มะเขือขื่น สรรพคุณและประโยชน์ของมะเขือขื่น 20 ข้อ !

มะเขือขื่น

มะเขือขื่น ชื่อสามัญ Cock roach berry[3], Dutch eggplant, Indian Nightshade

มะเขือขื่น ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum aculeatissimum Jacq. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Solanum cavaleriei H. Lév. & Vaniot, Solanum khasianum C.B. Clarke) จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)[1]

สมุนไพรมะเขือขื่น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะเขือแจ้ดิน มะเขือเปราะ มะเขือเสวย (เชียงใหม่), มังคิเก่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เขือเพา (นครศรีธรรมราช), มะเขือขันคำ มะเขือคำ มะเขือคางกบ มะเขือแจ้ มะเขือเหลือง (ภาคเหนือ), เขือหิน (ภาคใต้) เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของมะเขือขื่น

  • ต้นมะเขือขื่น สันนิษฐานว่า มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชีย ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกกึ่งไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของลำต้นประมาณ 1-3 เมตร ตามลำต้นมีหนามสั้น ลำต้นและกิ่งก้านเป็นรูปทรงกระบอกตั้งตรง มีสีม่วงทั้งลำต้น กิ่งก้านและใบมีขนอ่อนละเอียดขึ้นอยู่ทั่วไป มีขนรูปดาวยาวได้ประมาณ 2 มิลลิเมตร และยังพบขนชนิดมีต่อม มีขนสั้นปกคลุมทั้งลำต้น มีหนามตรงหรือโค้งขนาดประมาณ 1-5 x 2-10 มิลลิเมตร โคนต้นแก่มีเนื้อไม้แข็ง สำหรับการปลูกมะเขือขื่นนั้นจะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย มักพบขึ้นตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ป่าเปิด ป่าละเมิด ทุ่งหญ้า ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600-2,300 เมตร[1],[2]

ต้นมะเขือขื่น

  • ใบมะเขือขื่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของแผ่นใบมีหลายรูปร่าง แผ่นใบรูปไข่ ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบเป็นรูปหัวใจ ฐานใบทั้งสองด้านจะเยื้องกันเล็กน้อย ส่วนขอบใบหยักเว้าเป็นพูตื้น ๆ ประมาณ 5-7 พู มีขนาดกว้างประมาณ 4-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4.5-18 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียว ส่วนท้องใบเรียบเป็นมัน แผ่นใบมีขนรูปดาวทั้งสองด้าน มีหนามแหลมตามเส้นกลางใบ ก้านใบอ้วนสั้น ยาวได้ประมาณ 3-7 เซนติเมตร และอาจพบหนามตามก้านใบ[1]

ใบมะเขือขื่น

  • ดอกมะเขือขื่น ออกดอกเป็นช่อสั้นแบบช่อกระจะ มีดอกย่อยประมาณ 4-6 ดอก หรือออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ ก้านช่อยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร มีขนห่างยาว ๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบเป็นสีม่วง โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยสั้น ส่วนปลายแยกเป็น 5 แฉก ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปหอก ขนาดประมาณ 4×14 มิลลิเมตร มีขนนุ่มเหมือนวงกลีบเลี้ยง ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ติดอยู่จนติดผล แต่ละแฉกเป็นรูปหอกแกมรูปขอบขนาน ขนาดประมาณ 5×15 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม วงกลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูประฆังขนาดประมาณ 5.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรสีเหลือง 5 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร อับเรณูเป็นรูปหอก เรียวแหลม ขนาดประมาณ 6-7 มิลลิเมตร รังไข่เกลี้ยง ส่วนก้านชูเกสรเพศเมียยาวได้ประมาณ 6-7 มิลลิเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม[1]

ดอกมะเขือขื่น

  • ผลมะเขือขื่น ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน เปลือกเหนียว ผลอ่อนผิวจะเรียบลื่นเป็นสีเขียวเข้ม มีลายขาวแทรก เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีเหลืองสด ชั้นเนื้อผลบางมีสีเขียวอ่อนอมสีเหลืองใส มะเขือขื่นจะมีกลิ่นเฉพาะ โดยจะมีรสขื่น ภายในผลจะมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปกลมแบนขนาดเล็กสีน้ำตาลอ่อน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-2.8 มิลลิเมตร โดยจะติดผลช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม[1]

ผลมะเขือขื่น

ลูกมะเขือขื่น

สรรพคุณของมะเขือขื่น

  1. ผลมีรสเปรี้ยวขื่นเย็น ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย (ผล)[1]
  2. รากและผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้สันนิบาต (ราก, ผล)[1],[2],[3]
  3. ตำรายาไทยจะใช้รากเป็นยาแก้ไข้ที่มีพิษร้อน ช่วยกระทุ้งพิษไข้ (ราก)[1],[2],[3],[6]
  4. ผลและรากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ (ราก, ผล)[1],[2],[3]
  5. รากมีรสขื่นเอียน เปรี้ยวเล็กน้อย มีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะและน้ำลาย โดยจะช่วยล้างเสมหะในลำคอ และทำให้น้ำลายน้อยลง ทำให้น้ำลายแห้ง (ราก)[1],[2],[3]
  1. ผลมีสรรพคุณเป็นยากัดเสมหะ (ผล)[1],[2],[3]
  2. ช่วยแก้น้ำลายเหนียว (ราก, ผล)[1],[2],[3]
  3. ใช้แก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้ราก 15 กรัม นำมาต้มเอาน้ำอมในปาก (ราก)[6]
  4. รากใช้ฝนเป็นกระสายยาแก้เด็กเป็นโรคซาง ชัก (ราก)[2]
  5. ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะอาหาร (ไม่ระบุแน่ชัดว่าใช้ส่วนใด)[6]
  6. รากใช้ปรุงร่วมกับยาอื่น เป็นยาแก้กามตายด้านและบำรุงความกำหนัดได้ผลดีในระดับหนึ่ง (ราก)[1],[3],[5]
  7. ใช้เป็นยาแก้อัณฑะอักเสบ ด้วยการใช้ 15 กรัม, หญ้าแซ่ม้า 15 กรัม และต้นทิ้งถ่อน นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)[6]
  8. ใบสดใช้ภายนอกนำมาตำพอกแก้พิษ แก้ฝีหนอง (ใบสด)[6]
  9. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยารักษามะเร็งเพลิง (เมล็ด)[4]
  10. ช่วยแก้อาการปวดบวม ปวดหลัง ฟกช้ำดำเขียว และใช้เป็นยาขับน้ำชื้น (ไม่ระบุแน่ชัดว่าใช้ส่วนใด)[6]
  11. ใช้เป็นยาช่วยขับลมชื้น แก้อาการปวดข้อเนื่องจากลมชื้นติดเกาะ แก้ไขข้ออักเสบ มือเท้าชา ด้วยการใช้ผลสดประมาณ 70-100 กรัม นำมาตุ๋นกับไตหมูรับประทาน (ผล)[6]
  12. เนื้อมะเขือขื่นสีเขียวนำมาคั้นเอาแต่น้ำใช้หยอดตา แก้พยาธิในตา (เนื้อผล)[2]
  13. สารสำคัญในมะเขือขื่น คือสารอัลคาลอยด์ต่าง ๆ ในทางเภสัชกรรมล้านนา จะใช้สารดังกล่าวเป็นส่วนประกอบในตำรับยาหลายชนิด เช่น ยาบำรุงกำลัง, ยาเสลด (ยาแก้เสมหะและรักษาตาต้อ), ยายางเหลืองมักเป็นขางเขี้ยนขาว (ยารักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน), ยาแก้ไอ ขับเสมหะ แก้อาเจียน รักษาแผลเป็นหนองและหืด เป็นต้น[5]
  14. ในชนบททางภาคกลางของบ้านเรา จะใช้ใบปรุงเป็นยาร่วมกับใบสมุนไพรชนิดอื่น ๆ และยังเชื่อว่า ในท้องถิ่นและภาคอื่น ๆ ของไทย คงนำมะเขือขื่นไปใช้เป็นยารักษาโรคอีกมากมาย แต่ในปัจจุบันยังขาดการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวเป็นเอกสารเผยแพร่ ประกอบกับมียาแผนปัจจุบันเข้ามาแทน จึงทำให้มีการนำมะเขือขื่นมาใช้เป็นยาลดน้อยลง (ใบ)[2]

ประโยชน์ของมะเขือขื่น

  • คนไทยนิยมนำผลมะเขือขื่นที่แก่แล้วมาใช้ปรุงเป็นอาหาร โดยจะใช้เฉพาะส่วนเปลือกและเนื้อเท่านั้น (แยกเมล็ดทิ้ง) โดยอาจนำมาใช้กินเป็นผักจิ้มร่วมกับน้ำพริกหรือปลาร้า มีบางครั้งจะใช้เนื้อผลในการปรุงเครื่องจิ้ม เช่น เยื่อเคยทรงเครื่อง ฯลฯ ปรุงอาหารกับส้มผัก เช่น ส้มผักบั่ว ส้มผักกาด หรือจะนำมาใช้ปรุงรสอาหารบางชนิด ฝานเปลือกใส่ในส้มตำอีสาน ส้มตำลาว โดยรสขื่นจะช่วยลดความเค็มของปลาร้าได้ ทำให้ส้มตำมีรสกลมกล่อม หรือนำมาใช้ยำกับสาหร่าย ใช้ตำกับผลตะโกและมะขามที่เรียกว่าเมี่ยง ส่วนในภาคกลางจะใช้เนื้อนำมาทำแกง เช่น แกงส้มมะเขือขื่น แกงป่าต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนชาวล้านนาจะใช้ผลอ่อนนำมารับประทานทั้งผล ใช้เป็นผักจิ้มและผักแกง นำมายำ (ส้าบ่าเขือแจ้”) ใช้ใส่ในน้ำพริก (น้ำพริกอี่เก๋ น้ำพริกบ่าเขือแจ้) บ้างนำผลแก่ไปเผาให้สุกตำจนละเอียดแล้วผสมลงในเนื้อสับที่จะทำลาบเนื้อหมูหรือลาบเนื้อ โดยจะช่วยทำให้ลาบนั้นนุ่มเหนียวยิ่งขึ้น อาจมีคนสงสัยว่า มะเขือขื่นที่ทั้งเหนียวและขื่นจะมีรสชาติอร่อยได้อย่างไร เพราะต่างจากมะเขือทั่วไปที่มีความกรอบและความหวาน แต่ด้วยภูมิปัญญาบวกกับฝีมือคนไทย จึงทำให้ความขื่นและความเหนียวกลายเป็นอาหารที่อร่อยมีเอกลักษณ์ไปได้ เช่นเดียวกับชะอมที่ยังคงเป็นเสน่ห์สำหรับคนไทยนั่นเอง[1],[5]
  • มะเขือขื่นอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด โดยคุณค่าทางโภชนาการของมะเขือขื่น ต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วย วิตามินซี 63 มิลลิกรัม, แคลเซียม 55 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม ฯลฯ[5]

หมายเหตุ : เชื่อกันว่า หากรับประทานมะเขือขื่นเข้าไปมาก ๆ จะทำให้มีความรู้สึกทางเพศสูง ส่วนในหญิงตั้งครรภ์นั้นหากรับประทานมะเขือขื่น เชื่อว่าครรภ์จะโตมาก ทำให้คลอดบุตรได้ยาก[5]

เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “มะเขือขื่น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [03 ก.ย. 2014].
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 237 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า.  (เดชา ศิริภัทร).  “มะเขือขื่น : ความเขียวขื่นที่เปี่ยมรสชาติและคุณประโยชน์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [03 ก.ย. 2014].
  3. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “มะเขือขื่น (Ma Khuea Kuen)”.  หน้า 215.
  4. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “มะเขือขื่น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaibiodiversity.org.  [03 ก.ย. 2014].
  5. อาหารพื้นบ้านล้านนา, สำนักหอสมุด และสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “มะเขือขื่น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : library.cmu.ac.th/ntic/lannafood/.  [03 ก.ย. 2014].
  6. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “มะเขือขื่น”.  หน้า 430.

ภาพประกอบ : www.kasetporpeang.com (by viranya), www.bansuanporpeang.com (by แดง อุบล), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด