มะเร็งตับอ่อน
มะเร็งตับอ่อน (ภาษาอังกฤษ: Pancreatic cancer) คือ เนื้องอกร้ายหรือมะเร็งซึ่งเกิดขึ้นจากเซลล์ของตับอ่อน ผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนมักมาพบแพทย์เมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ เนื่องจากอาการในระยะแรกมักไม่เฉพาะเจาะจงหรือไม่มีอาการแสดงเลย จนกระทั่งเป็นมากแล้วจึงจะแสดงอาการ เช่น ปวดท้องหรือปวดหลังเรื้อรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง ตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน)
มะเร็งตับอ่อนเป็นโรคของผู้ใหญ่ที่พบได้เรื่อย ๆ แต่ไม่ถึงกับบ่อยนัก (แต่จำนวนผู้ป่วยก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดและมีแนวโน้มเกิดกับบุคคลในวัยหนุ่มสาวด้วย) โดยพบได้ประมาณ 1% ของมะเร็งทางเดินอาหาร ส่วนใหญ่พบเกิดกับบุคคลในวัยกลางคนและวัยสูงอายุ มักพบในอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป (พบได้สูงมากในช่วงอายุ 60-80 ปี) และพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 1.3-3 เท่า
ในประเทศไทยโรคมะเร็งตับอ่อนไม่จัดอยู่ใน 10 ลำดับของโรคมะเร็งที่พบบ่อยทั้งในผู้ชายและผู้หญิง โดยรายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พ.ศ.2553 ซึ่งรวบรวมผู้ป่วยในช่วงปี พ.ศ.2544-2546 พบโรคมะเร็งตับอ่อนในผู้ชายคิดเป็น 1.7 คน ต่อประชากรชาย 100,000 คน ส่วนในผู้หญิงพบได้ 1.2 คน ต่อประชากรญิง 100,000 คน อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งตับอ่อนก็เป็นโรคที่รุนแรงมากชนิดหนึ่ง เพราะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 7 ของการเสียชีวิตจากมะเร็งทั่วโลกและเป็นอันดับ 4 ในสหรัฐอเมริกา โดยในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ.2551 พบผู้ป่วยใหม่เป็นโรคนี้ 37,680 ราย ซึ่งในจำนวนนี้จะเสียชีวิตประมาณ 34,290 ราย
หมายเหตุ : ตับอ่อน (Pancreas) เป็นอวัยวะที่ในช่องท้องส่วนลึกที่อยู่ใต้ต่อกระเพาะอาหาร (อยู่ระหว่างกระเพาะอาหารและกระดูกสันหลัง) จัดเป็นอวัยวะในระบบทางเดินอาหารเช่นเดียวกับตับ (แต่ตับอ่อนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของตับ เป็นคนละอวัยวะและไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน) มีลักษณะและขนาดคล้ายกล้วยหอม มีความยาวประมาณ 6 นิ้ว ประกอบไปด้วยเซลล์หลัก 2 ชนิด คือ เซลล์จากต่อมมีท่อ (Exocrine gland) ที่มีหน้าที่ในการสร้างน้ำย่อยอาหาร ซึ่งจะช่วยย่อยอาหารในลำไส้เล็ก และเซลล์จากต่อมไร้ท่อ (Endocrine gland) ที่มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนหลายชนิด ซึ่งที่เรารู้จักกันดี คือ ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ที่มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของน้ำตาลในเลือด ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเบาหวาน
ชนิดของมะเร็งตับอ่อน
โรคมะเร็งตับอ่อนมีหลายชนิด เช่น ชนิดนิวโรเอ็นโดคราย (Neuroendocrine tumor) ซึ่งเกิดจากเซลล์ต่อมไร้ท่อ เป็นชนิดที่พบได้ค่อนข้างน้อย (ซึ่ง Steve Jobs ก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งชนิดนี้) ส่วนใหญ่จะมีความรุนแรงข้างต่ำ มีระยะอาการค่อนข้างนาน และวิธีการรักษาก็จะแตกต่างกับมะเร็งตับอ่อนอีกชนิดที่พบได้เป็นส่วนใหญ่อยู่บ้าง โดยชนิดที่ว่าคือ ชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ประมาณ 90-95% ซึ่งเกิดจากเซลล์ต่อมมีท่อ และเป็นมะเร็งชนิดที่มีความรุนแรงค่อนข้างสูง ดังนั้น โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงโรคมะเร็งตับอ่อนจึงมักจะหมายถึงมะเร็งชนิดนี้
สาเหตุของมะเร็งตับอ่อน
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
- อายุ ดังที่กล่าวไปแล้วว่ามะเร็งชนิดนี้เป็นโรคของผู้ใหญ่ เพราะโดยทั่วไปจะพบได้ในคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
- เชื้อชาติ เพราะพบโรคนี้ได้สูงในคนอเมริกันผิวดำเมื่อเปรียบกับคนผิวขาว
- ความผิดปกติทางพันธุกรรมบางอย่าง
- การมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ผู้ที่มีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้มากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า
- โรคเบาหวาน
- โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง เพราะสามารถพัฒนาไปเป็นมะเร็งตับอ่อนได้
- การมีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางอย่าง
- ภาวะน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน การขาดการออกกำลังกาย
- การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเป็นมะเร็งตับอ่อนได้มากกว่าคนที่ไม่สูบประมาณ 2-3 เท่า
- การดื่มแอลกอฮอล์
- การบริโภคอาหารไขมันสัตว์มากและผักผลไม้น้อย
- การสัมผัสสารเคมี เช่น สารดีดีที (DDT), น้ำมันเบนซิน หรืออนุพันธ์ของปิโตรเลียม
กลุ่มคนที่เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนสูง
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี มีรูปร่างค่อนข้างอ้วน และมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีนัก เช่น ชอบสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ชอบบริโภคอาหารไขมันสัตว์มากและผักผลไม้น้อย เป็นต้น
- ผู้ที่ทานอาหารมันเลี่ยนแล้วท้องเสีย โดยเฉพาะผู้ที่ถ่ายออกมาแล้วพบว่ามีไขมัน ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าสมรรถภาพของสารคัดหลั่งของต่อมมีท่อในตัอ่อนถูกทำลาย
- คนวัยหนุ่มสาวที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน แต่กลับเป็นโรคเบาหวานขึ้นมากะทันหัน ซึ่งอาจเป็นการล่วงหน้าของโรคมะเร็งตับอ่อนได้ และผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมามากกว่า 5 ปีจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนได้มากกว่าคนทั่วไปประมาณ 1.2 เท่า
อาการของมะเร็งตับอ่อน
ในระยะแรกมักไม่มีอาการแสดง แต่เมื่อมะเร็งลุกลามไปมากแล้วก็จะทำให้มีอาการปวดท้องส่วนบนและปวดร้าวไปที่หลัง ซึ่งมักจะปวดเวลาหลังอาหารหรือนอนลง เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง มีอาการแบบอาหารไม่ย่อย ดีซ่าน (อาการตัวเหลือง ตาเหลือง คันตามตัว ปัสสาวะสีเข้ม ซึ่งเกิดจากก้อนมะเร็งกดเบียดทับช่องเปิดของท่อน้ำดีจากตับเข้าสู่ลำไส้เล็ก จึงเกิดการคั่งของน้ำดีในตับ และทำให้เกิดอาการดีซ่านขึ้นมา) อุจจาระสีซีด (เนื่องจากก้อนมะเร็งอุดกั้นทางเดินน้ำดี) คันตามผิวหนัง อาจคลำได้ก้อนในท้อง ตับโต ถุงน้ำดีโต คลื่นไส้อาเจียน (เนื่องจากลำไส้อุดกั้นจากก้อนมะเร็ง) มีอาการของโรคเบาหวาน (เนื่องจากมะเร็งไปยับยั้งการผลิตอินซูลิน) ท้องเสียเรื้อรัง (เนื่องจากผลิตเอนไซม์ย่อยอาหารได้น้อย ทำให้การดูดซึมผิดปกติ) หรือมีอาการที่เกิดจากมะเร็งแพร่กระจายไปยังที่อื่น เช่น ลำไส้ กระเพาะอาหาร ปอด ตับ กระดูก สมอง เป็นต้น
ส่วนความรุนแรงของโรคมะเร็งตับอ่อนนั้นจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่
- ระยะของโรค ยิ่งมะเร็งระยะสูงขึ้นความรุนแรงก็มากขึ้น
- สภาพร่างกายของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงก็จะเป็นอุปสรรคต่อการรักษา
- โรคร่วมอื่น ๆ ที่มีผลต่อสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต เป็นต้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการรักษา
- อายุของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุก็มักจะทนการรักษาได้ไม่ดี
ผู้ที่มีอาการปวดท้องหรือปวดหลังเรื้อรัง น้ำหนักตัวลดลง อาจเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนได้
ระยะของมะเร็งตับอ่อน
โรคมะเร็งตับอ่อนมี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่น ๆ ทั่วไป และในระยะต่าง ๆ ยังแบ่งย่อยได้อีก เพื่อใช้ในการศึกษาและการรักษาโรค ได้แก่
- ระยะที่ 1 เป็นระยะที่พบมะเร็งเกิดขึ้นในตับอ่อนเท่านั้น ยังไม่ลุกลามออกนอกตับอ่อนและยังไม่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองทั้งที่อยู่ใกล้เคียงและอยู่ห่างไกลออกไป โดยในระยะนี้จะแบ่งออกเป็นระยะ IA และ IB ตามขนาดของก้อนมะเร็ง
- ระยะ IA มะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร
- ระยะ IB มะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตร
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่มะเร็งอาจลุกลามไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะใกล้เคียง และอาจแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง โดยแบ่งออกเป็นระยะ IIA และ IIB ตามการแพร่กระจายของมะเร็ง
- ระยะ IIA มะเร็งลุกลามไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะใกล้เคียง แต่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง
- ระยะ IIB มะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง และอาจลุกลามไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะใกล้เคียง
- ระยะ IIA มะเร็งลุกลามไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะใกล้เคียง แต่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง
- ระยะที่ 3 เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามออกนอกตับอ่อนและเข้าสู่หลอดเลือดใหญ่ที่อยู่ใกล้ตับอ่อน และอาจมีไม่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง
- ระยะที่ 4 เป็นระยะที่มะเร็งอาจมีขนาดใดก็ได้และมีการลุกลามไปยังอวัยวะที่อยู่ห่างไกลออกไป เช่น ตับ ปอด ช่องท้อง (ที่พบได้บ่อยคือ ตับ) และอาจลุกลามไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะใกล้ตับอ่อนหรือแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งตับอ่อน
โรคมะเร็งตับอ่อนเป็นโรคมะเร็งที่วินิจฉัยได้ยาก เพราะเป็นอวัยวะที่อยู่ลึกและถูกห้อมล้อมด้วยอวัยวะต่าง ๆ และผู้ป่วยมักมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง แพทย์จึงมักวินิจฉัยได้ต่อเมื่อมีการลุกลามแล้ว อย่างไรก็ตามจากการซักประวัติอาการและการตรวจร่างกาย ถ้าแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนก็มักจะทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูพยาธิสภาพของตับอ่อนและตับ (เพราะมะเร็งตับอ่อนจะแพร่กระจายไปที่ตับได้สูง) เช่น การตรวจอัลตราซาวนด์ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ถ้าผลการตรวจออกมาพบว่ามีก้อนเนื้อของตับอ่อน แพทย์มักจะทำการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกเลยเพื่อการรักษาและเพื่อนำก้อนเนื้อไปตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยาว่าใช่มะเร็งตับอ่อนหรือไม่
โดยทั่วไปมักจะไม่ตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยาก่อนการผ่าตัด เพราะจะเสี่ยงต่อการทะลุเข้าลำไส้ เกิดการอักเสบรุนแรงของช่องท้อง และ/หรือทะลุเข้าหลอดเลือด หรือก่ออาการเลือดออกรุนแรงในช่องท้องได้ นอกจากนั้นเมื่อพบก้อนเนื้อในตับอ่อนไม่ว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ก็ตาม การรักษามักจะเป็นการผ่าตัดตับอ่อนเสมอ ดังนั้นเมื่อพบก้อนเนื้อในตับอ่อน การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับอ่อนจึงทำได้จากการผ่าตัดตับอ่อนก่อน แล้วจึงตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อหลังผ่าตัดเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา (ก่อนการผ่าตัดแพทย์จะทำการตรวจเลือดเพิ่มเติม ตรวจปัสสาวะ และตรวจภาพเอกซเรย์ปอด เพื่อดูสภาพร่างกายของผู้ป่วยและดูว่ามีโรคแพร่กระจายไปที่ปอดและตับหรือไม่)
สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งตับอ่อนนั้นมีวิธีดังนี้
- การประวัติอาการและการตรวจร่างกาย เป็นสิ่งชี้นำในการตรวจขั้นตอนต่อไป แต่ในรายที่เป็นมะเร็งตับอ่อนระยะเริ่มแรกมักจะตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ
- การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) เป็นการตรวจเลือด ปัสสาวะ หรือเนื้อเยื่อเพื่อตรวจวัดปริมาณสารบางอย่าง เช่น สาร CA 19-9 หรือ Carcinoembryonic antigen (CEA) ซึ่งอาจมีระดับเพิ่มสูงขึ้น
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เป็นการภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่จะแสดงให้เห็นตำแหน่งและขนาดของจุดเกิดโรค นอกจากนี้ยังช่วยวินิจฉัยได้ว่าโรคมีการลุกลามไปยังตับและต่อมน้ำเหลืองหรือไม่
- การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นการถ่ายภาพคอมพิวเตอร์อีกชนิดหนึ่งที่ไม่อาศัยรังสีเอกซ์ แต่อาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยทำให้เห็นภาพของอวัยวะภายในและสามารถตรวจพบมะเร็งตับอ่อนได้
- การตรวจเพทสแกน (PET scan) เป็นการถ่ายภาพความเปลี่ยนแปลงทางชีวะเคมีในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย โดยการให้น้ำตาลกลูโคสชนิดพิเศษที่มีกัมมันตรังสีในตัวเอง (FDG) ฉีดเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งน้ำตาลชนิดนี้จะซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อเกือบทุกชนิดในร่างกาย โดยเฉพาะเนื้อเยื่อที่มีการแบ่งตัวมาก (เช่น มะเร็ง) จะจับกำน้ำตาลนี้ไว้ในปริมาณมากกว่าเนื้อเยื่อปกติ และเปล่งรังสีออกมาในปริมาณสูง จากนั้นแพทย์จะใช้เครื่องตรวจเพทสแกนถ่ายภาพรังสีออกมา ซึ่งภาพที่ได้จะแสดงให้เห็นการมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของมะเร็ง
- การตรวจอัลตราซาวนด์ในช่องท้องส่วนบน (Abdominal ultrasound) เป็นการตรวจที่สามารถแสดงโครงสร้างภายในของตับอ่อนและท่อน้ำดีได้ว่ามีการอุดตันหรือไม่
- การส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวนด์ (Endoscopic Ultrasound – EUS) ซึ่งจะช่วยทำให้แพทย์สามารถมองเห็นภาพมะเร็งตับอ่อนและต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงว่ามีมะเร็งมีการแพร่กระจายไปถึงหรือยัง
- การส่องกล้องตรวจท่อน้ำดีและตับอ่อน (Endoscopic retrograde cholangiopancreatography – ERCP) เป็นวิธีที่ใช้การส่องกล้องและเอกซเรย์ประกอบกัน โดยแพทย์จะทำการส่องกล้องจากปาก ผ่านเข้าสู่กระเพาะอาหารลงไปสู่ลำไส้เล็ก เพื่อหารูเปิดท่อน้ำดี และฉีดสีเข้าไปในท่อน้ำดี พร้อมกับเอกซเรย์ดูความผิดปกติของท่อน้ำดีและท่อตับอ่อน
- การใช้เข็มเจาะผ่านตับเข้าไปในท่อน้ำดี (Percutaneous transhepatic cholangiography – PTC) มักใช้ในกรณีที่ไม่สามารถตรวจวิธี ERCP ได้ โดยจะเป็นการตรวจที่ใช้แทงเข็มผ่านทางผิวหนังเข้าไปที่ตับเพื่อการฉีดสีและสีจะผ่านเข้าท่อน้ำดีเพื่อให้มีการอุดตัน และการอุดตันนี้จะแสดงผลทางภาพถ่ายเอกซเรย์
- การส่องกล้องตรวจภายในช่องท้อง (Laparoscopy) ) เป็นการตรวจหามะเร็งและตัดชิ้นเนื้อตรวจ และเพื่อดูว่ามะเร็งที่ตรวจพบโดยวิธีอื่นแล้วนั้นมีการแพร่กระจายไปในช่องท้องแล้วหรือไม่ เพราะถ้าแพร่กระจายแล้วก็แสดงว่าการผ่าตัดใช้ไม่ได้
- การตัดชิ้นเนื้อตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา (Biopsy) เป็นสิ่งจำเป็นในการวินิจฉัยโรคที่แน่นอนว่าก้อนเนื้องอกในตับอ่อนเป็นมะเร็งหรือไม่ การตัดชิ้นเนื้ออาจจะทำได้หลายวิธี เช่น การแทงใช้เข็มเล็ก ๆ ผ่านช่องท้องภายใต้การนำวิถีโดยอัลตราซาวนด์หรือเอกซเรย์ การตัดชิ้นเนื้อโดยการส่องกล้องในทางเดินอาหารส่วนต้นร่วมกับการทำอัลตราซาวนด์ หรือโดยการส่องภายในช่องท้องแล้วตัดชิ้นเนื้อ
การรักษามะเร็งตับอ่อน
- วิธีรักษามะเร็งตับอ่อน โดยทั่วไปการรักษาหลัก ๆ จะมีอยู่ 3 วิธี ได้แก่ การผ่าตัดเพื่อหวังผลให้โรคหายขาด (มักใช้ในรายที่ก้อนมีขนาดเล็กและอยู่ในตำแหน่งที่ไม่กดทำลายอวัยวะข้างเคียง) การให้ยาเคมีบำบัดและการใช้รังสีรักษาในรายที่ไม่สามารถผ่าตัดไม่ได้ นอกจากนั้นคือ การให้ยารักษาตรงเป้า, การรักษาแบบประคับประคองอาการ เป็นต้น ส่วนการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ไม่ต้องผ่าตัดวิธีใหม่ เช่น การใช้ไฟฟ้า (IRE), การใช้ความเย็น (Cryotherapy) การใช้สารกัมมันตภาพรังสี (I-125) ยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบเพื่อหาข้อสรุป และอาจมีการมาใช้เพื่อลดอาการหรือลดขนาดของก้อน แต่ยังไม่มีใช้ในกรณีทั่วไป ส่วนการที่แพทย์จะเลือกใช้วิธีใดนั้นจะขึ้นอยู่กับอาการ อายุ สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ดุลยพินิจของแพทย์ และความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวเป็นหลัก
- การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งตับอ่อนที่ดีที่สุด ซึ่งจะทำได้ในกรณีที่ตรวจพบเร็วและมะเร็งยังไม่แพร่กระจาย โดยทั่วไปเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับอ่อนแพทย์จะแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
- กลุ่มที่ผ่าตัดได้ คือ ผู้ผ่วยที่โรคยังลุกลามไม่มากและมีสภาพร่างกายที่แข็งแรง เมื่อผ่าตัดแล้วแพทย์จะนำก้อนเนื้อไปตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา และถ้ามีข้อบางชี้ทางการแพทย์ก็จะมีการรักษาเพิ่มเติมโดยการให้ยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาร่วมด้วย
- กลุ่มที่ผ่าตัดไม่ได้ คือ กลุ่มที่โรคลุกลามมากแล้วแต่แข็งแรง แพทย์มักจะรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา (การรักษานี้จะไม่ช่วยให้โรคหายขาด แต่แพทย์จะใช้เพื่อบรรเทาอาการปวด) แต่ถ้าผู้ป่วยมีร่างกายไม่แข็งแรง แพทย์จะให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาแก้ปวด การให้อาหารทางหลอดเลือดดำเมื่อผู้ป่วยกินได้น้อย
- การรักษามะเร็งตับอ่อนตามระยะของโรค
- ระยะที่ 1-2 การรักษาจะมีตั้งแต่การผ่าตัด (Surgery), การผ่าตัดแล้วตามด้วยการให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือการผ่าตัดแล้วตามด้วยการให้ยาเคมีบำบัดคู่กับการใช้รังสีรักษา (Chemoradiotherapy) ส่วนวิธีการรักษาอยู่ในระหว่างการทดสอบทางคลินิก คือ การให้ยาเคมีบำบัดหลายชนิดร่วมกัน (Combination chemotherapy), การให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) และการให้ยาเคมีบำบัดและ/หรือการใช้รังสีรักษา (Radiation therapy) ก่อนการผ่าตัด
- ระยะที่ 3 การรักษาจะมีตั้งแต่การผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการ (Palliative surgery), การให้ยาเคมีบำบัดแล้วตามด้วยการให้ยาเคมีบำบัดคู่กับการใช้รังสีรักษา (Chemoradiotherapy), การให้ยาเคมีบำบัดคู่กับการใช้รังสีรักษาแล้วตามด้วยการให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy), การให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับหรือไม่ร่วมกับยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) ส่วนวิธีการรักษาอยู่ในระหว่างการทดสอบทางคลินิก คือ การใช้รังสีรักษาแบบภายใน (Internal radiation therapy)
- ระยะที่ 4 การรักษาจะมีตั้งแต่การรักษาแบบประคับประคองเพื่อบรรเทาอาการปวด, การผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการ (Palliative surgery) และการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับหรือไม่ร่วมกับยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy)
- การติดตามผลการรักษา เมื่อแพทย์ให้การรักษาครบแล้ว แพทย์จะนัดมาตรวจติดตามโรคและดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยในปีที่ 1-2 อาจนัดมาตรวจทุก 1-2 เดือน ส่วนในปีที่ 3-5 อาจนัดมาตรวจทุก 2-3 เดือน และในปีที่ 5 เป็นต้นไปอาจนัดมาตรวจทุก 6-12 เดือน ในการมาตรวจทุกครั้ง ผู้ป่วยควรนำญาติหรือผู้ดูแลมาด้วย เพื่อร่วมพูดคุยปรึกษากับแพทย์โดยตรง และถ้ารับประทานยาอะไรอยู่ หรือมีการตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์ท่านอื่น ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อจะได้ให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม
- ผลการรักษามะเร็งตับอ่อน อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าโรคมะเร็งตับอ่อนเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูงมาก เป็นมะเร็งที่เมื่อนับรวมทุกระยะรวมกันแล้วถือว่ามีการพยากรณ์โรคไม่ดี เพราะผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ในระยะท้าย ๆ แล้ว (เนื่องจากตับอ่อนเป็นอวัยวะที่ถูกห้อมล้อมไปด้วยอวัยวะอื่น ๆ การตรวจร่างกายทั่วไปจึงทำให้เห็นถึงความผิดปกติได้ยาก และอาการจะปรากฎก็ต่อเมื่อมะเร็งลุกลามไปมากแล้ว) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน คือ ตั้งแต่พบอาการของโรคจนถึงเสียชีวิตนั้นมักเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ประมาณ 5 เดือนเท่านั้น จึงอาจเรียกได้ว่าเป็น “ราชามะเร็ง” เลยทีเดียว โดยเมื่อนับรวมทุกระยะจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 1 ปีประมาณ 25% และที่ 5 ปีประมาณ 5-6% และจะมีผู้ป่วยเพียง 15-20% เท่านั้นที่สามารถรับการรักษาโดยการผ่าตัดได้ (ผู้ป่วยที่สามารถรักษาผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้หมดจะมีโอกาสอยู่รอดได้ถึง 3 ปี ประมาณ 30%) สำหรับผู้ป่วยระยะไม่ลุกลามจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี อยู่ที่ประมาณ 20% ส่วนผู้ป่วยระยะลุกลามอวัยวะข้างเคียงและระยะแพร่กระจาย (ซึ่งเป็นผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณ 80%) อยู่ที่ 10 และ 6 เดือน ตามลำดับ
การป้องกันมะเร็งตับอ่อน
โรคมะเร็งตับอ่อนยังไม่มีวิธีป้องกันอย่างได้ผล อย่างไรก็ตามก็ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์จัด
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ และผักผลไม้ให้มาก ๆ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรตรวจสุขภาพทั่วไปอย่างสม่ำเสมอ อาจจะทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุและไม่มีอาการบ่งชี้เฉพาะก็อย่าได้นิ่งนอนใจหากคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพราะหลายครั้งที่แพทย์กว่าจะตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ ผู้ป่วยก็เป็นมากแล้วและไม่สามารถผ่าตัดได้ จึงมีอัตราการรอดชีวิตที่ต่มากำ
การตรวจคัดกรองมะเร็งตับอ่อน
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่มีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับอ่อนให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ แต่โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคมะเร็งตับอ่อน ควรเลือกตรวจคัดกรองแบบไม่เกิดบาดแผลก่อน เช่น การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง การตรวจตัวอย่างอุจจาระ เป็นต้น จากนั้นผู้ที่น่าสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งตับอ่อนก็สามารถตรวจวินิจฉัยมะเร็งตับอ่อนในขั้นตอนต่อไป
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 1171.
- National Cancer Institute. “Pancreatic cancer”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.cancer.gov. [12 เม.ย. 2017].
- สถาบันมะเร็งแห่งชาติ. “มะเร็งตับอ่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.nci.go.th. [26 เม.ย. 2017].
- หาหมอดอทคอม. “มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [27 เม.ย. 2017].
- หน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. “มะเร็งตับอ่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : med.mahidol.ac.th/ramaclinic/. [27 เม.ย. 2017].
- โรงพยาบาลวัฒโนสถ. “โรคมะเร็งตับอ่อน”. (นพ.วุฒิ สุเมธโชติเมธา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhospital.com/wattanosoth/. [28 เม.ย. 2017].
- โรงพยาบาลมะเร็งสมัยใหม่กว่างโจว. “มะเร็งตับอ่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.moderncancerthai.com. [29 เม.ย. 2017].
- สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์. “มะเร็งตับอ่อน”. (นพ.ชวลิต เลิศบุษยานุกูล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.chulacancer.net. [30 เม.ย. 2017].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)