวิธี MMS คือ
- มะเร็งผิวหนังที่กลับมาเป็นซ้ำ
- มะเร็งผิวหนังที่ตัดออกไม่หมด หลังจากทำการผ่าตัดด้วยวิธีธรรมดา
- มะเร็งผิวหนังที่มีขอบเขตไม่ชัดเจน
- มะเร็งผิวหนังที่มีขนาดใหญ่มากกว่า 2 เซนติเมตร
- มะเร็งผิวหนังที่เจริญอย่างรวดเร็วและรุนแรง
- มะเร็งผิวหนังที่เกิดบนแผลเป็น
- มะเร็งผิวหนังปฐมภูมิ
คำแนะนำก่อนการผ่าตัดด้วยวิธี MMS
- ผู้ที่ต้องรับประทานยาแอสไพรินเป็นประจำควรงดยานี้อย่างน้อย 10 วันก่อนวันผ่าตัด เพื่อป้องกันเลือดออกมาเวลาทำการผ่าตัด
- งดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 1 วันก่อนวันผ่าตัด
- ก่อนวันผ่าตัดควรพักผ่อนให้เพียงพอ
- ในวันผ่าตัดควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ ย่อยได้ง่าย
- ผู้ป่วยควรพาญาติมาด้วยในวันผ่าตัดเพื่อช่วยพากลับบ้าน เพราะการผ่าตัดด้วยวิธีนี้สามารถทำเสร็จได้วันเดียวและจำไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
- ถ้ามีโรคประจำตัวควรแจ้งแพทย์ให้ทราบด้วย เช่น โรคหัวใจที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker)
คำแนะนำหลังการผ่าตัดด้วยวิธี MMS
- ในกรณีที่ไม่เย็บปิดแผล ควรระวังอย่าให้แผลถูกน้ำภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัด และควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือ (Normal saline) แล้วเช็ดแผลให้แห้ง และอาจทาด้วยครีมปฏิชีวนะก่อนปิดแผลเช้าและเย็น เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
- ในกรณีที่ปิดแผล ไม่ควรให้แผลถูกน้ำจนกว่าจะถึงวันนัดตัดไหม แต่ถ้าแผลเปียกน้ำควรทำแผลและเปลี่ยนผ้าปิดแผลใหม่
- ถ้ามีอาการปวดแผลให้รับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง (ส่วนยาแอสไพรินควรหลีกเลี่ยงเพราะจะทำให้เลือดออกง่าย)
- ถ้าพบว่ามีเลือดออกจากแผล ให้ใช้ผ้าสะอาดกดตรงบริเวณบาดแผลนานประมาณ 20 นาที เพื่อให้เลือดหยุดไหล แต่ถ้ายังไม่หยุดไหลให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อห้ามเลือดและปิดแผลใหม่
- ถ้ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับแผล เช่น แผลบวมมาก มีหนองไหลออกมาจากแผล ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด
- ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง คือ 1 สัปดาห์ 1 เดือน หลังจากนั้นให้ไปพบแพทย์ปีละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3-5 ปี เพื่อติดตามการเกิดเป็นมะเร็งซ้ำ
- ถ้ามีรอยโรคเกิดขึ้นมาใหม่ที่บริเวณเดิม ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด
ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งผิวหนัง
ผลข้างเคียงจากการรักษาจะขึ้นอยู่กับวิธีการรักษา และผลข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อใช้วิธีรักษาหลายวิธีร่วมกัน
- การผ่าตัด เช่น การเสียเลือด การสูญเสียเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
- รังสีรักษา คือ ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง ผิวหนังบาง สีผิวผิดปกติ ผมร่วง ผิวหนังแห้ง มีเส้นเลือดฝอย กระดูกตาย และอาการบวมของแขนหรือขาเมื่อมีการฉายรังสีบริเวณต่อมน้ำเหลือง รักแร้หรือขาหนีบ (เกิดจากพังผืดหลังการฉายรังสี ซึ่งส่งผลให้ท่อน้ำเหลืองบริเวณรักแร้หรือขาหนีบเกิดการอุดตัน ทำให้เกิดภาวะน้ำเหลืองคั่งในบริเวณแขนหรือขา)
- ยาเคมีบำบัด คือ เหนื่อย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และเพิ่มโอกาสการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ แต่ผลข้างเคียงเหล่านี้จะหมดไปเมื่อการรักษาสิ้นสุด
วิธีป้องกันโรคมะเร็งผิวหนัง
วิธีป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังสามารถทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ เช่น
- สิ่งสำคัญที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด ๆ ไม่ตากแดดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเวลาประมาณ 10:00-15:00 นาฬิกา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แสงแดดแผ่รังสีสูงสุด แต่ถ้าจำเป็นควรสวมเสื้อปกปิดเพื่อป้องกันแสงแดด (เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว) เลือกใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ๆ เนื้อแน่น สวมหมวกปีกกว้าง 3 นิ้ว กางร่ม ใส่แว่นกันแดด และการทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป และค่า PA+++ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยให้ใช้ทาก่อนออกแดดประมาณ 15 นาที และหลังว่ายน้ำหรือออกกำลังกายก็ควรทาครีมกันแดดซ้ำอีกครั้งเช่นกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้สารที่ทำผิวขาวหรือทำลายเม็ดสี โดยเฉพาะการฉีดสารกลูต้าไธโอนเข้าเส้นเลือดดำ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารพิษหรือสารเคมีก่อมะเร็งเรื้อรัง เช่น การสัมผัสสารหนูที่ปนอยู่ในน้ำ รวมไปถึงการกินยาจีน ยาไทย ยาหม้อ เพราะอาจมีสารหนูซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งผสมอยู่
- ไม่ควรกินหมากหรือสูบบุหรี่ พยายามรักษาความสะอาดของช่องปากและฟันอยู่เสมอ ระวังไม่ให้ฟันผุหรือฟันแหลมซึ่งอาจเกิดการเสียดสีกับช่องปากเกิดเป็นแผลเรื้อรังแล้วอาจกลายเป็นมะเร็งได้
- รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศไม่ให้เกิดการหมักหมม
- ป้องกันไม่ให้เกิดโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายบกพร่อง โดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีหรือโรคเอดส์
- ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่ระบุได้ว่า อาหารเสริมวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังได้ ส่วนหลักฐานจากการรับประทานนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด
- หมั่นตรวจดูผิวหนังทั่วร่างกายเป็นระยะ หากมีอาการเปลี่ยนแปลงจนผิดสังเกต เช่น หูด ไฝ ขี้แมลงวัน ปาน แผลเป็น ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ (เช่น โตเร็วกว่าปกติ มีสีและรูปร่างเปลี่ยนไปจากเดิม มีอาการคัน แตกเป็นแผล และมีเลือดออก) หรือมีแผลเรื้อรังหรือแผลที่ไม่หายภายใน 4 สัปดาห์ หรือเมื่อมีความกังวลเมื่อพบรอยโรคดังกล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ ต่อไป เพราะในปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่มีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งผิวหนังทุกชนิดตั้งแต่ยังไม่มีอาการได้
- ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง ทำงานกลางแดด ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจหามะเร็งผิวหนังตั้งแต่ระยะแรกอย่างน้อยปีละครั้ง
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 1156-1157.
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 005 คอลัมน์ : ผู้หญิงกับความงาม. (พญ.ปรียา กุลละวณิชย์). “มะเร็งผิวหนัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [17 มี.ค. 2017].
- สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์. “มะเร็งผิวหนัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.chulacancer.net. [18 มี.ค. 2017].
- ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “การรักษามะเร็งผิวหนังด้วยวิธี Mohs (Mohs Micrographic Surgery)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [18 มี.ค. 2017].
- Siamhealth. “มะเร็งผิวหนัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [19 มี.ค. 2017].
- หาหมอดอทคอม. “มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [19 มี.ค. 2017].
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “มะเร็งผิวหนัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org. [19 มี.ค. 2017].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)