มะเฟือง
มะเฟือง ชื่อสามัญ Star fruit
มะเฟือง ชื่อวิทยาศาสตร์ Averrhoa carambola L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Averrhoa acutangula Stokes, Sarcotheca philippica (Villar) Hallier f.) จัดอยู่ในวงศ์กระทืบยอด (OXALIDACEAE)
สมุนไพรมะเฟือง มีชื่อเรียกอื่นว่า เฟือง (ภาคใต้)
มะเฟืองเป็นผลไม้ที่นิยมมากในแถบเอเชียตะวันออกรวมถึงบ้านเราด้วย ผลไม้ชนิดนี้มีลักษณะเป็นทรงกระสวย เมื่อหั่นเป็นแนวขวางจะเป็นรูปเหมือนดาวห้าแฉก สีผลเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีเหลือง ส่วนเรื่องรสชาติจะออกเปรี้ยวแบบเฝื่อน ๆ โดยมีทั้งรสเปรี้ยวและหวาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์ โดนผลมะเฟืองสุกนั้นประกอบไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุอยู่หลายชนิด
โดยประโยชน์ของมะเฟืองในผลมะเฟืองสุกน้ำหนัก 100 กรัมจะอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตถึง 6.7 กรัม โปรตีน 1 กรัม ธาตุโพแทสเซียม 133 mg. วิตามินซี 35 mg. ธาตุฟอสฟอรัส 12 mg. ตามลำดับ นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วย วิตามินบี 5 วิตามินบี 9 (หรือกรดโฟลิก) ธาตุสังกะสีและไขมันอีกด้วย สำหรับผู้ที่รับประทานยาลดไขมัน ยาคลายเครียดอยู่ไม่ควรรับประทานมะเฟือง เนื่องจากมะเฟืองมีฤทธิ์ไปต่อต้านการทำงานของตัวยา และผู้ป่วยที่เป็นโรคไตหรือกำลังจะฟอกไต ก็ไม่ควรรับประทานมะเฟือง เพราะมะเฟืองมีกรดออกซาลิกสูงซึ่งอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงหรือทำให้อาการทรุดหนักเพิ่มมากขึ้นได้
พิษมะเฟือง เนื่องจากมะเฟืองมีกรดออกซาลิกในปริมาณที่สูง การได้รับสารนี้เข้าไปในร่างกายในปริมาณมากสามารถเพิ่มโอกาส เป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ เนื่องจากสารนี้จะไปจับตัวกับแคลเซียมและตกเป็นผลึกนิ่วในไต เมื่อผลึกนิ่วจำนวนมากเกิดการตกตะกอนจะทำให้เกิดการอุดตันในเนื้อไตและท่อไต ทำให้ไตวายเฉียบพลันได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาวะการขาดน้ำในร่างกายของเราด้วย และการเกิดภาวะไตวายไม่ได้เป็นกันทุกราย แต่ก็มีรายงานว่ามีผู้ป่วยที่ดื่มน้ำมะเฟืองหลังจากทำงานหนักและสูญเสียเหงื่อในปริมาณมากจะยิ่งมีโอกาสเกิดโรคได้มากขึ้น โดยมีงานวิจัยเกี่ยวกับมะเฟืองอธิบายว่ามะเฟืองเปรี้ยวนั้นมีโอกาสก่อให้เกิดโรคดังกล่าวได้มากกว่ามะเฟืองที่มีชนิดหวาน เนื่องจากมีกรดออกซาลิกที่มากกว่านั้นเอง
ประโยชน์ของมะเฟือง
- ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง
- ช่วยในการขับพิษและพยาธิในร่างกาย เมื่อนำดอกมะเฟืองมาต้มเป็นน้ำดื่ม
- มีคุณสมบัติในการช่วยผ่อนคลายความเครียด บรรเทาอาการฟุ้งซ่าน
- มะเฟืองมีฤทธิ์ในการกล่อมประสาท ช่วยให้นอนหลับได้สบายขึ้น
- มะเฟืองมีส่วนช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจให้เป็นไปอย่างปกติสม่ำเสมอ
- ป้องกันการเกิดโรคเลือดออกตามไรฟัน
- ยาแก้ร้อนใน ช่วยดับกระหาย
- ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย ถอนพิษไข้
- เป็นยาขับเสมหะ
- ช่วยป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง
- ช่วยบรรเทาอาการนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ช่วยรักษาอาการท้องร่วง เมื่อนำส่วนรากมะเฟืองมาต้มเป็นน้ำดื่ม
- มะเฟืองมีส่วนช่วยลดความอ้วนหรือช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- น้ำคั้นจากมะเฟืองช่วยขจัดรังแคบนหนังศีรษะได้
- น้ำคั้นจากผลมะเฟืองสามารถช่วยลบรอยเปื้อนบนเสื้อผ้าและของใช้ต่าง ๆ ได้
- ใช้กินแก้ไข้ ขับระดู ขับปัสสาวะ ด้วยการนำใบมะเฟืองมาต้มผสมกับน้ำ
- ช่วยรักษาอาการตุ่มคันตามลำตัว ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำอาบ
- ช่วยแก้ผดผื่นคัน ด้วยการนำใบสดของมะเฟืองมาตำแล้วนำมาพอก
- ช่วยรักษากลาก เกลื้อน ด้วยการนำใบสดของมะเฟืองมาตำแล้วนำมาพอก
- ช่วยลดอาการอักเสบ ช้ำบวม ด้วยการนำใบสดของมะเฟืองมาตำแล้วนำมาพอก
- ช่วยรักษาตุ่มอีสุกอีใสตามร่างกาย ด้วยการนำใบสดของมะเฟืองมาตำแล้วนำมาพอก
- ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย เมื่อนำส่วนรากมะเฟืองมาต้มเป็นน้ำดื่ม
- ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ เมื่อนำส่วนรากมะเฟืองมาต้มเป็นน้ำดื่ม
- ช่วยบรรเทาอาการปวดข้อต่าง ๆ ตามร่างกาย เมื่อนำส่วนรากมะเฟืองมาต้มเป็นน้ำดื่ม
- ช่วยบรรเทาอาการปวดแสบในกระเพาะอาหาร เมื่อนำส่วนรากมะเฟืองมาต้มเป็นน้ำดื่ม
- ผลมะเฟืองใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางที่ช่วยในการรักษาสิว ฝ้า บำรุงผิวพรรณ
คุณค่าทางโภชนาการของผลมะเฟืองสด ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 31 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 6.73 กรัม
- น้ำตาล 3.98 กรัม
- เส้นใย 2.8 กรัม
- ไขมัน 0.33 กรัม
- โปรตีน 1.04 กรัม
- ลูทีนและซีแซนทีน 66 ไมโครกรัม
- วิตามินบี 1 0.014 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินบี 2 0.016 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินบี 3 0.367 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 5 0.391 มิลลิกรัม 8%
- วิตามินบี 6 0.017 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินบี 9 12 ไมโครกรัม 3%
- โคลีน 7.6 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินซี 34.4 มิลลิกรัม 41%
- วิตามินอี 0.15 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุแคลเซียม 3 มิลลิกรัม 0%
- ธาตุเหล็ก 0.08 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุแมกนีเซียม 10 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุแมงกานีส 0.037 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุฟอสฟอรัส 12 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุโพแทสเซียม 133 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุโซเดียม 2 มิลลิกรัม 0%
- ธาตุสังกะสี 0.12 มิลลิกรัม 1%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
“ผู้ที่สุขภาพเป็นปกติรับประทานมะเฟืองได้ แต่อย่ารับประทานบ่อย เน้นรับประทานมะเฟืองหวาน ผู้ที่เป็นหรือมีความเสี่ยงต่อโรคไต ห้ามรับประทานเด็ดขาด”
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)