มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือ โรคลิมโฟม่า (Lymphoma) คือ มะเร็งหรือเนื้องอกร้ายที่เกิดกับเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลือง ซึ่งก็คือต่อมน้ำเหลืองที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย เช่น ที่บริเวณลำคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขน ข้อพับขา ในช่องอก และในช่องท้อง และนอกจากในต่อมน้ำเหลืองแล้ว เซลล์ต่อมน้ำเหลืองยังมีกระจายอยู่ในเยื่อบุภายในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายอีกด้วย เช่น ในสมอง โพรงจมูก ไซนัส กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ผิวหนัง และกระดูก ซึ่งในอวัยวะเหล่านี้ก็สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ทั้งสิ้น (เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของสมอง เป็นต้น แต่ต่อมน้ำเหลืองที่พบเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้บ่อยที่สุด คือ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ)
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งของต่อมน้ำเหลืองเองและของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ต่างก็มีสาเหตุ อาการ ระยะของโรค ความรุนแรงของโรค วิธีการตรวจวินิจฉัย และแนวทางในการรักษาที่คล้ายคลึงกัน
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย พบได้ในคนทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ และพบได้ในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิงเล็กน้อย
หมายเหตุ : ระบบน้ำเหลืองของร่างกายมีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคโดยการขนส่งน้ำเหลืองไปตามท่อน้ำเหลืองทั่วร่างกาย ประกอบไปด้วยเม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่สร้างสารภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม หรือทำลายเชื้อโรคโดยตรง จะพบต่อมน้ำเหลืองได้ทั่วร่างกาย เช่น บริเวณลำคอ รักแร้ ขาหนีบ ฯลฯ
ชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin’s disease – HD หรือมีอีกชื่อว่า Hodgkin’s lymphoma – HL) พบได้บ่อยในช่วงอายุ 15-34 ปี และมากกว่า 60 ปี พบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี มีลักษณะเฉพาะ คือ จะพบเซลล์มะเร็งที่เรียกว่า “Reed-Sternberg cell” ซึ่งไม่มีในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดอื่น ๆ และในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้ประมาณ 25,000 คน
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน (non-Hodgkin’s lymphoma – HHL) พบได้มากกว่ากลุ่มแรกประมาณ 8 เท่า และมีความรุนแรงของโรคสูงกว่ากลุ่มแรก มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และผู้ป่วยที่ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 30 ชนิดย่อย ถ้าอาศัยอัตราการเจริญของเซลล์มะเร็งจะสามารถแบ่งได้ 2 ชนิด คือ
- ชนิดลุกลามช้า (Indolent) จะมีการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งค่อนข้างช้า ผู้ป่วยจะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่มักจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยวิธีการในปัจจุบัน
- ชนิดรุนแรง (Aggressive) มีอัตราการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 6 เดือน – 12 ปี แต่มีข้อดี คือ ถ้าหากรักษาได้อย่างทันท่วงทีโอกาสที่จะหายขาดก็มีมาก
สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่น
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น การติดเชื้อไวรัสเอชทีแอลวี (Human T-lymphocytic virus – HTLV), การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์, การติดเชื้อไวรัสอีบีวี (Epstein-Barr virus – EBV) ของทางหายใจ เป็นต้น
- การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น เชื้อเอชไพโลไร (Helicobacter pylori) ที่ทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบ
- การมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น โรคเอดส์, โรคไขข้ออักเสบ, การกินยากดภูมิคุ้มกันในการรักษาโรคโดยการปลูกถ่ายอวัยวะ (เช่น ปลูกถ่ายไต) เป็นต้น
- เป็นโรคภูมิแพ้ตนเองบางชนิด เช่น โรคต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ
- ปัจจัยทางพันธุกรรม การเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของพันธุกรรมบางชนิด เพราะพบโรคนี้ได้สูงขึ้นในครอบครัวที่ป่วยเป็นโรคนี้ (พี่น้องอาจเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองตามลำดับหรือเป็นพร้อมกันได้)
- การสัมผัสวัตถุทางเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็ง เช่น การสัมผัสยาฆ่าแมลง น้ำยาย้อมผม เป็นต้น
- อาจเกิดจากสิ่งแวดล้อม เพราะพบโรคนี้ได้สูงกว่าในคนที่มีอาชีพเกษตรกรรม
- การกินอาหารพวกโปรตีนและไขมันสูง
- เคยรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน
- การที่ร่างกายมีความเป็นกรดในระยะเวลานานก็เป็นสาเหตุทั่วไปที่ทำให้เซลล์ต่อมน้ำเหลืองกลายเป็ยมะเร็งได้
อาการมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
อาการที่โดดเด่นของโรคนี้ คือ มีก้อนบวม (ของต่อมน้ำเหลือง) ซึ่งมักเกิดขึ้นที่ข้างลำคอนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นแรมเดือน โดยจะมีลักษณะแข็ง คลำได้ ไม่รู้สึกเจ็บ และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 1 เซนติเมตร บางรายอาจมีก้อนที่ขึ้นรักแร้หรือที่ขาหนีบ และบางรายอาจมีก้อนขึ้นพร้อมกันหลายแห่ง
ผู้ป่วยอาจมีอาการที่เกิดจากก้อนมะเร็งต่อมน้ำเหลืองไปกดถูกอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายด้วย เช่น มีอาการไอ เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หน้าบวม คอบวม แขนบวม ถ้าโรคเกิดในช่องอก, มีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก เบื่ออาหาร ดีซ่าน ถ้าโรคเกิดในช่องท้อง, ท้องเดิน ลำไส้ไม่ดูดซึมอาหาร มีอาการน้ำหนักตัวลดลง ถ้าโรคเกิดในลำไส้เล็ก, มีอาการขาบวมจากภาวะอุดกั้นทางเดินน้ำเหลือง ถ้าโรคเกิดที่ขาหนีบ, มีอาการปวดศีรษะ แขนขาชาหรืออ่อนแรง ถ้าโรคเกิดในสมอง ไขสันหลัง หรือระบบประสาท เป็นต้น
ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้เรื้อรังโดยไม่ตรวจพบสิ่งผิดปกติอื่น ๆ ได้ หรืออาจมีไข้สูงอยู่หลายวันสลับกับไม่มีไข้หลายวัน อาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง เหงื่อออกชุ่มตัวในตอนกลางคืน หนาวสั่น หรือคันตามผิวหนัง
ในระยะต่อมาเมื่อมะเร็งลุกลามเข้าไขกระดูกจะทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการซีด มีเลือดออกง่าย (มีจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือดตามตัว) และติดเชื้อได้ง่าย
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่มักเกิดจากการที่มีก้อนของมะเร็งไปกดหรือทำลายอวัยวะต่าง ๆ เช่น ทำให้เกิดภาวะอุดกั้นของระบบไหลเวียนเลือดหรือน้ำเหลือง ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ (อาจทำให้เกิดภาวะไตวายตามมาได้) เป็นต้น
- ถ้ามะเร็งลุกลามเข้าไขกระดูก ร่างกายจะสร้างเม็ดเลือดทุกชนิดไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะซีด เลือดออกง่าย และติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งอาจรุนแรงจนเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษได้
- ถ้ามะเร็งลุกลามเข้าสมอง ไขสันหลัง หรือกดเส้นประสาทสันหลัง จะทำให้แขนขาชาหรืออ่อนแรง
- ถ้ามีก้อนมะเร็งที่กระเพาะอาหาร นอกจากจะเกิดภาวะกระอาหารอุดกั้นแล้ว ยังอาจทำให้มีเลือดออกได้ด้วย (อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระดำ)
ระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งออกเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่น ๆ แต่ที่แตกต่างคือ จะแบ่งร่างกายออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่เหนือกับส่วนที่อยู่ใต้กระบังลม (Diaphragm) ซึ่งระยะของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ได้แก่
- ระยะที่ 1 เป็นระยะที่โรคมะเร็งเกิดกับต่อมน้ำเหลืองเพียงบริเวณเดียว เช่น บริเวณลำคอ หรือบริเวณรักแร้ เพียงด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่โรคมะเร็งเกิดกับต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ 2 บริเวณขึ้นไป เช่น บริเวณลำคอด้านขวาและซ้าย บริเวณลำคอด้านขวากับรักแร้ด้านขวา แต่ทั้งสองบริเวณจะต้องอยู่ด้านกันของกระบังลม เช่น อยู่เหนือกระบังลมทั้งหมด หรืออยู่ใต้กระบังลมทั้งหมด
- ระยะที่ 3 เป็นระยะที่โรคมะเร็งเกิดกับต่อมน้ำเหลืองทั้งในส่วนเหนือกระบังลมและส่วนใต้กระบังลม เช่น เกิดที่ลำคอร่วมกับขาหนีบ
- ระยะที่ 4 เป็นระยะที่โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าอวัยวะอื่นที่อยู่ห่างไกลออกไป เช่น ไขกระดูก (ที่สำคัญและพบได้บ่อยที่สุด คือ ไขกระดูก) หรือเนื้อเยื่ออวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับ และสมอง (สมองเป็นได้ทั้งโรคระยะที่ 1 เมื่อมะเร็งเกิดจากเนื้อเยื่อน้ำเหลืองของสมองเอง หรือเป็นโรคระยะที่ 4 เมื่อโรคเกิดจากต่อมน้ำเหลืองแล้วแพร่กระจายเข้าสู่สมอง)
การวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้จากการซักประวัติการเจ็บป่วย การตรวจร่างกายเพื่อดูสภาพร่างกายทั่วไปและดูก้อนตามตัว ส่วนการตรวจที่ให้ผลแน่นอนคือ การตัดต่อมน้ำเหลืองเพื่อนำไปตรวจชิ้นเนื้อ (Lymph node biopsy) ซึ่งจะทำให้พบลักษณะของเซลล์ที่เป็นมะเร็ง สำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินจะพบเซลล์มะเร็งที่เรียกว่า “Reed-Sternberg cell”
นอกจากนี้อาจทำการตรวจเลือด การตรวจไขกระดูก การถ่ายภาพทรวงอกและช่องท้องด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เจาะหลัง และทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพื่อประเมินภาวะแทรกซ้อนและระยะของโรค
การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- แนวทางการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง แพทย์จะให้การรักษาด้วยรังสีรักษาหรือยาเคมีบำบัด หรือให้ร่วมกันทั้ง 2 อย่าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งและระยะของโรค เช่น ในรายที่เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเฉพาะที่ในระยะแรกเริ่มและเป็นชนิดไม่รุนแรง สามารถให้รังสีรักษาเพียงอย่างเดียวได้ ส่วนในรายที่เป็นชนิดรุนแรงหรืออยู่ในระยะท้าย ๆ แล้วจำเป็นต้องให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา นอกจากนี้ยังอาจมีการให้ยาอื่น ๆ เสริมด้วย เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone), สารภูมิต้านทานกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal antibody), ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด เป็นต้น ส่วนในรายที่มีการเกิดโรคกลับเป็นซ้ำ (Relapse) แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดด้วยยาขนาดที่สูง และทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell transplantation) ก็มักจะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นหรือหายได้
- วิธีรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในการเลือกวิธีการรักษาแพทย์จะพิจารณาจากชนิดของมะเร็งและระยะของโรค ซึ่งอาจใช้เพียงวิธีเดียวหรือใช้แบบผสมผสานก็ได้ ดังนี้
- การเฝ้าติดตามโรค มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดลุกลามช้า อยู่ในระยะที่ 1 และยังไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ โดยในระหว่างการเฝ้าติดตามโรคผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด หรือตรวจทางรังสีเป็นระยะ ๆ ตามที่แพทย์สั่ง
- การใช้รังสีรักษา (Radiation Therapy) เป็นการรักษาด้วยการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง แพทย์จะใช้รักษาเฉพาะในบางระยะของโรค และส่วนใหญ่มักจะให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด หรือให้รังสีรักษาเพียงอย่างเดียวถ้าเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเฉพาะที่ในระยะแรกเริ่มและเป็นชนิดไม่รุนแรง หรือเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดได้ เช่น มีปัญหาโรคไตเรื้อรัง (เพราะยาเคมีบำบัดส่วนตกค้างจะต้องกำจัดออกทางไต ถ้าไตเสียยาจะคั่งอยู่ในร่างกายมากและก่อให้เกิดภาวะติดเชื้อรุนแรงจนเสียชีวิตได้) ซึ่งในการรักษาแต่ละครั้งผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวดใด ๆ และส่วนมากจะใช้เวลาทำน้อยกว่า 30 นาทีในแต่ละครั้ง
- การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นวิธีหลักในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ยาที่ให้จะไปออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งโดยไปรบกวนการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง วิธีนี้สามารถใช้รักษาได้ในทุกระยะของโรค ทุกตำแหน่ง และทุกชนิดของมะเร็ง ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้เลือกชนิดของยาเคมีบำบัดและให้คำแนะนำเองว่าจะต้องให้ยาเคมีบำบัดอย่างไรและให้จำนวนกี่ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคซึ่งจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย (โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดหลายชนิดร่วมกัน หรืออาจให้ร่วมกับสารภูมิต้านทานกลุ่มโมโนโคลนอลแอนตีบอดี)
- การให้สารภูมิต้านทานกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal antibody) เป็นการใช้สารสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์ในการจับกับโปรตีนบนผิวหนังของเซลล์มะเร็ง หลังจากนั้นจะมีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อมากำจัดเซลล์มะเร็ง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยในการทำลายเซลล์มะเร็งได้ในบริเวณกว้างและส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อเนื้อเยื่อปกติ
- การให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งและยับยั้งการเติบโตของก้อนมะเร็ง
- การให้ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) ใช้ได้ผลดีเฉพาะกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดและยายังมีราคาแพงมากเกินกว่าผู้ป่วยทั่วไปจะเข้าถึงได้ แพทย์มักใช้รักษาในโรคที่มีความรุนแรงสูง หรือโรคที่ดื้อต่อยาเคมีบำบัด หรือเกิดโรคกลับเป็นซ้ำ
- การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell transplantation) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ การปลูกเซลล์ต้นกำเนิดโดยอาศัยเซลล์ของผู้ป่วยเอง และการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดโดยอาศัยเซลล์ของผู้บริจาค (ในปัจจุบันสามารถปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากกระแสเลือดแทนที่จะใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูก จึงช่วยให้ผู้บริจาคไม่ต้องเจ็บตัวในการเจาะไขกระดูก) ใช้รักษาอย่างได้ผลดีเฉพาะในเซลล์มะเร็งบางชนิดเมื่อมีโรคที่รุนแรง หรือดื้อต่อยาเคมีบำบัด หรือเกิดโรคกลับเป็นซ้ำ และเช่นเดียวกับยารักตรงเป้าที่ค่าใช้จ่ายในการรักษายังสูงมาก
- การผ่าตัด ในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมักไม่มีการผ่าตัด (ยกเว้นเฉพาะในผู้ป่วยน้อยราย) เพราะโรคนี้สามารถรักษาได้ผลดีด้วยยาเคมีบำบัด จึงไม่จำเป็นต้องผ่าตัดอวัยวะที่เกิดโรคมะเร็ง
- การดูแลตนเองเมื่อเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- เพิ่มโภชนาการทางด้านอาหาร อาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยควรเป็นอาหารที่สุก สะอาด อุณหภูมิไม่สูง เป็นอาหารที่อ่อนนุ่ม ย่อยง่าย ง่ายต่อการเคี้ยวกลืน ให้สารอาหาร พลังงาน มีวิตามินที่หลากหลาย และมีเส้นใยสูง (ผักสดต้องล้างให้สะอาด ส่วนผลไม้ควรเลือกรับประทานชนิดต้องปอกเปลือกเพื่อป้อกงันสารตกค้าง)
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามควรแก่สุขภาพของผู้ป่วยเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นกิจวัตร เพราะจะมีผลโดยรวมต่อร่างกายในการช่วยให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้ดีขึ้น และช่วยกำจัดโรคที่ยังคงหลงเหลืออยู่ภายหลังจากการได้รับการรักษา
- รักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี ส่วนผิวหนังควรอาบน้ำและฟอกสบู่ให้สะสาด (โดยเฉพาะในบริเวณที่อับชื้น) และควรล้างทำความสะอาดและดูแลบริเวณทวารหนักทุกครั้งหลังขับถ่าย
- การดูแลเรื่องสุขภาพจิต เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย บุคคลในครอบครัวและเพื่อน ๆ ควรหมั่นให้กำลังใจผู้ป่วยให้มีความกระตือรือร้นในการรับการรักษาและเพิ่มกำลังใจให้กับผู้ป่วยในการเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บ
- ผลการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง เนื่องจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคที่เซลล์มะเร็งตอบสนองได้ดีต่อยาเคมีบำบัดหลายชนิดและต่อรังสีรักษา ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับโรคมะเร็งอื่น ๆ จึงจัดว่าโรคนี้เป็นโรคที่มีความรุนแรงค่อนข้างต่ำและมีโอกาสรักษาให้หายได้สูง (ยกเว้นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของสมอง) อย่างไรก็ตาม ผลการรักษาก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ชนิดของมะเร็ง (ชนิดฮอดจ์กินรุนแรงกว่านอนฮอดจ์กิน) ระยะของโรค อายุ (ในเด็กเล็กและผู้สูงอายุจะรุนแรงมากกว่า) สุขภาพของผู้ป่วย และการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา โดยทั่วไปอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ของโรคในระยะที่ 1-2 คือประมาณ 70-80% ส่วนระยะที่ 3 ประมาณ 50-70% และระยะที่ 4 ประมาณ 0-50% ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าโรคแพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะ ซึ่งถ้าแพร่กระจายเข้าไขกระดูกจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปีสูงกว่าการแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่น ๆ โดยเฉพาะสมอง
- สำหรับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินระยะแรก ๆ การรักษาจะช่วยให้หายจากโรคได้ถึง 80% และมีชีวิตอยู่รอดเกิน 10 ปีมากกว่า 80% ส่วนโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินระยะท้าย ๆ จะมีโอกาสหายประมาณ 50-70% และมีชีวิตอยู่รอดเกิน 5 ปีประมาณ 50-60%
- สำหรับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กินชนิดลุกลามช้า (Indolent) สามารถรักษาให้โรคสงบและมีชีวิตอยู่ได้นาน แต่มักจะไม่หายขาดและอาจมีการเกิดโรคกลับเป็นซ้ำได้อีก โดยถ้าเป็นระยะแรก ๆ การให้รังสีรักษาจะช่วยทำให้โรคสงบและหายได้ประมาณ 20-30% แต่ถ้าเป็นระยะท้าย ๆ แล้ว แพทย์จะไม่ให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา (เพราะยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าการรักษาสามารถช่วยยืดอายุของผู้ป่วยได้มากขึ้น) และเฝ้าติดตามดูอาการและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ถ้าโรคมีการลุกลามเร็วขึ้นก็จะให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งจะช่วยให้โรคสงบได้นาน 2-4 ปี
- สำหรับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กินชนิดรุนแรง (Aggressive) การรักษาอย่างจริงจังจะช่วยให้โรคสงบและมีโอกาสหายได้มากกว่าชนิดที่ลุกลามช้า โดยถ้าเป็นระยะแรก ๆ แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา ซึ่งจะช่วยให้โรคหายได้ประมาณ 70-90% แต่ถ้าเป็นระยะท้าย ๆ แล้ว แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดด้วยยาหลายชนิดร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้โรคหายได้ประมาณ 50% แต่จะมีผลข้างเคียงคือ ทำให้เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ลดจำนวนลง แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการให้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด (ได้แก่ Growth factors) กับผู้ป่วย
การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองให้พบโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระยะเริ่มต้นที่ยังไม่มีอาการได้ ดังนั้น การดูแลตนเองที่ดีที่สุดคือ การสังเกตตนเอง หากคลำพบต่อมน้ำเหลืองโตหรือมีอาการผิดปกติดังที่กล่าวไปแล้วในหัวข้ออาการ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
การป้องกันมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของการเกิดโรค จึงยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ แต่หากสงสัยว่าเป็นโรคนี้ควรปรึกษาแพทย์
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 738-740.
- สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์. “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.chulacancer.net. [19 พ.ค. 2017].
- สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย. “โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thastro.org. [20 พ.ค. 2017].
- สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “ทำอย่างไรเมื่อเป็นโรคลิมโฟม่า”. (ผศ.นพ.นพดล ศิริธนารัตนกุล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [21 พ.ค. 2017].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)